1 พ.ค. 2020 เวลา 13:30 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
ซีรี่ย์ : ชั้นหนังแผ่น {ม้วนฟิล์มที่ 4.2}
Batman vs Superman (2016) กับหนึ่งเหตุการณ์ หลายการตีความ EP.2
...
คำเตือน : บทความนี้อาจมีการสปอยเนื้อหาสำคัญ เพื่อนำมาอ้างอิงหรือประกอบข้อมูลในการวิเคราะห์ครับ
...
เนื้อหาใน EP.2 ต่อจากนี้ผมจะพาผู้อ่านทุกท่าน วิเคราะห์ผ่านมุมมองของตัวละครที่มองซูเปอร์แมนในแง่มุมที่แตกต่างกัน (ผลสืบเนื่องหลังจากเหตุการณ์สมรภูมิเมโทรโพลิส)
...
โดยผ่านตัวละครอย่าง ‘ลูอิส เลน’ แฟนสาวของซูเปอร์แมน ที่ทำงานเป็นคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์เดลี่แพลเน็ตเช่นเดียวกัน
...
ผมจะให้เธอเป็นตัวแทนของผู้คนที่เห็นว่า ซูเปอร์แมนคือฮีโร่ (คนดี)
...
และตัวละครอย่าง ‘แบทแมน’ และ ‘เล็กซ์ ลูเธอร์’ ที่ต่างก็มองซูเปอร์แมนในด้านลบ
...
พวกเขาจะเป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่มองว่า ซูเปอร์แมนไม่ใช่ฮีโร่ (ไม่ใช่คนดี) ครับ
...
‘หนึ่งเหตุการณ์ สองการตีความ’ เกิดขึ้นได้อย่างไร?
...
เรามาวิเคราะห์หาคำตอบร่วมกันครับ
...
ก่อนอื่นลองมาคิดกันดูเล่นๆ กันว่า ‘วินาทีที่เราได้พบเจอกับพันธมิตรใหม่ เราจะมองหาและประเมินอะไรในตัวเขาก่อนเป็นอย่างแรก?’
...
หน้าตา? รูปร่างทรวดทรงองค์เอว? หรือฐานานุรูป?
...
เครดิตภาพ : https://koreancelebgossip.blogspot.com/2019/06/suzy-miss-the-most-beautiful-sexiest.html
ดูเข้าทีนะ! เพราะทั้งสามอย่างนี้เราสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เปรียบเสมือนยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่ขึ้นมาอยู่เหนือน้ำ
...
แต่ทว่าจากงานวิจัยของเหล่านักจิตวิทยากลับพบว่า สิ่งที่มนุษย์จะทำการประเมินก่อนเป็นอย่างแรกๆ ก็คือ ‘ความอบอุ่น และความสามารถ’ ของคนๆ นั้น โดยที่เราอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเรากำลังประเมินทั้ง 2 อย่างนี้อยู่
...
‘ความอบอุ่น’ ผมสามารถให้ความหมายได้แบบเข้าใจได้ง่ายๆ ว่ามันคือ ความรู้สึกว่าอีกฝ่ายนั้นมาในฐานะมิตรไม่ใช่ศัตรูนั้นเอง
...
‘ความสามารถ’ นั้นก็คือ เขามีความสามารถที่จะทำตามเจตนาของตัวเองได้สำเร็จหรือไม่
...
มนุษย์นั้นไวต่อความรู้สึกทั้ง 2 อย่างนี้มากๆ เพราะมันคือรากฐานของสัญชาตญาณ (จิตใต้สำนึก) ที่ส่งต่อมาจากบรรพบุรุษของพวกเราเอง ที่เมื่อครั้งอดีตพวกเขาต้องทำการประเมินสัตว์ป่าชนิดต่างๆ ว่ามีสัตว์ป่าชนิดใดบ้างที่จะเป็นภัยคุกคามกับเรา
...
และพัฒนามาสู่การที่เรานั้นนำมาใช้เพื่อประเมินคนอื่นด้วยเช่นกัน เช่น กับคนข้างห้องใหม่นี้จะสร้างความรำคาญให้ฉันไหมนะ? หรือเพื่อนร่วมงานใหม่คนนี้จะคอยหาสร้างปัญหาให้ฉันหรือเปล่า?
...
โดยการประเมินทั้ง 2 ข้อนี้ จะนำไปสู่ปรากฏการณ์ที่เรียกว่าผลกระทบจากสิ่งแรกที่เจอนั้นเองครับ
...
ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘ผลกระทบจากสิ่งแรกที่เจอ (primacy effect)’ คือความประทับใจแรกที่เรามีต่อคนๆ หนึ่ง ซึ่งเป็นผลกระทบที่เพียงพอจะชักจูงให้เราตัดสินใจและประเมินบุคคลอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็ว
...
เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ผมขอชวนให้ผู้อ่านทุกท่านลองนึกย้อนกลับไปในช่วงวัยเรียนกัน (ช่วงชั้นไหนก็ได้) ซึ่งถือเป็นช่วงที่เรามักได้ประเมินบุคคลอื่นกันบ่อยๆ (อย่างน้อยๆ ปีหนึ่งก็ได้ประเมินกันทีแน่นอน)
...
เอ๋! ในช่วงวัยนั้นเราประเมินใครกันเหรอ?
...
ครู หรืออาจารย์ที่สอนเรายังไงล่ะครับ ฮ่าๆ
...
วินาทีที่ครูหรืออาจารย์คนใหม่เดินเข้าห้องมา พวกเราอยากรู้อะไรเกี่ยวกับตัวเขาเป็นอย่างแรกๆ เขาจบจากที่ไหน? มีประสบการณ์การสอนมาแล้วกี่ปี? มีแฟนยัง?
...
ไม่ใช่หรอก! สิ่งที่เราอยากรู้เป็นลำดับแรกๆ และสำคัญกับเรามากๆ ก็คือ ‘ครูหรืออาจารย์คนนี้ ดุหรือเปล่า?’ ต่างหากล่ะ (ใครเห็นด้วยกับผมยกมือขึ้น ฮ่าๆ)
...
1
เครดิตภาพ : https://www.fastweb.com/student-life/articles/seven-rude-behaviors-you-might-be-engaging-in-during-class-and-might-not-even-know-it
และเราจะประเมินครูหรืออาจารย์คนนั้นว่าเป็นคนดุหรือไม่ ก็จากชั่วโมงการสอนของเขาในคาบแรกกันนี่แหละ ซึ่งสิ่งนี้จะสร้างผลกระทบจากสิ่งแรกที่เจอให้กับเราต่อไปนั้นเองครับ
...
ในโลกของภาพยนตร์เองก็ใช้ผลกระทบจากสิ่งแรกที่เจอกับคนดูอย่างเราๆ อยู่บ่อยครั้งเช่นกัน โดยมาจากฉากเปิดตัวของตัวเอกหรือตัวร้ายนั้นเองครับ
...
เช่นในภาพยนตร์เรื่อง Fast & Furious 7 กับฉากเปิดตัวอีกครั้งของ ‘เดคการ์ด ชอว์’ ตัวร้ายประจำภาคนี้ (ที่ใช้คำว่า ‘อีกครั้ง’ ก็เพราะ เดคการ์ด ชอว์ เคยเปิดตัวไปแล้วในท้ายเรื่องของภาค Tokyo Drift) ซึ่งต่อให้คนที่ไม่เคยดูตัวอย่างหนัง หรือภาค Tokyo Drift มาก่อน แค่เห็นฉากเปิดตัวนี้ในภาค 7 ก็รู้ได้ทันทีว่าอ้ายหมอนี้ตัวร้ายแน่นอน (เดี๋ยวสิ! เอ็งเขียนว่าตัวร้ายโต้งๆ เลยนะหมูแว่น เขาจะไม่รู้ได้ไงฟ่ะ?)
...
หรือภาพยนตร์ที่ไม่หนีไปไกลมากอย่าง Man of Steel ที่ แซ็ค สไนเดอร์ ผู้กำกับ สร้างฉากเปิดตัวพระเอกของเรื่องด้วยการให้ซูเปอร์แมนวัยหนุ่มไปช่วยคนงานที่ติดอยู่ที่แท่นขุดเจาะน้ำมันที่ไฟกำลังลุกไหม้ ในส่วนของตัวร้ายอย่างนายพลซ็อด แซ็คก็ให้เปิดตัวด้วยการให้นายพลซ็อดเป็นผู้นำในการปฏิวัติบนดาวคริปตัน ชนิดที่ว่าใครหน้าไหนมาขวางทางได้ถูกฆ่าทิ้งเป็นผักปลาแน่นอน
...
นี่คือผลของการทำงานร่วมกันของ ‘การประเมินความอบอุ่นและความสามารถของผู้อื่น กับผลกระทบจากสิ่งแรกที่เจอ’ ครับ
...
แต่ทว่าในภาพยนตร์เรื่อง Batman vs Superman : Dawn of Justice ผู้กำกับอย่าง แซ็ค สไนเดอร์ ไม่ได้ใช้ผลกระทบจากสิ่งแรกที่เจอกับคนดูอย่างเราๆ เนี่ยสิ แต่เขากลับใช้มันกับตัวละครอย่าง แบทแมน, เล็กซ์ ลูเธอร์ และลูอิส เลน แทน
...
ลูอิส เลน เหยี่ยวสาวผู้ศรัทธาในซูเปอร์แมน
...
ผมคงต้องขอย้อนกลับไปในภาพยนตร์เรื่อง Man of Steel เพราะนี้คือการพบกันครั้งแรกของซูเปอร์แมนและลูอิส เลน
...
ลูอิสได้พบเจอและรู้จักกับซูเปอร์แมนครั้งแรกบนยานลำหนึ่งที่ฝังตัวอยู่ใต้ธารน้ำแข็งบนโลก ซึ่งลูอิสเธอพลาดท่าถูกเครื่องจักรกลตัวหนึ่งบนยานลำนั้นทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บสาหัส
...
และช่วงรอยต่อระหว่างความเป็นและความตายนั้น (กำลังจะถูกเครื่องจักรโจมตีซ้ำอีกครั้งเพื่อปิดฉาก) ซูเปอร์แมนในคราบของคลาร์ก เคนท์ชายปริศนา ก็กระโจนเข้ามาช่วยชีวิตและรักษาแผลให้กับหญิงสาวได้อย่างทันท่วงที
...
ผลกระทบจากสิ่งแรกที่เจอเริ่มทำงานขึ้นภายในจิตใต้สำนึกของเธอ (ไม่จำเป็นว่าผลกระทบจากสิ่งแรกที่เจอ จะต้องเป็นเรื่องของความรักเสมอไปนะครับ มันเป็นได้ทั้งความประทับใจ หรือสิ่งดีๆ แบบอื่นๆ ที่เรารู้สึกกับคนๆ หนึ่งได้)
...
เธอสัมผัสถึง ‘ความอบอุ่น’ ของชายปริศนาเหนือมนุษย์คนนี้ได้ และ ‘ความสามารถ’ ในการช่วยเหลือคนตามเจตนาของซูเปอร์แมน ซึ่งความรู้สึกทั้ง 2 อย่างนี้มาจากการที่ซูเปอร์แมนเข้ามาช่วยชีวิตเธอนั้นเอง
...
เธอจึงตั้งปณิธานที่จะออกตามหาชายปริศนานั้นให้จงได้ และแน่นอนจากประสบการณ์การเป็นนักข่าวสายลุยแบบเธอ ในไม่นานเธอก็พบกับบ้านของชายปริศนา พร้อมกับการปรากฏตัวของชายปริศนาคนนั้น
...
จากการพบเจอกันครั้งแรกนู่น ทำให้ลูอิสประเมินชายคนนี้ในฐานะมิตร ที่ไม่ใช่มีต่อแค่เธอเท่านั้น ชายที่ยืนตรงหน้านี้ยังมีความสามารถที่มากพอจะมอบความอบอุ่น (ความช่วยเหลือ) นี้ให้คนอื่นๆ ได้ด้วยเช่นกัน
...
หลักฐานคือคำพูดประโยคหนึ่งที่ลูอิสคุยกับซูเปอร์แมน “ทางเดียวที่คุณจะหายตัวไปได้ตลอดกาลก็คือ ‘เลิกช่วยคน’ ซึ่งฉันเชื่อว่านั้นเป็นสิ่งที่คุณทำไม่ได้”
...
และนั้นทำให้ลูอิสมีแนวโน้มที่จะสรุปว่าคนที่มีคุณสมบัติดีๆ ที่ทรงพลังอย่างหนึ่งจะต้องมีคุณสมบัติดีๆ อย่างอื่นตามไปด้วย โดยนักจิตวิทยาจะเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ‘ปรากฏการณ์หน้ามืดตามัว (halo effect)’
...
ถ้าบรรยายให้เห็นภาพได้ชัดขึ้น ผมจะบอกว่าปรากฏการณ์หน้ามืดตามัวนี้ มีความหมายคล้ายกับคำว่า ‘ความรักทำให้คนตาบอด’ นั้นเองครับ (ถึงบางอ้อกันเลยใช่ไหมล่ะ ฮ่าๆ)
...
หากมีคนเข้ามาสร้างความประทับแรกที่ดี (หรือในเชิงบวก) ให้กับเรา ย่อมมีแนวโน้มที่เราจะด่วนสรุปว่าเขาคนนั้นต้องมีคุณสมบัติดีๆ อย่างอื่นด้วยอีกเป็นแน่แท้
...
ด้วยเหตุนี้ แม้หลังสมรภูมิอันดุเดือดที่เมืองเมโทรโพลิส ก็ไม่เพียงพอที่จะสั่นคลอนมุมมองด้านบวกที่เธอมีต่อซูเปอร์แมนลงได้
...
และทำให้ในหลายๆ ครั้งที่เธอพยายามปกป้องซูเปอร์แมน จากผู้คนที่มองซูเปอร์แมนในแง่ร้าย
...
แบทแมนและเล็กซ์ ลูเธอร์ ผู้รังเกียจซูเปอร์แมน
...
หากเรายึดประโยคเปิดเรื่องจากในภาพยนตร์ Batman vs Superman : Dawn of Justice ที่ว่า ‘มหาศึกตัดสินชะตาโลกที่เมืองเมโทรโพลิส คือเหตุการณ์ที่ทำให้ชาวโลกรู้จักกับซูเปอร์แมน’
...
แบทแมนและเล็กซ์ ลูเธอร์ ก็รู้จักกับชายภายใต้ผ้าคลุมสีแดงที่เปี่ยมด้วยพลังช้างสาร แข็งแกร่งดุจเหล็กไหลคนนี้จากเหตุการณ์ดังกล่าวเช่นเดียวกัน
...
ซึ่งอย่างที่ผมเกริ่นไว้ใน EP.1 แบทแมนมาที่เมืองแห่งนี้เพื่อมาตรวจสอบความปลอดภัยของบุคลากรเวย์นเอ็นเตอร์ไพรซ์ที่ประจำการอยู่ที่เมืองแห่งนี้
...
ภาพที่แบทแมนพบเห็นนั้นมีแต่หายนะและซากปรักหักพังของเมือง เท่านั้นยังไม่พอเขายังต้องสูญเสียลูกน้องคนสำคัญที่เป็นหัวหน้าประจำสาขา, ภาพของ รปภ. ประจำองค์กรของเขาเองที่ต้องสูญเสียขาทั้งสองข้าง, ภาพอาคารที่ทำการเวย์นเอ็นเตอร์ไพรซ์พังถล่ม และสุดท้ายภาพของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ต้องสูญเสียแม่อันเป็นที่รักไปจากเหตุการณ์ในครั้งนี้
...
แต่เป็นที่น่าเสียดายอย่างมาก ที่หนังไม่ฉายภาพเหตุการณ์การพบเจอกันครั้งแรกระหว่าง เล็กซ์ ลูเธอร์กับซูเปอร์แมน มาให้เราได้เห็น แต่หากเรายึดจากคำว่า ‘เหตุการณ์ที่เมืองเมโทรโพลิส คือเหตุการณ์ที่ทำให้โลกรู้จักกับซูเปอร์แมน’ และด้วยความที่บริษัทเล็กซ์คอร์ปนั้น ก็ตั้งอยู่ที่เมืองแห่งนี้ด้วยเช่นกัน ประกอบกับการตั้งตัวเป็นศัตรูกับซูเปอร์แมนแบบออกนอกหน้า
...
ทำให้เราอาจพออนุมานแบบหญ้าปากคอกได้ว่า มุมมองของลูเธอร์ที่มีต่อซูเปอร์แมนนั้น คงออกมาไม่ต่างจากแบทแมน
...
เราจะเห็นได้ว่าคำตอบในแง่ของ ‘ความอบอุ่น และความสามารถ’ ที่เขาทั้งคู่มีต่อซูเปอร์แมนนั้นต้องออกมาในแง่ลบแน่นอน
...
จากสิ่งที่ทั้งคู่เห็นจากผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเมืองเมโทรโพลิสแห่งนี้ (ผลกระทบจากสิ่งแรกที่เจอ) คำตอบของแบทแมนคือ ‘ไม่อบอุ่น’ แน่นอน และซูเปอร์แมนคือศัตรูสำหรับพวกเขา (และต่อโลกด้วย)
...
ตลอดจน ‘ความสามารถ’ ของซูเปอร์แมนเองก็เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของพวกเขาทั้งคู่แล้วว่า ซูเปอร์แมนมีความสามารถที่เหลือล้นในการทำลายล้างมนุษยชาติได้ง่ายดายยิ่งกว่าการกระพริบตาเสียอีก
...
และนอกจากการประเมินความอบอุ่นและความสามารถของผู้อื่นกับผลกระทบจากสิ่งแรกที่เจอแล้ว ยังมีการการสรุปเอาเองและอคติอื่นๆ ที่สามารถเข้ามาเสริมหรือเพิ่มเหตุผลให้กับความรู้สึกของเราที่มีต่อคนๆ หนึ่งได้อีกเช่นกัน
...
สิ่งนั้นก็คือ ‘ประสบการณ์ และความคิดแบบเหมารวมกลุ่ม’ นั้นเองครับ
...
ซึ่งทั้งแบทแมนและลูเธอร์ ก็นำประสบการณ์ที่เลวร้ายของตัวเองมาเชื่อมโยงเพื่อเสริมผลกระทบจากสิ่งแรกที่เจอที่ตนมีต่อซูเปอร์แมนให้มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นไปอีกขั้น
...
เราได้ทราบประสบการณ์ที่ขมขืนของแบทแมนในฉากที่เขานั้นถกเถียงกับพ่อบ้านอัลเฟรด ในมุมมองที่พวกเขาทั้งคู่มีต่อซูเปอร์แมน
...
แม้อัลเฟรดพยายามเตือนสติแบทแมนว่า “ซูเปอร์แมนนั้นไม่ศัตรูของเรา”
...
แต่ทว่าแบทแมนตอบกลับอย่างเผ็ดร้อนว่า “20 ปีในก็อตแธมอัลเฟรด เราเห็นมาแล้วว่าคำสัญญามีค่ายังไง คนดีเหลืออยู่กี่คน? กี่คนที่ยังเป็นคนดี?”
...
จากรูปประโยคสนทนาข้างต้น ก็ทำให้เราเข้าใจได้ว่าแบทแมนคนนี้เผชิญกับเหตุการณ์การถูกทรยศหรือหักหลังมามากมาย ซึ่งนั้นทำให้แบทแมนไม่ไว้ใจใครและมีแนวโน้มที่มองคนในแง่ร้ายได้ง่ายขึ้นด้วย
...
“คนดีเหลืออยู่กี่คน? กี่คนที่ยังเป็นคนดี?” คือประโยคที่ตอกย้ำให้เราสัมผัสได้ถึงความเจ็บปวดของแบทแมนคนนี้ได้เป็นอย่างดี
...
ในรายของลูเธอร์นั้นก็เช่นกัน ในฉากที่เขาสนทนากับลูอิสบนยอดตึกสูงเสียดฟ้า เราได้รับรู้ประสบการณ์ที่ขมขื่นของลูเธอร์จากปากของเขาเอง
...
“พระเจ้าแยกเผ่าพันธุ์ พระเจ้าเลือกข้าง ไม่มีชายจากฟ้ามาช่วยตอนฉันเด็กๆ ไม่ให้โดนมือโดนตีนของพ่อ…ฉันคิดไว้นานแล้ว ถ้าพระเจ้ามีอำนาจ พระเจ้าก็ไม่ดีจริง แต่ถ้าเขาดีจริง เขาก็ไม่มีอำนาจจริง”
...
จัดว่าเป็นความซวยของซูเปอร์แมนอย่างแท้จริง
...
เมื่อกลุ่มผู้คนที่ชื่นชอบและศรัทธาในตัวซูเปอร์แมน ต่างก็พากันสรรเสริญให้เขาเป็น ‘พระเจ้า’
...
ซึ่งกลายเป็นมาจี้ใจเจ็บยิงตรงจุดให้กับลูเธอร์เสียซะงั้น จากคำพูดของเขาทำให้เราพอจินตนาการถึงเด็กน้อยคนหนึ่งที่เฝ้าขอพรจากพระเจ้า ขอให้คืนนี้เขารอดพ้นจากพ่อใจร้ายด้วยเถิด
...
แต่เมื่อคำภาวนาจากก้นบึ้งหัวใจที่บอบช้ำของเด็กน้อย กลับไม่ได้รับการตอบสนองจากความหวังสุดท้ายของเขาเลยสักวัน
...
ความศรัทธาแปรเปลี่ยนไปเป็นความแค้น ความแค้นค่อยๆ สุมจนกลายเป็นความชิงชัง
...
และเหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เมื่อซูเปอร์แมนดันเข้าล็อค ‘เป็นพระเจ้าที่มีอำนาจ’ อีกต่างหาก ลูเธอร์จึงจัดซูเปอร์แมนเป็นพระเจ้าจำพวก ‘พระเจ้าที่มีอำนาจ แต่ไม่ดีจริง’ มันเสียเลย
...
นอกจากประสบการณ์ที่เลวร้ายแล้ว ลูเธอร์ยังพ่วงอคติที่มีชื่อว่า ‘การคิดแบบเหมารวม หรือพวกเขาก็เหมือนกันหมดนั่นแหละ (out-group homogeneity effect)’ มาช่วยเสริมความคิดในแง่ลบอีกต่อหนึ่งด้วย
...
‘ดร.คริสเตียน ชาน’ รองศาสตราจารย์จากคณะจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยฮ่องกงกล่าวว่า “เป็นเรื่องง่ายมากที่เราจะติดกับดักความคิดแบบ ‘แบ่งเขา แบ่งเรา’ แม้จะไม่สามารถแบ่งได้ว่าฝั่งไหนฝ่ายดีและฝั่งไหนฝ่ายเลวในสถานการณ์นั้นๆ แต่โดยธรรมชาติแล้วเราจะมองว่ากลุ่มของเรานั้นเป็นฝ่ายที่ดีกว่าอีกฝ่ายเสมอ
...
ทำไมล่ะ?
...
‘ไฮดี กรานต์ ฮาลวอร์สัน (Heidi Grant Halvorson)’ นักจิตวิทยาสังคมและนักเขียนให้คำตอบกับเราว่า ‘เพราะอัตลักษณ์ของกลุ่มที่เราอยู่ มันสำคัญต่อการตัดสินตัวตนที่เราเป็นไม่แพ้ลักษณะนิสัยของเราเลย เพราะสมาชิกในกลุ่มไม่ได้แค่สะท้อนตัวตนของเราเท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เราคิดว่าตัวเองเป็นอีกด้วย’
...
ข้อมูลเพิ่มเติม
...
โดยพื้นฐานแล้วนักประสาทวิทยาได้สันนิษฐานว่า การคิดแบบเหมารวมคือ รูปแบบหนึ่งของการจัดกลุ่มที่เป็นวิวัฒนาการทางสมองของมนุษย์ เพื่อให้สามารถประมวลผลอะไรได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งส่วนหนึ่งก็เพื่อช่วยในเรื่องของสัญชาตญาณการเอาตัวรอดของเรา เช่น
...
ผมยกตัวอย่างสัตว์ในตระกูล ‘งู (Snake)’ ซึ่งเราจัดมันให้เป็นกลุ่มสัตว์ที่เป็นอันตรายแก่มนุษย์ แม้ลึกๆ แล้วเราจะรู้ว่างูแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ งูมีพิษกับงูไม่มีพิษ
...
เครดิตภาพ : https://www.scitecheuropa.eu/venomous-snakes/92021/
แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่คนข้างๆ เราตะโกนขึ้นมาว่า “งูๆ” เราก็จะตื่นตัวที่จะพาตัวเองออกมาจากจุดที่คิดว่าอันตรายได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่สนว่ามันจะมีพิษหรือไม่
...
เมื่อสมองจัดงูรวมเข้าไปในกลุ่มสัตว์อันตรายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็เป็นเรื่องง่ายต่อการประมวลผลที่รวดเร็ว เพื่อส่งเสริมให้สัญชาตญาณการเอาตัวรอดมีการตอบสนองได้เร็วขึ้นตามไปด้วยนั้นเอง
...
ส่วนเรื่องมันจะมีพิษหรือไม่ เราคงจะมีอารมณ์มาพิจารณากันอีกทีเมื่อออกมาจากจุดอันตรายแล้วอ่ะนะ ฮ่าๆ
...
ดร.คริสเตียน ชาน ยกตัวอย่างจากเหตุการณ์การประท้วงที่ฮ่องกง ที่มีการแบ่งเป็น 2 ฝ่ายคือ ฝ่ายสนับสนุนผู้ชุมนุมและฝ่ายสนับสนุนเจ้าหน้าที่ตำรวจ
...
โดยสิ่งที่ทั้ง 2 ฝ่ายทำก็คือ ฝ่ายสนับสนุนผู้ชุมนุมก็มักแชร์ภาพความโหดร้ายของตำรวจ และฝ่ายสนับสนุนเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะแชร์ภาพผู้ประท้วงที่กำลังสร้างความวุ่นวาย ก่อความรุนแรง ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็เลือกที่จะบอกเล่าความจริงไม่หมด
...
ทั้งหมดก็เพื่อต้องการสื่อให้คนนอกเห็นว่า ‘ฝั่งตัวเองนั้นเป็นฝ่ายที่ถูกต้อง และพวกมัน (อีกฝ่าย) ก็เลวเหมือนกันหมด’
...
ข้อมูลเพิ่มเติม
...
พฤติกรรมที่ทะนงตัวจนคิดว่า ‘ยังไงซะฉันก็ดีกว่าแก’ นี้ นักจิตวิทยาเรียกว่า ‘ปรากฏการณ์ทะเลสาบโวเบกอน (Lake Wobegon effect)’ อันเป็นการตั้งชื่อตามทะเลสาบในเมืองหนึ่งจากนิยายกึ่งอัตชีวประวัติของ ‘แกร์ริสัน คีลเลอร์ (Garrison Keillor)’
...
ซึ่งประชาชนในเมืองดังกล่าว มักคิดว่าตัวเองนั้นดีกว่าคนเมืองอื่นๆ เช่น ผู้หญิงสวยกว่า, ผู้ชายแข็งแรงกว่า และเด็กก็ฉลาดกว่า เป็นต้น
...
ปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาในหลายๆ ครั้ง จะตั้งชื่อตามวรรณกรรมหรือตำนานต่างๆ เช่น ปรากฏการณ์ราโชมอน (Rashomon effect) ที่ตั้งชื่อตามภาพยนตร์ในชื่อเดียวกันคือราโชมอน (Rashomon : 1950) หรือปมออดิปุส หรือปมติดแม่ (Oedipus Complex) ที่เป็นชื่อของเจ้าชายในนิยายปรัมปราของกรีก ซึ่งเขาเป็นคนที่รักแม่มาก หรือปมอิเล็กตร้า หรือปมติดพ่อ (Electra Complex) ที่นักจิตวิเคราะห์ยืมชื่อมาจากตัวละครหญิงในนิยายปรัมปราของกรีกอีกเช่นกัน ซึ่งธิดาสาวผู้นี้รักบิดาเป็นอย่างมาก
...
หากเราสังเกตคำพูดของลูเธอร์ เราจะมักเห็นว่าลูเธอร์ใช้คำว่า ‘พวกเขา’ หรือ ‘ชาวคริสโตเนียน’ แทนตัวซูเปอร์แมนเสียเกือบทุกครั้ง
...
นั้นก็เพราะสำหรับลูเธอร์ ชาวคริสโตเนียนเปรียบเสมือนฝูงปีศาจผู้มาจากฝากฟ้า และแม้ซูเปอร์แมนจะแตกต่างไปจากกลุ่มของนายพลซ็อด แต่การเหมารวมเอาซูเปอร์แมนเข้าไปด้วยนั้นก็เป็นเรื่องที่สามารถตัดสินคนๆ หนึ่งได้ง่ายกว่ามาก เพราะยังไงซะพวกมันก็เป็นเหมือนกันหมดนั่นแหละ
...
ซึ่งการที่แบทแมนและลูเธอร์นำประสบการณ์และการคิดแบบเหมารวมมาใช้นั้น ก็ล้วนแต่ก็เพื่อย้อนนำกลับไปสนับสนุนความรู้สึกในแง่ลบที่เกิดจากผลกระทบจากสิ่งแรกที่เจอของตัวเองที่มีต่อซูเปอร์แมนในตอนต้นนั้นเองครับ
...
ซึ่งนักจิตวิทยาเรียกการเชื่อมโยงทั้งหมดนี้ว่า ‘อคติจากการมองหาความสอดคล้อง (correspondence bias)’
...
อคติจากการมองหาความสอดคล้อง คือ ‘การที่เรามีแนวโน้มที่จะนำข้อมูลต่างๆ เช่น ประสบการณ์ หรือพฤติกรรมหนึ่งๆ มาเพื่อให้สอดคล้องกับตัวผู้กระทำในการกระทำหนึ่งของเขา’
...
และอคติจากการมองหาความสอดคล้องนี้ จะนำทางเราไปสู่กับดักทางจิตวิทยาที่เรียกว่า ‘เราแค่ต้องการจะเห็น ในสิ่งที่เราคาดหวังจะเห็นเท่านั้น’
...
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ พวกเราคงตระหนักกันแล้วว่า ‘ผลกระทบจากสิ่งแรกที่เจอ’ นั้นสำคัญกับตัวเราขนาดไหน
...
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่นักจิตวิทยา, นักพัฒนาบุคลิกภาพ, วิทยากร ตลอดจนนักพูด จะล้วนแต่ให้ความสำคัญกับการปรากฏตัวครั้งแรกเสมอ
...
ทำไมเขาถึงแนะนำให้เราแต่งตัวให้ดูดีและให้เกียรติลูกค้าให้มากที่สุด ทำไมการสัมภาษณ์งานเขาถึงเน้นกันที่บุคลิกภาพและการใช้คำพูด ฯลฯ
...
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสร้างความประทับใจแรกให้กับอีกฝ่ายให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อมอบความรู้สึกที่ดีและเป็นมิตรให้อีกฝ่าย แล้วสิ่งที่ตามเช่นการพูดคุยหรือการตกลงกันมีแนวมีแนวโน้มที่จะง่ายขึ้นนั้นเอง
...
และในเหตุผลเดียวกัน นี่ก็คือคำตอบที่ว่าทำไมนักต้มตุ๋ม (เช่น ขบวนการแชร์ลูกโซ่) ถึงมาหลอกผู้คนได้มากมาย นั้นก็เพราะพวกเขารู้ถึงพลังอำนาจของผลกระทบจากสิ่งแรกนี้เช่นกันครับ
ซึ่งเราคงเห็นกันแล้วว่า ‘มันง่ายแค่ไหนกับการที่จะทำให้คนๆ หนึ่งดูไม่ดีหรือดูดี ทั้งๆ ที่เขาอาจไม่ได้เป็นแบบนั้นเลยด้วยซ้ำ’
...
เพราะมนุษย์นั้นมีความซับซ้อนกว่าที่เราคิด
...
และนี้คือสาเหตุที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ราโชมอนที่มีต่อซูเปอร์แมนขึ้น ในภาพยนตร์เรื่อง Batman vs Superman : Dawn of Justice ครับผม
...
บรรณานุกรม
...
ไฮดี กรานต์ ฮาลวอร์สัน. (2561). คุณทำแบบนี้ ทำไมเขาเข้าใจแบบนั้น. แปลจาก No One Understands You and What to Do About lt. แปลโดย พรเลิศ อิฐฐ์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วีเลิร์น.
กิติกร มีทรัพย์. (2552). ซิกมันด์ ฟรอยด์ ประวัติชีวิตการทำงานและฟรอยด์บำบัด. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน.
กองบรรณาธิการวอยซ์ออนไลน์. (13 สิงหาคม 2562). นักจิตวิทยาชี้ ทัศนคติต่อความรุนแรงในฮ่องกงเปลี่ยนไปแล้ว. [เว็บไซต์]. สืบค้นจาก https://voicetv.co.th/read/nKkO6NT2r?fbclid=IwAR2Vav6l_7ma1mdrqK2OPZBnr24csP9fcBUmMAaf4BLBQWvEy8e-8w5AAfA

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา