3 พ.ค. 2020 เวลา 10:17 • ปรัชญา
The Hope Experiment
ความหวังเพียงน้อยนิดทำให้ช่วยยืดชีวิตให้ยืนยาวจริงหรือไม่?
ในปี 1950 มีการทดสอบที่ได้รับการพูดถึงเป็นอย่างมากที่ John Hopkins University ทั้งในแง่ของผลลัพธ์ บทสรุปและความโหดร้ายของการทดสอบ
การทดสอบนี้รู้จักกันในชื่อว่า Hope Experiment
โดยเป็นการทดสอบการเอาตัวรอดของหนูที่พยายามจะหนีออกจากสภาพที่กำลังจะจมน้ำ
เค้าใส่หนูไว้ในเหยือกกลมที่มีน้ำเพียงครึ่งเดียว แล้วศึกษาว่าหนูจะเอาตัวรอดอย่างไร ซึ่งเหยือกกลมเรียบนั้นลื่นและไม่มีทางที่หนูจะออกมาได้เลย
ในรอบแรกเค้าใช้หนูบ้านสิบสองตัว ปรากฏว่าสามตัวแรก พยายามว่ายน้ำและหาทางออก และสุดท้ายจมน้ำตายในเวลาไม่เกิน 2 นาที อีกเก้าตัวสามารถที่จะเอาตัวรอดได้มากถึงเกือบ 24 ชม แต่สุดท้ายก็จมน้ำตายในที่สุด
รอบที่สองเค้าใช้หนูป่าที่คิดว่ามีทักษะการเอาตัวรอดได้ดีกว่าหนูในเมือง ปรากฏว่าได้ผลเหมือนกันคือหนูจมน้ำตายในเวลาไม่กี่นาที
ดังนั้นผลที่เค้าสรุปคือ การที่หนูจะเอาตัวรอดได้นานหรือไม่นั้นไม่เกี่ยวทักษะการเอาตัวรอดของหนู แล้วอะไรที่ทำให้หนูเอาตัวรอดอยู่ได้นานที่สุด
รอบที่สาม เค้าทำเหมือนเดิม แต่สิ่งที่แตกต่างคือ รอบนี้ พอเค้าเห็นว่าหนูเริ่มที่จะจมน้ำในเวลาไม่กี่นาที เค้าช่วยมันออกมา เช็ดตัวมันให้แห้ง ให้มันพักสักครู่ จากนั้น นำมันใส่เข้าไปในเหยือกใหม่ในสถานการณ์ที่เหมือนเดิม
ปรากฏว่าพบว่าหลังจากหนูตัวเดิมที่เกือบจะจมน้ำตายในเวลาไม่กี่นาที รอบที่สองที่มันเข้าไปอยู่ในสถานการณ์เดิมกลับทำได้ดีกว่าเดิมมาก หนูสามารถลอยคออยู่ได้นานกว่าเดิมมาก
จากผลการทดสอบ 228 ครั้งพบว่าหนูที่ได้รับการช่วยเหลือก่อนจมน้ำในรอบแรก สามารถลอยคอเอาตัวรอดเฉลี่ยได้นานถึง 72 ชม จากที่จะจมน้ำตายเพียงไม่เกิน 2 นาที ถ้าไม่มีการช่วยเหลือขึ้นมาให้พักก่อน
อะไรทำให้เกิดความแตกต่าง?
เค้าสรุปว่าคือ "ความหวัง" ที่จะได้รับการช่วยเหลือ
ในรอบแรกที่หนูเข้าไป มันหมดหวัง หาทางออกไม่ได้ จึงหมดความพยายาม หยุดว่าย และปล่อยให้ตัวเองจมน้ำตายไปในที่สุด
หลังจากที่มันได้รับการช่วยเหลือมาหนึ่งครั้ง มันเรียนรู้ว่า มันยังมีหวังที่จะรอดตาย ตราบใดที่มันยังสู้และไม่หมดความพยายาม มันอาจจะได้รับการช่วยเหลืออีกครั้งเหมือนครั้งแรก
เรื่องนี้อธิบายพฤติกรรมมนุษย์ได้อย่างไร?
เค้าอธิบายว่า ประสบการณ์ ในการเผชิญโลกของคนเราแตกต่างกันไป บางคนเคยผ่านประสบการณ์ที่เลวร้ายมาก่อน ทำให้ปฏิกริยาในบางเรื่องแตกต่างกันไป อาจจะเกิดการกังวล รู้สึกไม่มั่นคง และมองโลกในแง่ร้าย กับเรื่องบางเรื่องที่คนอื่นเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กๆ
การรู้สึกสิ้นหวัง และมองโลกในแง่ร้าย เป็นสิ่งที่คอยทิ่มแทงชีวิตคนเรา และค่อยๆ ฆ่าเราให้ตายทีละช้าๆ
ในยามที่เราเผชิญปัญหาในชีวิต สิ่งเดียวที่จะช่วยให้เราหลุดพ้นจากสถานการณ์นั้นออกไปได้ คือ "ความหวัง และ การมองโลกในแง่ดี"
1
เราต้องพยายามที่จะหยุดคิดและหลุดออกไปจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ออกไปทำอย่างอื่น เพื่อลืมๆ มันไปบ้าง
ถ้าเราหมดหวัง คิดแต่ว่าปัญหานั้นแก้ไม่ได้หรือไม่มีทางออก เราจะไม่มีทางแก้มันได้จริงๆ เพราะเราหมดหวังตั้งแต่ต้น จนไม่พยายามที่จะสู้กับมัน
แต่ถ้าเรายังมีความหวัง ยังคิดว่าเราจะแก้มันได้ ไม่ว่าจะใช้เวลานานแค่ไหน สุดท้ายปัญหาที่เคยคิดว่าแก้ไมได้ มันก็จะค่อยๆ หาทางผ่านไปเอง ตราบใดที่เราไม่ยอมแพ้ไปเสียก่อน
เหมือนหนูที่พยายามหาทางออกจากเหยือกน้ำ ตราบใดที่มันยังมีความหวังว่าจะมีคนช่วยออกไปได้ มันก็จะไม่ยอมตายง่ายๆ มันจะดิ้นรนเอาตัวรอดจนถึงที่สุด แล้วเราจะพบว่าเรามีความสามารถแฝงอยู่ในตัวเราอย่างที่คิดเราเองก็คิดไม่ถึง
โฆษณา