12 พ.ค. 2020 เวลา 03:33 • สุขภาพ
ปวดก้นกบ
อาการปวดก้นกบ หรือบริเวณกระดูกสันหลังส่วนปลายสุดนั้นพบได้ไม่บ่อย แต่มีผลทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวด เกิดความทุกข์ทรมานและทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแย่ลง
ซึ่งส่วนใหญ่มักไม่ทราบสาเหตุ แต่ก็มีบางครั้งเกิดขึ้นเนื่องจากการเกิดอุบัติเหตุจากการลื่นหกล้มเอาก้นกระแทกพื้นทำให้เกิดกระดูกหักซึ่งเป็นสาเหตุบ่อยที่สุดที่ทำให้เกิดอาการปวดก้นกบ ข้อเคลื่อนหลุด การกระแทกโดยตรงที่บริเวณก้นกบจากการเล่นกีฬา การนั่งเป็นระยะเวลานานๆ
ผู้ป่วยบางรายอาการปวดก้นกบอาจเกิดจากก้อนเนื้องอกที่เกิดในบริเวณของตำแหน่งนี้
บางครั้งอาการปวดก้นกบเกิดขึ้นหลังจากการใช้กล้องส่องตรวจลำไส้ผ่านทางบริเวณทวารหนัก หรือเกิดภายหลังจากการคลอดลูก ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอย่างหนึ่งของอาการปวดก้นกบเกิดเนื่องจากอายุที่เพิ่มมากขึ้นเนื่องจากเกิดกระบวนการเสื่อมของกระดูกข้อต่อของกระดูกสันหลังส่วนปลาย อาการปวดก้นกบอาจจะมีอาการปวดตั้งแต่เล็กน้อยจนกระทั่งมีอาการปวดรุนแรงมากที่บริเวณก้นกบมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของผู้ป่วย
อาการปวดก้นกบนี้สามารถพบได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง แต่เพศหญิงจะเป็นมากกว่าเพศชายเนื่องจากกระดูกอุ้งเชิงกรานของเพศหญิงกว้างกว่า และกระดูกก้นกบของเพศหญิงจะนูนมากกว่า
กระดูกก้นกบ (Coccyx) เป็นกระดูกส่วนปลายสุดของกระดูกสันหลังเหมือนกับกระดูกส่วนหาง กระดูกก้นกบประกอบด้วยกระดูกชิ้นเล็กๆเรียงตัวต่อกันประมาณ 3 – 5 ชิ้น เรียงตัวกันในรูปโค้ง มีกล้ามเนื้อมาเกาะ ซึ่งกล้ามเนื้อเหล่านี้มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบการขับถ่ายของร่างกาย กระดูกก้นกบทำหน้าที่ในการรับน้ำหนักในขณะที่นั่งตัวเอนไปด้านหลัง
กระดูกก้นกบ
ดังนั้นในผู้ป่วยที่มีปัญหาปวดก้นกบมักจะนั่งแล้วโน้มตัวมาด้านหน้าเพื่อหลีกเลี่ยงการลงน้ำหนักที่ตำแหน่งของกระดูกก้นกบ อาการปวดนี้ในผู้ป่วยบางรายอาจจะหายไปได้เอง แต่ในผู้ป่วยบางรายจะมีอาการปวดก้นกบเรื้อรังซึ่งมีอาการปวดนานมากกว่า 3 เดือน ซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายได้เองจำเป็นต้องรับการรักษาด้วยวิธีการหลายๆอย่าง
ดังนั้นการวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่เริ่มมีอาการจะลดโอกาสการเกิดโรคเรื้อรัง และอาการปวดเรื้อรังลงได้
การแยกโรคที่มีโอกาสเป็นไปได้ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดก้นกบได้แก่
โรคริดสีดวงทวาร
โรคเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่
กลุ่มอาการโรคปวดเฉพาะที่แบบซับซ้อน โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมซึ่งอาจจะมีการกดทับเส้นประสาทหรือไม่ก็ได้
แนวทางในการรักษาอาการปวดก้นกบนั้นประกอบด้วย
1. การนั่ง
a. หลีกเลี่ยงการนั่งเป็นระยะเวลานานๆ โดยเฉพาะท่านั่งเอนหลัง เพราะจะทำให้กระดูกตรงตำแหน่งที่เจ็บรับน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น
b. ควรนั่งโน้มตัวไปด้านหน้าเพื่อหลีกเลี่ยงแรงกระแทกและน้ำหนักที่ลงบนกระดูกก้นกบ
c. ควรใช้แผ่นรองนั่งเช่น ห่วงยาง หรือเบาะนุ่มๆรองนั่ง จะช่วยลดแรงกระแทกต่อเนื้อเยื่ออ่อนและกระดูกบริเวณก้นกบ
ท่านั่งเพื่อลดอาการปวด
2. การรับประทานยาลดอาการปวด และยาลดอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) จะช่วยลดอาการปวด และลดการอักเสบที่บริเวณกระดูกก้นกบและเนื้อเยื่ออ่อนบริเวณรอบๆ
3. การรับประทานอาหารที่มีเส้นใยมากๆเพื่อให้ระบบการขับถ่ายดีขึ้น หลีกเลี่ยงท้องผูกเพราะจะทำให้ผุ้ป่วยเบ่งมากเวลาขับถ่าย ซึ่งจะกระตุ้นทำให้มีอาการปวดเพิ่มมากขึ้น
4. การฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ในตำแหน่งที่มีอาการเจ็บปวด หรือร่วมกับการฉีดยาบล๊อกเส้นประสาทที่บริเวณกระดูกก้นกบ จะช่วยลดอาการปวด และอาการอักเสบได้เป็นอย่างดี รวมทั้งลดการนำกระแสประสาทจากตำแหน่งที่มีอาการปวด
5. การผ่าตัดเอากระดูกก้นกบเพื่อรักษาอาการปวดนั้นมักไม่ค่อยจำเป็น ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะตอบสนองได้ดีด้วยการรักษาตามวิธีที่กล่าวมาข้างต้น
อาการปวดบริเวณก้นกบเนื่องจากอุบัติเหตุล้มก้นกระแทกพื้นนั้นมักจะใช้ระยะเวลานานหลายสัปดาห์กว่าจะหาย ถ้าได้รับการรักษาที่เหมาะสมด้วยวิธีที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา