18 พ.ค. 2020 เวลา 22:42 • ปรัชญา
“การเจริญปัญญา เจริญสมาธิ”
ธรรมะรุ่งอรุณ ☀️
๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๓
การปฏิบัติสมาธินี้จำเป็นที่จะต้องมีสติก่อน ถ้าอยู่ดีๆ ไปนั่งสมาธิเลยนี่ ไม่มีสติ นั่งไม่ได้ หรือถ้านั่งก็อาจจะไปรู้เห็นอะไรที่เป็นเรื่องเสียหายมากกว่าเรื่องที่เป็นประโยชน์ คนที่ไม่มีสตินั่งแล้ว เดี๋ยวจิตก็อาจจะผลิตอะไรต่างๆ ขึ้นมาหลอกเราได้ ผลิตรูปเสียงอะไรต่างๆ ขึ้นมาหลอกเราได้ แล้วเราก็หลง ความโง่ของเราก็จะหลอกเรา คิดว่าเป็นโน่นเป็นนี่กันขึ้นมา บางคนก็คิดว่าเป็นสวรรค์ เป็นพรหมเป็นอินทร์ เป็นอะไรขึ้นมา ระลึกชาติบ้าง อะไรบ้างขึ้นมาต่างๆ อันนี้เป็นผลที่เกิดจากการนั่งสมาธิโดยไม่มีสติ แล้วถ้าจิตมันผลิตอะไรที่น่าหวาดกลัวขึ้นมา ก็จะไม่กล้านั่งอีกต่อไป มีบางคนเคยมาเล่าให้ฟังว่า พอนั่งแล้วเห็นอะไรที่หวาดกลัวนี้ น่าหวาดกลัวแล้วไม่กล้านั่งอีกต่อไป เพราะนั่งแบบไม่มีสติ ถ้ามีสติแล้ว รับรองได้ว่าจะไม่มีอะไรปรากฏขึ้นมาในใจ สติเป็นตัวหยุดใจหยุดความคิด ใจเรานี้เหมือนกล้องฉายหนัง โรงหนังสมัยก่อนเขาใช้มีกล้องฉายหนัง ฉายไปบนจอ มีภาพยนตร์หนังต่างๆ หนังตลกหนังบู๊หนังรักหนังอะไร ใจเรานี่แหละเป็นเหมือนกล้องฉายหนัง กล้องที่จะฉายหนังบนจอ จอก็คือใจของเรา ในใจเรานี้มีมโนภาพ มีจอที่รับมโนภาพต่างๆ ถ้าเราไม่มีสติควบคุมตัวฉายหนังตัวนี้ มันจะฉายหนังเรื่องต่างๆ แล้วแต่มันจะฉายออกมา อาจจะเป็นเรื่องตลก เรื่องหวาน หรืออาจจะเป็นเรื่องเศร้า เรื่องหวาดเสียว เรื่องหวาดกลัวก็ได้ แต่ถ้าเรามีสติเราจะควบคุมตัวนี้ได้ เราจะไม่ให้มันฉายอะไรออกมา ถ้ามีสติเราจะหยุดการคิดปรุงแต่งของใจได้ การผลิตอะไรต่างๆ ขึ้นมาหลอกเราได้ แล้วใจก็จะได้เข้าสู่ผลที่เราต้องการ ก็คือความสงบ การนั่งสมาธินี้ไม่ต้องการรู้อะไร ไม่ต้องการเห็นอะไร ไม่ต้องการเจริญปัญญา ไม่ต้องการอะไรทั้งนั้น ต้องการความสงบ เพราะความสงบนี้เป็นกำลังของใจ ถ้าใจไม่มีความสงบ ใจจะไม่สามารถไปทำงานขั้นต่อไปได้ คือ ขั้นปัญญา
ขั้นปัญญานี้มีไว้เพื่อทำลายความอยากที่ดึงให้เรากลับมาเกิดมาแก่มาเจ็บมาตายนี่เอง แต่ก่อนที่จะไปขั้นปัญญาเพื่อที่จะหยุดความอยากต่างๆ ที่ทำให้เรามาเกิดแก่เจ็บตายกันได้นี่ เราต้องมีกำลังก่อน มีสมาธิก่อน เปรียบเหมือนกับร่างกายของเรา ที่เราจะออกไปทำงานนี้ เราต้องพักผ่อนหลับนอนก่อน ต้องรับประทานอาหาร ตอนเช้าขึ้นมาเตรียมตัวไปทำงาน เราต้องรับประทานอาหารก่อน พอได้พักผ่อนหลับนอนได้รับประทานอาหาร ทีนี้ ก็มีกำลังไปทำงานได้อย่างน้อยก็ ๔ ชั่วโมง พอไปถึงที่ทำงานก็ทำงานได้เลย ถึงเที่ยงแล้วเราค่อยหยุดพักกินอาหารต่อ กินอาหารเสร็จก็ทำงานต่อไปจนถึงเย็น ๕ โมง เย็นก็กลับบ้านรับประทานอาหาร อาบน้ำอาบท่า พักผ่อนหลับนอนอีก นี่คือสมาธิของร่างกาย สมาธิของใจก็แบบเดียวกัน เป็นที่พักผ่อนหลับนอนของใจ ใจจะมีกำลังที่จะไปทำงานทางปัญญาได้ จำเป็นจะต้องมีสมาธิก่อน ดังนั้น ในขั้นต้นเวลาเราฝึก เราต้องฝึกสมาธิก่อน เพื่อสร้างกำลังให้กับใจ ถ้าใจมีกำลังแล้ว ทีนี้ เราจึงไปขั้นที่ ๒ ได้ คือไปทำงาน ไปศึกษาปัญญาต่อ ไปสร้างปัญญาขึ้นมา เพื่อที่เราจะได้เอาปัญญามาทำลายความอยากต่างๆ ความอยากในกาม อยากในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ความอยากมีอยากเป็น ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น จะต้องใช้ปัญญาถึงจะทำลายมันได้ สมาธิเพียงแต่กดมันไว้เท่านั้น แต่ไม่สามารถทำลายมันได้ ถ้าเป็นต้นไม้ สมาธิก็เป็นเหมือนการตัดต้นไม้ แต่ต้นไม้ถ้ายังไม่ได้ถอนรากขึ้นมาจากดิน เดี๋ยวต้นไม้มันก็งอกขึ้นมาใหม่ได้ ผู้ที่จะถอนรากออกจากดินได้ ผู้ที่จะถอนรากของความอยากให้ออกจากใจได้ก็คือปัญญา แต่ปัญญาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีสมาธิเป็นผู้สนับสนุน เราจึงต้องมาฝึกสมาธิก่อน
ดังนั้น ขอให้เข้าใจการนั่งสมาธินี้เป็นการปฏิบัติเพื่อความนิ่งความสงบของใจเพียงอย่างเดียว ไม่เกี่ยวข้องกับการเจริญปัญญา ไม่เกี่ยวข้องกับการเห็นโน่นเห็นนี่ อะไรต่างๆ ต้องการให้มันว่าง ให้มันสงบ ให้มันเป็นอุเบกขา เพราะว่าเวลาใจเป็นอุเบกขานี้ ใจจะแข็ง จะมีกำลังมาก มีกำลังสู้กับกิเลสตัณหา เพราะเวลาเป็นอุเบกขานี้จะดับความรักชังกลัวหลงได้ ความรักชังกลัวหลงนี้เป็นตัวให้เกิดความอยากขึ้นมา พอรักอะไรก็อยากได้ พอชังอะไรก็อยากจะกำจัดมัน พอกลัวอะไรก็อยากจะหนี พอหลงอะไรก็อยากจะให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นมา ทั้งๆ ที่มันเป็นไม่ได้ ก็ยังอยากให้มันเป็นอยู่นั่น นี่คือความหลง ถ้าเรามีสมาธิ เวลาจิตสงบแล้ว จิตว่างนิ่งแล้ว ไม่คิดปรุงแต่งอะไรแล้ว ใจจะเฉยๆ จะไม่รักไม่ชังไม่กลัวไม่หลง ตอนนั้นความอยากจึงไม่ปรากฏขึ้นมาในใจ ถ้าสงบแล้วก็พยายามรักษาความสงบนี้ให้มันอยู่ไปนานๆ อย่าไปดึงออกมาพิจารณาทางปัญญา ตอนนี้ยังไม่พร้อม ต้องฝึกให้ชำนาญก่อน ต้องฝึกให้มั่นคงก่อนสามารถเข้าสมาธิได้ทุกครั้งที่เราต้องการ และอยู่ได้นานๆ จนเรามีความมั่นใจว่า ทุกครั้งที่เราต้องการความสงบ เราสามารถเข้าได้ทุกครั้งที่เราต้องการอุเบกขา เราสามารถเรียกหาได้ เพราะเราต้องใช้อุเบกขาเวลาที่เราออกมาจากเจริญปัญญา ถ้าเราไม่มีอุเบกขา บางทีเราเจริญไม่ได้ พอจะเจริญปัญญา มันก็ไปคิดถึงรูปเสียงกลิ่นรส ไปอยากได้รูปเสียงกลิ่นรสขึ้นมาทันที แต่ถ้ามันไม่มีความอยากในรูปเสียงกลิ่นรส ไม่มีความรักชังกลัวหลงกับรูปเสียงกลิ่นรส มันก็จะอยู่เรื่องของปัญญาได้ เรื่องของปัญญาก็คือการศึกษาความจริงของสิ่งต่างๆ ที่จิตใจของเราไปหลงคิดว่าเป็นความสุขนั่นเอง
สิ่งอะไรที่เราคิดว่าเป็นความสุขกัน ก็คือลาภยศสรรเสริญ ความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ที่พวกเราหากันแทบทุกวันนี้ หาอะไร ก็หาลาภ ก็คือเงินทองข้าวของต่างๆ ยศก็คือตำแหน่งต่างๆ การมีหน้ามีตา การมีอำนาจวาสนาเป็นใหญ่เป็นโต ก็เรียกว่ายศ สรรเสริญก็คือการหารางวัลต่างๆ แข่งขันกัน กีฬาก็มีแข่งเอาเหรียญทองกัน เอาเงินรางวัลกัน แล้วก็มีหน้ามีตามีเกียรติ มีคนชื่นชมยินดี มีแฟนตามเป็นร้อยเป็นพัน เราจึงชอบหาลาภยศสรรเสริญ แล้วก็หาความสุข เราไปเที่ยวกันนี้ก็ไปหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายกัน ไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ หรือไปเที่ยวดูภาพยนตร์ ไปฟังเพลง ไปดูคอนเสิร์ต ไปดูไปเที่ยวร้องรำทำเพลง อันนี้ก็เป็นการหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย หรือการไปร่วมหลับนอนกัน ก็เป็นการหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย อันนี้ คือเรื่องของกามที่เราต้องมากำจัดกัน จะกำจัดได้ก็ต้องใช้ปัญญาให้เห็นว่า เรื่องราวเหล่านี้มันเป็นความสุขเดี๋ยวเดียว เป็นความสุขแบบควันไฟ มันไม่จีรังถาวร ได้มาแล้วก็หมดไป พอหมดไป ความรู้สึกอ้างว้างเปล่าเปลี่ยวเดียวดาย จะต้องกลับไปหามันอยู่เรื่อยๆ ถ้าเคยเที่ยวก็ต้องไปเที่ยวอยู่เรื่อยๆ ถ้าเคยหาความสุขจากสิ่งใด ก็จะกลับไปหาสิ่งนั้นอยู่เรื่อยๆ เพราะสิ่งนั้นมันได้มาแล้วเดี๋ยวมันก็หมดไป พอหมดก็ต้องหาใหม่ แล้วต่อไป ถ้าเกิดร่างกายไม่สามารถที่จะหาได้ ก็จะมีปัญหา หรือถ้าไม่มีกำลังทรัพย์ที่จะหา ก็จะมีปัญหา ความสุขที่เคยได้ก็จะหายไป ก็จะมีความทุกข์ทรมานใจ ถ้าทุกข์ทรมานใจมากๆ ก็อาจจะคิดฆ่าตัวตายก็ได้ ถ้าอยู่แล้วไม่สามารถหาความสุขได้
นี่คือโทษของการหาความสุขจากลาภยศสรรเสริญ จากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เพราะว่ามันไม่เที่ยง มันเป็นอนิจจัง มันมีมาแล้วก็มีไป มีขึ้นแล้วก็มีลง มันไม่ขึ้นไปอย่างเดียว มันไม่มาอย่างเดียว วันดีคืนดีมันก็หายไปหมดเลยก็ได้ บางทีเราก็ควบคุมบังคับไม่ได้ เรียกว่า “อนัตตา” มันไม่เที่ยง แล้วมันก็เป็นอนัตตา เราไปสั่งให้มันเที่ยงไม่ได้ สั่งให้มันเป็นของเรา ให้ความสุขกับเราไปตลอดไม่ได้ ไม่ช้าก็เร็วความสุขต่างๆ ที่เราได้ผ่านทางตาหูจมูกลิ้นกาย ผ่านลาภยศสรรเสริญนี้ มันจะต้องมีวันหมดไป จะต้องมีการพลัดพรากจากกัน ไม่จากกันตอนเป็น ก็จากกันตอนตาย เวลาจากกันก็จะมีแต่ความเศร้าโศกเสียใจ นี่คือปัญญาที่เราจะต้องมาคิดกันอยู่เรื่อยๆ คิดจนไม่ให้ลืม ไม่ใช่คิดกันเพียงครั้งสองครั้ง คิดครั้งสองครั้ง เดี๋ยวไปคิดเรื่องเก่ามันก็ลืมไป เราต้องคิดตลอดเวลาจนทำให้เราไม่อยากที่จะกลับไปหาลาภยศสรรเสริญ ไม่อยากที่ไปหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย อันนั้นแหละ เราถึงจะสามารถหยุดความอยากที่ดึงให้เรากลับมาเกิดมาแก่มาเจ็บมาตายได้ ต้องเกิดจากการปฏิบัติปัญญาอย่างต่อเนื่อง แต่การปฏิบัติแบบปัญญาก็เหมือนกับการทำงานทางร่างกาย เมื่อทำไปถึงเวลาก็ต้องมีการพัก เพราะมันก็เหนื่อย ต้องพักรับประทานอาหาร ทำงาน ๔ ชั่วโมงก็ขอพักชั่วโมง กินข้าวก่อน แล้วก็ต่อมาก็ทำอีก ๔ ชั่วโมง กลับบ้านมากินข้าวอาบน้ำอาบท่า การเจริญปัญญาก็เหมือนกัน เจริญไปสักพักหนึ่งแล้ว ก็ต้องหยุดเพราะมันหมดแรง หมดกำลัง ก็ต้องเข้าไปเติมกำลังในสมาธิ นี่ทำไมเราจึงต้องให้มีความชำนาญทางสมาธิก่อน เพราะเวลาที่เราต้องการพักจิตเราจะได้เข้าไปได้ทันที พักได้ทันที พอเหนื่อยจากการพิจารณาทางปัญญา เราก็หยุดพิจารณา กลับเข้าไปนั่งสมาธิ พุทโธ พุทโธ หรือดูลมหายใจ เดี๋ยวใจก็สงบ สงบไปจนกระทั่งมันอิ่มมันพอมันก็จะถอนออกมา แล้วมันก็พร้อมที่จะไปพิจารณาทางปัญญาต่อ ต้องพิจารณาจนมันจำได้ จนมันไม่ลืม ถ้ายังจำไม่ได้ ยังหลงลืมอยู่ เราเรียกว่า “สัญญา” ไม่ใช่ “ปัญญา” ปัญญานี้จะไม่ลืม เห็นอะไรเป็นไตรลักษณ์หมด เห็นอะไรเป็นอสุภะหมด ถึงจะเรียกว่าเป็นปัญญาตลอดเวลา ถึงเป็นปัญญา เพราะกิเลสมันเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ถ้ากิเลสมันมาเกิดตอนที่เราจำไม่ได้ เราก็ถูกกิเลสหลอก ถ้าถึงเวลากิเลสอยากจะไปเที่ยว เราลืมว่ามันเป็นทุกข์ เราก็ไปเที่ยวกับมัน แล้วก็มาทุกข์ทีหลังว่า เวลากลับมาบ้านแล้วเงินหมด ไม่มีเงินเที่ยว มันก็รู้ว่าตอนนี้ทุกข์แล้ว แต่ถ้าเรารู้ก่อนล่วงหน้า เวลากิเลสมาชวนเราไปเที่ยว เราบอกว่า “ไม่ไป มันเป็นทุกข์ มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” อย่างนี้เรียกว่า “ปัญญา” ปัญญาต้องพร้อมเสมอ ต้องมีอยู่กับตัวตลอดเวลาถึงจะเรียกว่าปัญญา ถ้าเป็นความรู้แบบเผลอๆ บางทีก็ลืม บางทีก็ไม่ลืม เรียกว่า “สัญญา” ยังไม่เป็นปัญญา ถ้าสัญญา พอถึงเวลาจะใช้มัน ลืมไปเสียแล้ว พอถึงเวลาจะเอามาสู้กับกิเลส หายไปที่ไหนไม่รู้อันนี้เรียกว่าสัญญา ความรู้ที่เราเจริญต้องไม่ให้มันหาย ต้องให้มันอยู่กับใจเราไปตลอด เราต้องการใช้มันเมื่อไหร่ก็ใช้มันได้ทันที ถึงจะเรียกว่าปัญญา จะเป็นปัญญาได้ก็ต้องเจริญอยู่เรื่อยๆ พิจารณาอยู่เรื่อยๆ เวลาที่ไม่ได้อยู่ในสมาธิ จะหยุดพิจารณาก็ต่อเมื่อที่ไปพักในสมาธิเท่านั้น หรือเวลานอนหลับ นอกนั้นแล้วเวลาตื่นขึ้นมานี้ อยู่ในขั้นปัญญานี้ จะพิจารณาตลอดเวลา ยกเว้นเวลาที่หลับ หรือยกเว้นเวลาที่เข้าไปในสมาธิเท่านั้น นี่คือการเจริญปัญญา เจริญสมาธิ
ธรรมะบนเขา
วันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๑
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
ณ จุลศาลา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน
โฆษณา