9 พ.ค. 2020 เวลา 08:35 • สุขภาพ
จุดอ่อนอเมริกา
ในขณะที่สหรัฐอเมริกาดูมีความเข้มแข็งเกรียงไกรทั้งด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี การเมืองระหว่างประเทศและการทหาร แต่มีจุดอ่อนสำคัญ 2 ประการซ่อนอยู่ เป็นเหมือนระเบิดเวลาที่รอวันระเบิด วิกฤตไวรัสโควิดได้ทำให้จุดอ่อนนี้แสดงตัวชัดขึ้น เร่งเวลาปะทุเร็วขึ้น
จุดอ่อน 2 ประการนี้ คือ
1. หนี้รัฐบาล
รัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกา เดิมก็มีหนี้มากมหาศาลอยู่ราว 770 ล้านล้านบาท (24 ล้านล้านดอลลาร์) ยิ่งในปี พ.ศ.2563 นี้ หนี้จะเพิ่มขึ้นทับทวีจาก
+ หนี้จากการขาดดุลงบประมาณประจำปี 2563 จำนวน 32 ล้านล้านบาท
+หนี้จากมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจจากไวรัสโควิด 90 ล้านล้านบาท
+การอัดฉีดเงินสู่ระบบของธนาคารกลางอเมริกา(เฟด) 128 ล้านล้านบาท
รวมแล้วในสิ้นปี พ.ศ.2563 รัฐบาลกลางอเมริกาจะมีหนี้รวมมากกว่าพันล้านล้านบาท(ราว 140% ของ GDP) ยิ่งถ้า GDP ของอเมริกาปีนี้หดตัวเติบโตติดลบ 10-20% สัดส่วนหนี้ต่อ GDP ก็จะสูงขึ้นเป็นราว 160-180% ของ GDP เปรียบเทียบประเทศไทย รัฐบาลไทยมีหนี้อยู่ราว 42% ของ GDP
ในแง่หนี้รัฐบาลต่อGDP รัฐบาลญี่ปุ่นมีหนี้ราว 236%ของ GDP มากกว่าอเมริกา แต่ความแตกต่างคือ รัฐบาลญี่ปุ่นกู้จากในประเทศเป็นหลัก ในแง่หนี้สินสุทธิระหว่างประเทศ(Net international investment position:NIIP) ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของโลก มีทรัพย์สินเงินให้กู้และการลงทุนในต่างประเทศสุทธิ ราว 110 ล้านล้านบาท แต่อเมริกาเป็นประเทศลูกหนี้รายใหญ่ที่สุดของโลก มีหนี้สุทธิ ราว 350 ล้านล้านบาท
ยิ่งรัฐบาลอเมริการพิมพ์พันธบัตรออกมาอัดฉีดเศรษฐกิจและอุดการขาดดุลงบประมาณมากขึ้นเท่าใด ภาระในการใช้หนี้ในอนาคตก็จะเพิ่มขึ้น ความเสี่ยงก็จะเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ตอนนี้คนอาจยังไม่รู้สึกมาก เพราะประเทศอเมริกาเป็นอภิมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลก เงินดอลลาร์เป็นเงินตราสกุลหลักของโลก แต่หากอเมริกาไม่รีบแก้ ปล่อยให้หนี้สินงอกขึ้นเรื่อยๆ พอถึงจุดหนึ่งที่คนหมดความเชื่อมั่น แห่ขายพันธบัตรรัฐบาลอเมริกา ค่าเงินดอลล่าร์จะตกรูด เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างยิ่งยวด เศรษฐกิจจะพังทลาย เหมือนทฤษฎีกบต้ม
หนี้ที่รัฐบาลกลางอเมริกามีในขณะนี้ มีขนาดเท่ากับ 6.5 เท่าของรายได้รัฐบาลกลาง พูดง่ายๆ ว่า รัฐบาลเอาเงินรายได้จากภาษีอากรต่างๆ ในแต่ละปีมาจ่ายหนี้อย่างเดียว ไม่ใช้จ่ายอย่างอื่นเลยยังต้องใช้เวลา 6 ปีครึ่งจึงจะจ่ายหนี้หมด เป็นภาระหนี้ที่หนักหน่วงมาก เพียงอัตราดอกเบี้ยขึ้นทุกร้อยละ 1 ภาระดอกเบี้ยที่รัฐบาลต้องจ่ายก็จะเพิ่มขึ้นราว 6.5% ของงบประมาณแผ่นดินประจำปี นี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ทรัมป์พยายามกดดันเฟดให้ลดอัตราดอกเบี้ยมาโดยตลอด
2. การถ่างกว้างของช่องว่างระหว่างชนชั้น
สังคมอเมริกาเกิดภาวะ “รวยกระจุก จนกระจาย” คนรวยก็รวยขึ้นเรื่อยๆ แต่ประชาชนส่วนใหญ่ มีสินทรัพย์ลดลงเรื่อยๆ โดยเปรียบเทียบ ขอให้ดูรายละเอียดจากกราฟด้านล่าง
ในปี พ.ศ.2532 กลุ่มคนที่มีรายได้มากสุดเพียง 1% ของประชากรอเมริกาถือครองทรัพย์สินรวมราว 269 ล้านล้านบาท (8.4 ล้านล้านดอลลาร์) ส่วนคนที่มีรายได้น้อย 50 % ของประชากรอเมริกา ถือครองทรัพย์สินรวมกันราว 22.4 ล้านล้านบาท โดยเฉลี่ยคนในกลุ่มที่มีรายได้มาก มีรายได้มากกว่าคนในกลุ่มที่มีรายได้น้อย = 600 เท่า
ช่องว่างของรายได้นี้ก็ว่าแย่มากๆ แล้ว แต่สถานการณ์ยังแย่หนักขึ้นเรื่อยๆ
ในปี พ.ศ. 2561 กลุ่มคนที่มีรายได้มากสุดเพียง 1% ของประชากรอเมริกานี้ ถือครองทรัพย์สินเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว เป็น 944 ล้านล้านบาท (29.5 ล้านล้านดอลลาร์) แต่กลุ่มคนที่มีรายได้น้อย 50% ของประชากรอเมริกา นอกจากไม่ได้ถือครองทรัพย์เพิ่มขึ้นแล้วกลับยังติดลบ โดยคนกลุ่มนี้เป็นหนี้สุทธิรวมกัน 640,000 ล้านบาท พูดง่ายๆ ว่า 29 ปีที่ผ่านมาประชากรครึ่งหนึ่งของอเมริกา จากคนที่เคยมีทรัพย์สินอยู่บ้าง แม้ไม่มากนักกลายมาเป็นคนที่เป็นหนี้
ในขณะที่เศรษฐกิจโดยรวมของอเมริกาดีมาก มีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องมาตลอด 10 ปี นานที่สุดในประวัติศาสตร์ กลุ่มคนรวยก็รวยเอาๆ แต่คนด้านล่างครึ่งหนึ่งของประเทศจนลงเรื่อยๆ เป็นหนี้เป็นสิน
ช่องว่างระหว่างชนชั้นคนรวยและคนจนถ่างกว้างที่สุดในรอบ 50 ปี
ความแตกต่างของรายได้นี้ยังนำมาซึ่งความแตกต่างของการรักษาสุขภาพและโอกาสทางการศึกษา
คนรวยได้รับการรักษาพยาบาลที่ดีจากระบบการแพทย์ที่เยี่ยมยอด แต่คนจนจำนวนเกือบ 30 ล้านคน ไม่มีแม้แต่ประกันสุขภาพ ที่มีประกันก็ยังต้องจ่ายเอง 40% บ้าง 60% บ้าง แล้วแต่ประเภทของประกัน นี้เป็นสาเหตุที่ทำให้อเมริกาคุมโควิดไม่อยู่ ติดเชื้อมากที่สุดในโลก ตายมากที่สุดในโลก โดยเฉพาะกลุ่มคนจนมีอัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตสูงกว่าคนรวยหลายเท่าตัว (อ่านรายละเอียดได้ที่ บทความเรื่อง ทำไมอเมริกาที่มีระบบการแพทย์ดีที่สุดในโลกคุมโควิดสู้ไทยไม่ได้ : https://www.blockdit.com/articles/5eae6f194d99f80cad130eb3)
ด้านการศึกษา มหาวิทยาลัยในอเมริกามีมาตรฐานดีที่สุดในโลก แต่เก็บค่าเล่าเรียนแพงมาก
มหาวิทยาลัยของรัฐ สำหรับคนในรัฐนั้นๆ ค่าเทอมเฉลี่ยปีละ 320,000 บาท
มหาวิทยาลัยของรัฐ สำหรับคนจากต่างรัฐ ค่าเทอมเฉลี่ยปีละ 720,000 บาท
มหาวิทยาลัยเอกชน ค่าเทอมเฉลี่ยปีละ 1,200,000 บาท
ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีชื่อเสียงบางแห่ง ค่าเทอมปีละกว่า 2 ล้านบาท
คนจะเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้ ส่วนใหญ่จึงเป็นลูกคนมีสตางค์หรือกู้ยืมจากรัฐ ซึ่งก็จะคิดดอกเบี้ยค่อนข้างแพง ร้อยละ 6-7 ถ้าผิดนัดการผ่อนจ่ายคืน 3 เดือน ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก ทำให้คนจำนวนมากทำงานจนเกษียณแล้วก็ยังจ่ายหนี้การศึกษาไม่หมด
โรงเรียนระดับประถมและมัธยมในอเมริกาจะขึ้นกับเทศบาล ซึ่งถ้าเป็นเขตที่พักของคนมีสตางค์คุณภาพโรงเรียนก็จะดี เพราะเทศบาลมีรายได้สูง แต่ถ้าเป็นเขตของประชาชนทั่วไป คุณภาพโรงเรียนก็จะไม่ค่อยดี เด็กบางคนจบมัธยมปลายแล้วยังอ่านหนังสือไม่ออกก็มี
ลูกคนรวยก็จะได้รับการศึกษาที่ดี มีโอกาสการงานที่ดี รวยขึ้นๆ แต่ลูกคนจนเรียนจบแค่มัธยม มีโอกาสในการงานน้อย ทำงานหนักตลอดชีวิตแต่มีรายได้แค่พออยู่พอกิน ถ้าเจ็บป่วยหนักๆ ทีก็หมดตัว ชีวิตไม่มั่นคง มีความเสี่ยงตลอด โอกาสที่จะสะสมเงินซื้อบ้าน ซื้อรถ มีเงินเก็บ มีครอบครัวที่มั่นคง ลูกๆ ได้รับการศึกษาที่ดี มีอนาคตสดใส American Dream ที่คนยุคก่อนเคยมี กลายเป็นเพียงภาพในฝันที่ยากจะเป็นจริง
คนส่วนใหญ่ในสังคม จึงสะสมความไม่พอใจมากขึ้นเรื่อยๆ และปะทุออกเป็นความแตกแยกของสังคมอเมริกันปัจจุบัน
ดอนัลด์ จอห์น ทรัมป์
ทำไมทรัมป์ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี
ปกติผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จะพยายามหาคะแนนสียงจากประชาชนทุกกลุ่ม เช่น นักธุรกิจ คนผิวขาว คนผิวดำ คนละตินอเมริกัน คนเชื้อสายเอเชีย เป็นต้น แต่ทรัมป์รู้ว่าถ้าทำอย่างนั้นตนไม่มีทางสู้ฮิลลารี คลินตันได้ จึงเลือกจับกลุ่มคนผิวขาวที่ไม่จบมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่สุดของประเทศ ทำงานเป็นแรงงานในอุตสาหกรรมต่างๆ พนักงานระดับล่างในธุรกิจบริการ และเกษตรกร
ทรัมป์มองออกว่าคนกลุ่มนี้กำลังไม่พอใจกับสภาวะที่ตนเป็น American Dream ที่กลายเป็นฝันสลาย มีอนาคตที่ไม่มั่นคง ทรัมป์จึงหาเสียงโดยบอกคนกลุ่มนี้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่ว่าคนกลุ่มนี้ไม่เก่ง ไม่ใช่คนกลุ่มนี้ไม่ดี ไม่ใช่คนกลุ่มนี้ไม่ขยัน แต่เป็นเพราะพวกผู้อพยพจากละตินอเมริกาที่มาแย่งงานทำ เกิดจากจีนส่งสินค้ามาขายตีตลาดอเมริกา ถ้าตนได้เป็นประธานาธิบดี จะไล่ผู้อพยพออกจากประเทศให้หมด สร้างกำแพงที่พรมแดนระหว่างอเมริกากับเม็กซิโก จะเล่นงานจีน อเมริกาต้องมาก่อน (America First) จะทำให้อเมริกายิ่งใหญ่อีกครั้ง (Make America Great Again)
ธรรมชาติของคนชอบที่จะมองว่าความผิดข้อบกพร่องอยู่ที่คนอื่น ด้วยนโยบายที่แปลกๆ เน้นเอาใจเฉพาะกลุ่มนี้ ทำให้ทรัมป์ได้คะแนนจากคนผิวขาวที่เป็น blue collar ชนชั้นแรงงานเหล่านี้ แต่คนมีความรู้ไม่ชอบจนถึงเกลียดทรัมป์มาก สังคมอเมริกาจึงยิ่งแตกแยกเป็น 2 ขั้วหนักขึ้น
ถ้าเลือกตั้งใหม่ 3 พ.ย.นี้ ทรัมป์ไม่ได้รับเลือกตั้ง สังคมอเมริกาจะสามัคคีกันไหม
ทรัมป์เป็นผลิตผลจากการถ่างกว้างของช่องว่างระหว่างชนชั้น และมีส่วนทำให้ความแตกแยกในสังคมชัดขึ้น แรงขึ้น แต่ทรัมป์ไม่ใช่ต้นเหตุ ดังนั้น หลังเลือกตั้งแม้ต่อให้ได้คนอื่นมาเป็นประธานาธิบดี แต่ตราบใดที่ปัญหาพื้นฐาน ช่องว่างระหว่างชนชั้นยังไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหาความแตกแยกในสังคมอเมริกาก็จะยังไม่หมดไป
บริษัทน้ำมัน Standard Oil ของ ตระกูล ร็อคกี้เฟลเลอร์
แนวโน้มอนาคต
ในอดีตอเมริกาเคยเจอปัญหาใหญ่ๆ หลายครั้ง บางช่วงธุรกิจขนาดใหญ่คุมเศรษฐกิจของประเทศยิ่งกว่าตอนนี้ เช่น ตระกูลร็อคกี้เฟลเลอร์ สามารถคุมธุรกิจน้ำมันได้ทั้งประเทศ กำหนดราคาซื้อขายได้ตามใจ แต่พอปัญหาแรงขึ้นถึงระดับหนึ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่พอใจ นักการเมืองก็จะพยายามนำเสนอนโยบายที่ตรงความต้องการประชาชน ทำให้เกิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาด บังคับให้บริษัทใหญ่ๆ เช่น บริษัทน้ำมันของตระกูลร็อคกี้เฟลเลอร์ต้องแตกออกเป็นบริษัทขนาดเล็กลงหลายบริษัทแข่งขันกันเอง เพื่อไม่ให้เอาเปรียบประชาชน ทำให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม เป็นพลังขับเคลื่อนสังคมอเมริกันให้ก้าวหน้ามาจนเป็นผู้นำโลกในปัจจุบัน
1
ก็ต้องดูต่อไปว่า ศึกใหญ่ครั้งนี้ ประเทศอเมริกาจะสามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าสร้างความก้าวหน้าในชีวิต ตามศักยภาพแห่งตน ดังที่เคยทำสำเร็จมาในอดีตอีกครั้งหรือไม่
ขอให้คุณพระศรีรัตนตรัยคุ้มครองรักษาประเทศไทยและชาวโลก
พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ
โฆษณา