9 พ.ค. 2020 เวลา 10:45 • ปรัชญา
พี่น้องชวนกันเขียนใน Blockdit
การเขียนบทความเป็นอะไรที่ไม่ยากและไม่ง่ายอยู่ที่ตัวบุคคล ว่ามีความรู้ความเข้าใจมากน้อยเพียงใด ก่อนอื่นต้องขอออกตัวนิดหนึ่งว่า บทความนี้เขียนเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีให้แก่กัน ในฐานะพี่น้อง ถ้าจะให้เป็นอย่างอื่นอันนี้แล้วแต่บุพเพอาละวาดอันนี้ก็ว่ากันไปขำๆ ไม่อยากให้คิดมากอากาศร้อนกลัวบ้า
เรื่องของอากาศที่ร้อนเชื่อว่าหลายคนก็คงไม่ต่างกัน ต่อให้อยู่ในห้องแอร์ เปิดทุกวันพอค่าไฟมาก็คิดสงสารตัวเองเย็นเมื่อเปิดแอร์แต่ร้อนเมื่อจ่ายค่าไฟฟ้า ตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยเจออากาศร้อนที่ยาวนานขนาดนี้ หลายคนบ่นกันขนาดคนทำงานในร่มยังบ่น แล้วคนที่ทำงานกลางแจ้งน่าจะร้อนหนักหนา เช่น เกษตรกร ช่างก่อสร้าง คนทำงานกลางแจ้ง ไม่ว่าจะทำงานในที่ใดก็ขอให้ดูแลตัวเองให้ดีนะครับ เป็นห่วงจากใจจริง
บทความที่ร่างไว้ 3 เรื่อง ตอนแรกว่าจะลงสักเรื่องแต่พอมาอ่านแล้วเจอปัญหาการเขียนงาน ที่ทาง Blockdit แจ้งเข้ามาเตือนหลายๆ เพจ จึงยกให้เป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องรีบแก้ไข ทำให้ใจเราที่ชอบช่วยเหลือพี่ๆ น้องๆ จึงไม่นิ่งนอนใจ ร้อนกายพอได้ร้อนใจนี้สิจะอยู่สบายได้อย่างไร เฉพาะเพจที่เก่ง อยู่แต่เดิม คงไม่ต้องอธิบายอะไรมากมาย เขียนยังงัยก็ได้ จะนั่งเขียน นอนเขียน ยืนเขียน หรือตีลังกาเขียนก็ย่อมได้
สำหรับเพจที่เข้ามาใหม่ยังไม่รู้จะเขียนอะไร นั่งคิดวนแล้ววนอีก อันนี้จะดีมั้ย ชื่อนี้เหมาะมั้ย จะมีคนอ่านมั้ย แล้วเราจะหาภาพที่ไหน แล้วจะโดนข้อหาก็อปปี้มั้ย ลำพังจะเริ่มเขียนทั้งทีต้องมาเจอข้อบังคับแบบนี้เข้าไป แล้วเราจะเขียนไปอย่างไร ถ้าจะเล่านิทานก็เริ่มเป็นครั้งแรก พอจะเอาข่าวมาก็กลัวซ้ำ พอลงรูปหน่อยก็ไม่ใช่บทความ จึงต้องลงคลิปวีดีโอ จะร้องเพลงก็เขิน จะพูดก็ไม่กล้า สุดท้ายก็เลยไม่ได้ทำอะไร นั่งอมนิ้วอ่านบทความอย่างเดียวไปก่อน
การทำคลิปวีดีโอ เช่น การร้องเพลง ทำอาหาร การทำกิจกรรมต่างที่ถือว่าคงจะทำได้โดยง่ายกว่าการเขียนบทความ ถ้าเราทำเอง การเขียนบทความจึงจำเป็นต้องอาศัยทั้งศาสตร์และศิลป์ มีความรู้คู่ไหวพริบในการพลิกแพลงสิ่งรอบตัว ประสบการณ์ ความรู้ที่เกิดจากการเรียนรู้ทั้งทางตรงและทางอ้อม บทความจึงจำเป็นต้องละเอียดหน่อย เพราะกลัวมีปัญหาสุดท้ายโดนลบ โทษใครไม่ได้เพราะเราเอง ก็ว่ากันไป
หลายบทความที่ผมพยายามที่จะสื่อให้เข้าใจว่าเราจะต้องมีความขยันในการค้นคว้า มีใจรักในการอ่าน การเขียน ไม่ต้องรีบร้อนและตั้งค่าบทความไว้สูง แต่ค่อยๆ พัฒนาตนเองในแบบที่ตนถนัด สิ่งสำคัญต้องมีความเชื่อมั่นต่อตนเอง การเขียนบทความยิ่งเราเขียนออกมาจากจิตใจด้วยความรัก เราจะมีความสามารถรู้จุดบกพร่องของตนเองแก้ไขให้ดียิ่งขึ้นไป
บทความนี้พยายามรวบรวมหลักการเขียนบทความจากที่เคยศึกษามา เรียนรู้จากครูบาอาจารย์ และจากประสบการณ์ เพื่อนำมาวิเคราะห์ให้ผู้อ่านได้เห็นภาพของบทความที่น่าสนใจ ขั้นตอน กระบวนการ และการสืบค้นอ้างอิงเพื่อใช้ในการเขียนบทความ ซึ่งถ้าถามว่าการเขียนบทความนั้นยากหรือง่ายคงไม่สามารถตอบได้อยู่ที่ตัวบุคคล ที่มีความกล้า และความรู้มากน้อยเพียงใด
1) ขึ้นต้นเอง นักเลงพอ
บทความสิ่งที่สำคัญคือการเริ่มต้นที่จะเขียนอย่างไรให้สามารถไปต่อจนจบได้ และการวางชื่อเรื่อง เพื่อให้เรารู้ว่าจะเขียนอะไร ลองกำหนดหัวข้อเรื่อง วัตถุประสงค์ที่เราต้องการ วางหัวข้อย่อยโดยการเขียนไว้เป็นข้อย่อย เพื่อที่เราจะได้เขียนง่ายมากขึ้น แค่การค้นคว้าเนื้อหาเพื่อนำมาขยายความเพิ่มเติม
2. ความคิดจด บทบรรทัด
อีกวิธีหนึ่งที่ผมมักจะใช้คือการจดบันทึกอะไรก็ตามที่เราสนใจ มีความชอบที่อยากจะเขียนบันทึกโน้ตไว้ ในช่วงที่ความคิดกำลังเกิด ผมเคยบอกว่าขนาดเข้าห้องน้ำยังพกสมุดโน้ตไปบันทึกเพราะไอเดียเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกอย่างที่เราประสบมาคือความรู้ คือบทความของเรา แม้การเขียนกิจวัตรประจำวันก็คือ บทความดีๆ นี้เอง
3. เขียนทุกบาท มาตรวัดได้
บทความเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะเป็นการคัดลองใครมาหรือเปล่า เราจะต้องเขียนเองด้วยสำนวนโวหารของเรา ซึ่งจะช่วยทำให้เรามีความเข้าใจในรูปแบบการเขียน เอกลักษณ์ ความสามารถ สไตล์การเขียนยิ่งเห็นเร็วเรายิ่งได้เปรียบ เพราะจะได้เขียนงานที่เป็นตัวตนของตนเองมากที่สุด เมื่อมีการตรวจสอบก็ไม่ใช่ปัญหากับเราอีกต่อไป
4. ข้อมูลพอ ไม่ง้อใคร
หลักการนี้ถือว่าไม่ธรรมดาแน่นอน ข้อมูลที่เรานำมาเขียนมีหลายทาง เช่น ประสบการณ์ หนังสือ ออนไลน์ และผู้อื่น เมื่อเราต้องการจะเขียนบทความให้ได้เยอะข้อมูลจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ การอ่านหนังสือมากๆ จะช่วยให้เราได้เปรียบผู้อื่น เพราะเราจะห็นว่าจะเขียนอะไรและควรหาประโยคใดมาเชื่อมต่อเพื่อให้บทความน่าสนใจ
5. กลัวเขาลบ จบให้สวย
การที่เราเขียนอะไรก็ตามเมื่อมีกฏระเบียบที่วางไว้แล้ว ย่อมทำให้เราเกิดความระแวงที่จะถูกลบ เมื่อเป็นเช่นนั้น ทำให้เราเกิดความกลัว ก็อย่างที่บอกไว้บทความที่คัดลอกเกินกว่า 70% ถือว่าบทความนั้นคัดลอกคนอื่นมา เราควรที่จะวิเคราะห์ และสรุปข้อมูล ให้เป็นสำเนียงของตนเอง จากที่เราอ่านสัก 10 บรรทัด สรุปให้ง่ายๆ จะได้สัก 6-7 บรรทัดย่อมได้
6. ไม่เจ็บใจ ให้ทำเอง
เราเคยคิดบ้างมั้ยว่างานที่เราทำที่จริงที่เขียนเอง แต่เมื่อเราเหนื่อยที่จะเขียนแล้วนำข้อความที่เราชอบมาต่อโดยที่บางส่วนก็เขียนอยู่แล้ว แต่เมื่อผลตรวจออกมาไม่ผ่านสิ่งนั้นตะทำให้เราเจ็บใจตัวเองมากยิ่งขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้นอย่างจบปัญหาควรเขียนเอง และประโยคที่เราอ่านเจอในหนังสือคิดว่าชอบควรหารที่คั้น หรือถ่ายรูปไว้แล้วนำมาเขียนจะดีที่สุด มั่นใจด้วยว่าผ่านแน่นอน
7. บทความเจ๋ง เก่งอยู่แล้ว
สำหรับข้อนี้ผมขอยืนยันว่าบทความที่เจ๋งจริงส่วนมากจะเป็นบทความที่เขียนด้วยใจ ตั้งใจเขียน มีความสนใจในความรู้ที่ตนอยากเขียน หลายคนพยายามที่จะเขียนเกินความรู้ที่ตนมีอยู่ เพื่อให้มีคนสนใจแต่มันกลับไม่เป็นอย่างที่ตนเองเขียน เพราะการฝืนธรรมชาติของเรา บทความที่เจ๋งก็ไม่ใช่บทความที่ดีอะไร แค่สื่อสารง่าย ผู้อ่านเข้าใจ และเข้าถึงจิตใจผู้คนได้ง่าย ก็เหมือนข่าวทำไมเขาต้องออกข่าวที่สะเทือนใจ ดราม่า ด้วยมองว่าคนในสังคมชอบเพราะคนจะอ่านมาก ฉะนั้นบทความที่เจ๋งคือบทความที่เขียนจากใจถึงใจ
ดังนั้น บทความจะเด่นจะดีไม่ได้สำคัญที่ตัวผู้เขียนมีชื่อเสียง มีสำนวนที่สวยงาม แต่ขึ้นอยู่กับความตั้งใจ ความซื่อสัตย์ และความรัก อย่างที่ผมเองได้เขียนไว้ในบทความก่อนหน้านี้ บทความที่เราเขียนเองจะมีคุณค่าและความภาคภูมิใจของเรา ที่จะเป็นตัวแทนของเราให้กับคนอื่นได้นำไปเผยแผ่อย่างภาคภูมิใจ
ผมเองเชื่อเสมอว่า สมาชิกใน bd มีความรู้ความสามารถทุกคน ที่จะสามารถเขียนบทความออกมาได้ดี และดีมากๆ จากที่ผมได้อ่านบทความของทุกคนที่ผมเองได้ติดตาม มีการเขียนที่น่าสนใจหลายคน บางคนเล่านิทาน บางคนเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ บางคนเล่าประสบการณ์ บางคนแต่งกลอน บางคนเขียนงานวิชาการ บางคนอธิบายทางภาษา บางคนเขียนธุรกิจ การตลาด หุ้น ข่าวสารบ้านเมือง ซึ่งสิ่งนี้ล้วนแต่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของ bd มีที่ความหลากหลายที่ควรค่าคู่ควรกับเรานักเขียนและนักอ่าน
ปล. สิ่งที่สำคัญคือเราควรเข้าใจไว้ว่าบทความมี 3 ส่วน ที่เป็นมาตรฐาน แต่สำหรับบทความที่เราเขียนไม่ใช่วิชาการ หรือกึ่งวิชาการจึงไม่จำเป็นต้องมีความกังวลเรื่องการขึ้นต้น และจบ แต่ถ้าจะให้มีความเข้าใจควรมีการเกริ่นขึ้นต้น หรือคำนำ ก็จะดีมากเลย กล่าวคือ แบ่งเป็น
1. เกริ่นนำ ขึ้นต้น เริ่มต้น เปิดเรื่อง
2. เนื้อหา เนื้อเรื่อง เนื้อหาย่อย ข้อย่อยของเนื้อหา
3. สรุป บทสรุป บทส่งท้าย ปิดท้าย
ฝากกด like
ฝากกด share
ด้วยนะครับ
โฆษณา