21 พ.ค. 2020 เวลา 06:31 • กีฬา
ติดตามซีรีส์ จอร์จ เบสต์ EP.2 เมื่อเบสต์ถูกแมนฯยูไนเต็ดส่งไปทำงานเป็นเสมียน คอยชงชาให้คนอื่น จนเขาทนไม่ไหว ต้องยื่นคำขาดครั้งสำคัญ
ในภาษาอังกฤษ จะมีสำนวนว่า Give an ultimatum
แปลเป็นไทยว่า "ยื่นคำขาด"
มันเป็นการเดิมพัน เรียกง่ายๆคือเกมวัดใจ คุณยื่นคำขาดไปให้อีกฝ่ายว่า ถ้าไม่ยอมทำตามสิ่งที่ฉันต้องการ ก็พร้อมแตกหักกันไปข้าง
เหมือนถ้าเราไม่ชอบนิสัยของแฟนสักอย่าง ก็ประกาศไปเลยว่า "ถ้าเธอไม่ยอมแก้ไข ฉันเลิก!"
หรือ ไปยื่นใบลาออก เพื่อวัดใจว่า เขาจะเพิ่มเงินเดือนให้เราเพื่อรั้งเราไว้ไหม
แน่นอน เมื่อเรายื่นคำขาดไปแล้ว ผลลัพธ์ที่รอเราอยู่มันก็มี 2 ข้อ
1) อีกฝ่ายยอมคุณแต่โดยดี คุณได้สิ่งที่ตัวเองต้องการ
หรือ 2) อีกฝ่ายไม่ยอมคำขอของคุณ และจัดการโละคุณทิ้งไปจากชีวิต
ดังนั้นมันก็มีความเสี่ยง เพราะไม่ใช่ว่า เรายื่นคำขาดไปแล้วอีกฝ่ายจะยอมทำตามจริงไหม?
ประเด็นสำคัญคือ เราจะรู้ได้อย่างไร ว่าการ Give an Ultimatum ของเราจะได้ผล
เราควรหยิบไม้ตาย "ยื่นคำขาด" ไว้ใช้ในสถานการณ์ไหน?
--------------------------------------------
นี่คือ จอร์จ เบสต์ เดอะ ซีรีส์ Part 2 นะครับ
ความเดิม Part 1 ของซีรีส์นี้
อ่านได้จากลิงค์นี้ > bit.ly/2SeccNN
(แนะนำควรอ่านก่อน เพื่อแบ็กกราวน์ที่ชัดเจนของเรื่องนี้นะครับ)
--------------------------------------------
หลังจากที่จอร์จ เบสต์ ดาวรุ่งอัจฉริยะชาวไอร์แลนด์เหนือ วัย 15 ปี เดินทางมาที่แมนเชสเตอร์ ได้เพียงแค่ 1 วัน เพื่อทำการพิสูจน์ฝีเท้า ว่าเขาดีพอจะเป็นนักเตะเยาวชนของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดหรือไม่
ยังไม่ทันได้ซ้อมสักนาที เขาก็หนีกลับบ้านทันที เพราะรู้สึกว่า ตัวเองไม่พร้อมที่จะมาอยู่ต่างแดน
แต่สุดท้าย หลังจากกลับไปไอร์แลนด์เหนือแล้ว เบสต์ ก็คิดได้ ว่าการกระทำของเขามันไม่เหมาะสมจริงๆ เขายังไม่ทันได้สู้อะไรเลย ก็หนีปัญหาเสียแล้ว
ดังนั้นเบสต์จึงส่งจดหมายไปขอโทษ โจ อาร์มสตรอง หัวหน้าแมวมองของแมนฯยูไนเต็ด
ในจดหมายเขียนอธิบายเหตุผลที่หนีกลับมาก่อน และอธิบายว่าคราวนี้ เขาพร้อมจะกลับไปพิสูจน์ตัวเอง ด้วยความมุ่งมั่นจริงๆ
เพราะจดหมายฉบับนี้ ทำให้แมนฯยูไนเต็ด ให้โอกาสจอร์จ เบสต์อีกครั้ง และส่งตั๋วเครื่องบินมาให้ จากเบลฟาสต์ สู่แมนเชสเตอร์
เมื่อเบสต์ได้โอกาสแก้ตัว คราวนี้ เขาตั้งใจจะคว้าเอาไว้ให้แน่น ไม่ปล่อยมันไปอีก ต่อให้จะเป็นโฮมซิก หรือจะมีปัญหาร้ายแรงแค่ไหน เขาก็จะสู้ต่อจนหยดสุดท้าย
--------------------------------------------
เมื่อเบสต์ บินไปถึงแมนเชสเตอร์ เขาได้รู้จักเด็กต่างชาติ 3 คน ที่สนามบิน ประกอบไปด้วย จอห์น ฟิตซ์พาทริค, ปีเตอร์ แม็คไบรด์ และ จิมมี่ ไรอัน สามดาวรุ่งชาวสกอตแลนด์ ที่มาคัดตัวทีมเยาวชนของแมนฯยูไนเต็ดเหมือนกัน
"เรา 4 คน เหมือนเด็กบ้านนอกเข้ากรุง" เบสต์เล่า "เด็กไอริช เด็กสกอตติช ที่มาเจอกันในต่างแดน ต่างคนก็เก็บอาการ ทำเป็นนิ่ง กลัวเสียฟอร์ม ทั้งๆที่ในใจมีแต่ความว้าวุ่น คิดถึงบ้าน สารพัด"
"เพราะทุกคนเพิ่งห่างจากบ้านเป็นครั้งแรก แต่อย่างน้อย มันก็ทำให้ผมรู้สึกว่า ตัวเองไม่ได้โดดเดี่ยวอีกต่อไป"
แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในยุคนั้นไม่มีหอพักของนักเตะเยาวชน แต่จะส่งแข้งดาวรุ่งต่างชาติ ไปอาศัยแบบโฮมสเตย์กับชาวบ้านในท้องถื่น
1
ทีมปีศาจแดง ส่งจอร์จ เบสต์ ไปอาศัยอยู่กับ มิสซิสฟูลลาเวย์ หญิงม่ายสูงวัย ที่ทำหน้าที่ดูแลเยาวชนมาแล้วหลายรุ่น ซึ่งมิสซิสฟูลลาเวย์ เธอเป็นคนใจดี ทำอาหารให้เบสต์ทานทุกวัน ดูแลเหมือนลูกชายแท้ๆ
มันทำให้เบสต์ รู้สึกสบายใจมากขึ้น เหมือนเขามีคนในครอบครัวคอยดูแลอยู่
เท่ากับว่าตอนนี้ เบสต์มีทั้งเพื่อนใหม่ และมีมิสซิสฟูลลาเวย์ ที่คอยให้คำปรึกษาเรื่องต่างๆ เขาจึงสามารถโฟกัสไปที่การคัดตัวเข้าทีมเยาวชนได้อย่างเต็มที่
การซ้อมในวันแรก ทำเอาแมตต์ บัสบี้ ผู้จัดการทีมยูไนเต็ด ตกตะลึง ไอ้เด็กไอริชคนนี้มันเก่งจริงๆ
เบสต์ตัวเล็ก บอบบาง แต่เขามีความเร็วอันน่าเหลือเชื่อ ถ้าวัดกันที่เรื่องสปีด น่าจะเร็วที่สุดเป็นอันดับ 2 ของทั้งสโมสร เป็นรองแค่บ๊อบบี้ ชาร์ลตันคนเดียวเท่านั้น
ขณะที่เทคนิคการเลี้ยงบอล ก็ไม่เป็นรองใคร เจ้าเด็กคนนี้เก่งกว่าทีมชุดใหญ่หลายๆคนอีก
เบสต์ได้รับการยอมรับอย่างรวดเร็ว และผ่านไป 2 สัปดาห์ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็ยินดีรับเขา เข้ามาสู่ทีมเยาวชน เบสต์ได้รับค่าจ้างสัปดาห์ละ 4 ปอนด์
เส้นทางเหมือนจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ
แต่ ไม่ ... มันไม่ได้เป็นแบบนั้น ยังมีความยากลำบาก รอเบสต์อยู่
--------------------------------------------
ในสหราชอาณาจักร ประกอบไปด้วย 4 ประเทศรวมกัน คือ อังกฤษ,สกอตแลนด์, ไอร์แลนด์เหนือ และ เวลส์
ดูเผินๆเหมือนเป็นประเทศเดียวกันก็จริง ก็เรียกรวมว่า UK เหมือนกันหมดนี่นา
แต่ในเชิงของฟุตบอลแล้ว โดยเฉพาะในปี 1961 ความรู้สึกมันไม่ได้รวมเป็นหนึ่งแบบนั้น มีการแบ่งแยกที่ชัดเจน จะเรียกเด็กอังกฤษว่า "เด็กท้องถิ่น" ส่วนเด็กอีก 3 ประเทศที่เหลือ ถูกมองว่าเป็น "เด็กต่างชาติ" แม้พวกเขาจะพูดภาษาอังกฤษได้ก็เถอะ
ปัญหาของวงการฟุตบอลยุคนั้น คือ สมาคมฟุตบอลของสกอตแลนด์ ,เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ แสดงความไม่พอใจ ที่สโมสรในอังกฤษ ชอบมาดึงตัวนักเตะดาวรุ่งในประเทศ เข้าสังกัดทีมเยาวชน เพราะถ้าทำแบบนั้น แปลว่า ลีกของแต่ละประเทศ จะไม่มีวันเติบโตได้เลย
เพราะเด็กเก่งๆ ก็โดนทีมอังกฤษดูดหมด แบบนั้นลีก ของอีก 3 ประเทศ ในเจเนเรชั่นต่อไป ก็จะมีแต่นักเตะดาดๆ ไม่มีคุณภาพ
ทางสมาคมฟุตบอลไอร์แลนด์เหนือ จึงออกกฎเหล็กมา 1 ข้อระบุว่า "ห้ามสโมสรอังกฤษเซ็นสัญญากับนักเตะไอร์แลนด์เหนือที่อายุต่ำกว่า 17 ปี"
มันหมายความว่า ทีมอังกฤษ คุณเอานักเตะไอร์แลนด์เหนือ ที่อายุต่ำกว่า 17 ปี มาซ้อมได้นะ แต่ถ้าคุณจ่ายเงินแค่ 1 ปอนด์เมื่อไหร่ ก็ถือเป็นการจ้างงานทันที และจะผิดกฎหมาย ซึ่งจะโดนฟ้องร้องหนักแน่นอน
ปัญหานี้มีความซับซ้อน เพราะเบสต์ตกลงเป็นนักเตะเยาวชนของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดไปแล้ว และสโมสรต้องหาทางจ่ายเงินค่าจ้างให้กับเบสต์ให้ได้สัปดาห์ละ 4 ปอนด์ ตามที่ตกลงกัน แต่เงินต้องไม่ได้ออกมาจากสโมสรโดยตรงเพราะผิดกฎหมาย
ดังนั้น สิ่งที่แมนฯยูไนเต็ด ทำมาตลอด เวลาเจอปัญหานี้คือ จะยัดเอานักเตะดาวรุ่งต่างชาติ ไปเป็นพนักงานของบริษัทในเมือง และให้บริษัทเป็นคนจ่ายเงินไปถึงมือของเด็กแทน
แต่ปัญหาก็คือ ที่อังกฤษในยุคนั้น เวลาบริษัทต่างๆ จ้างงานใครสักคนแล้ว เขาก็ต้องการใช้งาน คนที่จ้างแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย นั่นเลยกลายเป็นว่า จอร์จ เบสต์ จากที่ต้องเป็นนักเตะเยาวชนแล้วฝึกฟุตบอลอย่างเดียว เขาต้องทำอาชีพอื่นไปพร้อมๆกันด้วย
งานแรกของเบสต์ ที่แมนฯยูไนเต็ดส่งไปทำ คือไปเป็นเสมียน อยู่ที่บริษัทแมนเชสเตอร์ ชิพ คาแนล คอมปานี เขาทำหน้าที่ชงชา ให้กับพนักงานรุ่นพี่ ในบริษัท
"ผมมาอังกฤษเพื่อต้องการเล่นฟุตบอล ไม่ใช่เพื่อมาชงชาให้ใคร" เบสต์โมโห "ผมไม่แฮปปี้กับเรื่องนี้เลย"
เบสต์ ในช่วงที่ทำงานเสมียน เขามีเวลาซ้อมฟุตบอลแค่ 2 วันเท่านั้น คือ ค่ำวันอังคาร และค่ำวันพฤหัสบดี ที่บริษัทเลิกงานเร็ว
การไม่ได้ลงสนามต่อเนื่อง ทำให้เขารู้สึกว่าฝีเท้าดร็อปลงไปอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่เด็กเยาวชนอังกฤษ ได้ซ้อมเต็มที่ 5 วัน จันทร์ ถึงศุกร์ แต่เขากลับต้องทำงานประจำไปด้วย และได้ฝึกฟุตบอลแค่ 2 วันเท่านั้น
ไม่แปลกใจเลย ที่มีนักเตะดาวรุ่งต่างชาติน้อยคนมาก จะแจ้งเกิดได้ในฟุตบอลอังกฤษยุคอดีต เพราะมันมีเงื่อนไขที่ยากลำบากแบบนี้ คอยกดดันอยู่
1
เมื่อทนไม่ไหว เบสต์ ไปร้องเรียนกับสโมสร ปรากฏว่าแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ส่งเบสต์ไปทำงานอีกบริษัทหนึ่งแทน คือฮาร์แลนด์ แอนด์ วูล์ฟ ชิพยาร์ด
แต่ก็ลงเอยด้วยหน้าที่เดิม คือ "ชงชา"
เบสต์อดทนทำงานที่ใหม่ สักระยะ ด้วยความคาดหวังว่า จะมีเวลามากขึ้น แต่ก็ไม่เลย ทุกอย่างยังเหมือนเดิม เขาต้องทำงานหนัก ที่บริษัท และต้องหาเวลามาซ้อมฟุตบอลหลังเลิกงาน
ดังนั้น เบสต์จึงรวบรวมความกล้าไปบอกสโมสรเป็นครั้งที่ 2 "ผมทนไม่ไหวแล้ว ผมทำงานแบบนี้ไม่ได้หรอก"
แมนฯยูไนเต็ด จึงจัดการส่งเบสต์ไปทำงานที่ใหม่แทน และเขาไม่ต้องชงชาให้ใครอีกแล้ว
งานใหม่เป็นบริษัทก่อสร้าง เบสต์ต้องทำงานเป็นช่างไม้ ...
คราวนี้ งานหนักยิ่งกว่าเดิม
เขาต้องเข้างานตั้งแต่ 8 โมงเช้า เลิกดึก และใช้แรงงานหนัก
สำหรับจอร์จ เบสต์ ที่มาอังกฤษเพื่อเป็นนักฟุตบอล แต่ต้องไปเลื่อยไม้ ซ่อมแซมบ้านเรือนผู้คน เป็นสิ่งที่เขาไม่ได้คิดจะทำมาก่อนเลย
ในอดีต เด็กต่างชาติทุกคนก็กัดฟันยอมทำงานหนักไป เพราะถ้าแสดงท่าทีไม่พอใจอะไร เผลอๆคุณจะโดนสโมสรโละทิ้งได้ง่ายๆ
อย่าลืมว่า มีเด็กๆดาวรุ่งอีกมากมายหลายหมื่นคนทั่วประเทศ พร้อมจะเสียบแทน ในทีมเยาวชนอยู่แล้ว
ถ้าหากเขาไปเรียกร้อง แสดงความเรื่องมาก สโมสรอาจไม่พอใจได้ ดังนั้นดาวรุ่งไอริช ดาวรุ่งสกอตต์ จึงอดทนเอาไว้ ยอมทำงานหนัก และหาเวลาไปซ้อมฟุตบอลเอาเอง
สุดท้าย เบสต์ ทนไม่ไหวแล้ว เขาพร้อมจะแตกหักกับสโมสร เขาอยู่แบบนี้ไม่ได้
เขาไม่มีทางพัฒนาได้เลย ถ้าต้องมานั่งเลื่อยไม้แบบนี้ เขาต้องการเล่นฟุตบอลเท่านั้น
เบสต์ เดินเข้าไปหาโจ อาร์มสตรอง และประกาศยื่นคำขาดทันที "ผมไม่ได้มาแมนเชสเตอร์ เพื่อเป็นคนแบกไม้ ผมมาเพื่อเล่นฟุตบอล และฝึกฝนกับพวกคุณ"
"ถ้าหากผมต้องทำงานหนักแบบนี้ ผมก็อยู่ต่อไปไม่ได้"
เบสต์เป็นคนแรก ที่กล้ายื่นคำขาดแบบนี้กับสโมสร ที่ผ่านมาไม่มีใครกล้า โดยเฉพาะเด็กดาวรุ่ง ที่มีโอกาสมาอยู่แมนฯยูไนเต็ดแล้ว ทุกคนก็จะทำตามสิ่งที่สโมสรวางระบบเอาไว้หมด
แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ขอเวลา 1 วันในการจัดการปัญหา
ทีมงานสตาฟฟ์โค้ชทุกคน ประชุมกัน แล้วได้ข้อสรุปว่า เบสต์ เป็นอัจฉริยะลูกหนัง และเก่งเกินกว่าที่สโมสรจะปล่อยทิ้งไป
ดังนั้น แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จึงตัดสินใจเลี่ยงกฎหมายเป็นครั้งแรก
ใกล้ๆกับสนามซ้อมของแมนฯยูไนเต็ด ที่ชื่อ เดอะ คลิฟฟ์ จะมีร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าแห่งหนึ่ง
ที่นั่น เจ้าของคือแฟนพันธุ์แท้ของทีมปีศาจแดง ดังนั้นสโมสรจึงไปเจรจา ขอให้ทางร้านจ้าง จอร์จ เบสต์เอาไว้ ใส่ลิสต์รายชื่อรวมไว้กับคนงานของร้าน และเจ้าของร้านตอบตกลง
1
ดังนั้น พอร้านเปิด 9 โมงเช้า เบสต์ก็ไม่ต้องทำอะไรมาก นอกจากเดินไปตอกบัตรเข้างาน แล้วก็สามารถเดินข้ามมาซ้อมฟุตบอล ที่เดอะ คลิฟฟ์ได้ทันที
1
พอสิ้นสัปดาห์เขาก็จะได้รับเงิน 4 ปอนด์ จากทางร้าน เมื่อเงินรายได้ ไม่ได้มาจากสโมสรโดยตรงแบบนี้ ก็ไม่มีปัญหาอะไร
นี่เป็นวิธีที่ เบสต์ จะมีงานทำ มีรายได้อย่างถูกกฎหมาย และได้ซ้อมฟุตบอลแบบฟูลไทม์ไปพร้อมๆกัน
"ผมรู้เลยว่า สโมสรเองก็แคร์ผม เพราะเป็นครั้งแรกที่ทีมใหญ่อย่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ยอมเลี่ยงกฎหมาย เพื่อนักเตะเยาวชนแค่คนเดียว"
เบสต์ ทำงานที่ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าอีก 2 ปี เขาก็อายุครบ 17 ปี
คราวนี้ เขาสามารถเซ็นสัญญาอาชีพกับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดได้อย่างถูกกฎหมายแล้ว และได้รับค่าจ้างเพิ่มเป็น 17 ปอนด์ต่อสัปดาห์ โดยสโมสรเป็นผู้จ่ายเงินให้เขาโดยตรง
1
และยอดนักเตะแห่งยุค อย่างจอร์จ เบสต์ ก็ไม่ต้องเป็นพนักงานขายกำมะลออีกต่อไป
1
เคสของเบสต์ เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่นักเตะเยาวชนสักคนมายื่นคำขาดใส่แบบนี้
แต่สุดท้ายสโมสรก็ยอมพลิกแพลง ยอมเลี่ยงกฎหมาย เพื่อไม่ให้เสียจอร์จ เบสต์ไป คือถ้าเป็นนักเตะคนอื่น คงโดนสโมสรโละสัญญาทิ้งไปแล้ว
อย่างที่บอกว่า การยื่นคำขาด พร้อมจะแตกหัก มันมีความเสี่ยงสูงมากๆ โอกาสผิดหวัง กับสมหวังนี่ สูสีกันมากๆ
อย่างไรก็ตาม ทริกสำคัญที่ทำให้การยื่นคำขาดของเราได้ผล คือ ต้องประเมินตัวเองว่า เราสำคัญกับเขามากพอหรือเปล่า?
วิเคราะห์ว่า ถ้าหากเขาเสียเราไป เขาจะเสียหายหนักใช่ไหม เขาจะยอมทุกอย่างเพื่อรั้งเราเอาไว้ให้ได้ ใช่หรือเปล่า
ดังนั้นก่อนที่จะยื่นคำขาด และพร้อมแตกหักกับใคร ทบทวนให้ละเอียดอีกครั้ง
1
ถามใจตัวเองให้ชัวร์ก่อนว่า เรามีค่ากับเขาจริงๆใช่ไหม
เราไม่ได้คิดไปเองนะ ว่าตัวเองสำคัญ
1
#Ultimatum #BEST
โฆษณา