17 พ.ค. 2020 เวลา 12:15 • ประวัติศาสตร์
โรคระบาดในประวัติศาสตร์สากลสู่ดินแดนไทย
ตอนที่ 5 : ไข้หวัดใหญ่สเปน : โรคระบาดจากสงครามโลกครั้งที่ 1 กับดินแดนไทย
ภาพทหารสหรัฐจาก Fort Riley, Kansas ป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่สเปน เมื่อปี ค.ศ.1918 (พ.ศ. 2461) ที่หอผู้ป่วยที่ Camp Funston (ภาพจาก Otis Historical Archives Nat'l Museum of Health & Medicine)
ไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish Flu) เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 ที่กลายพันธุ์ใน หมู่ปศุสัตว์ในยุโรปและแพร่มาติดยังมนุษย์ ซึ่งพบการระบาดในช่วงเดือนมกราคม ของปี พ.ศ.2461 (ค.ศ.1918) ขณะที่สงครามโลกครั้งที่ 1 ยังดำเนินอยู่ ทำให้มีความพยายามปกปิดข่าวการระบาดของโรคนี้เพื่อไม่ให้ขวัญกำลังใจของทหารและพลเรือนตกต่ำลง
ภาพของไวรัสไข้หวัดใหญ่ H1N1 จากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน ซึ่งมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ~100 นาโนเมตร
การปกปิดข่าวนี้เองส่งผลให้ไวรัสไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่นี้แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว โดยผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่กลุ่มแรกๆ คือทหารที่ร่วมรบในยุโรป ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งอาการของผู้ป่วย จะมีไข้สูงและติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ คล้ายกับอาการของโรคปอด
โดยผู้เสียชีวิตมักเป็นกลุ่มคนวัยหนุ่มสาวที่เกิดปฏิกิริยาไซโทไคน์สตอร์ม ซึ่งเป็นการสนองกลับของภูมิคุ้มกันที่รุนแรงทำให้อาการของโรคนี้ยิ่งรุนแรงขึ้น
ภาพผู้ป่วยบนเตียงนอนเรียงกันในโรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ป่วยไข้หวัดสเปน
โดยในช่วงเวลานั้นไทยได้ส่งทหารอาสา จำนวน 1,254 นาย เข้าร่วมรบในทวีปยุโรป รวมกับพันธมิตรอย่าง อังกฤษ และ ฝรั่งเศส ซึ่งทหารไทยที่ส่งไปทำหน้าที่เป็นกองทหารข่นส่งที่ทำหน้าที่ข่นส่งทหารเข้าสู่สมรภูมิในประเทศเยอรมัน ซึ่งในครั้งนั้นมีทหารไทยที่เสียชีวิตทั้งสิ้น 19 นาย โดย มี 10 นายที่เสียชีวิตด้วยอาการของโรคปอดที่เรียกว่า โรคอนิวมูเนีย หรือ นิวมอเนีย
ภาพทหารไทยขณะขึ้นรถไฟลำเลี่ยงกำลังพลในสมรภูมิสงครามโลกครั้งที่ 1
โดยมีหลักฐานปรากฏในหนังสือ "แหล่เทศน์ประวัติกองทหารบกรถยนตร์ ซึ่งไปในงานพระราชสงคราม ทวีปยุโรป" แต่งโดย สิบเอก เคลือบ เกษร ทหารไทยที่ไปรบในฝรั่งเศสและเยอรมนีเล่าถึงการเสียชีวิตของทหารไยหลายคนด้วยอาการที่เรียกว่า "โรคอนิวมูเนีย" โดยบอกว่าเป็นเพราะอากาศที่หนาวจัดจน "บางคนทนหนาวจนปอดตัวเสีย" โดยผู้ป่วยมีอาการเป็นไข้หวัด หมดสติ หนาวสั่นจนขยับตัวไม่ได้ ก่อนจะเสียชีวิตลง
หนังสืออนุสรณ์ในงานณาปนกิจศพและรูปของสิบเอกเคลือบ เกษร ที่เสียชีวิตในปี พ.ศ.2501 ขณะอายุได้ 76 ปี
จากอาการที่ สิบเอกเคลือบ เรียกว่า "นิวมอเนีย" กล่าวมานั้นแท้จริงแล้วก็คือไข้หวัดใหญ่สเปนที่ระบาดไปทั่วสมรภูมิของสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้ทหารที่ร่วมรบทั้งฝ่ายไตรภาคี และฝ่ายมหาอำนาจกลางติดเชื้อกันมาก ซึ่งบั่นทอนแสนยานุภาพการรบจนเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่กระทบต่อชัยชนะและความพ่ายแพ้ในช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 1
เมื่อสงครามได้ยุติเชื้อโรคได้แพร่กระจายไปยังทวีปอื่นๆ และสเปนก็เป็นประเทศแรกๆ ที่ประกาศข่าวการระบาดของโรคอย่างจริงจัง ทำให้ถูกนำไปตั้งเป็นชื่อของไข้หวัดชนิดนี้ โดยภายในเวลา 2 ปีหลังสงครามยุติ มีผู้คนกว่า 1 ใน 4 ของโลกติดเชื้อ และมีผู้เสียชีวิตราว 50 ล้านคนทั่วโลก
กราฟจำนวนผู้เสียชีวิตของไข้หวัดสเปนสายพันธ์ใหม่ ทั้ง 3 ระลอก โดยจุดสูงสุดของกราฟจุดที่ 2 คือการแพร่ระบาดระลอก 2 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปจำนวนมาก
ภาพหน่วยกาชาด ( Red Cross) กำลังเคลื่อนย้ายผู้ป่วยและเสียชีวิต ในเมืองเซนต์หลุยส์ ของสหรัฐอเมริกา
ภาพพยาบาลสหรัฐกำลังเตรียมหน้ากากอนามัยเพื่อแจกจ่ายให้ประชาชนเพื่อป้องกันการระบาดของไข้หวัดสเปน
ภาพการสวมหน้ากากอนามัยในช่วงการระบาดของไขหวัดสเปน ในหลายพื้นที่ทั่วโลกในขณะนั้น
ป้ายรณรงค์การป้องกันการแพร่ระบาดของไข้หวัดสเปนทางหนังสือพิม
ขณะที่ประเทศไทยในเวลานั้น ได้พบการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนอย่างรุนแรง ใน 17 มณฑล ทั่วพระราชอาณาจักร ในระหว่างช่วงเดือนตุลาคม 2461 ถึง มีนาคม 2462 ซึ่งในระยะเวลาเพียงแค่ 6 เดือน พบว่ามีผู้ป่วยกว่า 2,317,662 คน และเสียชีวิตกว่า 80,223 คน
ขณะที่ประชากรในขณะนั้นมีเพียง 8,478,556 คน กล่าวคือ มีผู้ป่วยประมาณกว่า 28% ของประชากร และผู้เสียชีวิตประมาณ 3.46% ของผู้ป่วยทั้งหมด
โศกนาฏกรรมช่วงดังกล่าวมีบันทึกไว้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2462 เรื่องแจ้งความกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเจ้าพระยาสุรสีห์ วิสิษฐศักดิ์ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้รายงานสถานการณ์ของโรคระบาดนี้ โดยเรียกว่าเป็น ไข้หวัดหรืออินฟูเอนซา ซึ่งในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมสาธารณสุขจัดส่งแพทย์ ยาและเวชภัณฑ์ รวมทั้งคำแนะนำในการรักษา ควบคุมโรคต่างๆ ออกไปช่วยป้องกันรักษาสมทบกับแพทย์ประจำเมืองต่างๆ จนทำให้โรคสงบลงได้ในที่สุด
อ้างอิง
โฆษณา