17 พ.ค. 2020 เวลา 10:11 • กีฬา
ดาร์บี้แมตช์ที่เดือดดาลมากที่สุดในประเทศเยอรมัน คือการปะทะกันระหว่างดอร์ทมุนด์ กับชาลเก้ ประวัติศาสตร์เป็นอย่างไร วิเคราะห์บอลจริงจังจะเล่าให้ฟังแบบเจาะลึก
หลังเกิดวิกฤติโควิด-19 ฟุตบอลหยุดพักไป 2 เดือน แต่ในที่สุดลีกใหญ่ก็กลับมาเตะอีกครั้ง โดยเยอรมันเป็นลีกแรก และเกมดาร์บี้แมตช์ระหว่างดอร์ทมุนด์ กับชาลเก้ ก็แข่งขันเป็นคู่แรก
แต่คนที่ดูเกมเมื่อคืนนี้ อาจจะตั้งคำถามว่า เฮ้ยจริงหรอ คู่นี้สมควรถูกเรียกว่าดาร์บี้แมตช์ที่เดือดที่สุดจริงดิ ดอร์ทมุนด์กับชาลเก้ เมื่อวานที่เล่นกัน ที่ซิกนัล อิดูน่า พาร์ก แม้จะจบด้วยสกอร์ 4-0 แต่ปฏิเสธไม่ได้เลย ว่ามันไม่เห็นระทึกขนาดนั้นสักหน่อย
อย่างไรก็ตาม ถ้าในยามปกติ ที่ไม่ใช่วิกฤติโควิดล่ะก็ ดาร์บี้แมตช์เกมนี้ มันเดือดมากจริงๆ ทั้งในและนอกสนาม ถึงโปรแกรมที ก็จะมีตำรวจหลายร้อยนาย ประจำการรอบๆสนาม เพื่อป้องกันเหตุร้าย
ขณะที่ความรู้สึกของแฟนบอลเองก็พร้อมบวกใส่กันเสมอ คือถ้าเทียบกับที่อังกฤษก็ได้ฟีลลิ่งเวลาเวสต์แฮม เจอมิลล์วอลล์ หรือ นิวคาสเซิล เจอซันเดอร์แลนด์
สำหรับดาร์บี้แมตช์ของดอร์ทมุนด์ กับชาลเก้ มี 2 ชื่อด้วยกัน คือ รูห์ดาร์บี้ และ เรเวียร์ดาร์บี้ ซึ่งวันนี้วิเคราะห์บอลจริงจังจะมาเล่าที่มาที่ไป ของดาร์บี้แมตช์เกมนี้ให้ฟัง
มาที่คำแรกก่อนคือ รูห์ดาร์บี้ (Ruhr)
ก่อนอื่นต้องเล่าแบ็กกราวน์ของประเทศเยอรมันก่อน โดยเยอรมันมีขนาด 357,022 ตารางกิโลเมตร ไซส์ถ้าเทียบให้เห็นภาพก็คือ ประเทศไทยที่ตัดภาคอีสานทิ้ง (ก็ยังถือว่าใหญ่อยู่) ซึ่งในเชิงการปกครอง เยอรมันแบ่งย่อยออกเป็น 16 รัฐ แต่ละรัฐก็จะมีเมืองเอกเป็นของตัวเอง อย่างรัฐบาวาเรีย ก็มีเมืองใหญ่คือมิวนิค หรือรัฐแซ็กซอนี่ ก็มีเมืองใหญ่คือไลป์ซิก เป็นต้น
รัฐที่อยู่ทิศตะวันตกสุด มีพรมแดนติดกับฮอลแลนด์และเบลเยี่ยม คือรัฐชื่อ นอร์ธ ไรน์-เวสต์ฟาเลีย รัฐนี้มีขนาด 34,084 ตารางกิโลเมตร เทียบกับไทยก็คือเชียงใหม่+เชียงราย+ลำพูน รวมกันสามจังหวัด
นอร์ธ ไรน์-เวสต์ฟาเลีย มีขนาดใหญ่ ครอบคลุมหลายจังหวัด แต่ในเขตชุมชนที่คนอาศัยอยู่หนาแน่น ใจกลางรัฐ จะมีชื่อเรียกว่า แคว้นรูห์ (Ruhr Region)
แคว้นรูห์ มีขนาด 4,435 ตารางกิโลเมตร ภายในแคว้นมีหลายเมืองอยู่รวมกัน เช่นดอร์ทมุนด์, เกลเซ่นเคียร์เช่น, โบคุ่ม, ดุ๊ยส์บวร์ก เป็นต้น ในเมืองดอร์ทมุนด์มีสโมสรโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์อยู่ ส่วนเมืองเกลเซ่นเคียร์เช่น มีสโมสรชาลเก้ 04 ตั้งอยู่ ระยะทางของทั้งสองสโมสร ห่างกันแค่ 40 กิโลเมตรเท่านั้น ถือว่าไม่ไกลกันมาก หากขับรถผ่านออโต้บาห์น จะเดินทางถึงกันได้แค่ 20 นาทีเท่านั้น
ด้วยความที่เป็นสองสโมสรที่ใหญ่ที่สุดในแคว้นรูห์ ทำให้บางคนก็เรียกดาร์บี้แมตช์ของดอร์ทมุนด์กับชาลเก้ว่า ดาร์บี้แมตช์แห่งรูห์ ซึ่งเป็นการเรียกเชิงภูมิศาสตร์ ตามถิ่นที่ตั้ง
นั่นคือชื่อแรก ส่วนชื่อที่ 2 ที่คนนิยมเรียกกันมากกว่า คือ เรเวียร์ดาร์บี้ โดย เรเวียร์ (Revier) เป็นคำเรียกสั้นๆย่อมาจาก Kohlerevier หรือแปลว่าย่านถ่านหิน
ในประวัติศาสตร์ของเยอรมันนั้น ในปี 1840 (180 ปีก่อน) แคว้นรูห์มีคนอาศัยอยู่เบาบางมาก มีคนอยู่ในดอร์ทมุนด์ แค่ 7,000 คน ยิ่งเกลเซ่นเคียร์เช่นยิ่งแล้วใหญ่ เป็นหมู่บ้านเล็กๆมีประชากรแค่ 624 คนเท่านั้น
แต่หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม ถ่านหินมีส่วนสำคัญที่ใช้ในการถลุงเหล็ก ทำให้การขุดหาถ่านหินแพร่หลายไปทั่วยุโรป และชาวเยอรมันก็มาค้นพบว่า ที่แคว้นรูห์ มีถ่านหินที่มีคุณภาพดีที่สุดอันดับต้นๆของโลก ทำให้ในปี 1850 มีการระดมขุดถ่านหินกันอย่างหนัก โดยในแคว้นรูห์ สามารถผลิตถ่านหินได้มหาศาลถึง 1.6 ล้านตัน
การขุดถ่านหินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดเมื่อถึงปี 1870 เยอรมันผลิตถ่านหินได้ปีละ 30 ล้านตัน มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากอังกฤษประเทศเดียว และแน่นอน สถานที่ที่ขุดถ่านหินได้มากที่สุดก็คือแคว้นรูห์
1
ดังนั้นขนาดเมืองจึงขยายใหญ่ขึ้น คนเยอรมันต่างถิ่น และผู้อพยพต่างชาติ หลั่งไหลเข้ามาตั้งรกราก และหางานทำในแคว้นแห่งถ่านหิน ดอร์ทมุนด์จากมีประชากร 7 พัน เพิ่มเป็น 157,000 คน ส่วนเกลเซ่นเคียร์เช่น จาก 624 เพิ่มเป็น 139,000
ทั้งสองเมือง ณ จุดนั้น จึงเริ่มมีการแข่งขันกันมากขึ้น แข่งขันความเจริญ แข่งขันผลผลิต แข่งขันทุกอย่าง
จนมาถึงยุคต้นศตวรรษ ราวปี 1900 กีฬาฟุตบอลเริ่มถูกนำเข้ามาจากอังกฤษ ทำให้คนเยอรมัน ได้เรียนรู้วิธีการเล่นฟุตบอล และกลายเป็นกีฬาสุดฮิตโดยเฉพาะกับชาวแคว้นรูห์ ส่งผลให้เมืองเกลเซ่นเคียร์เช่น ตั้งสโมสรฟุตบอลของตัวเองในชื่อ ชาลเก้ 04 ขึ้นมา ในปี 1904 จากนั้นเมืองดอร์ทมุนด์ ก็ตั้งสโมสรของเมืองตัวเองขึ้นมาบ้าง คือโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ในปี 1909
ถึงตรงนี้ ชาวเมืองดอร์ทมุนด์ และ ชาวเมืองเกลเซ่นเคียร์เช่น รู้แล้วว่า จะระบายเอาความหมั่นไส้คนต่างเมือง ไปลงกับอะไรดี
เยอรมันนั้น เป็นประเทศที่เกี่ยวข้องกับสงครามมาโดยตลอด เริ่มตั้งแต่สงครามโลก ครั้งที่ 1 ในช่วงปี 1914-1918 และสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1939-1945 ซึ่งความไม่สงบในชาติ ส่งผลให้การแข่งขันฟุตบอลนั้น ยังไม่มีการรวมลีกของประเทศ
การแข่งขันในเยอรมัน ครั้งอดีตนั้น สหพันธ์ฟุตบอลเยอรมัน จะจัดการแข่งขัน 5 ลีกย่อย ตามแต่ภูมิภาคของทีมนั้น โดยทีมไหนเล่นอยู่ลีกอะไร ก็จะแข่งไป ไม่กระโดดข้ามไปข้ามมา
5 ลีกย่อยประกอบไปด้วย
- Oberliga Nord (ลีกเฉพาะภาคเหนือ มีทีมดังอย่างฮัมบูร์ก,เบรเมน)
- Oberliga West (ลีกภาคตะวันตก มีดอร์ทมุนด์,ชาลเก้)
- Oberliga Berlin (ลีกในเบอร์ลิน เมืองหลวง มีทีมดังคือแฮร์ธ่า)
- Oberliga Sud (ลีกภาคใต้ มีทีมดังเช่นบาเยิร์น, แฟรงค์เฟิร์ต)
- Oberliga Sudwest (ลีกภาคตะวันตกเฉียงใต้ มีทีมดังอย่างไกเซอร์สเลาเทิร์น)
หลังจบฤดูกาลของลีกย่อย สหพันธ์ฟุตบอลเยอรมันจะเอา แชมป์กับรองแชมป์ของแต่ละลีกย่อย มารวมตัวแข่งแบบทัวร์นาเมนต์กันอีกรอบ เพื่อหาว่าสุดท้ายแล้ว ทีมไหนจะเป็นแชมป์ของประเทศในปีนั้น
สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า ในฟุตบอลเยอรมันยุคดั้งเดิม โอกาสที่ทีมจากต่างเมืองจะปะทะกันมีน้อยมาก เพราะเล่นอยู่คนละลีกย่อยกัน นานๆจะเจอกันที ดังนั้นความดราม่า ความขัดแย้ง ระหว่างทีมต่างเมืองจึงไม่ค่อยมี
ต่างกับในอังกฤษ ที่ลิเวอร์พูล กับแมนฯยูไนเต็ด ที่อยู่คนละเมืองกันก็จริง แต่ที่อังกฤษ รวมลีกทั้งประเทศเข้าด้วยกัน ทำให้สองทีมนี้ปะทะกันมาตั้งแต่อดีตแล้ว จึงทวีความเกลียดชังจึงมากขึ้นเรื่อยๆ และก็สานต่อมาจนถึงยุคปัจจุบัน
ความขัดแย้ง และความไม่ชอบหน้า จึงวนเวียนอยู่กับทีมที่เล่นอยู่ในลีกย่อยเดียวกัน ซึ่งในลีก Oberliga West ก็คือ ดอร์ทมุนด์ vs ชาลเก้นั่นเอง
ฟอร์แมตลีกย่อย ถูกใช้ถึงปี 1963 จากนั้นจึงมีการก่อตั้งบุนเดสลีกาขึ้นมา และโละโอเบอร์ลีกาทิ้งไป ทั้งประเทศรวมกันเป็นลีกเดียว แต่แน่นอน ทุกครั้งที่มีเรเวียร์ดาร์บี้ขึ้น มันก็จะเดือดดาลเสมอ
ทั้งสองทีมผลัดกันรุ่งเรือง มีช่วงเวลาที่ข่มอีกฝ่าย และถูกอีกฝ่ายข่ม จุดที่น่าสนใจคือ ไม่ว่าทีมตัวเองจะตกต่ำแค่ไหน ก็ยอมปล่อยให้อีกฝ่ายประสบความสำเร็จไม่ได้
ในช่วงแรกๆ ตอนก่อตั้งทีม มาจนถึงยุคโอเบอร์ลีกา ชาลเก้ ประสบความสำเร็จมากกว่า แต่จุดเปลี่ยนสำคัญอยู่ที่ปี 1958 หลังจากที่ชาลเก้ ได้แชมป์ประเทศ เกิดวิกฤติการณ์เหมืองถ่านหินขึ้น
กล่าวคือ ตอนนั้นสหรัฐอเมริกาสามารถขุดถ่านหินจำนวนมากได้เช่นกัน และขนส่งถ่านหินขายทั่วโลก โดยคุณภาพนั้นไม่ต่างกันกับของแคว้นรูห์ แต่สิ่งที่ต่างคือ ของอเมริการาคาถูกกว่า นั่นทำให้ถ่านหินในแคว้นรูห์ เริ่มขายไม่ออก มีถ่านหินถึง 18 ล้านตันที่ค้างในสต็อก ซึ่งสุดท้าย ธุรกิจถ่านหินในรูห์ ก็เริ่มล่มสลาย คนงานเหมือง 52,000 คนต้องตกงาน
ดอร์ทมุนด์ได้รับผลกระทบ แต่ยังพอต้านไหว นั่นเพราะอุตสาหกรรมหลักของเมือง นอกจากถ่านหินแล้ว ยังมีธุรกิจเบียร์ และ เหล็ก มีการกระจายความเสี่ยงเอาไว้ตั้งแต่ในอดีต นั่นทำให้ เมืองดอร์ทมุนด์ยังพอประคองตัวได้
แต่เมืองเกลเซ่นเคียร์เช่นนั้นต่างกัน พวกเขามีถ่านหินเป็นอุตสาหกรรมหลักเพียงอย่างเดียว ส่งผลให้เศรษฐกิจในเมืองตกต่ำลง และแน่นอน มันส่งผลต่อทีมชาลเก้ไปโดยปริยาย เพราะคนในเมืองก็พยายามรัดเข็มขัดเอาไว้ แฟนบอลเอาเวลาไปทำงานหาเงิน แทนที่จะใช้กับการชมเกมในสนาม นั่นก็ส่งผลให้สโมสรขาดรายได้ ในการพัฒนาทีม
ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ที่แชมป์ประเทศครั้งสุดท้ายของชาลเก้ เกิดขึ้นในปี 1958 หลังจากอุตสาหกรรมถ่านหินตกต่ำ ชาลเก้ก็ไม่เคยคัมแบ็กกลับมาเป็นแชมป์ของประเทศได้อีกเลยจนถึงวันนี้
ในยุคของบุนเดสลีกา กลายเป็นดอร์ทมุนด์ที่ประสบความสำเร็จมากกว่าชัดเจน อย่างไรก็ตาม ชาลเก้ ก็ไม่ยอมเป็นหมูให้เชือดง่ายๆ หลายๆครั้ง พวกเขาเป็นตัวแสบที่ขัดขวางความสำเร็จของดอร์ทมุนด์
ในฤดูกาล 1991-92 ดอร์ทมุนด์ แย่งแชมป์กับสตุ๊ตการ์ต ซึ่งตอนจบฤดูกาลทั้งคู่มี 52 แต้มเท่ากัน แต่ปรากฏว่าดอร์ทมุนด์พลาดแชมป์ด้วยลูกได้เสียที่น้อยกว่า โดยเกมที่ว่ากันว่า ถีบดอร์ทมุนด์จากตำแหน่งแชมป์ คือการแพ้ชาลเก้กระจุย 5-2 ทั้งที่ชาลเก้ ฟอร์มในปีนั้นแย่มากๆ อยู่ครึ่งล่างของตาราง แต่กลับมาเล่นดีในเกมดาร์บี้เฉยเลย
ส่วนสำหรับดอร์ทมุนด์นั้น ความสะใจอย่างหนึ่ง คือการขัดขวางไม่ให้ชาลเก้เป็นแชมป์บุนเดสลีกาได้ เรื่องนี้เป็นปมในใจของชาลเก้มาตลอด เพราะแม้ทีมจะทรงดีแค่ไหน ใกล้ได้แชมป์เพียงใด แต่ก็ไม่เคยไปถึงตำแหน่งแชมป์บุนเดสลีกาได้เสียที
เหตุการณ์สำคัญมากๆ ในเยอรมัน เกิดขึ้นในฤดูกาล 2006-07 ปีนั้นดอร์ทมุนด์อยู่กลางตาราง ส่วนชาลเก้ กำลังลุ้นแชมป์บุนเดสลีกาครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสร
เกมผ่านไปแล้ว 32 นัด ชาลเก้นำเป็นจ่าฝูงของลีก มี 65 แต้ม ส่วนอันดับ 2 คือสตุ๊ตการ์ตมี 64 แต้ม แปลว่าขอแค่ชาลเก้เอาชนะได้อีก 2 เกมที่เหลือ พวกเขาจะคว้าแชมป์ได้ทันที โดยไม่ต้องสนใจผลของสตุ๊ตการ์ตเลย
แต่ไฮไลท์อยู่ที่ นัดที่ 33 เกมรองสุดท้ายของฤดูกาล ชาลเก้ต้องไปเยือนดอร์ทมุนด์ แต่แน่นอน พวกเขาไม่มีความเกรงกลัวเลย ชาลเก้ เต็มไปด้วยผู้เล่นชั้นนำ เช่น เควิน คูรานยี่ และ พี่น้องอัลตินท็อป ส่วนดาวรุ่งที่เพิ่งแจ้งเกิดขึ้นมา ก็มีทั้งมานูเอล นอยเออร์ และ เมซุต โอซิล
ตรงข้ามกับดอร์ทมุนด์ ตัวผู้เล่นถือว่ามีแต่เกรดรองๆ เช่น เอบี สโมลาเร็ก, อเล็กซ์ ฟราย หรือสตีเว่น พีนาร์ กองหลังก็ยังเข็นคนอายุเยอะแล้วอย่างคริสเตียน เวิร์นส์ (35 ปี) ลงเป็นตัวจริง
สำหรับแฟนชาลเก้นั้น ถ้าอีกสนามสตุ๊ตการ์ตไปสะดุดแพ้ แล้วชาลเก้บุกไปอัดดอร์ทมุนด์ได้ พวกเขาจะได้แชมป์ที่บ้านของดอร์ทมุนด์เลย ซึ่งสำหรับคู่ปรับสำคัญที่เกลียดชังกันมาตลอด การได้แชมป์ในบ้านคู่แข่ง คงไม่มีอะไรจะสะใจมากไปกว่านี้
ในเกมบุนเดสลีกานัดนี้ ทีมเยือนได้ตั๋ว 8,000 ใบ แต่มีแฟนชาลเก้ถึง 30,000 คนเดินทางไปหน้าสนาม มากกว่าจำนวนตั๋ว 3 เท่า คือแฟนชาลเก้หลายคน ไม่ได้ดูเกมในสนามก็ช่าง แต่ขอส่งเสียงเชียร์ลุ้นทีมอยู่ด้านนอกก็ยังดี
อย่างไรก็ตาม การเจอกันของคู่นี้ ต่อให้อีกฝ่ายตกต่ำขนาดไหน ก็ไม่ยอมให้เคี้ยวกันง่ายๆ และดอร์ทมุนด์เกมนี้ก็เล่นได้น่ากลัวราวกับผีเข้า นาทีที่ 44 คริสตอฟ เม็ตเซลเดอร์ ตัดบอลได้ ก่อนสปรินท์ยาวจากแดนตัวเอง มาถึงกรอบเขตโทษด้านขวา ก่อนครอสเข้ากลางให้อเล็กซ์ ฟราย ยิงผ่านนอยเออร์เข้าไป ดอร์ทมุนด์นำ 1-0 ท่ามกลางความตกตะลึงของแฟนชาลเก้
เข้าครึ่งหลังชาลเก้ บุกแหลก แต่ดอร์ทมุนด์เล่นดีอย่างเหลือเชื่อ เกมรับป้องกันได้หมด สุดท้ายนาทีที่ 85 เม็ตเซลเดอร์เติมขึ้นมาแล้วตะบันยิงนอกเขตโทษ บอลติดบล็อคลอยโด่งขึ้นบนฟ้า ไปเข้าทางเอบี สโมลาเร็ค วอลเลย์แบบไม่จับเข้าประตูไป
สโมลาเร็คทั้งซีซั่นยิงไปได้แค่ 7 ลูก เป็นกองหน้าที่ขาดความคมอย่างสิ้นเชิง แต่จู่ๆก็มาคมกริบเอาในนัดนี้
จบเกมชาลเก้แพ้ 2-0 และอีกสนาม สตุ๊ตการ์ตบุกไปชนะโบคุ่มได้ 3-2 เท่ากับว่าแต้มบนตารางตอนนี้พลิก ชาลเก้มี 65 แต้มเท่าเดิม แต่สตุ๊ตการ์ตมี 67 แต้ม แซงขึ้นไปเป็นจ่าฝูงเรียบร้อยแล้ว
นัดสุดท้ายของฤดูกาล ชาลเก้เปิดบ้านเจออาร์มีเนีย บีเลเฟลด์ แต่ต่อให้ชนะก็ไม่มีความหมาย เพราะถ้าสตุ๊ตการ์ตเล่นในบ้านเอาชนะเอเนอร์กี้ ค็อตบุสได้ เกมก็โอเวอร์อยู่ดี
ก่อนการแข่งระหว่างชาลเก้ กับบีเลเฟลด์ แฟนดอร์ทมุนด์ลงขันจ้างเครื่องบินเล็ก ติดป้ายผ้าแบนเนอร์ บินว่อนเหนือสนามเวลตินส์ อารีน่าบ้านชาลเก้
โดยป้ายแบนเนอร์นั้น มีข้อความว่า "Ein Leben lang - keine Schale in der Hand" แปลว่า ในช่วงชีวิตนี้ ชาลเก้ไม่มีวันได้โทรฟี่แชมป์บุนเดสลีกา นี่เป็นการเย้ยหยันกันอย่างเจ็บแสบใส่คู่อริตลอดกาล
เกมนัดสุดท้ายของฤดูกาล ชาลเก้เอาชนะบีเลเฟลด์ได้ 2-1 แต่อีกสนาม สตุ๊ตการ์ตก็เอาชนะค็อตบุสได้ 2-1 เหมือนกัน ทำให้จบซีซั่น ชาลเก้ที่นำมาตลอดฤดูกาล เสียแชมป์ไปในสองเกมสุดท้าย และที่น่าแค้น คือมันมาจากน้ำมือของดอร์ทมุนด์นี่เอง
ตัดมาที่ปัจจุบัน ในเกมบุนเดสลีกาที่รีเทิร์นกลับมาเตะอีกครั้งเมื่อคืนวันเสาร์ ดอร์ทมุนด์เอาชนะชาลเก้ไปได้อย่างขาดลอย 4-0 คือรูปเกมในสนามมันก็สนุกอยู่นะ ได้เห็น เออร์ลิ่ง ฮาแลนด์ ยิงประตูคมๆ เห็นทอร์กก็อง อาซาร์ กระชากบอลอย่างดุดัน
แต่ในภาพรวม เราปฏิเสธไม่ได้จริงๆว่า บรรยากาศมันไม่พีกอย่างที่ควรจะเป็น
น่าคิดนะ ว่าทำไม ทั้งๆที่จริงๆแล้ว ดาร์บี้แมตช์ถ่านหิน มีความดราม่า ความเดือดดาล ไม่แพ้ดาร์บี้แมตช์ไหนทั้งนั้น
ยิ่งไปกว่านั้น เราไม่ได้ดูบอลกันมา 2 เดือนเต็มๆ มันน่าจะรู้สึก "อิน" กับเกมมากกว่านี้สิ และเกมในสนามก็ไม่ได้ไก่กา นักเตะเล่นกันอย่างมีคุณภาพ มีการเพรสซิ่ง การโชว์เทคนิคกันเจ๋งๆ ให้เห็น
แต่ในโลกออนไลน์ทั้งที่ไทยและเทศ มีหลายๆคนทำคล้ายกัน คือเปิดดูตอนแรกๆ แต่สุดท้ายดูไม่จบ ดูได้แค่ไม่กี่นาที ก็ไปทำอย่างอื่น ไม่สามารถตรึงตัวเองไว้กับหน้าจอได้จนจบเกม
ผมอ่านคอมเมนต์ต่างชาติบางคน พิมพ์เลยว่า ดาร์บี้แมตช์สุดเดือดอะไร ไม่เห็นจะเดือดตรงไหน น่าเบื่อจะตาย ทนดูจบเกมไม่ไหว แล้วก็พาลไปโทษคุณภาพของฟุตบอลเยอรมัน
คำถามคือทำไมเราถึงรู้สึกแบบนั้น ทั้งๆที่ประวัติศาสตร์มันก็บอกว่า ดอร์ทมุนด์ เจอชาลเก้ทีไร ปกติแล้วมันเดือดทุกที
คำตอบเดียวที่นึกออกคือ บรรยากาศมันไปไม่สุด เพราะไม่มีแฟนบอลในสนามไง
ตลอดเกมของเรเวียร์ดาร์บี้ มีแต่นักกีฬาตะโกนใส่กัน โค้ชตะโกนแท็กติก และได้ยินเสียงรองเท้าสตั๊ดปะทะลูกบอล เสียง Chant จากกองเชียร์หายไป เสียงปรบมือส่งใจเชียร์ทีมตัวเอง เสียงโห่กดดันคู่แข่ง แม้แต่เสียงกดดันตอนกรรมการใช้ VAR มันไม่มีเลย
นี่ต่างหากคือสิ่งที่ทำให้ความรู้สึกร่วมกับเกมของเราลดลง
แน่นอน เชื่อว่าทุกคนเข้าใจสถานการณ์เป็นอย่างดี ไม่มีใครอยากให้เป็นแบบนี้หรอก แต่เมื่อโควิด-19 ยังอยู่ ก็ต้องลงเล่นด้วยความระมัดระวังขั้นสูงสุดแบบนี้ไปก่อน
แต่จากการเล่นแบบปิดสนามอย่างนี้ มันทำให้เราได้เข้าใจสิ่งสำคัญมากขึ้น คือเกมกีฬา ต่อให้เป็นการเจอกันของยอดทีมขนาดไหน เป็นซูเปอร์บิ๊กแมตช์เท่าไหร่ก็ตาม แต่ถ้าไร้แฟนๆ และคนดู ไร้เรื่องราว ไร้สตอรี่ ไร้การแซว ไร้การบลัฟ มันไม่ทำให้เราสนุกไปกับมันแบบ 100% จริงๆ
#Dortmund #Schalke
โฆษณา