17 พ.ค. 2020 เวลา 00:02 • ท่องเที่ยว
พระราชวังเบลนนิม อนุสรณ์แห่ง "รัก" ระหว่าง "เรา"
พระราชวังเบลนนิม อนุสรณ์แห่ง "รัก" ระหว่าง "เรา" เรื่องรัก 4 เส้า ของเรา 4 คน
ในประเทศอังกฤษนั้น มีพระราชวังหลายแห่งค่ะ แต่ทุกแห่งที่ได้ชื่อว่าพระราชวัง ล้วนต้องเป็นที่ประทับของราชวงศ์ หรือสงฆ์ผู้ทรงสมณศักดิ์ ทว่า มีสถานที่เพียงแห่งเดียว ที่ได้ชื่อนำหน้าว่า เป็นพระราชวัง ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นที่ประทับ แต่เป็นเพียงบ้านพักอาศัยอันโอ่อ่าของข้าราชบริพาร "คนโปรด" เท่านั้น นั่นคือ พระราชวังเบลนนิม (Blenheim Palace: คำนี้ ตัว h ใน Blenheim ไม่ออกเสียงเวลาอ่านค่ะ บางท่านออกเสียงเป็นเบลนเนม หรือเบลนนิม ในขณะที่คนจำนวนมากอ่านผิดเป็นเบลนไฮม์) ในมณฑลอ็อกฟอร์ดเชียร์ (Oxfordshire) และนั่นคือสถานที่เราจะขอพาท่านไปเยี่ยมชมกันในวันนี้
ลานด้านหน้า ทางเข้าพระราชวังเบลนนิม
แต่เดิมนั้น สถานที่แห่งนี้เรียกว่า วู๊ดสต็อค (Woodstock) และเคยเป็นที่ตั้งของพระราชวังวู๊ดสต็อค ซึ่งพระเจ้าเฮนรี่ที่ 1 แห่งอังกฤษมีพระบัญชาให้สร้างขึ้นเป็นที่ประทับหย่อนพระทัยยามล่าสัตว์มาก่อนตั้งแต่ปี ค.ศ.1129 และในช่วงก่อนหน้าที่สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 1 (Elizabeth I of England) จะได้ขึ้นครองราชสมบัติในปี ค.ศ.1558 นั้น พระนางเคยถูกกักบริเวณอยู่ที่นี่ในช่วงปี ค.ศ.1554–1558 หลังจากนั้น สถานที่นี้ก็ถูกทิ้งร้างไป จนถูกทุบทิ้ง และสร้างเป็นพระราชวังเบลนนิมขึ้นมาแทนที่ และปัจจุบันนี้ พระราชวังเบลนนิม กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ในฐานะบ้านเกิดของเซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Sir Winston Churchill) อดีตนายกรัฐมนตรีผู้โด่งดังที่สุดคนหนึ่งของอังกฤษ คนที่ไปเที่ยวชมพระราชวังแห่งนี้ เลยมักจะให้ความสนใจไปที่ประวัติของ ฯพณฯ นายกฯ เป็นหลัก แต่เราจะเจาะลึกลงไปมากกว่านั้น
เมื่อผ่านประตูหน้าเข้ามาแล้ว ด้านในจะพบหมู่อาคารขนาดใหญ่สีเหลือง ด้านในมีห้องจำนวนมาก ที่จะแสดงของประดับต่างๆ
ว่าแล้ว ก่อนจะพูดถึงพระราชวังเบลนนิม คงจะต้องเล่าถึงที่มาที่ไปของบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องก่อน นั่นคือ หากอ่านประวัติอย่างเป็นทางการของพระราชวังแห่งนี้ เอกสารต่างๆ ก็ละเล่าคล้ายๆ กันว่า เป็นพระราชวังที่สมเด็จพระราชินีนาถแอนน์ (Anne, Queen of Great Britain) ได้พระราชทานให้เป็นบำเหน็จแก่ดยุคแห่งมาร์ลโบโรห์ (Dukes of Marlborough) ในฐานะที่เป็นผู้บัญชาการทหารผู้มีความสามารถ ในการนำทัพอังกฤษไปรบกับพวกฝรั่งเศส และได้ชัยชนะ ณ สมรภูมิเบลนนิม (The Battle of Blenheim) ในแคว้นบาวาเรีย เยอรมนี ใน ค.ศ.1704 ดังนั้น สมเด็จพระราชินีนาถจึงยกที่ดินอันเป็นราชทรัพย์นี้ให้ พร้อมสัญญาว่าจะช่วยจ่ายค่าสร้างพระราชวังขึ้นที่นี่ เพื่อให้เป็นเกียรติแก่ท่านดยุค และตั้งชื่อพระราชวังนี้ตามชื่อสมรภูมิที่ไปชนะศึกมา
แต่..คนที่สมเด็จพระราชินีนาถแอนน์ทรงโปรดนั้น คือ ดยุคแห่งมาร์ลโบโรห์ จริงหรือ เห็นทีต้องพลิกบันทึกประวัติศาสตร์อย่างช้าๆ ไปทีละหน้าสองหน้า เพื่อมองลึกเข้าไปถึงซอกหลืบที่จารึกเอาไว้บนหน้าประวัติศาสตร์ที่คุกรุ่นไปด้วยศึกรบ และศึกรักนี้
ขอกล่าวถึงดยุคแห่งมาร์ลโบโรห์กันก่อนนะคะ ชื่อเดิมของเขาคือ จอห์น เชอร์ชิลล์ เกิดใน ค.ศ.1650 เข้ารับราชการทหารตั้งแต่รุ่นหนุ่ม เมื่ออายุเพียง 17 ปี และทำหน้าที่ได้โดดเด่นขึ้นเรื่อยๆ จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเอิร์ลแห่งมาร์ลโบโรห์ ในปี ค.ศ.1689 และเป็นดยุคแห่งมาร์ลโบโรห์ ในปี ค.ศ.1702 ทางด้านชีวิตครอบครัวนั้น จอห์น เชอร์ชิลล์ สมรสกับซาราห์ เจนนิงส์ (Sarah Jennings) หญิงสาวที่เขาตกหลุมรักในตอนที่ได้พบเธอเมื่อเธออายุเพียง 15 ปี อ่อนกว่าจอห์น 10 ปี แถมตอนนั้น จอห์นเองก็มีคู่รักอยู่แล้ว คือบาร์บารา พัลเมอร์ ดัชเชสแห่งคลีฟแลนด์ (Barbara Palmer, Duchess of Cleveland) ซึ่งว่ากันว่า เคยเป็นชู้รักของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 (Charles II) ผู้ครองราชย์ในปี ค.ศ.1660-1685 ด้วย ถึงกระนั้น ครอบครัวของจอห์นก็อยากให้จอห์นแต่งงานกับบาร์บารา เพราะยศศักดิ์ของเธอเป็นที่ดึงดูดใจครอบครัวที่ค่อนข้างยากจนของจอห์นมากพอสมควร
น้ำพุในสวนด้านหลังพระราชวัง ซึ่งจำลองย่อส่วนมาจากน้ำพุแห่งแม่น้ำ 4 สาย ณ กรุงโรมที่เป็นผลงานของจีอัน โลเรนโซ แบร์นินี (Gian Lorenzo Bernini) ส่วนน้ำพุย่อส่วนนี้ คาดว่าได้มาตั้งแต่ช่วงของ ดยุคที่ 1 แห่งมาร์ลโบโรห์ แต่กว่าจะติดตั้งสำเร็จ ก็ปาเข้าไปในยุคของ ดยุคที่ 9 แห่งมาร์ลโบโรห์
อย่างไรก็ตาม ดังได้กล่าวแล้วว่า พอได้เจอซาราห์ เจนนิงส์เข้า จอห์นก็หมดใจจากบาร์บารา และหลงรักสาวเอ๊าะคนใหม่เข้าอย่างจริงๆ จังๆ แล้วก็แอบแต่งงานกับเธออย่างเงียบๆ ในตอนที่เธออายุได้ประมาณ 17 ปี คือในปี ค.ศ.1677 และกว่าจะป่าวประกาศบอกใครต่อใครว่าแอบไปแต่งงานกันมาแล้วก็ปาเข้าไปตอนที่ซาราห์ท้องแล้วในตอนปลายปี ค.ศ.1678 นั่นแหละ ผู้คนถึงได้รู้ว่า คู่นี้สมรสสมรักกันแล้ว ดังนั้น แม้ครอบครัวของจอห์นจะไม่ชอบใจ แต่ก็ต้องยอมรับสะใภ้คนนี้ในที่สุด
แต่แหม...มันไม่ง่ายเพียงเท่านี้น่ะซิคะ อันว่าซาราห์ เจนนิงส์นั้น เธอเองก็รักใคร่สามีเป็นอย่างดี ตลอดชีวิตแต่งงานมีลูกด้วยกันตั้ง 7 คน แต่ความรักของซาราห์มีความโลดโผนเกินกว่าจะรักชายเพียงคนเดียวได้ เพราะแม้ประวัติศาสตร์จะบันทึกว่า เธอทำหน้าที่ได้เหมาะสมในฐานะดัชเชสแห่งมาร์ลโบโรห์ แต่ในขณะเดียวกัน เธอก็เป็น "คนรัก" ของสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์ ผู้ครองราชย์ในปี ค.ศ.1702–1707 ด้วย
ประติมากรรม สมเด็จพระราชินีนาถแอนน์ ประทับยืนอยู่ในห้องสมุดใหญ่ของพระราชวังเบลนนิม
เอ้า..ถึงตอนนี้ เชื่อว่า ท่านผู้อ่านบางท่านชักงงกันแล้วว่า เขียนผิดหรืออย่างไร ไม่ผิดหรอกค่ะ อันว่าสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์นั้น พระนางเองก็อภิเษกสมรสกับเจ้าชายจอร์จแห่งเดนมาร์ค (Prince George of Denmark) ในปี ค.ศ.1683 แถมยังทรงพระครรภ์ถึง 18 ครั้ง แต่ส่วนใหญ่ก็แท้ง หรือสิ้นพระชนม์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทำให้พระองค์ไม่มีรัชทายาท และในความรักที่พระนางมีต่อพระสวามี หรือความพยายามในการสร้างรัชทายาทนั้น ก็ไม่ได้กระทบกระเทือนอะไรในความสัมพันธ์ที่สมเด็จพระราชินีนาถมีต่อซาราห์ เจนนิงส์
ซาราห์นั้น แก่กว่าแอนน์ 5 ปี ทั้งสองได้พบกันตั้งแต่แอนน์ยังเป็นเพียงเจ้าหญิงน้อยๆ มีพระชนม์เพียง 5 ชันษา ในตอนนั้น ซาราห์เองก็มีอายุแค่ 10 ขวบ ถ้าให้เดา ก็คงพอจะเดาได้ว่า ทั้งคู่น่าจะเป็นเพื่อนเล่นวัยเยาว์กันมาก่อน แต่เมื่อเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทั้งคู่ก็มีสายใยแห่งความสัมพันธ์ฉันท์คนรักด้วย มีบันทึกทางประวัติศาสตร์มากมายที่กล่าวว่า ซาราห์ซึ่งมีฐานะเป็นต้นห้องนั้น เป็นผู้มีอิทธิพลต่อสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์เป็นอย่างมาก ทั้งในด้านการเมือง และชีวิตส่วนพระองค์ ไม่ว่าซาราห์จะเพ็ดทูลประการใด พระราชินีก็จะทรงเห็นชอบไปตามนั้น ดังนั้น ใครที่อยากเข้าถึงอำนาจและราชบัลลังก์ จะต้องเข้าถึงซาราห์ให้ได้ก่อน
ด้านหลังพระราชวัง เป็นสวนขนาดใหญ่ ประดับน้ำพุสวยงาม ซึ่งหากนั่งอยู่ในห้องสมุด จะสามารถมองออกมาเห็นสวนสบายตานี้
ในปี ค.ศ.1691 สมเด็จพระราชินีนาถแอนน์ได้เสนอให้ใช้รหัสลับในการติดต่อกันระหว่างพระนางกับซาราห์ เพื่อมิให้คนอื่นล่วงรู้ถึงความสัมพันธ์อัน (ไม่) เป็นความลับนี้ โดยสมเด็จพระราชินีนาถใช้ชื่อว่า มิสซิสมอร์เลย์ (Mrs Morley) ในขณะที่ซาราห์ใช้รหัสลับว่า มิสซิสฟรีแมน (Mrs Freeman) ดังนั้น การที่สมเด็จพระราชินีนาถพระราชทานที่ดิน ณ วู๊ดสต็อค ให้ครอบครัวเชอร์ชิลล์ เพื่อสร้างเป็นพระราชวังเบลนนิมนั้น แม้จะเป็นความจริงอยู่ว่า นี่คือของขวัญที่จอห์น ผู้เป็นดยุคแห่งมาร์ลโบโรห์สมควรจะได้รับ ในฐานะผู้บัญชาการทหารที่มีความสามารถอันโดดเด่น แต่การที่ให้เรียกขานเบลนนิมว่าเป็นพระราชวัง ก็ดูสูงส่งเกินกว่าข้าราชบริพารคนใดจะได้รับ
วิหารเล็กภายในพระราชวัง
ตรงนี้ มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับการพระราชทานที่ดินผืนนี้ให้ตระกูลเชอร์ชิลล์ กล่าวคือ สมเด็จพระราชินีนาถมิได้ให้ขาด แต่เป็นที่ดินแบบ "ให้เช่า" โดยผู้เช่าจะต้องส่งมอบธงราชวงศ์ฝรั่งเศสให้สำนักพระราชวังเป็นค่าเช่า ในทุกปีที่ถึงวันครบรอบชัยชนะแห่งสมรภูมิเบลนนิม ซึ่งเรื่องนี้ อาจจะเป็นเพียงการเล่นสนุกๆ ของอังกฤษ ที่หยอกแบบเจ็บๆ ไปถึงฝรั่งเศสที่แพ้สงครามครั้งนั้นก็เป็นได้
จะว่าไป การที่สำนักพระราชวังไม่ได้เก็บค่าเช่าแพงๆ ก็ถือเป็นโชคดีของคนรุ่นหลัง เพราะเมื่อบรรดาผู้เกี่ยวข้องในการก่อสร้างพระราชวังเบลนนิมจากไปหมดแล้ว ลูกหลานที่ได้สืบทอดบรรดาศักดิ์ดยุคแห่งมาร์ลโบโรห์ต่อๆ มา ไม่ได้ร่ำรวยกันนัก แถมยังต้องใช้เงินจำนวนมากในการดูแล บูรณะพระราชวังอันกว้างใหญ่นี้ มิหนำซ้ำ จอร์จ สเปนเซอร์-เชอร์ชิลล์ ดยุคที่ 5 แห่งมาร์ลโบโรห์ (George Spencer-Churchill, 5th Duke of Marlborough) ยังได้ชื่อว่าเป็นคนที่จับจ่ายใช้สอยฟุ่มเฟือย จนถึงขั้นต้องขายของเก่ากิน เช่น ภาพวาดฝีมือราฟาเอล และบรรดาหนังสือสะสมของตระกูล จนเมื่อมาถึง จอร์จ สเปนเซอร์-เชอร์ชิลล์ ดยุคที่ 8 แห่งมาร์ลโบโรห์ (George Spencer-Churchill, 8th Duke of Marlborough) เจ้าของพระราชวังเบลนนิมคนนี้ก็กลายเป็นคนที่มีหนี้สินรุงรัง จนอาจจะถึงขั้นไม่สามารถรักษาสมบัติเก่าของตระกูลเอาไว้ได้เลยทีเดียว
แต่ก็มีอัศวินขี่ม้าขาวเข้ามา เมื่อชาร์ลส์ สเปนเซอร์-เชอร์ชิลล์ ดยุคที่ 9 แห่งมาร์ลโบโรห์ (Charles Spencer-Churchill, 9th Duke of Marlborough) ได้เข้ามาเป็นผู้ครอบครองพระราชวังเบลนนิม ตอนที่ชาร์ลส์ได้รับบรรดาศักดิ์มาพร้อมภาระของตระกูลที่เกือบล้มละลายไม่มีเงินนั้น เกิดเรื่องที่คล้ายละครไทยขึ้นมาเรื่องหนึ่ง นั่นคือ พระเอกมียศฐาบรรดาศักดิ์ แต่ยากจน ในขณะที่นางเอกเป็นเศรษฐีรุ่นใหม่ ที่พ่อแม่อยากให้แต่งงานกับคนมียศ นางเอกของเราในเรื่องนี้ คือ คอนซูโล แวนเดอร์บิลท์ (Consuelo Vanderbilt) สาวอเมริกัน ผู้เป็นทายาทบริษัทผู้ให้บริการรถไฟที่ร่ำรวย งานนี้ (ว่าที่) แม่ยายอยากให้ลูกได้เป็นดัชเชสเต็มแก่ ในขณะที่เจ้าบ่าวก็ "เขี้ยว" ไม่ใช่เล่น ก่อนแต่งงานเลยต้องตกลงกันมากมายอย่างเป็นเรื่องเป็นราวว่าใครจะได้อะไรบ้าง ซึ่งเจ้าบ่าวได้ทรัพย์สินมูลค่า 2.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่ส่วนใหญ่เป็นหุ้นของบริษัทบีช ครีก เรลเวย์ (Beech Creek Railway Company) ของพ่อตา ที่รับประกันผลตอบแทนปีละ 4% และทั้งสามีและภรรยาที่กำลังจะวิวาห์ ยังจะได้เงินรายปี คนละ 1 แสนเหรียญสหรัฐด้วย
ประติมากรรมประดับสุสานของดยุค และดัชเชสที่ 1 แห่งมาร์ลโบโรห์ ภายในวิหารเล็ก
มีข่าวที่เจ้าสาวออกมาพูดทีหลังว่า ต้องถูกขังอยู่ในห้องเสียนานกว่าจะยอมแต่งงาน ส่วนเจ้าบ่าวนั้น พอเสร็จพิธีสมรสซึ่งจัดขึ้นที่อเมริกา ก็แสดงความจริงใจออกมาทันที (โถ..พ่อคู๊ณณณณ) ด้วยการบอกเจ้าสาวไปตามตรงว่า ตัวเองมีคนรักอยู่แล้ว และหลังแต่งงานก็จะไม่กลับมาอเมริกาอีก เพราะไม่ชอบอะไรที่ไม่เป็นอังกฤษ แต่ก็ยังดี ที่ยอมพาเจ้าสาวหมาดๆ กลับมาอังกฤษด้วย ก่อนจะหย่ากันในอีกไม่ช้าไม่นานต่อมา แต่นั่นก็ทำให้ตระกูลเชอร์ชิลล์มีเงินมาบูรณะพระราชวังแห่งนี้ ให้หรูหราอลังการ แถมยังเติมน้ำพุเข้าไปอีก 2 ฝั่ง ทำสวนใหม่ให้ใสปิ๊ง แต่ที่ปิ๊งยิ่งกว่า คือ หลังจากหย่าจากสาวอเมริกันแล้ว ท่านดยุคคนที่ 9 ก็แต่งงานใหม่กับกลาดี้ส์ ดีคอน (Gladys Deacon) ที่ก็เข้ามาช่วยบูรณะพระราชวังอย่างแข็งขัน
แต่การบูรณะที่ว่า ก็ทำให้ตอนไปเยือนพระราชวังแห่งนี้ ผู้เขียนต้องไปยืนมองจุดที่น่าฉงนจุดหนึ่งคือ ในสวนใหญ่ของพระราชวังนั้น มีการเติมผลงานประติมากรรมโลหะหล่อเป็นรูปสฟิงซ์หมอบอยู่ 1 ตัว เป็นสฟิงซ์ที่มีใบหน้าเป็นสตรีที่ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เลียนแบบใบหน้ามาจากกลาดี้ส์ ดีคอน ผู้เข้ามาช่วยบูรณะพระราชวังใน ค.ศ.1930 นั่นเอง จะไม่ให้ฉงนได้ยังไงล่ะคะ ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า ในปกรณัมกรีกนั้น สฟิงซ์เป็นตัวร้าย แล้วทำไม๊..ทำไม ถึงมีคนอยากสร้างสฟิงซ์ให้เป็นรูปหน้าของตัวเองกันเล่า
(สฟิงซ์ที่มีใบหน้า และอกเป็นสตรีนั้น เป็นเรื่องราวในตำนานกรีก ที่ไม่เหมือนกับสฟิงซ์ของอียิปต์ที่คุ้นเคยกันนะคะ โดยสฟิงซ์ของปกรณัมกรีกนั้น คอยดักจับผู้คนเดินทางเป็นอาหารค่ะ)
สฟิงซ์ประดับสวน ซึ่งเลียนแบบใบหน้ามาจากกลาดี้ส์ ดีคอน
สฟิงซ์ประดับสวน ซึ่งเลียนแบบใบหน้ามาจากกลาดี้ส์ ดีคอน
ปัจจุบันนี้ พระราชวังเบลนนิมมีพื้นที่ 7 เอเคอร์ หรือ 28,000 ตารางเมตร เป็นสถานที่ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นสถานที่สำคัญของประเทศอังกฤษ ในขณะที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศให้พระราชวังนี้เป็นมรดกโลกมาตั้งแต่ ค.ศ.1987
และดังได้กล่าวมาแล้วว่า นักท่องเที่ยวมักจะมาเยือนที่นี่ ในฐานะที่พระราชวังเบลนนิมเป็นสถานที่ให้กำเนิดเซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ก็เลยต้องขอเล่าสักหน่อยว่า อันที่จริงแล้วลอร์ด แรนดอล์ฟ เชอร์ชิล (Lord Randolph Churchill) บิดาของท่าน ซึ่งเป็นบุตรชายคนรองๆ ของจอห์น สเปนเซอร์-เชอร์ชิลล์ ดยุคที่ 7 แห่งมาร์ลโบโรห์ (John Spencer-Churchill, 7th Duke of Marlborough) ตั้งใจที่จะให้ภริยาไปคลอดลูกชายที่ลอนดอน ก็เลยเตรียมการจัดการบ้านที่ลอนดอนเอาไว้ กะว่าเมื่อถึงกำหนดคลอด คือ เดือนมกราคม ค.ศ.1875 ก็จะได้พาภริยาไปคลอดทายาทคนใหม่แบบสบายๆ ที่เมืองหลวง แต่โดยไม่ทันตั้งตัว ตอนที่พักอยู่ ณ พระราชวังเบลนนิม ลูกชายที่จะกลายเป็นคนสำคัญของประเทศชาติในอนาคตคนนี้ ก็คลอดก่อนกำหนดเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ.1874 ทำให้พระราชวังเบลนนิม มีชื่อเสียงในฐานะสถานที่เกิดของเซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์ และมีทั้งรูปภาพ รูปหล่อ คำกล่าว และข้าวของที่เกี่ยวข้องกับอดีตนายกฯ ท่านนี้มาจัดแสดงให้นักท่องเที่ยวได้ชมกันในพระราชวังแห่งนี้อยู่ค่อนข้างมาก ทั้งๆ ที่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ท่านไม่ค่อยจะได้มาใช้เวลาที่นี่สักเท่าไหร่ แต่ในช่วงสงครามโลก พระราชวังแห่งนี้ก็ถูกใช้เป็นศูนย์บัญชาการของหน่วยสืบราชการลับอังกฤษ (The Security Service) หรือ MI5 (Military Intelligence, Section 5) ด้วย ก็เลยอาจจะเกี่ยวข้องกับเซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์อยู่บ้างในด้านการงาน แต่ไม่ใช่ในฐานะส่วนตัว
สำหรับเจ้าของคนปัจจุบันของพระราชวังเบลนนิม คือ เจมส์ สเปนเซอร์-เชอร์ชิลล์ ดยุคที่ 12 แห่งมาร์ลโบโรห์ (James Spencer-Churchill, 12th Duke of Marlborough) ค่ะ
ที่ผู้เขียนพักจากหน้าประวัติศาสตร์ ลากยาวมาจนปัจจุบันก่อน เพราะอยากขยับอารมณ์กันสักนิด ก่อนที่จะขอย้อนมาที่ความสัมพันธ์แบบรัก 4 เส้า เรา 4 คนในคริสต์ศตวรรษที่ 18 กันต่อ ความรักอลวนนี้จบลงไปเส้าแรก เมื่อพระสวามีของสมเด็จพระราชินีนาถสิ้นพระชนม์ลงไปก่อนใครเพื่อนในปี ค.ศ.1708 ทีนี้ก็เหลือรัก 3 เส้า เรา 3 คน ซึ่งก็ดูเหมือนจะไปได้ด้วยดี เพราะต่างก็ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างไม่มีขาดตกบกพร่อง กล่าวคือ ดยุคแห่งมาร์ลโบโรห์ ก็ทำหน้าที่ทางการทหารอย่างแข็งขัน ในขณะที่ซาราห์ ก็ร่วมด้วยช่วยกันบริหารราชกิจกับสมเด็จพระราชินีนาถ และดังได้กล่าวแล้วว่าพระราชวังเบลนนิมได้เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี ค.ศ.1704 โดยสำนักพระราชวังตกลงที่จะเป็นผู้ออกค่าก่อสร้างให้ แต่การก่อสร้างนี้เอง ที่ทำเอาดยุคและดัชเชสแห่งมาร์ลโบโรห์ต้องทะเลาะเบาะแว้งกันไม่จบไม่สิ้น เพราะฝ่ายภรรยานั้น ต้องการเพียงแค่บ้านสักหลังที่อยู่สบาย ในขณะที่สามีนายทหารต้องการความอลังการให้อยู่ไปชั่วลูกชั่วหลาน ก็เลยตกลงกันยากว่าจะก่อสร้างแบบไหน
จนท่านดยุคได้ไปเห็นผลงานการออกแบบ และก่อสร้างปราสาทแห่งหนึ่งที่ยอร์ค อันเป็นผลงานร่วมกันของเซอร์จอห์น แวนเบิร์ก (Sir John Vanbrug) ที่ทำงานร่วมกับนิโคลัส ฮอว์คสมอร์ (Nicholas Hawksmoor) ก็เกิดชอบใจ เลยว่าจ้างคู่นี้ให้มาเป็นสถาปนิกผู้ออกแบบ และดูแลการก่อสร้างพระราชวังเบลนนิมด้วย โดยเน้นให้เป็นการออกแบบที่หรูหรา โอ่อ่า ในแบบที่เรียกว่า สไตล์ "อิงลิชบารอก" ซึ่งไม่ค่อยมีใครเขาทำกัน ผลงานออกแบบนี้ เป็นการออกแบบให้พระราชวังเบลนนิมดูงดงามตระการตาเมื่อมองในภาพรวมอันอลังการทั้งหมด มีทั้งอาคารขนาดใหญ่ กับห้องหับมากมาย สวน และทะเลสาบ ใช้งบประมาณในการก่อสร้างสูงถึง 240,000 ปอนด์ ซึ่งทั้งหมดนี้ ทำให้ซาราห์ไม่พอใจ แถมไม่ชอบตัวสถาปนิกด้วยเป็นทุนเดิม ดังนั้น ไม่ว่าเห็นอะไรที่สถาปนิกเสนอมา ซาราห์ก็ติติงไปเสียทุกอย่าง ว่าไม่มีอะไรสวยงามตามความต้องการเลย ก็เลยสร้างกันไปแบบง่อนๆ แง่นๆ ไม่เสร็จไม่สิ้นสักที จนหายนะย่างกรายเข้ามาเยือน
ในยามรุ่งโรจน์นั้น ดยุคแห่งมาร์ลโบโรห์ก็สง่างามสมเป็นชายชาติทหาร แต่ครั้นยามตกต่ำ จอห์น เชอร์ชิลล์ผู้นี้ ถูกกล่าวหาว่า ยักยอกเงินของกองทัพ เอาไปใช้เพื่อการส่วนตัว ดังนั้น ใน ค.ศ.1711 ท่านดยุคเลยถูกปลดออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหาร ซึ่งก็แหม...มาสอดคล้องพอดีเข้ากับเหตุการณ์ที่ซาราห์เกิดทะเลาะเบาะแว้งกับสมเด็จพระราชินีนาถ ซึ่งข่าวทางการบอกว่า นางต้นห้องกับสมเด็จพระประมุขนั้น ขัดเคืองกันด้วยเรื่องที่มีความเห็นแตกต่างทางการเมืองแบบคนละขั้ว ซึ่งอันที่จริง ความขัดแย้งนี้มีมานานระยะหนึ่งจนเป็นที่รู้กันดีในวงกว้างอยู่แล้ว แต่ถึงกระนั้น เมื่อความบาดหมางรุนแรงเกิดขึ้น ก็ไม่วายมีข่าวลือกันในแซ่ด แบบที่ต่างคนต่างก็บอกว่าเป็นวงในขนานแท้ซุบซิบกันว่า สมเด็จพระราชินีนาถแอนน์นั้น มี "คนรู้ใจ" คนใหม่แล้ว นามอบิเกล มาแซม (Abigail Masham) ซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นลูกพี่ลูกน้องของซาราห์นั่นเองแหละ
แต่ไม่ว่าเรื่องจริงแท้จะเป็นอย่างไร ครอบครัวเชอร์ชิลล์ที่ "ขึ้น" มานาน ก็ได้เวลา "ตก" ข่าวอย่างเป็นทางการบอกว่า ปัญหาการเมือง รวมถึงการทุจริตของดยุคแห่งมาร์ลโบโรห์ ทำให้ทั้งครอบครัวต้องหลบหนีออกนอกประเทศ หมดอำนาจวาสนา ในขณะที่งานก่อสร้างพระราชวังเบลนนิมก็ยังไม่แล้วเสร็จ สำนักพระราชวังงดส่งเงินค่าก่อสร้างมาให้ ความหายนะนี้ จึงไม่ได้มาเยือนเพียงแค่ตระกูลเชอร์ชิลล์เท่านั้น แต่เซอร์จอห์น แวนเบิร์ก สถาปนิกผู้ดูแลการก่อสร้างพระราชวังเบลนนิมก็พลอยเสียชื่อเสียงจากการที่มาคุมการก่อสร้างปราสาทนี้ด้วย ทำให้หลังจากนั้น ไม่ค่อยจะมีใครมาจ้างให้ไปทำอะไรใหญ่ๆ อีกเลย
ในอีกไม่กี่ปีต่อมา สมเด็จพระราชินีนาถแอนน์ ก็สวรรคต ในวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ.1714 ด้วยพระชนมายุเพียง 49 พรรษา พระศพของพระนางได้รับการฝังเคียงข้างพระสวามี ในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ การเสด็จสู่สวรรคาลัยของสมเด็จพระราชินีนาถ ทำให้ครอบครัวเชอชิลล์ได้เวลากลับมาตุภูมิ และแม้ฐานะการเงินจะกระท่อนกระแท่น แต่จอห์น เชอร์ชิลล์ ก็ยังพยายามสร้างพระราชวังเบลนนิมต่อ และคาดว่าความขัดแย้งในการก่อสร้าง ระหว่างจอห์น กับซาราห์ ก็ยังคงมีอยู่เนืองๆ ถึงขนาดที่ว่า เซอร์จอห์น แวนเบิร์ก สถาปนิกผู้ควบคุมการก่อสร้าง ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในพื้นที่อีกต่อไป
มีเรื่องเล่าว่า วันหนึ่งในปี ค.ศ.1719 ซึ่งเป็นเวลาที่ซาราห์ไม่อยู่ เซอร์จอห์น แวนเบิร์ก สถาปนิกผู้มีความรับผิดชอบสูงของเราสู้อุตส่าห์แอบลักลอบเข้ามาดูว่า การก่อสร้างไปถึงไหนแล้ว แสดงว่าความขัดแย้งเรื่องการก่อสร้างคงคุกรุ่นไปตลอดเวลาที่พระราชวังแห่งนี้ค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่างขึ้น และสำหรับจอห์น เชอร์ชิลล์ สิ่งที่น่าเสียดายที่สุด น่าจะเป็นเรื่องที่ว่า แม้เขาจะใช้ทั้งเวลาและเงินไปจำนวนมาก แต่พระราชวังที่เขาหวัง ก็สร้างไม่เสร็จสักที จนจอห์น เชอร์ชิลล์, ดยุคแห่งมาร์ลโบโรห์ ก็ถึงแก่อสัญกรรมในปี ค.ศ.1722
หลังสามีจากไป ซาราห์ก็ได้เข้ามาควบคุมการก่อสร้างพระราชวังเบลนนิมต่อ จนสิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่แล้วเสร็จ และพระราชวังแห่งนี้ก็กลายเป็นสถานที่ที่มีคนมาเลียบๆ เคียงๆ เข้ามาดูมาชมกันมากมาย แต่ดูเหมือนแรงแค้นที่ซาราห์มีต่อยอดสถานิกจะไม่หมดสิ้น เพราะในปี ค.ศ.1725 ภรรยาของเซอร์จอห์น แวนเบิร์ก ได้มาเยือน และจะเข้าไปชมพระราชวังเหมือนประชาชนทั่วไป แต่ก็ยังถูกห้ามเข้า
ส่วนการก่อสร้างเล็กๆ น้อยๆ ยังดำเนินมาอีกหลายปี ในปี ค.ศ.1732 ซาราห์ได้เขียนบันทึกว่า วิหารน้อยภายในพระราชวังเบลนนิมได้ก่อสร้างจนเสร็จแล้ว ในขณะที่ราวๆ ครึ่งหนึ่งของสุสานประจำตระกูลก็เกือบเสร็จเช่นกัน โดยบริเวณวิหารน้อยนั้น มีส่วนที่เป็นสุสานของดยุคแห่งมาร์ลโบโรห์ ซึ่งมีผลงานประติมากรรมประดับไว้ในรูปลักษณ์คล้ายๆ กษัตริย์และราชินีแห่งโรมัน ที่สร้างขึ้นมาเป็นตัวแทนของดยุคและดัชเชสแห่งมาร์ลโบโรห์ ภายใต้การกำกับดูแลให้สวยงามตามแนวคิดของซาราห์นั่นเอง
สิ่งที่ดูจะแปลก และทำให้เราฉงนในความคิดของซาราห์ เจนนิงส์ ดัชเชสแห่งมาร์ลโบโรห์ได้จริงๆ น่าจะอยู่ที่ห้องสมุดของพระราชวังเบลนนิม นั่นคือ ในห้องสมุดอันโอ่อ่านั้น มีรูปประติมากรรมของสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์ตั้งตระหง่านอยู่ โดยมีหลักฐานจากใบเสร็จรับเงินจากช่างว่า ผลงานประติมากรรมนี้ ซาราห์เป็นผู้ว่าจ้างให้สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1735 ซึ่งคงจะเป็นการสร้างขึ้นภายหลังจากที่งานอื่นๆ ในการก่อสร้างพระราชวังแห่งนี้แล้วเสร็จหมดแล้ว และประติมากรรมสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์ ได้ถูกเพิ่มเข้ามาประดับไว้เป็นสิ่งสุดท้าย
ประติมากรรม สมเด็จพระราชินีนาถแอนน์ ประทับยืนอยู่ในห้องสมุดใหญ่ของพระราชวังเบลนนิม
หากจะบอกว่า การเพิ่มผลงานประติมากรรมสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์ ประทับตระหง่านอยู่ในพระราชวังเบลนนิม ในฐานะที่พระนางเป็นผู้พระราชทานที่ดิน และเงินก่อสร้างในช่วงแรกๆ มาให้ ก็ถือว่าเหมาะอยู่ แต่หากมองในแง่ที่ว่า สุดท้ายแล้ว ครอบครัวเชอร์ชิลด์ถูกลงทัณฑ์เล็กๆ จากสมเด็จพระราชินีนาถ จนต้องหอบลูกหอบเต้าหนีไปอยู่ต่างแดนเสียหลายปี แถมเงินค่าก่อสร้างก็ได้ไม่ครบ หากซาราห์ เจนนิงส์จะไม่นึกถึงสมเด็จพระราชินีนาถแล้ว ก็คงไม่มีใครว่ากระไร แต่ถึงกระนั้น ซาราห์ เจนนิงส์ นางต้นห้อง ผู้เป็น "พระสหาย" แต่วัยเยาว์ ก็ไม่เคยลืมเลือนพระนาง
ในห้วงเวลาที่ผู้เกี่ยวข้อง และคนรักพากันจากไปหมด ชีวิตในช่วงสุดท้ายของซาราห์ เจนนิงส์ คงจะโดดเดี่ยวอยู่บ้าง เธอยังมีชีวิตอยู่ต่อมาอีกนาน จนได้เวลาจากไปเข้าเฝ้าพระผู้เป็นเจ้า ในวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ.1744 ด้วยอายุ 84 ปี ถือว่าเป็นสตรีที่อายุยืนมากทีเดียวในยุคกระโน้น และก่อนจะจากโลกนี้ไป ทุกครั้งที่เดินเข้าไปในห้องสมุด อันเป็นห้องที่น่าจะนั่งสบายที่สุดในพระราชวังเบลนนิม โดยสามารถหยิบหนังสืออันทรงคุณค่าที่มีจำนวนมากมายในห้องนั้นมาสักเล่ม ก่อนจะเอนตัวลง ทอดกายไปกับเก้าอี้หนานุ่มตัวใหญ่ ก็สามารถมองผ่านกระจกบานโตออกไปเห็นถึงสวน และสระน้ำพุขนาดใหญ่อยู่ภายนอกนั้น ถือเป็นทิวทัศน์ที่ตระการตา และให้ความรู้สึกผ่อนคลายได้เป็นอย่างมาก และที่นั่นเอง ซาราห์ เจนนิงส์ผู้ชรา คงจะได้เห็นสายพระเนตรของสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์ที่ส่งมาให้อยู่ทุกวี่ทุกวัน
ประติมากรรม สมเด็จพระราชินีนาถแอนน์ ประทับยืนอยู่ในห้องสมุดใหญ่ของพระราชวังเบลนนิม
ผู้เขียนเอง ขอสารภาพว่า ในตอนที่ได้ไปเห็นสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์ประทับยืนอย่างสง่างามในห้องสมุดอันสดใสของพระราชวังเบลนนิมนั้น ผู้เขียนใช้เวลามองอยู่นาน พยายามที่จะเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของซาราห์ เจนนิงส์ ที่คงจะเคยมานั่งมองอยู่ตรงนี้เหมือนกันเมื่อเกือบ 3 ศตวรรษก่อน ทว่าก็ยากที่จะเข้าใจ แต่ก็คาดว่า เธอคงจะเหงาไม่น้อย ในบ้าน ที่เรียกว่าพระราชวังหลังใหญ่นี้
หรือว่าสายพระเนตรของ “แอนน์” จะเป็นสิ่งที่ทำให้ “ซาราห์” ได้หวนคิดถึงเรื่องราววัยเยาว์อันแสนสุข ตอนที่ยังเป็นมิตรชิดใกล้ กับความรัก และหวังดีที่มีต่อกันไม่เสื่อมคลาย และแม้ “เพื่อนรัก” จะไม่ได้ทำตามสัญญาที่จะส่งเงินมาให้ก่อสร้างพระราชวังเบลนนิมจนสำเร็จ แต่สมเด็จพระราชินีนาถก็ไม่ได้ยึดที่ดินแห่งนี้คืนไป แต่ปล่อยว่างไว้ให้ “พระสหาย” มาสานต่อจนพระราชวังเสร็จสมบูรณ์
แม้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะมาเพื่อรำลึกถึงวินสตัน เชอร์ชิลล์ แต่ตอนที่ผู้เขียนยืนอยู่ตรงนั้น กลับรำลึกถึงความรักที่ “เคย” เป็นต้นกำเนิดของพระราชวังแห่งนี้ อันเป็นรักที่ไม่เคยจางหายไปจากพระราชวังเบลนนิมเลย

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา