2 พ.ค. 2020 เวลา 15:20 • ไลฟ์สไตล์
วิถีแห่งท้องทุ่ง🐃 วิถีที่เปลี่ยนไป🚜
🙏สวัสดีผู้อ่านทุกท่านครับ
เครดิตภาพ:pixabay.com
เข้าสู่เดือนพฤษภาคมแล้ว สำหรับปี2563 ถือเป็นปีที่ยากลำบากนะครับ กับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น
ทั้งโรคระบาด และพิษเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อปัญหาปากท้องของผู้คน ทุกชนชั้นอย่างถ้วนหน้า
ฤดูกาลหมุนเวียนเปลี่ยนแปลง เมื่อชีวิตยังไม่สิ้น ก็ต้องดิ้นรนกันต่อไป
ในเดือนพฤษภาคมของทุกปี สังคมการเกษตรถือเป็นฤดูแห่งการเพาะปลูก
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ถูกจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคมของทุกๆปี
เพื่อเป็นการเอาฤกษ์เบิกชัย และเป็นการส่งสัญญานบ่งบอก ถึงการเข้าสู่ช่วงต้นฤดูฝน หรือที่เรียกกันว่า ฝนเดือนหกนั่นเองครับ
เมื่อย่างเข้าสู่เดือนหก ลมตะวันตกเฉียงใต้ จากมหาสมุทรอินเดียจะพัดผ่านเส้นศูนย์สูตร
ทำให้เกิดฝนฟ้า นำพาความชุ่มฉ่ำ มาสู่ผืนดินและแผ่นหญ้า ชาวนาก็จะเริ่มตระเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าว สำหรับการเพาะปลูก
ก่อนจะทำการหว่านไถ ตามความเชื่อแห่งวิถีชาวนา ถือกันว่าข้าวเป็นธัญพืชที่ศักดิ์สิทธิ์
ซึ่งมีเทพธิดาอารักษ์ คอยปกปักรักษา นั่นคือพระแม่โพสพครับ
ดังนั้นจึงต้องมีการจัดพิธีกรรม คาระวะแม่โพสพ และการเซ่นสรวงผีนา ก่อนจะเริ่มการเพาะปลูกจนกระทั่งเก็บเกี่ยว ด้วยหวังว่าจะได้ผลผลิต ที่อุดมสมบูรณ์
เครดิตภาพ:pixabay.com
หากมองย้อนกลับไปในอดีตช่วง50ปีที่ผ่านมา วิถีชีวิตแห่งสัมคมกสิกรรม วัวควาย ถือเป็นแรงงานสำคัญ ที่ใช้ในการคราดไถ
และในท้องทุ่งอันอุดมสมบูรณ์ วิถีชีวิตส่วนใหญ่ เน้นการพึ่งพิงธรรมชาติ และการพึ่งพาตนเอง
การทำนาปลูกข้าว ในสมัยนั้น ส่วนใหญ่เป็นการทำแบบแค่พออยู่พอกิน
สิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงสัตว์ และปลูกผักผลไม้
อาหารเหล่านี้แทบจะไม่ต้องซื้อหาเลยก็ว่าได้ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นวิถีแห่งการพึ่งพาตนเองเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์
แต่การเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย ในปัจจุบัน ถือได้ว่าเป็นการพลิกบทบาทของเกษตรกร จากเดิมที่เคยทำนาปลูกข้าวแค่พอยู่พอกิน
เปลี่ยนมาเป็นการทำนา ในเชิงพาณิชย์มากขึ้น จากที่เคยใช้แรงงาน วัวควาย ก็เปลี่ยนไปเป็นการใช้เครื่องจักรเข้ามาทดแทน
เครดิตภาพ:pixabay.com
ซึ่งแน่นอนครับว่า การเปลี่ยนไปของวิธีและรูปแบบในการทำนา ในยุคของทุนนิยม
ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชาวนา ในหลายรูปแบบ ดังเช่นครอบครัวชาวนา ที่เคยใช้แรงงานในแบบเครือญาติ
ในปัจจุบันก็จะเหลือแรงงาน เฉลี่ยเพียง 1-2 คนต่อครอบครัวเท่านั้น นำไปสู่คำถามที่ว่า แล้วแรงงานที่เหลือไปไหน
ปฏิเสธไม่ได้ครับว่า แรงงานที่เหลือ คือแรงงานที่มีการอพยพย้ายถิ่นถาน
เข้ามาทำงานในเมืองหลวง และตามหัวเมืองใหญ่ๆ
จากวิถีที่พึ่งพิงและพึ่งพาธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ จากที่เคยพึ่งพาตนเองได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์
ปัจจุบันจากการสำรวจตัวอย่าง ชาวนา ใน อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท พบว่าวิถีชาวนาได้เปลี่ยนไป กว่าร้อยละ80ของครอบครัวชาวนา ต้องพึ่งพาอาหารจากภายนอก เช่นเนื้อสัตว์และผักผลไม้
และ กว่าร้อยละ73ของครอบครัวชาวนา ยังคงต้องซื้อข้าวกิน แม้ว่าจะทำนาปลูกข้าวเองก็ตาม
ปรากฏการณ์เช่นนี้ คือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง ของวิถีชาวนาในยุคแห่งการทำนาแบบเชิงพาณิชย์
และจากการสำรวจยังพบอีก ว่า ชาวนามีหนี้สินเฉลี่ยสูงถึง 300,000 บาทต่อครอบครัว
ซึ่งเมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ย 200,000 บาท ต่อครอบครัวต่อปี ถือว่าเป็นรายรับและรายจ่ายที่ขาดความสมดุลเป็นอย่างมาก
ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ เหมือนเป็นสิ่งที่บ่งบอกเรา เป็น นัยๆว่า วิถีแห่งการทำนา ในเชิงพาณิชย์เพียงอย่างเดียว
คงจะไม่ใช่คำตอบของชาวนา ในยุคปัจจุบันอีกต่อไป รายจ่ายที่สูงขึ้น ทั้งในเรื่อง การลงทุนเครื่องจักรทางการเกษตร
ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักรที่ใช้ในการปักดำ และการเก็บเกี่ยวผลผลิต ค่าปุ๋ยและยาฆ่าแมลง
และค่าใช้จ่ายในส่วน ค่าเล่าเรียนบุตร ค่าน้ำ ค่าไฟ
ค่ารักษาพยาบาล ค่าภาษีสังคม รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกจิปาถะ สถานการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น
จากวิถีท้องทุ่งที่ทำนาปลูกข้าวแบบพออยู่พอกิน สู่วิถีทำนา ในเชิงพาณิชย์แบบทุนนิยม จึงนำไปสู่คำกล่าวที่ว่าทำนาอย่างเดียวไม่พอกินแน่นอนครับ
นี่คือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น กับชาวนา ในยุคปัจจุบัน ซึ่งการทำนา ในเชิงพาณิชย์แบบทุนนิยมนี้ เป็นการดำรง เพียงเพื่อให้อยู่รอดในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ได้นานที่สุดเท่านั้นเอง
บทสรุปสุดท้ายแห่งวิถีท้องทุ่ง ที่เปลี่ยนไป ทำให้หวนคำนึง นึกถึงศาสตร์แห่งพระราชา ที่ว่าด้วยเศรษฐกิจแบบพอเพียง ซึ่งเปรียบเสมือนเสาเข็มและฐานราก
ที่จะช่วยให้วิถีแห่งท้องทุ่ง กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ในแบบพึ่งพิงธรรมชาติและพึ่งพาตนเองอีกครั้ง ผู้เขียนเชื่อว่าศาสตร์แห่งพระราชา จะนำมาซึ่งรอยยิ้มและความกินดีอยู่ดีครับ
และนี่คือ วิถีแห่งท้องทุ่ง🚜 วิถีที่เปลี่ยนไป🐄🐟🌾
เขียนและเรียบเรียง
โดย..พระจันทร์สีน้ำเงิน
02/05/2563
💐ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามและสนับสนุนครับ
#ชอบกดไลค์👍
#ใช่กด👉แชร์
#และอย่าลืมกดติดตามเป็นกำลังใจให้กันด้วยนะครับ
โฆษณา