16 พ.ค. 2020 เวลา 23:29 • ความคิดเห็น
จากวิกฤติโควิดปีนี้ เศรษฐกิจไทยถูกประเมินว่าจะถดถอยถึง -6%
ในขณะที่เศรษฐกิจเวียดนาม ยังคงเติบโตขึ้นไปได้อีกประมาณ 2.5%
หรือว่า "เวียดนาม" กำลังจะแซง "ไทย" แล้ว!!
เราอาจจะเคยได้ยินประโยคนี้กันอยู่บ่อยครั้ง แต่คำกล่าวนี้จะเป็นจริงแค่ไหน ลองมาหาคำตอบด้วยข้อมูลต่างๆ กันครับ...
ข้อมูลจากธนาคารโลก ระบุว่าประเทศไทยมีขนาดเศรษฐกิจ 16.6 ล้านล้านบาท
ประชากรมีรายได้เฉลี่ยคนละ 19,300 บาท
อัตราการเติบโตย้อนหลังสิบปีประมาณ 3.5%
ขณะที่เวียดนาม มีขนาดเศรษฐกิจ 8.1 ล้านล้านบาท
ประชากรมีรายได้เฉลี่ยคนละ 6,800 บาท
อัตราการเติบโตย้อนหลังสิบปีประมาณ 6%
แม้ขนาดเศรษฐกิจจะต่างกันถึง 2 เท่า แต่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงหลังนี้ ก็ต่างกันเกือบ 2 เท่าด้วยเช่นกัน!!
ยิ่งในวิกฤติโควิด-19 ประเทศไทยนั้นได้รับผลกระทบ หนักมากที่สุดประเทศหนึ่งในอาเซียน
หลายคนทราบกันดีว่า รายได้หลักของไทยนั้นมาจากทั้งการท่องเที่ยว ที่ปี 2019 ทำรายได้ถึง 1.9 ล้านล้านบาท คิดเป็น 13% ของจีดีพี
และการส่งออกสินค้าก็เป็นรายได้สำคัญอีกทาง โดยมีตลาดสหรัฐฯ-ยุโรป-จีน รวมกันสูงถึง 32% ของตัวเลขการส่งออกทั้งหมด
เมื่อเกิดโรคระบาด ไม่มีการเดินทางท่องเที่ยว แถมทวีปที่เป็นลูกค้าหลักของไทย ก็ดันเกิดปัญหาระบาดหนักจนการบริโภคชะลอตัวอีก
เศรษฐกิจไทย จึงได้รับผลกระทบหนักมากในปี 2020 นี้
ขณะที่เวียดนาม จากการเติบโตปีละ 6% ถูกประเมินลงมาเหลือเพียง 2.5% เท่านั้น
สาเหตุหนึ่งอาจจะเป็นเพราะตัวเลขรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ไม่ได้สูงเท่ากับไทย
แต่เรื่องของอุตสาหกรรมการรับจ้างผลิต และส่งออกของเวียดนามนั้น ก็ยังได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน
ซึ่งถ้าสถานการณ์กลับเป็นปกติ แล้วเวียดนามยังคงโตปีละ 6% ขณะที่ไทยก็ยังคงโตปีละ 3.5% ไปเรื่อยๆ
คำตอบของคำถามที่ว่า "เวียดนามจะแซงไทยเมื่อไร!?" ก็คืออีก 32 ปีข้างหน้า หรือในปี 2052
ในตอนนั้นเวียดนาม จะมีขนาดเศรษฐกิจประมาณ 49.3 ล้านล้านบาท
ในขณะที่ประเทศไทย จะมีขนาดเศรษฐกิจประมาณ 48.2 ล้านล้านบาท
แต่.. อย่าลืมว่า นั่นจะอยู่บนเงื่อนไขที่ เวียดนามต้องมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจปีละ 6% ต่อเนื่องไปอีกประมาณ 30 ปี
แล้วเป็นไปได้มั้ย!? ถ้าประเทศไหนจะเติบโตด้วยอัตรานี้ในระยะยาว
ยกตัวอย่างประเทศจีน ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่า 6% ตั้งแต่ปี 1991 จนถึงปีล่าสุด ต่อเนื่องมา 28 ปี
หรือเกาหลีใต้ ที่เติบโตในระดับสูงกว่า 6% ตั้งแต่ปี 1961 จนกระทั่งวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 1997 นับเป็นเวลา 36 ปี (มีแอบสะดุดนิดหน่อยในปี 1980)
แต่ต้องไม่ลืมว่า ทั้งสองประเทศข้างต้นนั้นสามารถเปลี่ยนจากประเทศรับจ้างผลิต มาเป็นประเทศผู้ผลิต ที่ส่งออกเทคโนโลยีของตัวเองได้
ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าเกาหลี Samsung, LG รถยนต์ Hyundai ที่ก้าวไปสู่ระดับโลก
ส่วนจีน ก็ทำให้สินค้า Made in China แปรเปลี่ยนจากสินค้าก็อปปี้คุณภาพต่ำ กลายเป็นสินค้าดีราคาถูกที่คนอยากได้ในที่สุด
อันที่จริง เวียดนามในตอนนี้ อาจจะคล้ายคลึงกับไทยสมัยก่อนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ซึ่งมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชีย
ณ เวลานั้น หากไทยเราสามารถดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ เรียนรู้ และปรับเปลี่ยนจากการรับจ้างผลิต กลายมาเป็นผู้ผลิตและส่งออกเทคโนโลยีแทน
วันนี้ไทยอาจจะเป็นอีกหนึ่งในประเทศผู้นำของเอเชียด้วยก็เป็นได้
แต่ความจริงที่เกิดขึ้นก็คือ... เศรษฐกิจของเราเกิดฟองสบู่แตก และกลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของไทย
เวียดนามเอง หากสามารถปรับเปลี่ยนจากผู้รับจ้างผลิต กลายมาเป็นเจ้าของเทคโนโลยีเองได้ ก็อาจจะกลายเป็นประเทศที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง
ซึ่งเรื่องนี้เป็นโจทย์สำคัญที่เวียดนาม (และไทยเอง) ก็ยังคงไม่สามารถทำไม่ได้ในปัจจุบัน
สุดท้าย ถ้าเรามองตามความเป็นจริง แล้วถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่เวียดนามจะแซงไทยในระยะเวลาอันใกล้!?
คำตอบก็คือ.. เป็นไปได้ แต่ก็เกิดขึ้นได้ยากมากเช่นกัน!!
แหล่งที่มา Billion Mindset - แนวคิดพันล้าน
- เว็บไซต์ https://www.BillionMindset.com/
- อินสตาแกรม https://www.instagram.com/billionmindset.ig/
- ทวิตเตอร์ https://twitter.com/Billion_Twit
โฆษณา