20 พ.ค. 2020 เวลา 15:09 • สุขภาพ
วัคซีนที่ทรัมป์ประกาศ : ความจริงที่ควรทราบ
มาเริ่มต้นกันที่นักการเมืองชื่อ Trump ได้ออกมาประกาศว่าสหรัฐจะผลิตวัคซีนสำเร็จและฉีดให้คนนับล้านได้ปลายปีนี้ พร้อมๆกับมีนักธุรกิจบางคนที่ถือหุ้นใหญ่ในบางบริษัทที่ผลิตวัคซีนออกมาประสานเสียงในเวลาไล่เลี่ยกันจนราคาหุ้นพุ่งกระฉูด
สังเกตได้ว่าไม่มีหมอหรือนักวิชาการในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงกล้าออกมาประกาศเลย ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น
ก็เพราะว่าการผลิตวัคซีนออกมาใช้กับคนนับล้านนั้น จะต้องทดลองและทดสอบจนแน่ใจ ถ้าพลาดพลั้งไปคนนับล้านอาจเสียชีวิตหรือพิการจากการฉีดวัคซีน ซึ่งร้ายแรงมากกว่าการเสียชีวิตจากไวรัสก็เป็นได้
มาตรฐานการผลิตวัคซีนจึงต้องเข้มข้นมาก เพราะเราฉีดวัคซีนให้คนปกติที่แข็งแรงดีไม่ได้ป่วย เราจึงไม่ควรทำให้เขาพิการหรือเสียชีวิต แตกต่างกับการทดลองให้ยาในผู้ป่วยหนัก ที่ถ้าไม่ได้ยาก็จะเสียชีวิต เราจึงกล้าที่จะลองให้ยาบางชนิดเข้าไปทดลองดู
ก่อนจะไปติดตามรายละเอียดของการที่บริษัท Moderna ประกาศความสำเร็จเบื้องต้น เราจะเชื่อได้มากน้อยแค่ไหนนั้น ต้องมีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานเรื่องการวิจัยเพื่อผลิตวัคซีนดังนี้
การวิจัยเพื่อผลิตวัคซีน ต้องผ่าน 3 ขั้นตอนหลัก ซึ่งประกอบด้วย 6 ขั้นตอนย่อย ที่จะใช้เวลาขั้นต่ำ 2-5 ปี หลายวัคซีนก็ใช้เวลานานกว่านั้น เช่น วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV) จากไวรัสใช้เวลา 15 ปี เป็นต้น บางชนิด 40 ปีที่มีการระบาดก็ยังคิดวัคซีนไม่สำเร็จ เช่น โรคเอดส์ เป็นต้น
ขั้นตอนการผลิตวัคซีน
ขั้นที่ 1 ดำเนินการในหลอดทดลอง
ขั้นที่ 2 ดำเนินการในสัตว์ทดลอง
2.1) ทดลองในสัตว์ขนาดเล็ก เช่น หนู
2.2) ทดลองในสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น สุนัข ลิง
ขั้นที่ 3 ดำเนินการทดลองในมนุษย์
3.1) ทดสอบความปลอดภัยเป็นหลัก (Safety) และดูระดับภูมิคุ้มกันประกอบ ต้องใช้อาสาสมัคร 50-100 คน
3.2) ทดสอบความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Immunogenicity) ว่าภูมิคุ้มกันชนิดใดดีขึ้นบ้าง (มีหลายชนิด ก็เลยยุ่ง จะรู้ได้ยังไงว่าตัวไหนป้องกันโรคกันแน่ จึงยุ่งยากเสียเวลามาก) และภูมิคุ้มกันนั้นต้องสูงระดับแค่ไหนถึงจะป้องกันโรคได้จริง (เดาๆเอาว่าถ้าสูงแค่นี้แล้วป้องกันได้ไม่ได้นะครับ) ใช้อาสาสมัคร 200-400 คน
3.3 ทดสอบประสิทธิผล คือ ความสามารถในการป้องกันโรคได้จริง จากความเชื่อในขั้นที่ 2 (3.2) ซึ่งหลายครั้งวัคซีนที่ทดลองได้ผลมาค่อนข้างดี หลอกให้เรามีความหวังว่าจะสำเร็จก็มาตกม้าตายในขั้นนี้ ต้องยุติโครงการไปมากมาย เสียทั้งเงินเสียทั้งเวลา วัคซีนจึงมีราคาแพง เพราะต้องบวกเงินที่วิจัยล้มเหลวเข้าไปด้วย ซึ่งวัคซีนที่วิจัยล้มเหลวมีจำนวนมากกว่าที่สำเร็จหลายเท่าตัว ในขั้นตอนนี้ต้องการอาสาสมัครอย่างน้อย 2,000-10,000 คน
คงเห็นความยุ่งยาก และความยาวนานของการทดลองวัคซีนกันแล้วนะครับ เรามาลองดูว่าวัคซีนโควิด19 จะเร่งเวลาในขั้นตอนใดได้บ้าง เพราะมีความจำเป็นเร่งด่วน
เราผ่านขั้นตอนที่ 1 ในหลอดทดลองไปได้ครับ เพราะจีนซึ่งเป็นผู้ถอดรหัสพันธุกรรม (RNA) ของไวรัสได้ ได้ประกาศลำดับรหัสพันธุกรรมของไวรัสทั้งหมดเมื่อเดือนมกราคม 2563 ทำให้ทุกประเทศทั่วโลกไม่ต้องเสียเวลาศึกษาเพื่อถอดรหัสพันธุกรรมที่จะนำมาเป็นตัวตั้งต้นในการผลิตวัคซีนครับ
ในขั้นตอนที่ 2 ปกติเราจะเน้นในสัตว์ทดลอง เอาให้แน่ใจจริงๆเรื่องความปลอดภัย เพราะเราไม่อยากให้มนุษย์แม้แต่คนเดียวต้องเป็นอันตรายไปจากการทดลอง แต่เรายอมให้สัตว์ทดลองมีความเสี่ยงได้ (ซึ่งมีนักสิทธิมนุษยชนหลายคนออกมาต่อต้านการทดลองในสัตว์ด้วยเช่นกัน) ในขั้นตอนนี้สำหรับวัคซีนโควิด19 เกือบทุกประเทศลัดขั้นตอนกันมาก จากสัตว์ 2 ประเภท เหลือประเภทเดียว จากจำนวนสัตว์ที่ใช้มากและสังเกตอาการนาน ก็ใช้จำนวนน้อยลง สังเกตอาการสั้นลง ทำให้เรานำไปทดลองในมนุษย์ได้เร็วขึ้น (แต่อาสาสมัครก็จะเสี่ยงมากขึ้นด้วย)
ในขั้นตอนที่ 3 ทดลองในมนุษย์ ในขั้นตอนนี้เราจะลัดขั้นตอนหรือเร่งเวลามากนักไม่ได้ เพราะไม่เพียงเกิดผลเสียต่อตัวอาสาสมัครเท่านั้น แต่จะไปทำให้มนุษยชาติพิการหรือเสียชีวิตอีกจำนวนนับไม่ถ้วน ถ้าเกิดพลาดพลั้งปล่อยวัคซีนที่ไม่ได้วิจัยให้รอบคอบรัดกุมออกไป หรือปล่อยวัคซีนออกไปแล้วเกิดป้องกันโรคไม่ได้จริง แต่คนที่รับวัคซีนแล้วมั่นใจเลยออกไปติดเชื้อกันเป็นล้านๆคน แล้วจะทำยังไงดี ใครจะรับผิดชอบ และจะรับผิดชอบไหวมั้ย
คงจะมีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานเพียงพอในระดับที่จะมาติดตามข่าวการประกาศความสำเร็จของบริษัทที่ผลิตวัคซีนกันได้แล้วนะครับ
ขณะนี้ทั่วโลกหลายสิบประเทศมีความร่วมมือกันข้ามประเทศบ้าง ร่วมมือระหว่างรัฐ(มหาวิทยาลัย,กระทรวง) กับเอกชน(บริษัทยา)บ้าง นับได้ประมาณ 100 กว่าวัคซีน(โครงการ) โดยเกือบทั้งหมดอยู่ในขั้นตอนที่ 2 (สัตว์ทดลอง) มีประมาณ 10 โครงการที่อยู่ในขั้นตอนที่ 3 (อาสาสมัคร)ได้แก่ 5 ประเทศหลัก คือ จีน สหรัฐ อังกฤษ เยอรมัน และแคนาดา
ใน 10 กว่าโครงการนั้นอยู่ในขั้นตอนย่อยที่ 1 (3.1) ทั้งสิ้น ยังไม่มีโครงการไหนขยับไปสู่ขั้นตอนย่อยที่ 2(3.2) เลย ซึ่งในขั้นตอนย่อยที่ 2 ต้องใช้เวลาอีก 3-9 เดือน และขั้นตอนย่อยที่ 3(3.3) อีก 6-12 เดือน แปลว่าวัคซีนที่ผ่านขั้นตอน 3.1 แล้ว โชคดีผ่านอีก 2 ขั้นตอนสำเร็จจะใช้เวลาสั้นสุดเท่ากับ 3+6 เดือน คือ 9 เดือน จึงลำบากมากที่จะมีวัคซีนฉีดให้ประชาชนทั่วโลกได้ในปีนี้(เพราะเหลืออีกเพียง 7 เดือนก็จะสิ้นปี) อย่างเร็วที่สุดถ้าทุกอย่างโชคดีสุดๆทุกขั้นตอน ก็ต้องเป็นต้นปีหน้า ถ้ามีการสะดุดในบางขั้นตอนก็จะมีวัคซีนกลางปีหรือปลายปี 2564 ถ้าโชคไม่ดี(ซึ่งเป็นปกติของการทดลองวัคซีน)ก็จะมีวัคซีนเลยปี 2564 ออกไปอีก
ระยะเวลาที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นเรื่องวิชาการ เป็นวิทยาศาสตร์ มีความชัดเจนอยู่ในตนเอง ยิ่งถ้านำเรื่องคุณธรรมจริยธรรมของนักวิจัยที่ต้องรับผิดชอบชีวิตมนุษย์ที่อาจได้รับอันตรายจากวัคซีน ยิ่งทำให้เราเร่งเวลาในการผลิตวัคซีนให้เร็วขึ้นได้ลำบากมาก เพราะอัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อโควิด19 อยู่ที่ 6-7% เราจึงไม่ควรเร่งวัคซีนแล้วนำมาใช้กับมนุษย์แล้วมีผู้ได้รับอันตรายเสียชีวิตมากกว่าการเสียชีวิตจากโรคภัยไข้เจ็บครับ
คงพอสรุปได้นะครับว่าวัคซีนที่จะฉีดให้คนนับล้านในปลายปีนี้จะเป็นจริงได้หรือไม่
ภาพประกอบจาก
โฆษณา