8 พ.ค. 2020 เวลา 06:28 • ธุรกิจ
แผนการเงินส่วนบุคคล
ของที่ต้องมี เรื่องที่ต้องรู้
เมื่อวานมีน้องคนหนึ่ง ที่เคยมาฟังผมบรรยายเรื่องการบริหารการเงินส่วนบุคคล
ส่งข้อความกระทู้ในพันทิปมาให้ผมดู และอยากให้ผมวิเคราะห์และตอบ
แต่ส่วนตัวยังไม่ได้ลงทะเบียนในพันทิป ก็เลยขอนำมาเขียนเป็นกรณีศึกษาใน blockdit แพลตฟอร์มที่ผมชอบที่สุดดีกว่า กระทู้ที่ส่งมาคือกระทู้นี้ครับ
ถ้าโดยแฮทแท็กของกระทู้ คนส่วนใหญ่ในประเทศนี้หรือในโลกนี้เป็นแบบนี้กันอยู่แล้ว
แต่ถ้าอ่านรายละเอียด เจ้าของกระทู้ เป็นคนส่วนน้อยที่เป็นได้แบบนี้ครับ…
อายุ 40 โสด กลัวอนาคตตอนแก่ ถือว่ากลัวได้ทันเวลา ไม่สายครับ แต่ถ้าใช้ชีวิตแบบไม่กลัว
ถึงวันที่แก่จะน่ากลัวกว่าที่จินตนาการไว้หลายเท่า คุณครูเป็นครูส่วนน้อยที่มีเงินออม เพราะครูส่วนใหญ่เป็นหนี้ท่วมทั้งนั้น แต่อนาคตงานของครูโรงเรียนเอกชนน่ากังวลไม่น้อย
เด็กนักเรียนน้อยลงทุกวัน เพราะคนรุ่นใหม่มีลูกไม่มาก อาชีพอื่นถูก disrupt โดยเทคโนโลยี
แต่อาชีพครูถูก disrupt โดยจำนวนเด็กเกิดใหม่ ซึ่งยากที่จะแก้และหาทางรับมือได้
ที่ผ่านมามีการจัดการเรื่องการเงินพอใช้ได้ แต่อาจจะไม่ดีพอตามหลักการบริหารการเงินสากล ถึงได้เกิดปัญหาให้น่ากังวลใจในตอนนี้ หลักการเงินสากลเขาจัดการกันตามรูปนี้ครับ
1
ฐานสำคัญที่ทำให้การเงินส่วนบุคคลมีความมั่นคง เริ่มที่ฐานล่างคือบริหารความเสี่ยงก่อน
นั่นคือเรื่องประกัน คุณครูเป็นคนโสดไม่มีภาระรับผิดชอบใคร ประกันที่ต้องมี(ไม่ใช่แค่ควรมี)
คือประกันสุขภาพ และควรเป็นแบบเหมาจ่าย ถ้าบริษัทประกันยังรับ บวกด้วยประกันโรคร้ายแรงก็ควรมี เพราะโรคร้ายแรงบางโรค อาจส่งผลให้ตกงานได้เลย สัญญาคุ้มครองโรคร้ายแรงของหลายบริษัท จะจ่ายชดเชยเป็นเงินก้อน จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้ไม่น้อย และที่สำคัญเบี้ยประกันไม่แพงมากเมื่อเทียบกับความเสี่ยงที่บริษัทรับแทนเรา ซึ่งต้องเลือกแผนประกันให้เหมาะสม และคนส่วนใหญ่มักเลือกผิด หรือไม่ก็ไม่ได้เลือก ส่วนประกันกรณีตาย
ตามข้อมูลที่คุณครูให้มา ก็อาจไม่จำเป็นมาก ส่วนปิรามิดชั้นที่ 2 ที่คุณครูกังวลอยู่คือเรื่องเงินฉุกเฉินสำรอง ถ้าเกิดสถานการณ์ที่ทำให้ไม่มีรายได้เข้ามาหรือรายได้ลดต่ำกว่าค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน ตามหลักต้องมีอย่างน้อย 3-6 เท่าค่าใช้จ่ายต่อเดือน แต่สถานการณ์ช่วงนี้
ควรกันให้ได้อย่างต่ำ 6 เดือน อันนี้แหละครับ เป็น”ของที่ต้องมี”จริงๆ ไม่ใช่กระเป๋าแบรนด์
หรือกระบอกน้ำร้านกาแฟยี่ห้อไหน เพราะโควิดจะอยู่ไปกี่เดือนคาดไม่ถูก แล้วผลกระทบทางเศรษฐกิจจะหนักขนาดไหน คาดการณ์ยากมาก ซึ่งเงินสำรองฉุกเฉินส่วนนี้ ควรเป็นเงินสดในธนาคาร ทองคำแม้จะเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องค่อนข้างสูง แต่มูลค่าผันผวน วันที่จำเป็นต้องใช้เงิน เราคาดการณ์ไม่ได้ราคาจะเป็นเท่าไหร่ ทำให้ยากที่จะวางแผนให้เพียงพอรองรับค่าใช้จ่ายในวันที่จำเป็น แล้วถ้าคนแห่ขายกันเยอะๆ ร้านทองก็อาจมีสภาพคล่องไม่พอบริการเรา
2
ประกันที่ควรมีสำหรับคนโสด ควรมีออมทรัพย์ระยะยาว ที่รับรองเงินคืนชัดเจน ไม่ควรมากเกินไป ส่วนควรต้องเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับแผนเกษียณที่วางไว้ ซึ่งแน่นอนวางไม่ง่าย เพราะต้องคำนึงถึงค่าครองชีพที่จะเพิ่มขึ้นในวันเกษียณ อัตราดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนการลงทุน
อันนี้ต้องใช้ที่ปรึกษาการเงินที่เชี่ยวชาญช่วย ซึ่งเราต้องให้ข้อมูลของเราที่เป็นความจริงหรือใกล้เคียงที่สุด เพื่อให้ที่ปรึกษาสามารถประเมินวางแผนให้ได้อย่างเหมาะสมที่สุด
และแผนเกษียณของคนส่วนใหญ่ ไม่สามารถวางได้เพียงพอ ด้วยการเพียงแค่ซื้อประกันออมทรัพย์หรือสะสมในธนาคาร เพราะผลตอบแทนของสถาบันการเงินทั้ง 2 ประเภทนั้นไม่สูงมาก
แต่ประกันออมควรต้องมีไว้บ้าง เพราะเป็นเงินที่มีความปลอดภัยสูง
นี่เป็นตัวอย่างของแผนการเงินส่วนบุคคล ของลูกค้าคนหนึ่ง จากข้อมูลที่เขาให้
ทีมที่ปรึกษาการเงินวิเคราะห์แล้ว มีคำแนะนำอย่างนี้ครับ
อันนี้ต้องขอปกปิดชื่อจริง เนื่องจากเป็นความลับส่วนบุคคล คนนี้มีลูก 1 คน ผ่อนบ้านเดือนละ 35,000++ ผ่อนเอง 20,000฿ ที่เหลือภรรยาช่วยผ่อน เงินออมที่เหลือปีละ 200,000฿
เขาบอกในภายหลังว่าเพิ่งเหลือจากโบนัสปีล่าสุด ที่ผ่านมาไม่เคยเหลือ
1
เมื่อเอาข้อมูลทรัพย์สิน/หนี้สิน และงบกระแสเงินสด รายจ่าย/รายรับมาสรุป
ก็ได้ข้อสรุปตามภาพครับ อะไรขาด อะไรเกิน ตามหลักการเงินสากล ตามที่เห็นครับ
เนื่องจากมีลูก แผนแรกที่เราต้องแนะนำคือ แผนประกันค่าใช้จ่ายสำหรับลูกเผื่อโชคร้ายเขาตายเร็วไป ก็จะดูก่อนว่า ถ้าตายปีนี้ จากนี้ไปต้องทิ้งค่าใช้จ่ายให้ครอบครัวไปกี่ปี
คิดคำนวณเงินเฟ้อ หักด้วยผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้จากเงินลงทุน ของเงินที่ทิ้งไว้ให้ครอบครัว ว่าต้องมีเท่าไหร่ แล้วหักด้วยสินทรัพย์ที่แปลงเป็นเงินสดได้เร็วทั้งหมด
ที่เหลือแนะนำให้ซื้อประกันแบบที่เบี้ยไม่แพง แต่เน้นความคุ้มครองเยอะๆ
(ถ้าบริษัทประกันยังรับ)
แผนเกษียณต้องคำนวณเงินเฟ้อหรือค่าครองชีพในอนาคต โดยดูว่าวันนี้ถ้าเกษียณ เขาต้องการใช้เงินปีละเท่าไหร่ ถึงตอนเกษียณเงินที่ต้องใช้จริง เทียบค่าเงินตามเงินเฟ้อหรือค่าครองชีพที่คาดการณ์จะเป็นเท่าไหร่ (เงินเฟ้อจริงอาจต่ำกว่านี้ แต่ค่าครองชีพจริงอาจไม่ต่ำกว่านี้)
เมื่อถึงวันเกษียณ เงินที่ต้องเตรียมทั้งหมด เพื่อใช้ไปจนถึงวันตาย ตามที่คาดการณ์ (คาดถูกหรือผิดไม่มีใครรู้) จะต้องคำนวณเงินเฟ้อและผลตอบแทนการลงทุนอีกรอบ(ยุ่งยากหน่อยนะ)
แล้วหาว่าถึงวันนั้น มีทรัพย์สินอะไรมาใช้ได้บ้าง กรณีนี้ เขามีแค่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ที่ทำงานหักสมทบและลงทุนไว้ จากข้อมูลคาดการณ์ผลตอบแทนน่าจะมีเงินราวๆที่เห็นในภาพ
ที่เหลือก็เตรียมเพิ่ม และดูในส่วนสิทธิการลดหย่อนภาษี อะไรบ้างที่ยังไม่ได้ใช้
ก็แนะนำให้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีตามภาพ และสรุปคำแนะนำสุดท้ายตามนี้
นี่คือบางส่วนของแผนการเงินที่ได้ทำสรุป ให้กับลูกค้าท่านนี้
สำหรับคุณครูท่านนี้ ข้อมูลที่ถ้าผมมีเพิ่ม จะสามารถสรุปคำแนะนำแบบตามตัวอย่างได้
เนื่องจากแผนการเงินแต่ละคนไม่เหมือนกัน ข้อมูลที่ไม่รู้คือ
-คุณครูมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือไม่ เป็นกองประเภทไหน ปัจจุบัน nav เท่าไหร่ หักสมทบกันกี่ %
-ค่าใช้จ่ายส่วนตัวเท่าไหร่ต่อเดือน
-ทรัพย์สิน/หนี้สินเท่าไหร่ในปัจจุบัน
แต่เบื้องต้น จากแค่ข้อมูลที่มี คำแนะนำคือ
1.ขายทอง ถ้ากำไรอยู่หรือไม่ขาดทุน อย่าเสียดายกำไรในอนาคต เพราะมันอาจหมายถึงขาดทุนได้เหมือนกัน ถ้าเกิดฉุกเฉินต้องใช้เงินขึ้นมา และดูเหมือนใกล้จะฉุกเฉินขึ้นมาแล้วด้วย
2.เอากรมธรรม์ประกันชีวิตทุกเล่ม มาสรุปวิเคราะห์ เล่มไหนควรเลิก เล่มไหนควรถือต่อ คนทั่วไปมักเลือกเล่มที่ส่งมานานถือต่อ เพราะเสียดาย ส่งมาเยอะ ซึ่งการใช้เกณฑ์นี้อาจไม่ถูกต้องและส่วนใหญ่ผิดด้วย ต้องมาดูรายละเอียด ที่ลูกค้าส่วนใหญ่เข้าใจไม่ง่าย
บทสรุป 4 เงื่อนไขหลักในการสร้างความมั่นคงทางการเงิน
1.หาให้มากพอ ไม่ควรเสี่ยงมีรายได้จากช่องทางเดียว เดี๋ยวนี้ช่องทางทำรายได้มีเยอะ ลองศึกษาดู ขายออนไลน์ ยูทูปเบอร์ ขายประกันหรือเขียนบทความลง blockdit ก็ได้(เรื่องนี้ผมไม่เก่ง 55)
2.เก็บให้อยู่ ข้อนี้คุณครูทำได้ดีแล้วครับ
3.บริหารความเสี่ยงให้เพียงพอ ป่วยต้องมีเงินรักษา โชคร้ายเจอโรคร้ายแรงต้องมีเงินบรรเทาความเดือดร้อน ที่อาจไม่ใช่แค่ค่ารักษา และกันเงินฉุกเฉินสำรองอย่างน้อย 6 เท่าค่าใช้จ่ายต่อเดือนให้ได้
และสุดท้าย 4.ลงทุนให้เป็น ลงทุนแน่นอนมีความเสี่ยง แต่ถ้าคุณไม่เสี่ยงลงทุน คุณก็เสี่ยงอยู่แล้ว ที่จะมีเงินไม่พอใช้วันเกษียณ แม้ว่าหุ้นผลตอบแทนสูง และราคาจะลดลงมามากในช่วงนี้ แต่โดยวิธีการ valuation หุ้นตามแนว vi หุ้นหลายตัวถือว่ายังแพง ต้องใช้ความรู้ที่มาก กว้างและลึก ก่อนจะลงทุนในหุ้น การซื้อตามคำแนะของโบรกเกอร์ หรือเพื่อนฝูง อาจนำหายนะทางการเงินมาให้ในอนาคต สำหรับมือใหม่ กองทุนรวมน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องศึกษาทำความเข้าใจเช่นกัน แม้จะไม่ต้องรู้มากเหมือนหุ้น
เช่นกันอย่าซื้อกองทุนรวมตามคำแนะนำของใคร โดยไม่มีความเข้าใจ ผมเคยถามพนักงานแบงก์ที่ดูแลกองทุนรวม ว่าจะซื้อกองทุนไหนดี คำตอบคือ”ขึ้นอยู่กับว่าพี่ชอบแบบไหน”
การลงทุนเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเงิน ต้องไม่เริ่มด้วยความชอบ แต่ต้องเริ่มด้วยวิธีการที่สอดคล้องกับเป้าหมาย กองทุนรวมมีมาก ที่ดีมีน้อย และที่ดีและเหมาะสมกับเป้าหมายเรา
มีเพียงบางกอง ต้องทำความเข้าใจก่อนนะครับ
ทั้งหมดเป็นความเห็นส่วนตัว อิงตามหลักวิชาบริหารการเงินส่วนบุคคลที่เรียนและใช้ปฏิบัติงานจริงอยู่ อาจตรงหรือไม่ตรงความคิดเห็นของทุกท่าน บางส่วนอาจอธิบายไม่ครบ
ไม่ครอบคลุม กราบขออภัยมา ณ ที่นี้ ส่วนตัวถนัดบรรยาย มากกว่าเขียน
นี่เป็นการเขียนที่ยาวที่สุดในชีวิตแล้วครับ
โฆษณา