1 พ.ค. 2020 เวลา 12:00 • ธุรกิจ
กรณีศึกษา ร้านตัดสูท เปลี่ยนมาขายหมูย่าง??
หลักคิดอย่างหนึ่ง ของคนที่ประสบความสำเร็จ ก็คือ
“ปัญหายากๆนั้น แก้ไม่ได้ง่ายๆ
แต่ก็เป็นไปได้ (ที่จะแก้ไข)”
หากเราย้อนไปปี วันที่ 6 มีนาคม ปี ค.ศ. 2003 ที่ประเทศจีน
มีรายงานการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ที่เราเรียกว่า "หวัดมรณะ" หรือ "ซาร์ส" เป็นครั้งแรกที่กรุงปักกิ่ง
โรคระบาดสร้างความเสียหายร้ายแรง ท้องถนนของกรุงปักกิ่ง ไปจนถึงนครกวางโจว ต้องพบกับความว่างเปล่า
Cr. CBS News
ธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะค้าปลีก ถูกกระทบอย่างรุนแรง หาคนซื้อของไม่ได้
ยิ่งสำหรับสินค้ากลุ่มไอที คอมพิวเตอร์แล้ว ต้องขายลดราคากัน 30-40% เนื่องจากสินค้ากลุ่มนี้ล้าสมัยง่าย ยิ่งสต็อกบวม ราคายิ่งลง
ภาพในเวลาเพียง 21 วัน ธุรกิจค้าปลีกอุปกรณ์ไอที ของคุณหลิว ต้องสูญเงินกว่า 40 ล้านบาท โดยจากข่าว โรคซาร์สจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน ถึง 1 ปี จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น
คุณหลิวต้อง ตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรต่อไปดี?
════════════════
ช่วยผู้นำเข้า ส่งออก
หาขนส่งมืออาชีพ
════════════════
คุณหลิว เริ่มต้นขายอุปกรณ์ไอที ในปี ค.ศ.1998 หรือ 5 ปี ก่อนซาร์สระบาด
โดยใช้เงินเก็บที่สะสมมาประมาณ 60,000 บาท เปิดแผง ขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กๆ 4 ตร.ม. ในกรุงปักกิ่ง
เขายึดแนวทาง ที่สวนทางกับพ่อค้าจีน รายอื่น 3 ข้อ หลักๆ ด้วยกันคือ
หนึ่ง ขายแต่ของแท้เท่านั้น (ในขณะที่ของก๊อปปี้เต็มประเทศ)
สอง กำหนดราคาขายที่ชัดเจน ไม่เอากำไรมาก แต่ห้ามลูกค้าต่อรอง
สาม บริการหลังการขายที่ยอดเยี่ยม
กิจการได้รับการตอบรับอย่างที่จากลูกค้า และคุณหลิวค่อยๆ ขยับขยายกิจการ จนมี ร้านค้าปลีก ถึง 12 สาขา
แต่พอมีโรคซาร์สเกิดขึ้นทำให้ลูกค้าหาย และด้วยความที่กลัวลูกน้องจะติดเชื้อด้วย คุณหลิวก็เลยตัดสินใจปิดร้าน ทั้ง 12 สาขา
ลูกน้องบางส่วนก็เดินทางออกจากปักกิ่งกลับบ้านได้ทันก่อน Lockdown ลูกน้องที่เหลือ อาศัยอยู่ในออฟฟิศ โดยมีคุณหลิวคอยทำอาหารเลี้ยง
คิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไรดี จะอยู่เฉยๆ อีก 2-3 เดือน รอความตายดีไหม?
Cr. Unsplash
แต่ก็มีคนหนึ่งเสนอว่า “เจอหน้าลูกค้าตัวเป็นๆ ไม่ได้ ทำไม่เราถึงไม่ลองขายของออนไลน์ดูหล่ะ?”
จากนั้นพนักงานของบริษัทก็เริ่มจากการเอาแผ่น CD (ช่วงนั้นยังฮิต) ไปโพสในเว็บบอร์ด ที่ชื่อว่า CDBest
โดยแอดมินของเว็บบอร์ดนั้น โพสช่วยขายว่า “บริษัทของคุณหลิวเป็นบริษัทเดียว (ในจีน) ที่เขารู้ว่า ไม่เคยขายของปลอม…”
ด้วยชื่อเสี่ยงที่สั่งสมมาในอดีต ก็มาช่วยบริษัทในคราวนี้ ทำให้มีลูกค้าเชื่อ และมาสั่งซื้อของจากบริษัทคุณหลิว ผ่านช่องทางออนไลน์
ซึ่งทางคุณหลิวก็ใช้กลยุทธ์ “Group-buy” อย่างต่อเนื่อง ลามไปตามเว็บบอร์ดต่างๆ (ให้อารมณ์ กรุ๊ปเฟสบุ๊ค ฝากร้าน ของบ้านเรา ในช่วงนี้)
คุณหลิวยังคงยึดถือ กลยุทธ์เดิมทั้ง 3 ข้อ คือ ขายของแท้ ตัดราคาชาวบ้าน และบริการส่งถึงบ้าน
จนกิจการเติบโต มากลายเป็น e-commerce ชั้นนำของประเทศจีน
และมีคนขนานนามให้ว่าเป็น “Amazon แห่งประเทศจีน”
นั่นคือ เรื่องราวของคุณ ริชาร์ด หลิว ผู้ก่อตั้ง JD.com
คนที่กัดฟันสู้…ในยามวิกฤต
จนเปลี่ยนให้เป็นโอกาสครั้งสำคัญในชีวิต ได้สำเร็จ…
JD.com
หากมาดูประเทศไทยในปัจจุบัน เรื่องราวเหมือนกรอ เทป โรคซาร์ส ในจีนมากทีเดียว แต่คราวนี้ ผลกระทบมันวงกว้างจริงๆ โดนกันไปทั่วโลก
ซึ่งแอดมิน ได้ฟังเรื่องราวของผู้ประกอบการท่านหนึ่ง มันช่างคล้ายกับคุณ ริชาร์ด หลิว มากๆ สำหรับจิตวิญญาณของความเป็นผู้ประกอบการ
นั่นก็คือ คุณสน จันทร์ศุภฤกษ์ เจ้าของร้าน SUIT CUBE
Cr. Wongnai
โดนโควิดเข้าไป ทำให้ร้าน ทั้ง 10 สาขา ต้องปิดชั่วคราว แต่ก็ปรับตัวได้แหวกแนวมากๆ จากร้านตัดสูท มาขายหมูย่าง!
จาก “SUIT CUBE” เป็น “สูตร CUBE”!! ขาย “หมูย่างกักตัว”
ตอนแรกก็เปลี่ยนมาทำหน้ากากอนามัย, ทำ face shield แจก แต่มันก็ไม่ค่อยเวิร์ค ก็เลยคิดโครงการว่าจะทำอย่างไรให้พนักงานอยู่รอดได้
โดยมาสรุปกันที่ “ขายอาหาร” ซึ่งสามารถเริ่มขายได้เร็ว
แต่เนื่องจาก อาหาร ก็เป็นสิ่งที่ขายกันทั่วไป ทางคุณสนเลยคิดกันกับทีมว่า ต้องมีองค์ประกอบ 3 อย่าง ถึงจะทำให้งานนี้สำเร็จได้ ก็คือ
หนึ่ง อาหารจะขายดีก็ต้องอร่อย เลยให้พนักงานเสนอสูตรลับประจำครอบครัว มาประกวดแข่งขันกัน
สอง พนักงานต้องมีส่วนร่วม คือ รับเงินเดือน และร่วมกันทำงานได้
สาม ต้องการให้อาหารไปถึงมือลูกค้าโดยไม่มี ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
Cr. Wongnai
ถึงแม้ DNA ของ Suit Cube เดิมคือ “ความดูดี” (มีสไตล์)
แต่คุณสนบอก หากดูดี แต่ไม่สามารถพาพนักงานไปถึงฝั่งได้ หลังสงครามโควิดจบ อย่างนี้เรียกว่า “พ่ายแพ้”
จึงขอพักความดูดีไว้ก่อน ถอดสูท มาขายหมูย่าง
ผลที่ได้ Feedback ดีมาก ยอดโตขึ้นมาเรื่อยๆ จากครั้งแรก 50-60 กล่อง
หลังจากขายประมาณ 1 อาทิตย์กว่าๆ
(จริงๆ ตอนแรกจะขายหมูทอด แต่พอทิ้งไว้มันเซ็ง ก็เลยเปลี่ยนเป็นหมูย่างแทน)
สูตรหมูกักตัว ประกอบด้วย 4 อย่าง มาจากพนักงาน 4 คน ก็คือ หมูย่าง, ข้าวเหนียวผสมคีนัว, น้ำจิ้มแจ่ว, ปลาร้าบอง รวมเป็น 1 กล่อง
อาหารดูดีมากๆ ทีเดียว Cr. Wongnai
โดยหมูย่าง 1 กล่อง ราคาประมาณ 170 บาท แต่ให้ปริมาณเท่า 2 คน ทานได้ (ลดค่าขนส่ง)
การจัดการส่งอาการ ก็สำคัญ โดยใช้รถของบริษัทที่ส่งสูท นั่นแหล่ะ เปลี่ยนมาส่งหมูย่างแทน
โดยเปิดรอบการจัดส่ง ตามพื้นที่ในแต่ละวัน ทำให้สามารถส่งสินค้าถึงหน้าบ้าน ในบริเวณใกล้ๆกัน 30-40 กล่อง
แถมการเปิดขายอาหารแบบนี้ ยังช่วยให้พนักงานที่อยู่แบบฟุ้งซ่าน รับเงินฟรี แต่ไม่มีงานทำ ได้ช่วยทำงานอีกด้วย
สำหรับคำแนะนำที่คุณสน มีให้กับผู้ประกอบการ ในช่วงนี้
“ช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่เรียกได้ว่า สงครามจริงๆ บางทีอาจเจอทางตัน ต้องถอบหลังกลับไปแล้วไปเลือกทางอื่น”
“สำคัญว่าเราอย่างเพิ่งไปท้อ”
“วันนี้ถ้าเจอปัญหาก็ต้องแก้
แก้หนึ่งครั้งไม่ได้ก็ต้องแก้ต่อ
เราเชื่อว่าเราจะมีทางออก”
“สงครามครั้งนี้ เหมือนวิ่งมาราธอน
วันนี้ใครล้มก่อน ถือว่าไม่รอด
เพราะฉะนั้น คุณต้องวิ่งให้นานที่สุด”
ใครจะไปคิดว่าคนถือกรรไกร ขายเสื้อผ้า จะมาขายอาหารได้ แต่วันนี้ คุณสน จันทร์ศุภฤกษ์ เจ้าของร้าน SUIT CUBE “ทำได้แล้ว”
“และเชื่อว่าทุกคนก็ทำได้เหมือนกัน”
แอดมินก็คงไม่สามารถฟันธง ว่าคุณสน แห่ง SUIT CUBE จะผันตัวเองมาเจริญรุ่งเรืองในสายอาหารแบบถาวร
แต่ขอชื่นชมในหัวใจ ที่ยอมทิ้งความสำเร็จในอดีตไว้ข้างหลัง และปรับตัว เพื่อให้ลูกน้องกว่า 100 ชีวิตอยู่รอดต่อไปได้
(จริงๆ มีผู้ประกอบการใจเด็ดอีกหลายท่านมากๆ ที่ปรับตัวได้สุดยอดมากๆ ในช่วงนี้)
ที่สำคัญคือ หากธุรกิจไม่ได้ทำความดีสะสมเอาไว้
ก็คงไม่มีทาง ที่ลูกค้าจะเชื่อว่าร้านตัดสูท จะทำหมูย่างได้อร่อยจริงๆ
ไม่เชื่อ ก็ต้องเชื่อ!
════════════════
ช่วยผู้นำเข้า ส่งออก
หาขนส่งมืออาชีพ
════════════════
👫 พิเศษสุด! "นำเข้าส่งออก สุดขอบฟ้า Marketplace"
สำหรับเพื่อนๆ นำเข้า ส่งออก เชิญค้าขายกันได้เลย
❤️ ช่วย SMEs ก้าวไกลไปทั่วโลก
👫 ร่วมกลุ่มผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออก
โฆษณา