1 พ.ค. 2020 เวลา 10:33 • การศึกษา
25 ปีแห่งความสูญเปล่า
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ประเทศญี่ปุ่นเหลือแต่ซากปรักหักพัง ผู้คนอดอยาก เด็กกำพร้าที่พ่อแม่ตายในสงครามมีจำนวนหลายล้านคน แต่ชาวญี่ปุ่นเป็นคนอดทนขยันขันแข็ง เมื่อแพ้ก็ยอมรับว่าแพ้ แล้วก้มหน้าก้มตาทำงานช่วยกันฟื้นฟูประเทศ จนเศรษฐกิจเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว
Japan as Number One
34 ปีผ่านไป ในปี พ.ศ.2522 ศาสตราจารย์ Ezra Vogel จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้เขียนหนังสือชื่อ “Japan as Number One” กลายเป็นหนังสือขายดี Best seller ไปทั่วโลก ชื่นชมประเทศญี่ปุ่นมาก อธิบายว่าทำไมญี่ปุ่นจึงกลายเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจเป็นอันดับ 1 ของโลก คนญี่ปุ่นขยันขันแข็ง ทำงานเป็นทีม จงรักภักดีต่อบริษัท ข้าราชการมีความสามารถและอุทิศตน ญี่ปุ่นมีระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งประถมและมัธยมที่ดีเยี่ยม มีระบบดูแลสุขภาพที่ดี ประชาชนอายุยืน แข็งแรง สุขภาพดี ผู้คนในสังคมมีความเสมอภาคกันสูง ฯลฯ
ในช่วงทศวรรษ 2523-2532 ภาพลักษณ์บริษัทญี่ปุ่นมีความเข้มแข็งมากเหมือนหาคนเทียบยาก ใน พ.ศ.2532 บริษัทที่มีมูลค่าการตลาด (Market cap.) สูงสุด 20 อันดับแรกของโลก เป็นบริษัทญี่ปุ่นถึง 14 บริษัท อาทิ บริษัท NTT ธนาคารซูมิโตโม ธนาคารฟูจิ ธนาคารมิตซูบิชิ บริษัทพลังไฟฟ้าโตเกียว บริษัทโตโยต้า บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์โนมูระ บริษัทฮิตาชิ บริษัทมัตสุชิตะ บริษัทโตชิบ้า เป็นต้น
แปลกแต่จริง เชื่อหรือไม่
ในปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา บริษัทที่มี market cap. สูงสุดของโลก 20 บริษัท ไม่มีบริษัทญี่ปุ่นเหลืออยู่เลยแม้แต่บริษัทเดียว บริษัทญี่ปุ่นที่มี market cap. สูงสุด ก็คือ บริษัทโตโยต้า ติดอยู่อันดับ 42 ของโลก
เกิดอะไรขึ้นกับญี่ปุ่น
คนญี่ปุ่นยังขยันขันแข็งเหมือนเดิม รักบริษัทเหมือนเดิม มีวินัยทำงานเป็นทีมเหมือนเดิม แต่ทำไมบริษัทญี่ปุ่นโดยภาพรวมตกต่ำลงมาก ความสามารถในการแข่งขันด้อยลงมากเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทของประเทศอื่นๆทั่วโลก
1
สาเหตุของปัญหา
มีหลายท่านกล่าวว่า สาเหตุคือ ญี่ปุ่นถูกอเมริกาบีบให้เงินเยนแข็งค่าขึ้นถึงราว 1 เท่าตัว และดำเนินนโยบายทางการเงินผิดพลาดทำให้เกิดฟองสบู่ในตลาดหลักทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งฟองสบู่ได้แตกลงในปี พ.ศ.2532 ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นตกอยู่ในภาวะชะงักงัน
ความจริงคือ สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นเป็นสาเหตุสำคัญของการจุดชนวนปัญหา แต่เราต้องตอบให้ได้ด้วยว่า ผ่านมา 31 ปีแล้ว นับจากฟองสบู่แตก ทำไมเศรษฐกิจญี่ปุ่นถึงไม่ฟื้นเสียที
สาเหตุจริงๆ คือ...
ญี่ปุ่นปรับตัวไม่ทันกับกระแสการเปลี่ยนยุคจากยุคอุตสาหกรรม สู่ยุคข้อมูลข่าวสารของโลก
ในยุคอุตสาหกรรม บริษัทที่มีพนักงานขยันขันแข็ง ทำงานเป็นทีม จะมีประสิทธิภาพในการผลิตสูง บริษัทญี่ปุ่นเก่งด้านนี้ จึงแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ
จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นเมื่ออินเตอร์เน็ตเกิดขึ้นและแพร่หลายไปทั่วโลกในปี พ.ศ.2538 โลกเข้าสู่ยุคข้อมูลข่าวสาร 10 ปีผ่านไปในปี พ.ศ.2548 ในญี่ปุ่นผู้คนเรียก 10 ปีที่ผ่านไปว่า “อึชินะวาเรตะ 10 เนน” แปลว่า “10 ปีที่สูญเปล่า”
แล้วก็ยังเป็นอย่างนั้นต่อไป ในปี พ.ศ.2558 ผู้คนก็ใช้คำว่า “อึชินะวาเรตะ 20 เนน” แปลว่า “20 ปีที่สูญเปล่า”
ถึงปี พ.ศ.2563 นี้ ก็กลายเป็น “25 ปีที่สูญเปล่า” คืออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศแทบหยุดนิ่งอยู่กับที่ รายได้ต่อหัว (GDP per capita) แทบไม่เพิ่มขึ้น ขณะที่ของประเทศอื่นเขาโตขึ้นๆ เช่น GDP ของจีนในช่วง 25 ปีนี้โตขึ้นราว 30 เท่าตัว เมื่อ 25 ปีก่อน GDP ญี่ปุ่น โตกว่าจีนราว 10 เท่าตัว ตอนนี้ GDP จีนโตกว่าญี่ปุ่นเกือบ 3 เท่าตัว คือ ญี่ปุ่นหยุดนิ่งอยู่กับที่ แล้วก็เล็กลงไปเรื่อยๆ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น
ความแข็งแกร่งอยู่ที่นวัตกรรม
ในยุคข้อมูลข่าวสาร หัวใจที่กำหนดความแข็งแกร่งของบริษัท องค์กร อยู่ที่นวัตกรรม ( innovation) เราจะเห็นได้ว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ 10 อันดับแรกของโลก เปลี่ยนจากบริษัทด้านพลังงาน อุตสาหกรรม ธนาคาร กลายเป็นบริษัททาง IT เกือบหมด เช่น Microsoft Amazon Apple Google Facebook Alibaba Tencent เป็นต้น
บริษัทเหล่านี้ล้วนเกิดหรือเติบโตในยุคข้อมูลข่าวสารนี้ทั้งสิ้น แต่ญี่ปุ่นกลับไม่มีบริษัทเกิดใหม่ที่เติบโตกลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่เลย
เราดูที่จำนวนบริษัทยูนิคอร์น (บริษัท startup ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ (market cap.) เกิน 1,000 ล้านดอลลาร์ = ราว 32,000 ล้านบาท)
ในสิ้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562 อเมริกามีบริษัทยูนิคอร์น 187 แห่ง จีนมี 94 แห่ง อังกฤษมี 19 แห่ง อินเดียมี 18 แห่ง แต่ญี่ปุ่นมีเพียง 3 แห่ง
ทำไมญี่ปุ่นจึงขาด Innovation
ไม่ใช่คนญี่ปุ่นไม่ฉลาด ไม่ใช่คนญี่ปุ่นโง่ ไม่ใช่คนญี่ปุ่นด้อยการศึกษา แต่หัวใจสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นตกขบวนรถไฟเศรษฐกิจยุคข้อมูลข่าวสาร คือ คำว่า “Engagement” แปลว่า “การมีส่วนร่วม”
ญี่ปุ่นปลูกฝังวัฒนธรรมให้เคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ แม้ไม่เห็นด้วย ก็ไม่เถียง นั่งเงียบ บริษัทใหญ่จำนวนมากมีระบบจ้างงานตลอดชีวิตให้โตไปตามลำดับขั้นตามอาวุโสเป็นแผงกันไป คนเก่งไม่เก่งก็เติบโตไม่ถึงกับแตกต่างกันมาก ไล่กันไป
คนเราเมื่อรู้ว่าจะทำงานที่ใดนานๆตลอดชีวิต จะทำอะไรก็จะเกรงใจ จะนำเสนออะไรที่เป็นไอเดียใหม่ๆทั้งการปรับปรุงการบริหาร ทั้งการค้นคว้าวิจัย ทั้งการผลิต ก็มีโอกาสไปกระทบกระทั่งคนอื่นๆ จะทำให้อึดอัดใจเพราะต้องอยู่ด้วยกันอีกหลายสิบปี ก็จะเงียบๆดีกว่า ฟังผู้ใหญ่สั่งมาก็แล้วกัน
แม้ตัวเองจะมีไอเดียก็ไม่กล้าพูด รอผู้ใหญ่พูด รอผู้ใหญ่สั่ง แม้จะไปพูดคุยส่วนตัว แนวคิดใหม่ๆ ส่วนใหญ่ผู้ใหญ่ที่คุ้นเคยระบบงานแบบเดิมมาหลายสิบปีก็จะไม่ค่อยเห็นด้วย พอผู้ใหญ่ทักคำเดียว ผู้น้อยก็ไม่กล้าและ เงียบหมด อำนาจก็จะรวมศูนย์การตัดสินใจอยู่ที่ผู้ใหญ่ คนรุ่นใหม่ๆ ไม่ค่อยมีส่วนร่วม บางคนมีความสามารถทางการวิจัย เช่น ทาง AI ผู้ใหญ่บอกให้ไปทำบัญชีก็แล้วกันเพื่อให้รู้งานบริษัทให้ทั่วๆ ก็ต้องทำ
ผลคือ พนักงานในบริษัทญี่ปุ่นขาดการมีส่วนร่วม คนทำงานจะอยู่กันแบบเรื่อยๆ เฉื่อยๆ มีความคิดก็ไม่กล้าพูด ในที่ประชุมเงียบแต่ไปพูดหลังประชุม ทำไมไม่ทำอย่างนั้นทำไมไม่ทำอย่างนี้ คนเก่งจริงๆทนไม่ไหวก็ลาออกไปทำงานบริษัทอเมริกา ผลคือบริษัทก็ตกต่ำไปเรื่อยๆ ประเทศก็ค่อยๆจมไปเรื่อยๆ ในขณะที่ประเทศอื่นค่อยๆผงาดขึ้นมา เพราะจุดแข็งขององค์กรในยุคข้อมูลข่าวสารมันเปลี่ยนไปแล้ว แต่การปรับตัวของญี่ปุ่นตามไม่ทัน วัฒนธรรมเก่ายังครอบอยู่ จึงขาด Innovation
1
ชินโซ อาเบะ
แม้ตั้งแต่นายอาเบะ นายกรัฐมนตรีมารับตำแหน่ง เมื่อปลายปี พ.ศ.2555 และประสานกับธนาคารชาติพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจโดยอัดฉีดเงินเข้าระบบปีละ ราว 20 ล้านล้านบาท อย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีผลทำให้ GDP เติบโตเพียงเล็กน้อย
ตราบใดที่ญี่ปุ่นยังไม่สามารถแก้การติดหล่มทางวัฒนธรรม ยังไม่สามารถสร้างวัฒนธรรมใหม่ให้คนรุ่นใหม่ๆกล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ สามารถนำความรู้ความสามารถของทุกคนในองค์กรมาหลอมรวมสร้างนวัตกรรมใหม่ๆได้ ญี่ปุ่นก็จะยังไม่พ้นจากหล่มแห่งความสูญเปล่า
แต่ถ้าญี่ปุ่นแก้ปมตรงนี้ได้เมื่อใด เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะพลิกฟื้นได้อย่างรวดเร็ว เพราะคุณภาพของคนและระบบของสังคมโดยรวมดีมากๆอยู่แล้ว
ประเทศไทยของเราก็จะต้องก้าวให้พ้นกับดักทางวัฒนธรรมนี้ เราจึงจะก้าวผงาดเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำทางเศรษฐกิจของโลกได้
ทำอย่างไรจึงจะเกิดการมีส่วนร่วม
มีการวิจัยในอเมริกา พบว่า อัตราการเติบโตของบริษัทมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการมีส่วนร่วม (engagement) ของพนักงาน โดยบริษัท Google ได้คะแนนเรื่องนี้สูงสุด
เขาศึกษาต่อว่า ทำอย่างไรให้พนักงานเกิดความรู้สึกมีส่วนร่วม ได้คำตอบว่า ความเห็นของพนักงานต้องได้รับการรับฟังอย่างตั้งใจ หากความเห็นนั้นยังไม่เหมาะ หัวหน้างานก็ต้องให้ข้อมูล บอกเหตุผลให้พนักงานทราบ เขาจะได้รู้และหาทางพัฒนาตัวเองต่อไป
ผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อย มักจะพูดกับพนักงานว่าทุกคนเป็นเจ้าขององค์กรร่วมกัน แต่พอเวลาตัดสินใจมักจะบอกว่า ให้ทุกคนจงฟังข้าพเจ้าแต่เพียงผู้เดียว ข้าพเจ้ารู้ดีที่สุด คนอื่นไม่ต้องพูด ข้าพเจ้ารู้หมดแล้ว ถ้าเป็นอย่างนี้ การมีส่วนร่วมก็ไม่เกิด
ผู้ใหญ่ต้องรับฟังผู้น้อยอย่างตั้งใจ ความเห็นอะไรดีก็นำไปปรับใช้ ถ้าไม่ดีก็บอกเหตุผล แนะนำเขา ผู้น้อยคนไหนมีแววดีก็ผลักดันให้เติบโตให้เขาได้ใช้ความรู้ความสามารถเต็มที่ สร้างคนรุ่นใหม่ๆ ขึ้นมา
ถ้าทำได้อย่างนี้สมาชิกทุกคนก็จะรู้สึกตนเองมีส่วนร่วมในองค์กรจริงๆ เกิดความกระตือรือร้น ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ จะเกิดขึ้นมากมาย องค์กรก็จะเจริญเติบโต ประเทศชาติก็จะเจริญก้าวหน้า

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา