4 พ.ค. 2020 เวลา 04:49
เทพแห่งความเมา
ช่วงนี้ เหล่าผู้รักเมรัยทั้งหลายอาจจะต้องวุ่นวายสับสน กับนโยบายขายเหล้าของรัฐบาล ทำให้ร่ำสุราไม่ได้ตามที่ปรารถนา วันนี้ จึงขอแนะนำให้รู้จักก "เมรัยเทพ" กันค่ะ
ประติมากรรม เมรัยเทพ จัดแสดง ณ Blenheim Palace ประเทศอังกฤษ (ปกติ ถ้าเห็นผลงานองค์เทพกรีก-โรมัน ที่มีองุ่น หรือเถาองุ่นมาเกี่ยวข้องด้วย เดาๆ ไว้ได้ก่อนเลยค่ะ ว่าเป็นเมรัยเทพ
ในปกรณัมกรีกนั้น เทพที่ดังที่สุด เห็นจะหนีไม่พ้นมหาเทพซุส ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องเจ้าชู้ที่สุดด้วยเหมือนกัน ในคราวหนึ่ง องค์มหาเทพเกิดไปกุ๊กกิ๊กกับสตรีนาม สิมิลี ซึ่งพอมหาเทวีจูโน (เฮรา) รู้เข้า "จัดการ" นางเสียจนตายระหว่างตั้งครรภ์ แต่ซุสนี่ มือไวยิ่งกว่าลิงค่ะ คว้าเอาบุตรในครรภ์ที่ยังไม่ครบกำหนดคลอดของสิมิลีออกมาซ่อนเอาไว้ก่อน และเด็กคนนี้คือไดโอนีซัส (แบคคัส) เทพแห่งไวน์ (ไดโอนีซัส เป็นพระนามกรีก และแบคคัส เป็นพระนามโรมัน)
ซุสได้นำโอรสผู้รอดจากความตายไปฝากไว้ให้นางไม้เลี้ยงดูอยู่ในป่าเขา ทำให้เด็กน้อยคนนี้มีความรื่นรมย์อยู่เป็นนิจ เขาได้ท่องป่า ร้องเพลงสนุกสนานกับเหล่านางไม้ และบรรดาสัตว์ต่างๆ และเมื่อได้ไปพบกับพืชชนิดหนึ่ง คือ องุ่น ไดโอนีซัสก็ได้ทดลองนำมาหมัก นั่นแหละค่ะ คือกำเนิดของเหล้าองุ่น หรือไวน์ ซึ่งแรกเริ่มเดิมที เมื่อไดโอนีซัสทดลองดื่มเอง ก็ครึ้มอกครึ้มใจ แต่ดื่มมากไปก็เมาค้างจนปวดหัว แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ไดโอนีซุสก็คิดว่า นี่แหละ เครื่องดื่มที่เหมาะกับมวลมนุษยชาติ ว่าแล้ว ก็ออกเดินทางไปสอนให้มนุษย์รู้จักการปลูกองุ่น นำมาสู่การผลิตไวน์ดื่มกันยกใหญ่ ว่าแล้ว ไดโอนีซัสจึงกลายเป็นเทพแห่งเหล้าองุ่น และความอุดมสมบูรณ์
 
การที่ไดโอนีซัสเป็นผู้มอบไวน์ให้ผู้คนนี้ ทำให้ถือว่าพระองค์เป็นผู้ประทานความเบิกบานแก่มวลมนุษย์ แต่เหรียญก็มี 2 ด้าน หากดื่มมากเกินไปก็จะกลายเป็นความพินาศวิปลาส บ้าคลั่ง ไดโอนีซัสจึงเป็นเทพที่มีทั้งคุณ และโทษ ซึ่งเป็นการแสดงทัศนะของชาวกรีกอย่างเด่นชัดถึงข้อดี และข้อเสียของสุรา มันทำให้ผู้คนสนุกคึกคัก ฮึกเหิม รื่นเริงใจ ถึงขั้นลุกขึ้นมาร้องรำทำเพลง แต่ก็ทำให้เกิดอาการเมามาย และการฮึกเหิมนั้น ก็อาจทำในสิ่งที่ไม่อาจ หรือไม่ควรทำในยามมีสติครบถ้วน เรียกว่า คุณและโทษของสุราเมรัยนี้ เป็นเรื่องที่ทราบกันมานานนม ถึงขนาดสร้างตำนานเทพมารองรับ แต่แม้เวลาจะผ่านมานานหลายสหัสวรรษ มนุษย์อย่างเราๆ ท่านๆ บางคนก็ยังหาได้ดื่มแต่พอเพียงกันไม่ สุราจึงนำมาซึ่งปัญหานานาประการ จากอดีตอันไกลโพ้นจนสู่อนาคต แม้ทุกคนจะทราบว่า การดื่มแต่พอดีทำให้มีสุข แต่การดื่มเกินพอดีก็มีให้เห็นทุกเมื่อเชื่อวัน
ในภาษาอังกฤษ ก็เลยมีคำยากๆ คำนึง คือ Bacchanal ซึ่งมีความหมายค่อนข้างกว้าง เช่น หมายถึงผู้ที่บูชาแบคคัส นั่นก็คือผู้นิยมเมรัย หรือหมายถึงงานเลี้ยงแบบดิบๆ เถื่อนๆ สักหน่อย ขอเลือกใช้คำแปลว่า "เมาหัวราน้ำ" ท่าจะดี อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ที่ให้คำนิยามเกี่ยวกับสาวกของแบคคัสไว้อีกมากมายในเชิงที่ไม่ดีนัก เช่น เป็นพวกไปเมาปลิ้นกันในงานเลี้ยงที่ไม่ได้สติ มีการเปลือยกาย มีเพศสัมพันธ์กันแบบมั่วๆ
นอกจากนี้ ยังมีคำศัพท์อื่นๆ อันมีรากมาจากชื่อแบคคัสอีกหลายคำ เช่น bacchanalian ที่หมายถึงคนสำมะเลเทเมา และหากเป็น bacchanalian party หรืองานเลี้ยงแบบแบคคานาเลียน ก็หมายถึงงานเลี้ยงที่เมากันแบบไม่จำกัด และมีการมั่วสุมทางเพศกันด้วย เรียกว่า เพราะความเมา ทำให้ชื่อของเทพเละตุ้มเปะไปเหมือนกันนะคะ
การที่คนบูชาแบคคัส หรือไดโอนีซัสกันจนเมาไม่รู้เรื่องกันขนาดนี้ ทำให้ในช่วงศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาลนั้น ทางการของกรุงโรมถึงกับห้ามไม่ให้มีการทำพิธีบูชาเทพแห่งเมรัยนี้อีก แต่ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ พอไม่ให้ทำพิธีกันแบบเปิดเผย งานเลี้ยงบูชานี้เลยกลายเป็นงานแบบลับๆ ซึ่งก็ส่อไปในทางไม่งามอีกจนได้แหละค่ะ
แต่ถ้าย้อนไปในยุคกรีก ว่ากันว่า ในแต่ละปี ชาวกรีกโบราณจะจัดเทศกาลยิ่งใหญ่ถวายไดโอนีซัส เป็นเทศกาลที่กำหนดจัดขึ้นในฤดูใบไม้ผลิ เมื่อเถาองุ่นเริ่มแตกกิ่งก้าน เป็นเทศกาลที่จะจัดกันนานถึง 5 วัน 5 คืน ในช่วงเทศกาลของเทพที่เต็มไปด้วยความสุข สนุกสนานนี้ แม้นักโทษในคุกก็จะได้รับการปลดปล่อยให้ออกมาร่วมรื่นเริงเถลิงศก เรียกว่าคงได้เมากันหัวทิ่มทั้งคนดีคนร้าย และจะมีการไปชุมนุมสดุดีเทพในสถานที่แปลกกว่าการบูชาเทพองค์อื่นๆ นั่นคือ พิธีบูชาไดโอนีซัสไม่ได้จัดในมหาวิหารใดๆ แต่จะจัดขึ้นในโรงละคร นั่นทำให้เกิดกวีนิพนธ์ที่สร้างวรรณกรรมชั้นเยี่ยมถวายแก่ไดโอนีซัสมากมาย
ผู้เขียนบทละคร นักแสดง นักร้อง ทั้งหมด ล้วนถือเป็นผู้รับใช้เทพเจ้าในการแสดงที่ศักดิ์สิทธิ์อันเป็นเหมือนการบวงสรวง จะมีที่ประทับให้ไดโอนีซัสในโรงละครด้วย และมีการจัดเก้าอี้พิเศษให้เหล่านักบวช ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้เอง ทำให้เกิดเป็นบทละครที่เรียกว่า โศกนาฎกรรม และสุขนาฎกรรม แต่โดยพื้นฐานแล้ว โศกนาฎกรรมจะมีมากกว่า เพราะแม้ไดโอนีซัสจะนำมาซึ่งความรื่นเริง แต่ลึกๆ แล้ว พระองค์เป็นเทพผู้ระทมทุกข์ (อาจจะเหมือนคนที่ดื่มเมรัยเป็นประจำบางคนกระมังคะ ที่อาจจะต้องดื่มเพื่อลืมเธอ..เอ๊ย ดื่มเพื่อลืมความทุกข์ หลายคนอ้างว่า ทุกข์ใจมากก็ดื่มมาก คนแบบนี้น่าจะเป็นคนของไดโอนีซัสแหงๆ)
แล้วอะไรเล่า คือเหตุผลที่ไดโอนีซัสระทมทุกข์ นั่นก็คือเพราะความโกรธกริ้วที่ไม่เคยจางหายของจูโน มเหสีที่ถูกซุสนอกพระทัยนั่นเอง พระนางไม่เคยลืมว่า ไดโอนีซัสเป็นลูกนอกคอก เป็นโอรสที่เกิดจากหญิงอื่นของพระสวามี มิหนำซ้ำ ไดโอนีซัสยังกลายเป็นเทพที่มนุษย์รักใคร่ ความเจ็บช้ำของเฮราจึงเกินจะทน พระนางเกลียดชังไดโอนีซัสแบบเข้าไส้ จึงมีบัญชาให้พวกไททันจองล้างจองผลาญไดโอนีซัสอยู่ตลอดเวลา ด้วยการฉีกร่างไดโอนีซัสเป็นชิ้นๆ แต่ด้วยความเป็นอมตเทพ เจ้าแห่งเมรัยจะฟื้นคืนพระชนม์ชีพเสมอ แม้จะผ่านความเจ็บปวดแสนสาหัส
การตายและเกิดใหม่ของพระองค์ น่าจะเป็นการเล่าเชิงเปรียบเทียบเหมือนวงการการปลูกองุ่น ที่ต้องมีการตัดเล็มบ่อยๆ เพื่อให้เถาองุ่นเติบโตไปในทิศทางที่เกษตรกรต้องการ แถมการตัดเล็ม ยังช่วยให้เกิดการออกดอกออกผลได้มากขึ้นด้วย กิ่งที่เป็นเสมือนพระวรกายของไดโอนีซัสจะถูกริดออกไปในช่วงฤดูหนาว เหลือเพียงลำต้นที่ดูเผินๆ เหมือนจะตายซาก แต่ก็จะผลิใบใหม่ฟื้นคืนในที่สุด การฟื้นคืนขององุ่นจึงเป็นเหมือนการคืนพระชนม์ชีพของพระองค์ ที่ต้องมีการจัดงานเฉลิมฉลองดังกล่าว นั่นทำให้เรื่องราวโศกนาฎกรรมเป็นตัวแทนการบูชาไดโอนีซัส
และอีกนัยหนึ่ง ผู้คนที่เมามายภายใต้เหล้าองุ่นของพระองค์หลายคนก็ได้ทำเรื่องที่เป็นเหมือนโศกนาฎกรรมในชีวิตจริงด้วย โศกนาฎกรรมในการละคร จึงเป็นเหมือนการถวายบูชาแด่เทพผู้ระทมทุกข์ และเจ็บปวดเช่นไดโอนีซัส และสะท้อนชีวิตของผู้คนอีกมาก จนเกิดเป็นกวีนิพนธ์ที่ยังสืบทอดมาจนปัจจุบัน (ในอีกด้านหนึ่ง ผู้เรียบเรียงอดคิดไม่ได้ว่า เวลาดื่มกันมากๆ จนเกิดอาการเมาค้าง ตื่นมาปวดหัวแทบจะระเบิดนั้น อาจจะเป็นความเจ็บปวดเหมือนกับที่ไดโอนีซัสเคยรู้สึกยามที่ต้องโดนพวกไททันฉีกร่างของพระองค์ก็เป็นได้)
ในการบูชาไดโอนีซัสนั้น นอกจากจะเต็มไปด้วยการละคร การร้องรำทำเพลงแล้ว ในระยะต้นๆ ยังมีการบูชาด้วยแพะด้วย นั่นทำให้ในยุคกระโน้น มีการเรียกขานการร้องเพลงเพื่อบูชาไดโอนีซัสว่า เพลงแพะ หรือ tragos และมันก็กลายมาเป็นรากศัพท์คำว่า ละครโศกนาฎกรรม หรือ Tragedy ในภาษาอังกฤษ ซึ่งมักจะเป็นการแสดงเกี่ยวกับความตาย หรือความตกต่ำของบุคคลที่สูงส่ง อันมักจะเกิดจากการตัดสินใจ หรือวิจารณญาณที่ผิดพลาดไป ดังเช่นเรื่องเล่าในตำนานกรีกหลายเรื่อง ที่วีรบุรุษบางคนเกิดความพลาดเผลอในชีวิต หรือทำให้คนรักต้องจากไป เป็นต้น
แต่แม้ละครโศกนาฎกรรมจะเป็นสิ่งสำคัญของชาวกรีกโบราณ และละครสุขนาฎกรรม หรือ Comedy ก็เกิดขึ้นมาด้วย ในลักษณะของวรรณกรรมที่นำเสนอเรื่องในแนวขบขัน และจบลงด้วยความสุข ตัวละครมักจะเป็นคนธรรมดาสามัญ ขณะที่ในโศกนาฎกรรมนั้น มีข้อเด่นชัดที่ได้กล่าวมาแล้วว่าตัวละครมักเป็นกษัตริย์ หรือวีรบุรุษ (เห็นไหมคะ คนที่ยิ่งใหญ่ก็อาจจะยิ่งแบกความทุกข์ไว้มากกว่าคนธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ ก็ได้) โดยคาดกันว่า สุขนาฎกรรมน่าจะมีที่มาจากพิธีกรรมเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ของกรีกโบราณ เรียกว่า หากการเพาะปลูกพืชผลได้ผลผลิตงอกงามดี ผู้คนก็ย่อมมีความสุข และเสพความบันเทิงแบบสุขนาฎกรรมกันได้อย่างเจริญใจ
ละครอีกประเภทหนึ่งคือ โศก-สุขนาฎกรรม (Tragi-comedy) เรียกว่า เอามาหมดทั้งสองด้านเลยล่ะค่ะ โศก-สุขนาฎกรรม เป็นละครที่ผสานองค์ประกอบของทั้งโศกนาฎกรรม และสุขนาฎกรรมเข้าไว้ด้วยกัน เช่น อาจจะเริ่มต้นโครงเรื่องด้วยโศกนาฎกรรม แต่แทนที่จะจบแบบน้ำตาท่วมจอ ก็ปรับเปลี่ยนเพื่อให้จบแบบลงเอยด้วยความสุข หรืออย่างน้อยที่สุด ก็จบแบบไม่มีใครตาย หากจะบาดเจ็บบ้างก็แค่คางเหลืองนิดๆ หน่อยๆ แล้วก็แฮปปี้เอ็นดิ้งกันไปตามระเบียบ
ทั้งหมดนี้ เริ่มต้นขึ้นจากการบูชาเทพไดโอนีซัส เทพที่ปวงมนุษย์ยกย่องและรักใคร่ ไดโอนีซัสจึงเป็นทั้งเทพแห่งไวน์ และเทพแห่งการละครด้วย
องค์เมรัยเทพนั้น มีชายา นามเอริแอดเน ทั้งสองครองรักกันจนเอริแอดเนแก่เฒ่า จนเมื่อนางตายไป ไดโอนีซัสก็ยังนำมงกุฏที่เคยมอบให้นางไปไว้บนท้องฟ้าด้วย นั่นคือ กลุ่มดาวมงกุฎเหนือ (Corona Borealis) เพื่อที่พระองค์จะได้ทอดพระเนตรเห็นด้วยความระลึกถึงนางอันเป็นที่รักอยู่มิคลาย
ส่วนหญิงอีกคนหนึ่งที่แม้ไม่เคยได้เห็นหน้า แต่ไดโอนีซัสก็รักเหลือเกิน นั่นคือ สิมิลี มารดาที่ตายไปเสียก่อน ครั้นเมื่อเทพแห่งเมรัยเติบโตแล้ว ก็ไม่ได้ลืมเลือนนาง ถึงกับเดินทางไปยมโลก เพื่อตามหา และเมื่อพบแล้ว ก็ถกเถียงกับเฮเดส ราชาแห่งดินแดนของคนตายเสียยกใหญ่เพื่อแย่งชิงมารดา งานนี้ ไดโดนีซัสเถียงชนะค่ะ เลยได้วิญญาณของสิมิลีกลับมา แต่ไม่ได้นำมาที่โลกมนุษย์นะคะ กลับพาเหาะขึ้นสรวงสวรรค์ไปอยู่ร่วมกับปวงเทพเสียด้วย นางจึงได้เป็นมนุษย์เพียงไม่กี่คนที่ได้สถิตย์ ณ โอลิมปัส
สำหรับงานประติมากรรมที่เกี่ยวกับไดโอนีซัสนั้น ดูง่ายค่ะ เพราะโดยปกติ ศิลปินจะใส่สัญลักษณ์ประจำพระองค์เข้าไปด้วยเสมอ คือ องุ่น ดังนั้น หากเห็นรูปวาด หรือรูปปสลักที่ไหน เป็นชายหน้าตารื่นรมย์ และมีองุ่นอยู่ด้วย ก็สามารถเดาๆ ไว้ก่อนได้ว่า น่าจะเป็นไดโอนีซัสค่ะ
ประติมากรรม Faun with Infant Bacchus (ฟอนกับแบคคัสวัยเยาว์) จัดแสดง ณ British Museum ลอนดอน ประเทศอังกฤษ
เช่นเดียวกับสำหรับประติมากรรมที่นำมาให้ชมกันนี้ เป็นเหตุการณ์ตอนที่แม้ไดโอนีซัสยังเป็นเด็ก แต่ก็มีองุ่นเป็นองค์ประกอบ ผลงานนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงช่วงชีวิตที่พระองค์ได้อยู่กับพรรคพวกในป่าเขา หนึ่งในเพื่อนผู้อุ้มชูดูแลไดโอนีซัสมาคือ ฟอน เหล่าฟอนนี้ เป็นกึ่งเทพกึ่งกวางค่ะ แต่ในผลงานที่นำมาให้เห็นนี้ แกะสลักฟอนออกมาในรูปลักษณ์ที่ไม่ค่อยคล้ายกวางสักเท่าไหร่ โดยปกติแล้ว ฟอนเป็นหนึ่งในพื้นฐานของความอุดมสมบูรณ์ รักเสียงเพลงและการเริงระบำ ซึ่งคงจะทำให้ไดโอนีซัสได้นิสัยเหล่านี้ไปจากฟอน
ส่วนคนธรรมดาอย่างเราๆ หากจะรับเอา “นิสัย” จากไดโอนีซัส ก็คงจะมีดีหลายอย่างนะคะ เพราะหากไม่นับเรื่องเมาเละแล้ว ไดโอนีซัสเป็นผู้มีรักแท้ และกตัญญูแรงกล้า หากใครทำตามอุปนิสัยเช่นนี้ เห็นทีว่าจะเจริญรุ่งเรืองกว่านิสัยแบบแนว bacchanalian (แบคคานาเลียน) เป็นแน่แท้ทีเดียวเชียว
โฆษณา