21 พ.ค. 2020 เวลา 12:31 • ประวัติศาสตร์
นั่งรถถีบเข้าสู่เมือง “เชลียง” แห่งราชสำนักพระร่วงเจ้า แคว้นสุโขทัย
ชมบ้านเมืองของคุณยายวรนาฏ ทายาทอสูร : ธิดาแห่งตระกูลพญาเชลียง
1
รถถีบ พาหนะเข้าสู่เมืองเชลียง
ละครทายาทอสูร ที่ออกอากาศครั้งล่าสุดทางไทยทีวีสีช่อง3 นำแสดงโดย คุณเบนซ์ พรชิตา นับว่าเป็นละครไทยแนวลึกลับที่โด่งดังมาก จนถูกนำมาจัดสร้างใหม่หลายครั้ง แถมยังมีเพลงที่หลอนติดหูว่า “ข้าเลือกเจ้าไว้... เจ้า...คือทายาท คนต่อไป...(ต่อไปๆ)”🎶
ตามเนื้อเรื่องกล่าวถึงคุณยายวรนาฏ หญิงชราอายุ70ปี ที่ดูสวยย้อนวัยไปหลายสิบปี ซึ่งเป็นร่างที่อสูรนามว่า “โขน" ใช้สิงสู่ โดยสมัยที่อสูรยังเป็นคนอยู่ ได้ไปหลงรักธิดาคำหยาด ของ “พญาเชลียง” เจ้าเมืองเชลียง แห่งราชสำนักพระร่วงเจ้า แคว้นสุโขทัย เมื่อพญาเชลียงรู้เข้าจึงจับไอ้โขนมาเฆี่ยนตี แล้วโยนลงไปในเตาทุเรียง ไอ้โขนได้รับความทุกข์ทรมานมาก แต่โชคดีที่ไม่ตาย มีจอมขมังเวทย์มาช่วยไว้ พร้อมทั้งถ่ายทอดวิชาอาคมไสยเวทย์ด้านมืดให้กับไอ้โขน จนมันบรรลุวิชาขั้นสูงสุด กลายร่างเป็นตะขาบแล้วเข้าไปสิงสู่ในร่างของธิดาคำหยาด พร้อมทั้งสร้างหายนะให้กับเมืองเชลียง กระทั่งน้ำท่วมเมือง พญาเชลียงตรอมพระทัยจนสิ้นชีวิต แต่ความแค้นของมันไม่จบลงแต่เพียงเท่านี้ หากร่างที่มันสิงสู่ใกล้หมดอายุขัย อสูรจะทำการเลือกทายาทที่เป็นหญิงสาวในตระกูลพญาเชลียงแล้วย้ายไปสู่ร่างใหม่ รุ่นต่อรุ่น จนถึงปัจจุบัน
เครดิตภาพ : nangdee.com
ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 2 วัดศรีชุม ได้มีการบันทึกเหตุการณ์ก่อนสถาปนากรุงสุโขทัยเป็นราชธานี โดยกล่าวถึงพ่อขุนนาวนำถุม เจ้าเมืองเชลียงว่า เป็น"ขุน"ในเมืองเชลียง ส่วนศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 จารึกพ่อขุนรามคำแหง ได้บันทึกถึงพระราชกรณียกิจของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชว่า ทรงสถาปนาศิลาจารึกไว้ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเมืองเชลียงอีกหลักหนึ่ง
ตามหลักฐานที่ปรากฏในศิลาจารึกและพงศาวดารยืนยันว่า มีเมืองโบราณ 2 เมืองตั้งอยู่ในลุ่มน้ำยมก่อนแล้ว คือ เมืองเชลียง และเมืองสุโขทัย ต่อมาภายหลัง จึงได้มีการก่อสร้างเมืองศรีสัชนาลัยขึ้น ทางด้านทิศเหนือของเมืองเชลียง โดยอยู่ห่างออกไปประมาณ 1.5 กิโลเมตร เมืองศรีสัชนาลัยจึงมีความสำคัญควบคู่กันกับเมืองสุโขทัย
1
เมืองโบราณศรีสัชนาลัยมีขอบเขตก่อสร้างทับซ้อนอยู่บนบริเวณเมืองเชลียงเดิม เริ่มจากบริเวณวัดมหาธาตุเชลียง ไปตามลำน้ำยม เลยผ่านเขาพนมเพลิงออกไป
เมืองศรีสัชนาลัย ได้เลือกบริเวณที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบเชิงเขา มีการก่อสร้างกำแพงเมืองด้วยศิลาแลง ผังเมืองเป็นรูปหลายเหลี่ยมไม่สม่ำเสมอ ซึ่งเป็นไปตามทิศทางของลำน้ำยม อีกทั้งลักษณะของกำแพงเมืองศรีสัชนาลัยก็มีหลายแนว คาดว่ามีการผสมผสานนำเอาแนวกำแพงคันดิน ในสมัยที่เป็นเมืองเชลียง เข้ามาใช้ประโยชน์ด้วย (อ้างอิงจาก : สารานุกรมไทย)
ในสมัยอยุธยาตอนต้น ศรีสัชนาลัยเป็นเมืองสำคัญที่ผลิตภาชนะเครื่องเคลือบสังคโลกให้แก่กรุงศรีอยุธยา จึงถูกเรียกขานว่า เมืองสวรรคโลก ต่อมาเมื่อมีการจัดระบบการปกครองเกี่ยวกับเชื้อสายราชวงศ์ ทางกรุงศรีอยุธยาจึงได้เป็นผู้แต่งตั้งเจ้าเมืองมาปกครองเมืองสวรรคโลกเอง โดยมีฐานะเป็นหัวเมืองชั้นนอก ระดับเมืองโท
หลังเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าครั้งที่ 2 เมืองแห่งนี้ได้ถูกทิ้งร้าง ต่อมาจึงได้จัดตั้งเมืองสวรรคโลกขึ้นใหม่ที่บ้านท่าชัย อยู่ด้านทิศใต้ของเมืองเดิม และในสมัยรัตนโกสินทร์ได้ย้ายไปอยู่ที่บ้านวังไม้ขอน อันเป็นที่ตั้งของอำเภอสวรรคโลกในปัจจุบัน ส่วนชื่อเมืองศรีสัชนาลัยได้นำไปตั้งเป็นชื่อของอำเภอ คือ อำเภอศรีสัชนาลัย ซึ่งได้รวมเอาเขตพื้นที่เมืองศรีสัชนาลัยโบราณไว้ด้วย (อ้างอิงจาก:สารานุกรมไทย)
สำหรับการเดินทางไปยังจ.สุโขทัยมีความสะดวกทั้งทางบกและทางอากาศ จากเมืองสุโขทัยใช้ทางหลวงหมายเลข 101 (สุโขทัย-สวรรคโลก-ศรีสัชนาลัย) ถึงบริเวณกม.64 เลี้ยวซ้ายข้ามสะพาน ข้ามแม่น้ำยม จะมีทางแยกขวาเข้าอุทยานฯ หรือโดยสารรถประจำทาง สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย ได้ที่คิวรถบริเวณตลาดเทศบาล
หมายเหตุ : อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย เชลียง และกำแพงเพชร อยู่ภายใต้การขึ้นทะเบียนดูแลของUNESCO จัดเป็นกลุ่ม "เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร" อีกทั้งยังอยู่ในบริเวณใกล้เคียงทับซ้อนกัน จึงสะดวกแก่การนั่งรถราง หรือขี่จักรยานเที่ยวชม
ข้อมูลอ้างอิง : สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน
ข้อมูลอ่านประกอบ : www.thaiheritage.net
โฆษณา