13 พ.ค. 2020 เวลา 05:40 • ความคิดเห็น
สงครามโลกครั้งที่ 1 สงครามที่ทำลายล้างกันด้วยความรู้ในศาสตร์...เคมี
มองย้อนไปในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ทำให้เกิดเครื่องจักรที่สร้างสินค้าได้คราวละมาก ๆ
ชาติมหาอำนาจในยุคนั้นจึงแย่งกันยึดครองดินแดนของชาติที่อ่อนแอเป็นอาณานิคม เพื่อเป็นทั้งแหล่งกระจายสินค้าและจัดหาวัตถุดิบ ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันของเหล่าชาติผู้นำในการปฏิวัติอุตสาหกรรมเหล่านั้น
1
สงครามโลกครั้งที่ 1 หรือที่เรียกกันว่ามหาสงคราม จึงเป็นสงครามที่สู้รบกันอยู่ในทวีปยุโรปไม่ได้ลุกลามไปทั่วโลก ความเสียหายก็จำกัดอยู่ในยุโรปเป็นส่วนใหญ่
ความจริงอีกอย่างคือหลังจากปฎิวัติอุตสาหกรรม สิ่งที่ได้รับการพัฒนาไม่ได้มีเพียงระบบการผลิตแบบอุตสาหกรรมเท่านั้น ด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ก็ได้รับการพัฒนาให้ก้าวหน้าทันสมัยไปด้วย
คาดกันว่าสงครามครั้งนี้มีทหารเสียชีวิตประมาณ 10 ล้านคน อาวุธที่ใช้คร่าชีวิตทหารสมัยนั้นส่วนใหญ่เป็น กระสุนปืน และแก๊สพิษ ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้เป็นเทคโนโลยีที่อาศัยความรู้ในศาสตร์เคมี
 
ที่บอกว่ากระสุนปืนเป็นเทคโนโลยีที่อาศัยความรู้ด้านเคมี เพราะกระสุนปืนมีส่วนประกอบสำคัญคือ ดินขับหรือดินส่งกระสุน ซึ่งเป็นสารเคมีที่ติดไฟได้ง่ายและให้พลังงานสูงเมื่อเกิดการเผาไหม้ ดินส่งกระสุนเมื่อติดไฟจะทำให้อากาศขยายตัวจนเกิดแรงดันจำนวนมากเพื่อส่งหัวกระสุนไปยังเป้าหมาย
ในยุคเริ่มแรกดินส่งกระสุนจะทำจากดินดำ ซื่งประกอบด้วยดินประสิว กำมะถัน และถ่าน
 
เหตุที่ต้องมีสารสามชนิดนี้อยู่ด้วยกันเพราะ กำมะถันและถ่านจะถูกเผาไหม้ได้ดีเมื่อได้รับออกซิเจนเพียงพอ ส่วนดินประสิว (KNO3) นั้นเป็นสารที่มีออกซิเจนจำนวนมากและจะคายออกซิเจนออกมาเมื่อได้รับความร้อน
 
เมื่อสารทั้งสามมาอยู่ด้วยกันแล้วมีการเผาไหม้เกิดขึ้นก็จะเกิดการขยายตัวของก๊าซอย่างรวดเร็ว เกิดเป็นแรงดันมหาศาลที่จะขับดันหัวกระสุนให้พุ่งออกไป
ต่อมามีการพัฒนาดินส่งกระสุนจากการใช้ดินดำเป็นดินควันน้อยซึ่งมีส่วนประกอบหลักคือ ไนโตรเซลลูโลส (NC) ที่มีความไวต่อการกระแทกเป็นแหล่งให้ก๊าซร้อนและแรงดัน ดินปืนที่มีส่วนประกอบของไนโตรเซลลูโลสนี้มีความแรงมากกว่าการใช้ดินปืนทั่วไปหลายเท่า
 
กระบวนการผลิตไนโตรเซลลูโลสในอุตสหกรรมทางอาวุธได้จากการสังเคราะห์จากปฏิกิริยาไนเตรชันระหว่างใยฝ้ายกับกรดไนตริกหรือกรดดินประสิว (HNO3) โดยมีกรดซัลฟูริก หรือ กรดกำมะถัน (H2SO4) เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา
 
จะเห็นได้ว่านอกจากนำไปทำเครื่องนุ่งห่มแล้วฝ้ายยังเป็นวัตถุดิบสำคัญในการพัฒนาอาวุธได้อีกด้วย
ช่องด้านล่างคือที่บรรจุดินสำหรับส่งหัวกระสุน
นอกจากกระสุนปืนแล้ว ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ผู้คนจำนวนมากยังเสียชีวิตจากแก๊สพิษที่มีผลต่อระบบประสาท เช่น แก๊สน้ำตา แก๊สมัสตาร์ด แก๊สไซยาไนด์ แก๊สเหล่านี้จะทำให้อาเจียน ผิวหนังอักเสบ หายใจไม่ออก หรืออาจเสียชีวิตภายในไม่กี่นาที
สารเคมีเหล่านี้จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ทหารของทั้งสองฝ่ายต้องใส่หน้ากากเพื่อป้องกันตนเอง
นักเคมีที่มีบทบาทสำคัญในการผลิตแก๊สพิษในสงครามโลกครั้งที่ 1 คือ ฟริทซ์ ฮาเบอร์ นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลสาขาเคมี ผู้ที่หาวิธีสังเคราะห์แอมโมเนียจากก๊าซไนโตรเจนและก๊าซไฮโดรเจนที่มีอยู่มากมายในอากาศ เพื่อใช้ในการผลิตปุ๋ยไนโตรเจน โดยหวังว่าจะช่วยโลกจากความกังวลเรื่องการขาดแคลนอาหาร
ฮาเบอร์ผู้เป็นทั้งนักบุญและคนบาป
กระบวนการสังเคราะห์แอมโมเนียของฮาเบอร์ ที่ถูกเรียกว่ากระบวนการฮาเบอร์-บ็อช ถือเป็นหนึ่งในความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่สำคัญในศตวรรษที่ 20 เลยทีเดียว
หลังจากคิดค้นกระบวนการฮาเบอร์-บ็อชได้ไม่กี่ปี เขาก็เข้าไปเป็นหัวหน้าแผนกเคมีช่วยกองทัพเยอรมันในการพัฒนาอาวุธจากแก๊สต่าง ๆ เพื่อใช้ในการต่อสู้กับทหารฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1
 
ผลงานการคิดค้นเพื่อหวังจะช่วยชาติของฮาร์เบอร์ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จนทำให้เขาถูกตราหน้าเป็นคนบาป
ผลจากการทดลองใช้แก๊สคลอรีนครั้งแรกในสงครามที่เบลเยี่ยมซึ่งทำให้มีผู้บาดเจ็บมากกว่า 67,000 คน  สร้างความสะเทือนใจให้ภรรยาของฮาเบอร์เป็นอย่างมาก เธอถึงกับฆ่าตัวตายเพื่อต่อต้านการกระทำของเขา 
 
หลังสงครามผู้คนในแวดวงนักวิชาการพากันวิพากษ์วิจารณ์ฮาเบอร์ว่าเป็นคนไร้มนุษยธรรม รวมทั้งประท้วงการมอบรางวัลโนเบลแก่เขา
 
แต่ฮาเบอร์ยังยึดมั่นในจุดยืนเดิมที่ว่า “ในช่วงเวลาที่สงบ...นักวิทยาศาสตร์ต่างทำงานให้กับโลก แต่ในยามสงคราม...พวกเขาจะต้องทำงานเพื่อประเทศชาติ”
ฮาเบอร์ยังแสดงความเห็นเพิ่มเติมอีกว่า
“เงินรางวัลโนเบลก็มาจากเงินที่ได้จากการขายอาวุธสงคราม และ Alfred Nobel ผู้ให้กำเนิดรางวัลโนเบลก็เป็นผู้ประดิษฐ์ระเบิดไดนาไมท์ที่ใช้สร้างอาวุธฆ่าคนเช่นกัน...”
ฮาเบอร์ผู้ซึ่งถูกเรียกในเวลาต่อมาว่าเป็น “บิดาแห่งสงครามเคมี” ถือเป็นชาวเยอรมันผู้รักชาติ หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ในยามที่เยอรมันกำลังขัดสนจากความเสียหายและความพ่ายแพ้ในสงคราม อาเบอร์พยายามใช้ความรู้ในสาขาเคมีค้นหาวิธีการสกัดทองคำจากน้ำทะเล โดยหวังว่าจะนำทองคำนั้นมาช่วยเยอรมันชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามตามสนธิสัญญาแวร์ซาย
 
แต่ผลจากความพยายามของเขาล้มเหลวเนื่องจากความเข้มข้นของทองคำที่ละลายอยู่ในน้ำทะเลนั้นต่ำกว่าค่าที่นักวิจัยรายงานไว้ การจะสกัดทองคำจากน้ำทะเลจึงไม่คุ้มค่า
ช่วงปี 1932 ที่พรรคนาซีขึ้นครองอำนาจ ฮาเบอร์ก็ต้องพบกับปัญหาอย่างหนักจนต้องลาออกจากกองทัพและอพยพออกไปเร่ร่อนในต่างประเทศ...
การเป็นผู้รักชาติและช่วยเหลือกองทัพเยอรมันที่ผ่านมาไม่ได้ช่วยอะไรเลย...เนื่องจากเขาเป็นชาวเยอรมันผู้มีเชื้อสายยิว
ฮาร์เบอร์ต้องหลบหนีและมีชีวิตอย่างยากลำบากในต่างแดนที่ซึ่งไม่ค่อยมีใครต้อนรับ โชคดีมีนักวิทยาศาสตร์บางคนที่แม้ว่าจะเคยอยู่ฝั่งตรงข้ามกับเขาตอนสงครามโลกครั้งที่ 1 ให้การช่วยเหลือให้ได้ทำงานที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์
 
ในปี 1934 ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะอุบัติขึ้น ฮาเบอร์ได้รับข้อเสนอให้ไปเป็นศาสตราจารย์ที่สถาบัน Sieff Research ในอิสราเอล  ฮาเบอร์ในวัย 65 ปีที่กำลังป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองและโรคหัวใจอยู่แล้วก็จบชีวิตลงด้วยอาการหัวใจวายระหว่างเดินทาง
หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดการจัดระเบียบใหม่ในยุโรป แต่ละประเทศต้องการเงินทุนในการฟื้นฟูประเทศ จึงไปเรียกร้องจากประเทศผู้แพ้ให้เป็นคนรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น
 
ในเมื่อประเทศผู้แพ้ก็เจ็บช้ำแสนสาหัสจากสงครามไม่แพ้กันแล้วจะเอาเงินที่ไหนไปจ่าย เมื่อถูกบีบมาก ๆ จึงเกิดเป็นสงครามครั้งต่อไปที่สร้างความเสียหายสั่นสะเทือนไปทั่วโลก
เรื่องราวของ ฮาร์เบอร์ บิดาแห่งสงครามเคมี สิ่งที่น่าคิดอีกด้านคือ ในยามสงครามที่ต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของชาติ เราสามารถทำสิ่งที่ผิดหลักศีลธรรมได้หรือไม่
เมื่ออยู่ในสนามรบ...ถ้าเราไม่ฆ่า...ก็จะเป็นผู้ถูกฆ่า...ถ้าเราไม่สามารถเอาชนะศัตรูได้...ผู้คนอีกมากมายในชาติก็จะต้องเดือดร้อน...ทุกอย่างหมุนวนเกี่ยวพันกันไม่จบสิ้น
จากคำกล่าวที่ว่า "มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ" แต่ดูแล้วบางครั้งหัวใจมนุษย์ กลับชั่วร้ายกว่าสัตว์ป่า... ความจริงแล้วสัตว์ป่าเพราะต้องการมีชีวิตจึงฆ่ากัน แต่คนฆ่าคนเพราะเหตุใด?
เรียบเรียงโดย...pordee
โฆษณา