5 พ.ค. 2020 เวลา 03:05 • บันเทิง
Prometheus (2012)
และสมมติฐานการกำเนิดของสิ่งมีชีวิตต่างดาว
Prometheus:โพรมีธีอุส (2012)
หนังไซไฟสยองขวัญจากฝีมือการกำกับของ ริดลีย์ สก็อตต์ ผู้กำกับคนแรกในแฟรนไชส์ของหนังชุด " Alien"(เอเลี่ยน) ซึ่งเป็นการเล่าย้อนไปถึงเหตุการณ์ก่อนที่จะเกิดเรื่องราวการต่อสู้ของเอลเลน ริปลีย์ (รับบทโดย ซิกอร์นีย์ วีเวอร์) กับ สิ่งมีชีวิตต่างดาวในหนัง Alien ภาคแรก ปี 1979
.
โดยความตั้งใจของผู้กำกับ ต้องการให้ Prometheusเป็นหนังปฐมบทเปิดไตรภาคของหนังเอเลี่ยนชุดใหม่ ซึ่งมีการสร้างภาคต่อออกมาแล้วหนึ่งภาคโดยใช้ชื่อว่า Alien:Covenant(2017)
"โพรมีธีอุส" เป็นชื่อของยานอวกาศที่มีภารกิจในการสำรวจดาว LV223 ซึ่งการสำรวจในครั้งนี้เกิดจากการค้นพบภาพเขียนโบราณภายในถ้ำแห่งหนึ่ง
.
จากการตีความอักษรภาพเหล่านั้น ทำให้มนุษย์รู้ถึงจุดกำเนิดของเผ่าพันธุ์ว่าแท้จริงแล้วการเกิดของมนุษย์นั้นไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่เป็นผลมาจากการสร้างของสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาจากต่างดาว ซึ่งในหนังเรียกพวกเขาว่า ผู้สร้าง หรือ " เอนจิเนียร์ (Engineer)"
นอกจากการค้นพบเรื่องการกำเนิดของมนุษย์และผู้สร้างแล้ว อักษรภาพเหล่านี้ยังบอกถึงตำแหน่งดาว LV223 ซึ่งน่าจะเป็นดาวของสิ่งมีชีวิตผู้สร้างมนุษย์ จึงมีการตั้งคณะสำรวจซึ่งประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีและวิทยาศาสตร์อย่าง ดร.เอลิซาเบธ ชอว์ , ดร.ฮอลโลเวย์ และ เดวิด หุ่นยนต์อัจฉริยะ ซึ่งทั้งสามได้ออกเดินทางมากับยานโพรมีธีอุส โดยที่ไม่รู้เลยว่าผู้สร้างที่พวกเขากำลังเดินทางไปพบนั้นแตกต่างจากผู้สร้างในพระคัมภีร์ทางศาสนาอย่างสิ้นเชิง
จากสิ่งที่เกิดขึ้นในหนังมาสู่ประเด็นคำถามที่น่าสนใจว่า " เราคือมนุษย์กลุ่มแรกของจักรวาลนี้หรือไม่ ? " คำถามนี้ยังคงเป็นปริศนาที่ไร้คำตอบ แต่ที่รู้แน่นอนก็คือ เราไม่ใช่สิ่งมีชีวิตชนิดแรกของจักรวาลนี้
แนวคิดเรื่องการกำเนิดของสิ่งมีชีวิตมีมาอย่างยาวนาน แต่โดยหลักๆแล้วสามารถแบ่งได้เป็น 4 แนวคิด คือ
1
1. สิ่งมีชีวิตเกิดจากการสร้างอย่างพิเศษ แนวคิดนี้มักปรากฎอยู่ในคัมภีร์ทางศาสนา ตามความเชื่อที่ว่าพระเจ้าคือผู้สร้างมนุษย์และจักรวาล
2. สิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นมาได้เองจากสิ่งไม่มีชีวิต แนวคิดนี้เกิดขึ้นในยุคกรีก โดยเชื่อกันว่าสิ่งมีชีวิตเกิดจากโคลนตม หรือ สารที่ไม่มีชีวิต เช่น ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่ประกอบกันจนเกิดเป็นสิ่งมีชีวิตและพัฒนาจนซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแนวคิดนี้ไม่ได้เป็นที่ยอมรับในปัจจุบันเนื่องจากไม่อิงอยู่บนพื้นฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่
3. สิ่งมีชีวิตมีต้นกำเนิดมาจากนอกโลกผ่านอุกกาบาตที่ตกลงมายังโลก แนวคิดนี้เกิดมาจากการพบสารอินทรีย์บางอย่างที่ติดมากับอุกกาบาต เช่น ธาตุคาร์บอนซึ่งเป็นธาตุสำคัญของสิ่งมีชีวิตบนโลก
4. สิ่งมีชีวิตเกิดจากวิวัฒนาการทางเคมี แนวคิดนี้ได้รับการสนับสนุนจากการทดลองของสแตนลีย์ มิลเลอร์ ซึ่งได้จำลองบรรยากาศของโลกในยุคแรก
โดยทำการทดลองในหลอดทดลองที่บรรจุน้ำ ก๊าซมีเทน แอมโมเนียและไฮโดรเจนซัลไฟด์จนทำให้เกิดประกายไฟในหลอดทดลอง เปรียบเหมือนกับปรากฎการณ์ฟ้าผ่า ฟ้าแลบ จนเกิดปฏิกิริยาทางเคมีกลายเป็นสารประกอบประเภทกรดอะมิโน ไขมัน น้ำตาลและสารอินทรีย์อื่นๆซึ่งเป็นโมเลกุลพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต
2
เป็นไปได้ว่าสิ่งมีชีวิตเริ่มแรกที่เกิดขึ้นบนโลก จะเกิดในลักษณะที่ใกล้เคียงกับการทดลองนี้
เมื่อโลกเย็นตัวลงจนมีอุณหภูมิที่เหมาะสม จนเกิดปฏิกิริยากันของสารเคมีในทะเล ทำให้เกิดสารประกอบจำพวกโปรตีน กรดอะมิโน และเอนไซม์สะสมอยู่ในทะเลเป็นจำนวนมาก
.
ต่อมาสารอินทรีย์ดังกล่าวเกิดการรวมตัวกันจนมีองค์ประกอบที่ซับซ้อนขึ้นและกลายเป็นสารอินทรีย์ที่มีโมเลกุลขนาดใหญ่จนพัฒนามาเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว และวิวัฒนาการจนเป็นสิ่งมีชีวิตที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น สมมติฐานข้อนี้เป็นข้อสมมติที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในปัจจุบัน
จากความพยายามอันหลากหลายจนนำไปสู่สมมติฐานเรื่องความเหมาะสมของสภาพที่เอื้อต่อการเกิดสิ่งมีชีวิต ทำให้เชื่อได้ว่า ในจักรวาลอันกว้างใหญ่นี้อาจมีดาวที่เอื้อต่อการเกิดสิ่งมีชีวิตเหมือนโลกอยู่บ้าง
ซึ่งปัจจุบันองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือ นาซ่า ได้ออกมาเปิดเผยแล้วว่า มีการค้นพบดาวที่มีลักษณะใกล้เคียงกับโลก
อยู่ห่างออกไปเพียง 111 ปีแสงเท่านั้น ซึ่งจากการตรวจสอบของกล้องบนยานฮับเบิ้ลพบว่า มีการระเหยของน้ำในชั้นบรรยากาศ
ดาวดวงนี้มีชื่อที่เรียกเป็นรหัสว่า "K2-18b"
ภาพจำลองดาวเคราะห์ K2-18b ที่มา Smanda smith/Cambridge University
จากความพยายามในการค้นหาดาวที่มีสภาพแวดล้อมอันเหมาะสมต่อการเกิดสิ่งมีชีวิต ทำให้เราพบดาวต่างๆที่มีสภาพคล้ายโลกอยู่พอสมควร ซึ่งจำนวนของดวงดาวที่เราสำรวจได้ นับว่าเป็นส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนดวงดาวทั้งหมดในจักรวาล
.
.
ซึ่งฐานการคิดที่ว่าอาจมีสิ่งมีชีวิตต่างดาวอยู่ที่ไหนสักแห่ง มักตั้งข้อสมมติอยู่บนพื้นฐานของสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเกิดสิ่งมีชีวิตโดยอิงจากสภาพแวดล้อมของโลกเป็นหลัก ซึ่งก็คือดาวที่มีแหล่งน้ำ มีออกซิเจน มีอุณหภูมิและความกดอากาศที่เหมาะสม
แต่จำเป็นด้วยหรือที่เงื่อนไขการเกิดของสิ่งมีชีวิตบนโลกอื่นต้องเหมือนกับโลกของเรา
ด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์อันน้อยนิดของมนุษย์ เป็นไปได้ไหมว่ายังมีสิ่งมีชีวิตอื่นๆอีกที่เกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องมีออกซิเจน อยู่ในดินแดนที่หนาวหรือร้อนจัด หรือในที่ที่มีความกดอากาศสูง
เป็นข้อถกเถียงที่มีมายาวนานในแวดวงวิทยาศาสตร์ว่า มีสิ่งมีชีวิตที่อยู่ได้โดยไม่ต้องหายใจ ไม่ต้องใช้ออกซิเจนหรือไม่ ?
นอกจากแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวแล้ว เรายังไม่เคยพบสิ่งมีชีวิตใดๆที่มีหลายเซลล์เป็นแบบนี้มาก่อน จนเมื่อไม่นานมานี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาเรื่องปรสิต H.salminicola ซึ่งค้นพบได้ทั่วไปในปลาแซลมอน
เจ้าปรสิต H.salminicola เป็นสัตว์ในไฟลัมไนดาเรีย (Cnidaria) เช่นเดียวกับแมงกะพรุน ดอกไม้ทะเล และไฮดรา ความพิเศษของมันก็คือ มันเป็นสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ชนิดแรกที่ไม่มีหน่วยพันธุกรรมของกลไกการหายใจและเผาผลาญโดยใช้ออกซิเจน
.
ซึ่งทางทีมวิจัยยังไม่ทราบแน่ชัดถึงกลไกการผลิตพลังงานของปรสิตสายพันธุ์นี้ นับเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความประหลาดกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นๆที่เคยพบมา
(ปรสิตชนิดนี้ไม่เป็นอันตรายกับมนุษย์ ดังนั้นคนที่ชอบทานปลาแซลมอนสบายใจได้)
ภาพปรสิต H.salminicola : Photo By Stephen Douglas Atkinson
เราเชื่อกันมาตลอดว่าธาตุคาร์บอนเป็นธาตุพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต และในปฎิกิริยาเผาผลาญเพื่อสร้างพลังงานของสิ่งมีชีวิตที่มีคาร์บอนเป็นพื้นฐาน จำเป็นต้องใช้ออกซิเจนในกระบวนการนั้น การค้นพบปรสิตH.salminicolaจึงทำให้เกิดการสั่นคลอนต่อความเชื่อนี้
นอกจากนี้ในสภาพแวดล้อมที่ยากแก่การดำรงชีวิต เช่น ใต้ทะเลลึกที่ไม่มีแสงอาทิตย์ ในสภาพอากาศที่เย็นจัดจนแทบจะแช่แข็ง รวมถึงความเค็มและแรงดันจำนวนมหาศาล ถึงอย่างนั้นก็ยังมีสิ่งมีชีวิตที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนั้นได้ เช่น ปลาไร้หน้าที่มีชีวิตอยู่ใต้ทะเลที่ระดับความลึกถึง 4 กิโลเมตร
.
นอกจากปลาไร้หน้าแล้ว ณ ระดับความลึกนั้นยังมีสิ่งมีชีวิตอื่นๆอีกมากมายที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในสภาพแวดล้อมที่ยากลำบากเช่นนี้
ยังมีสัตว์บางชนิดที่ดำรงชีวิตอยู่ด้วยไฮโดรเจนซัลไฟด์ซึ่งเป็นพิษอย่างมากต่อสิ่งมีชีวิตบนพื้นโลก สิ่งต่างๆเหล่านี้ได้เปลี่ยนแนวคิดของนักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเกิดของสิ่งมีชีวิต
“ ปลาไร้หน้า ” ภาพจากพิพิธภัณฑ์วิคตอเรียในเมลเบิร์น (John POGONOSKI / MUSEUMS VICTORIA / AFP)
เรารู้เรื่องของสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลในระดับที่น้อยมาก ยังมีพื้นที่อีกมากมายที่ยังสำรวจไปไม่ถึง เป็นไปได้ว่า อาจมีสิ่งมีชีวิต ที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ภายใต้พื้นผิวที่เป็นน้ำแข็ง ถ้าหากเรื่องนี้เป็นไปได้ การที่จะมีสิ่งมีชีวิตอยู่บนยูโรปาซึ่งเป็นดวงจันทร์ดวงหนึ่งของดาวพฤหัสก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน
แค่ท้องทะเลบนโลก เรายังสำรวจสิ่งมีชีวิตได้ไม่หมด นับประสาอะไรกับสิ่งมีชีวิตในจักรวาลอันกว้างใหญ่
จำเป็นแค่ไหนที่องค์ประกอบพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตต้องประกอบไปด้วยธาตุคาร์บอน ต้องหายใจ ต้องใช้ออกซิเจน จะมีธาตุอื่นใดในสภาวะที่เราไม่รู้จักที่ทำให้เกิดสิ่งมีชีวิตขึ้นได้อีกหรือไม่ ? และสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นเกิดขึ้นมาก่อนหรือหลังมนุษย์ ? พวกเขามีสติปัญญาและเทคโนโลยีที่เหนือกว่าเราแค่ไหน ?
พวกเขารับรู้ถึงการมีอยู่ของชาวโลกรวมถึงเคยมาเยี่ยมพวกเราบ้างไหม ?
ยังคงเป็นปริศนาให้มนุษย์ได้ศึกษากันต่อไป .... ซึ่งไม่แน่ว่าอาจมีมนุษย์ส่วนหนึ่งที่รู้คำตอบของคำถามเหล่านี้แล้วก็ได้
1
โฆษณา