19 พ.ค. 2020 เวลา 02:00 • การศึกษา
เหตุใดจึงต้องทำบุญ
คนเรามีหลักในการทำบุญอย่างไร
หากจะพูดเรื่องการทำบุญ คนในยุคนี้อาจเชื่อบ้างไม่เชื่อบ้าง หากแต่ในทางพระพุทธศาสนา บุญคือเบื้องหลังความสำเร็จทั้งปวง ทำไมแต่ละคนเกิดมาจึงแตกต่างกัน บางคนรวย บางคนจน บางคนฉลาด บางคนโง่ บางคนสวย บางคนขี้เหร่ เพราะแต่ละคนมีการสั่งสมบุญมาแตกต่างกัน เราจะประสบความสำเร็จได้ เพราะเรามีบุญ บางคนทำท่าเหมือนจะไปได้ดี แต่พอถึงจุดๆ หนึ่งกลับสะดุด ไม่เป็นไปอย่างที่คิด เพราะบุญที่เราสั่งสมมา เราจึงทำบุญ เพื่อประโยชน์ต่อตัวเราเองทั้งภพนี้และภพหน้า
หากแต่ละคนอาจมีความชอบในการทำบุญที่แตกต่างกัน บางคนชอบทำบุญมาก บางคนทำบ้างตามวาระ เช่น วันเกิดตนเองหรือคนในครอบครัว หรือบางคนเห็นคนอื่นหรือสัตว์น่าสงสารก็ทำ หรือบางคนอาจไม่ใส่ใจเรื่องการทำบุญเลย
สิ่งที่จะกำหนดว่าคนแต่ละคนมุ่งมั่นสั่งสมบุญมากหรือน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับเหตุ 2 ประการ คือ
1. บุคคลผู้นั้นมีเป้าหมายชีวิตอย่างไร
2. บุคคลผู้นั้นมีความเข้าใจถึงผลแห่งบุญมากเพียงไร
ประการแรก เรามีเป้าหมายชีวิตอย่างไร
ให้ลองเปรียบเทียบกับการเรียนหนังสือของเด็กนักเรียน ถ้าเด็กคนหนึ่งมีเป้าหมายแค่เพียงเรียนไปเรื่อย ๆ ให้จบประถมแล้วก็เข้ามัธยมเข้าอุดมศึกษา จบออกมาก็ทำงานทำการ พอใจอยู่แค่นั้น เขาก็จะทำเพียงแค่เรียนเกาะกลุ่มไปกับเพื่อนไม่ต้องทุ่มเทมากเพราะอย่างไรก็คงเรียนจบมีปริญญาไปทำงานได้แต่ถ้าหากว่าเด็กคนนั้นตั้งเป้าหมายว่าในอนาคตเขาจะต้องจบปริญญาเอกให้ได้ อยากเป็นนักวิชาการระดับโลก
อยากฝากผลงานที่เลื่องลือไว้ในประวัติศาสตร์เพื่อประโยชน์ต่อมนุษยชาติให้ได้ในชีวิตนี้ หากเขาตั้งเป้าหมายชีวิตตัวเองไว้อย่างนั้น การเรียนหนังสือที่เพียงแต่เกาะกลุ่มเรียนไปกับเพื่อน ๆ นั้นย่อมไม่พอแน่ เขาจะต้องทุ่มเทสุดใจ นอกเหนือจากการเรียนในโรงเรียนแล้ว ยังต้องอ่านหนังสือเพิ่มอีกวันหลาย ๆชั่วโมง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเพราะเป้าหมายของเขายิ่งใหญ่ ดังนั้นความมุ่งมั่นทุ่มเทในการเรียนจะมากน้อยแค่ไหน จึงขึ้นอยู่กับว่าใครตั้งเป้าหมายชีวิตไว้อย่างไร
การทำบุญก็เช่นกันใครจะทำมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับตนเองได้ตั้งเป้าหมายชีวิตไว้อย่างไร ถ้าหากเป็นชาวโลกทั่วไป ที่ไม่ได้มีเป้าหมายอะไรมากมาย เขาก็จะทำบุญพอให้สบายใจ สมมุติว่าถ้าเขามีรายได้ปีละหนึ่งแสน การแบ่งทำบุญสักพันสองพันเขาก็รู้สึกว่าเพียงพอแล้ว แตกต่างจากผู้ที่ตั้งเป้าหมายสูง เช่น ผู้ที่ตั้งความปรารถนา
Cr : apinya.com
แต่หากตั้งเป้าจะเป็นพระอรหันต์ก็จะต้องทำบุญด้วยความทุ่มเทมากขึ้น ถ้าปรารถนาจะเป็นพระอสีติมหาสาวก สาวกชั้นเอกของพระพุทธเจ้า ก็ต้องทุ่มเทมากขึ้นอีก และถ้าปรารถนาจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ยิ่งต้องทุ่มเทอย่างถึงที่สุด
ดังจะเห็นได้จากประวัติการสร้างบารมีของพระบรมโพธิสัตว์ในกาลก่อน เช่น
มีคราวหนึ่งพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพรหมกุมาร ซึ่งต่อมาได้ออกบวชเป็นพระดาบส วันหนึ่งพระดาบสได้เห็นแม่เสือที่หิวโซกำลังจะกินลูกตัวเอง เมื่อห้ามอย่างไรแม่เสือก็ไม่ฟัง ท่านจึงช่วยชีวิตลูกเสือด้วยการยอมสละตนเองเป็นอาหารของแม่เสือแทน จากเรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้ ก็คงจะเกิดคำถามว่า การให้ชีวิตตัวเองเป็นทาน เป็นการให้ที่มากเกินไปหรือไม
ถ้าคิดอย่างคนธรรมดาสามัญ ก็คงตอบว่ามากเกินไป ทุกคนต่างรักและหวงแหนชีวิตตนเอง แต่ถ้าคิดอย่างพระบรมโพธิสัตว์ คิดอย่างผู้ปรารถนาที่จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตข้างหน้าแล้ว การกระทำเช่นนี้เป็นเรื่องธรรมดา
Cr : dmc.tv
ดังอีกตัวอย่างหนึ่ง เมื่อครั้งที่พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญานาคซื่อว่า ภูริทัต ท่านเป็นผู้มีฤทธิ์มาก และตั้งใจรักษาศีลอย่างเต็มที่ แม้ท่านจะถูกหมองูจับไปทรมาน ทั้งฟาด ทั้งเหยียบ ทั้งกระทืบจนกระอักโลหิตเลือดไหลโทรมตัว ท่านก็มิได้ทำอันตรายหมองูแม้แต่น้อย ทั้งที่จริงแล้วเพียงแค่พญานาค ลืมตาขึ้นมองดู ร่างของหมองูก็จะไหม้เป็นจุลในทันที แต่ท่านกลับยอมถูกทรมาน โดยไม่ตอบโต้เลย เหตุการณ์ทำนองนี้ หากเกิดขึ้นกับคนธรรมดาสามัญทั่วไป ก็คงไม่มีใครยอมถูกทำร้าย อย่างน้อยก็ต้องขู่หมองูให้หนีกระเจิง แต่ถ้าเป็นวิสัยของพระบรมโพธิสัตว์ผู้ตั้งใจสร้างบารมี การกระทำของท่านย่อมเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วสำหรับเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่นั้น
ดังนั้นหากถามว่า คนเราควรทำบุญมากน้อยแค่ไหนคำตอบจึงขึ้นอยู่กับว่า เราตั้งเป้าหมายชีวิตของเราเองไว้อย่างไร ถ้าตั้งเป้าหมายแต่เพียงว่า ก็ขออยู่แบบสบาย ๆ แค่ในชีวิตนี้ก็พอ เพราะไม่รู้ว่านรกสวรรค์จะมีจริงหรือไม่ คนที่คิดเช่นนี้ จะทำบุญบ้างนิดๆ หน่อย ๆ เผื่อเหนียวไว้ หากตายไปถ้าต้องตกนรกก็จะได้ไปอยู่ขุมที่ไม่ลึกนัก หรือถ้าเกิดประเหมาะเคราะห์ดีไปเกิดในสุคติภูมิ ก็อาจจะพอได้เป็นภุมมเทวา หากตั้งความปรารถนาไว้เท่านี้ เราก็คงพอจะทำบุญบ้างตามประเพณี ถึงวันเกิดก็ตักบาตรสักครั้ง ถวายสังฆทานสักหน่อย ก็สบายใจแล้ว หรือถ้าถูกหมอดูทักว่าเคราะห์ไม่ดี ก็จะไปถวายสังฆทานเพื่อความสบายใจนี่คือวิถีของคนทั่วไป
ประการที่สอง เราเห็นคุณค่าของบุญเพียงใด
ชาวพุทธที่แท้จริงจะเข้าใจถึงเป้าหมายชีวิตว่า เราไม่ได้เกิดมาชาติเดียว แต่เราต้องเวียนว่ายตายเกิดนับภพนับชาติไม่ถ้วน ละโลกแล้วจะไปเกิดที่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราสร้างบุญไว้อย่างไร ใครมีบุญมากก็ไปเกิดในภพภูมิที่ดี ใครมีบาปมากก็ลงอบายภูมิตกนรก เป็นเปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน คนที่รู้หลักอย่างนี้แล้วจึงมีเป้าหมายที่สูงส่งว่า จะตั้งใจสร้างบุญกุศลให้เต็มที่ ความทุ่มเทเอาจริงเอาจังก็จะเพิ่มขึ้น
Cr : dmc.tv
เหมือนอย่างอนาถบิณฑิกเศรษฐี ผู้สร้างวัดเชตวันถวายพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เริ่มต้นด้วยการซื้อที่ดิน ซึ่งต้องยอมเอาเงินปูเรียงเต็มพื้นที่ตามเงื่อนไขของเจ้าของที่ เมื่อได้แผ่นดินมาแล้วต้องสร้างกุฏิศาลาฟังธรรมต่าง ๆ ถวายพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและหมู่สงฆ์ หมดทรัพย์ไปมากมาย ถ้าเทียบกับเงินปัจจุบันก็หลายหมื่นล้านบาท แม้เทียบกับทรัพย์สินจำนวนมหาศาลที่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีมีอยู่ทั้งหมด ก็นับว่าหลายสิบเปอร์เซ็นต์ของสินทรัพย์เลยที่เดียว ถ้าใครก็ตามมีเงินสักแสนล้าน แล้วนำเงินไปสร้างวัดสักสี่หมื่น ห้าหมื่นล้าน เท่ากับครึ่งหนึ่งของทรัพย์ทั้งหมดที่ตนมี คนทั่วไปกี่จะคิดว่าเป็นการทำบุญที่มากเกินไป แต่อนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นผู้ที่เข้าถึงพระรัตนตรัยภายในแล้ว ได้ตวงตาเห็นธรรม ท่านรู้ว่าสิ่งที่ทำไปมีคุณค่าขนาดไหน ความรู้สึกเสียดายทรัพย์จึงไม่มีแม้แต่นิดเดียว
ยิ่งไปกว่านั้นในยามที่วิบากกรรมในอดีตของท่านเศรษฐีตามมาทัน ทรัพย์ที่คนยืมไปก็ไม่ได้คืน ทรัพย์สินที่ฝังเอาไว้ถูกน้ำพัดไปอีก จนแทบจะไม่เหลือทรัพย์สินใดๆ เลย แม้อยากจะเลี้ยงพระ ท่านก็ทำได้แค่เอาปลายข้าวมาต้มเป็นข้าวต้มกับน้ำส้มพะอูมถวายพระได้เท่านั้นเอง
ในยามนั้นมีเทวดาตนหนึ่งอาศัยอยู่ที่ซุ้มประตูบ้านของอนาถบิณฑิกเศรษฐีรู้ จึงเหาะลงมาห้ามท่านเศรษฐีไม่ให้ทำบุญอีกต่อไป เนื่องจากเทวดาตนนี้เป็นมิจฉาทิฐิ รู้สึกไม่พอใจที่ต้องลงมาจากซุ้มประตูทุกครั้งที่มีพระเดินผ่านเข้ามาสู่บ้านท่านเศรษฐี จึงคิดจะยุให้เศรษฐีเลิกทำบุญ จะได้ไม่มีพระภิกษุมาบ้านเศรษฐีอีก ตนจะได้ไม่ต้องขึ้นๆ ลงๆ จากซุ้มประตู จะเห็นได้ว่าในหมู่เทวดาก็ยังมีผู้ที่เป็นมิจฉาทิฐิ ไม่เห็นคุณค่าของบุญ
เทวดาก็เหมือนคนที่เกิดมาในตระกูลสูง มีทั้งที่ดี ที่ดื้อหรือเกเร บุญเก่าในตัวที่เคยสร้างไว้ก็มี แต่ความเป็นมิจฉาทิฐิก็อาจยังมีอยู่ได้เช่นกัน
ในครั้งนั้นเทวดาได้เหาะลงมาบอกเศรษฐีให้เลิกทำบุญ เพราะยิ่งทำยิ่งจน หากได้ฟังอย่างนี้คนทั่วไปในปัจจุบันจะคิดอย่างไร ทุ่มเททำบุญใหญ่ สร้างวัดใหญ่ที่สุดในพระพุทธศาสนาครั้งพุทธกาลถวายแด่สงฆ์ อุปัฏฐากบำรุงทุกอย่าง ตั้งแต่ครั้งเป็นเศรษฐีใหญ่กระทั่งจนลง หากเป็นคนทั่วไปแม้ไม่มีใครมาทักท้วง ก็อาจเริ่มคิดสงสัยว่า บุญมีจริงหรือ ทำไมทำดีแล้วไม่ได้ดี บุญไม่เห็นช่วยเลย ยิ่งถ้าหากมีคนมาห้ามมารั้งด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานาบางทีอาจเลิกทำบุญไปเลย เพราะขาดความเชื่อมั่น ศรัทธาคลอนแคลน ครั้งนั้นผู้ที่มาห้ามท่านเศรษฐีมีใช่เป็นเพียงคนธรรมตา แต่เป็นถึงเทวดาเหาะลงมาห้ามเลยทีเดียว ในสถานการณ์เช่นนั้น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีจะคิดอย่างไร
ท่านเศรษฐีได้ถามกลับไปว่า "ท่านเป็นใคร"
เทวดาตอบว่า "ข้าพเจ้าเป็นเทวดาที่อาศัยอยู่บนซุ้มประตูบ้านของท่าน"อนาถบิณฑิกเศรษฐีจึงบอกว่า
"ถ้าอย่างนั้นท่านจงไปเสียจากที่นี้ ท่านเป็นมิจฉาทิฐิ มาห้ามคนไม่ให้ทำบุญอย่างนี้ ข้าพเจ้าไม่อนุญาตให้อยู่บ้านข้าพเจ้าอีกต่อไป"
เมื่อเจ้าของบ้านไม่อนุญาตเทวดาก็อยู่ไม่ได้ ต้องเหาะพาครอบครัวอพยพออกมา เทวดาได้รับความลำบากจึงไปขอคำปรึกษาเจ้าสวรรค์ทีละชั้นจนได้คำแนะนำจากพระอินทร์ว่า ต้องขอขมาเศรษฐี โดยไปตามลูกหนี้ทั้งหลายให้นำทรัพย์มาคืนแก่เศรษฐี ทรัพย์สินที่ถูกน้ำพัดพาไป ต้องหาทางนำกลับมาให้ได้ เป็นต้น
เมื่อเศรษฐีมีฐานะฟื้นคืนขึ้นมาแล้วเทวดาจึงได้มาขอขมาต่อเศรษฐี เมื่อเศรษฐีเห็นว่า เทวดาเป็นผู้มีสัมมาทิฐิแล้ว จึงให้อภัย เทวดาจึงได้กลับมาอยู่ที่ซุ้มประตูดังเดิม
นี่คือคนที่เห็นคุณค่าของบุญ และมีเป้าหมายชีวิตชัดเจน ไม่หวั่นไหวไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เขาพร้อมจะทุ่มเท แม้มีอุปสรรคก็ไม่ท้อยังเดินหน้าต่อไป ดังนั้นพวกเราจะทุ่มเททำบุญแค่ไหน ประการแรกจึงอยู่ที่ว่า เป้าหมายชีวิตของเรายิ่งใหญ่แค่ไหน ส่วนเงื่อนไขประการที่ 2คือ เราเห็นคุณค่าของบุญแค่ไหน เพราะผลแห่งบุญนั้น ให้ประโยชน์เราได้ 3 ชั้น คือ
Cr : dmc.tv
1.ประโยชน์ชาตินี้ คือ ประโยชน์ปัจจุบัน ซึ่งเป็นสิ่งที่คนทั่วไปมองเห็นกัน เช่น การมีฐานะการงานดี สุขภาพดี ครอบครัวดี มีลาภ ยศสรรเสริญ สุขต่าง ๆ เป็นต้น
2. ประโยชน์ชาติหน้า คือ บุญที่ส่งผลหลังจากละโลกไปแล้วให้ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
3. ประโยชน์อย่างยิ่ง คือ การหมดกิเลส เข้านิพพาน
คนส่วนใหญ่ จะมุ่งหวังประโยชน์ชั้นที่ 1 คือ ประโยชน์ชาตินี้แต่ไม่มั่นใจในประโยชน์ชาติหน้า และน้อยคนนักที่จะเชื่อในประโยชน์อย่างยิ่ง ในร้อยคนจะมีสักกี่คนที่ทำบุญแล้วปรารถนาไปนิพพาน ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์คอยตอกย้ำสั่งสอน น้อยคนที่จะมีเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจน
คนที่ยังเห็นคุณค่าของบุญแค่ผิวเผิน มองแค่ประโยชน์ชาตินี้ เวลาทำบุญก็จะทำแบบฉาบฉวย ทำอย่างระมัดระวัง ไม่ให้กระทบประโยชน์ชาตินี้เลย เพราะต้องแบ่งเงินไปเข้าร้านกาแฟ ร้านไอศกรีม ไปดูหนัง หรือต้องไปตากอากาศวันหยุด มีสิ่งที่ต้องจับจ่ายใช้สอยมากมาย จึงแบ่งเงินมาทำบุญเพียงน้อยนิด พอได้ชื่อว่าเป็นผู้เสียสละเพื่อส่วนรวมบ้างเหมือนกัน นั่นเพราะว่าเขายังไม่รู้จักประโยชน์ของบุญอีก 2 ระดับ เห็นเพียงประโยชน์ชาตินี้เท่านั้น
ถ้าเป็นคนที่เข้าใจประโยชน์ของบุญในระดับที่ 2 เห็นประโยชน์ชาติหน้าว่า บุญ จะเป็นเสบียงในการเดินทางไกลในวัฏสงสาร บุญจะเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้ประสบความสุข ความสำเร็จทั้งภพนี้และภพหน้าต่อ ๆ ไป ชีวิตที่ยังลำบากในปัจจุบันเป็นเพราะเราสร้างบุญไว้ยังไม่สมบูรณ์ ส่วนผู้ที่มีชีวิตสุขสบายก็เป็นเพราะได้สร้างบุญไว้อย่างดีผู้ที่เข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรม เรื่องอานุภาพแห่งบุญแล้ว ก็พร้อมจะทุ่มเททำบุญอย่างเต็มที่
เจริญพร
โฆษณา