22 พ.ค. 2020 เวลา 02:28 • การศึกษา
วิธีคัดเลือกนักศึกษาในวิชาเลือกที่แย่งกันเรียน
การสอนวิชาเลือกในระดับมหาวิทยาลัย เป็นเรื่องที่อาจารย์หลายคนลุ้น
เพราะวิชาเลือกหมายความว่า “นักศึกษาจะเรียนก็ได้ ไม่เรียนก็ได้” ไม่เหมือนวิชาบังคับที่นิสิตทุกคนต้องเรียน และรับประกันว่า อาจารย์มีภาระงานสอนแน่ๆ
บางวิชาก็มีนิสิตมาเรียนล้นหลาม บางวิชาก็มีนักศึกษาเรียนโหรงเหรง หรือบางวิชาก็มีนักศึกษามาเรียนจำนวนกำลังดี
ผมสอนวิชา Innovative Thinking หรือ การคิดเชิงนวัตกรรม ซึ่งเป็นวิชาเลือกการศึกษาทั่วไปหมวดวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจุฬาฯ หรือที่นิสิตจุฬาฯ ชอบเรียกว่า เจนเอด ( GenEd ) ก็เป็นวิชาหนึ่งที่มีนิสิตจุฬาฯ สนใจเรียนกันมาก เพราะเปิดให้นิสิตทุกคณะ ทุกชั้นปีมาเรียน จนบางเทอมแทบจะขี่คอเรียน เพราะที่นั่งไม่พอ
บทความนี้จะเปิดเผยเทคนิคต่างๆ ที่ผมเคยใช้คัดเลือกนิสิตวิชา Innovative ครับ
เริ่มต้นด้วยคำถามสำคัญที่สุดก่อน
ทำไมตัองคัดเลือกด้วย เปิดให้ทุกคนเรียนไม่ได้หรือ
ผู้อ่านคงสงสัยว่า เปิดให้ทุกคนเรียนไม่ได้หรือ มหาวิทยาลัยน่าจะเปิดโอกาสให้นิสิตที่อยากเรียน ก็ต้องเรียน ไม่ใช่หรือ
ถ้าเป็นวิชาเลือกเน้นบรรยายอย่างเดียว ก็คงไม่มีปัญหาครับ จะสอนกี่ร้อยคนก็ได้ ขอให้มีห้องเรียนมีที่นั่งเพียงพอ หรือถ้าเป็นวิชาบังคับในหลักสูตร ก็ต้องเปิดให้นิสิตทุกคนต้องเรียน
แต่มีหลายวิชาเลือกที่เน้นการปฏิบัติ การทำเวิร์คชอปในห้องเรียน รับผู้เรียนจำนวนมากไม่ได้ เพราะผู้สอนต้องดูแล ให้คำแนะนำ หรือต้องการให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนอย่างเต็มที่ อุปกรณ์การสอนก็มีจำกัด เพราะราคาสูง บางทีผู้สอนต้องออกเงินซื้ออุปกรณ์ประกอบการสอนเอง เบิกจากมหาวิทยาลัยไม่ได้
วิชาเลือกเหล่านี้จึงต้องการจำนวนผู้เรียนที่เหมาะสม ไม่มากเกินไป เช่น จำนวนผู้เรียนที่เหมาะสมในวิชา Innovative คือ 30–40 คน เพราะเคยมีบางเทอมที่มีนิสิตเรียนเกือบ 60 คน ทำให้คุณภาพการสอนไม่ดีเท่าที่ควร และอุปกรณ์การสอนก็ไม่พอด้วย
บางวิชามีนิสิตปล่อยข่าวว่า แจก A ง่าย , เรียนสนุก , อาจารย์ใจดี , ไม่มีการบ้าน ทำให้นิสิตอยากมาเรียนเยอะมาก จนอาจารย์อ่อนใจ ไม่รู้ว่าจะปฏิเสธนิสิตอย่างไร เพราะนิสิตบางคนโน้มน้าวใจอาจารย์เก่งมาก มาอ้อนวอนขอให้อาจารย์รับเข้าเรียน ทั้งๆ ที่ วิชาเต็มแล้ว
ขอเน้นว่า บทความนี้ไม่ได้เหมาะกับทุกวิชาในมหาวิทยาลัยครับ เหมาะกับวิชาเลือกที่มีนิสิตสนใจเรียนกันเยอะมาก จนรับไม่ไหว โดยเฉพาะวิชาเลือกหมวดการศึกษาทั่วไป หรือวิชาเลือกที่มีนิสิตหลายคณะมาเรียน
1
การเปิดให้นิสิตลงทะเบียนเรียนตามปกติ
นี่คือวิธีคลาสสิคที่ให้อัลกอริทึมของสำนักทะเบียนมหาวิทยาลัยตัดสินใจ อาจารย์แค่ระบุจำนวนนิสิตที่ต้องการ เช่น 50 คน แล้วให้นิสิตลงทะเบียนเอง
1
ข้อดีของวิธีนี้คือ ง่ายสุดๆ อาจารย์ไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น แต่วิธีนี้มีปัญหา เช่น
- เกิด Reg War คือ นิสิตแย่งกันลงทะเบียนในสองสัปดาห์แรกของการเปิดเทอม นิสิตแทบจะไม่สนใจเรียน เพราะอยู่หน้าคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟน พยายามลงทะเบียนวิชาต่างๆ ให้ได้
- มีการซื้อ ขาย แลกเปลี่ยนวิชากัน เคยมีนิสิตเล่าให้ผมฟังว่า นัดเพื่อนคณะอื่นตอนตีสาม คุยกันทางโทรศัพท์ แล้วผลัดกันลด และเพิ่ม เพื่อแลกเปลี่ยนวิชากัน ตอนนี้มีกลุ่มต่างๆ ทาง Facebook ที่นิสิตแลกเปลี่ยนวิชาเลือกกัน จนกลายเป็นเรื่องธรรมดาแล้ว
- ถึงแม้ว่าระบุจำนวนนิสิตที่ต้องการแล้ว ก็อาจมีนิสิตหลายสิบคนมาที่ห้องเรียนในวันแรก เพื่อขอร้องอาจารย์ให้รับเพิ่ม ซึ่งอาจารย์ที่ใจอ่อน ก็อาจเปิดให้ลงทะเบียนเพิ่ม จนมีจำนวนนิสิตมากเกินไปอยู่ดี แต่อาจารย์ที่ใจแข็งหน่อย ก็รอดตัวได้
- ถ้าอาจารย์อยากได้นิสิตมาจากคณะที่หลากหลาย มีนิสิตแต่ละคณะจำนวนเท่าๆกัน การลงทะเบียนแบบปกติยังไม่สามารถเกลี่ยจำนวนนิสิตให้เท่ากันในทุกคณะได้ เช่น อาจมีนิสิตบางคณะลงทะเบียนเรียนเยอะมาก ในขณะที่นิสิตคณะอื่นแทบจะลงไม่ได้เลย ทำให้มาขอลงเพิ่ม จนเกินจำนวนคน
เปิดให้นิสิตลงทะเบียนเพียงคนเดียวเท่านั้น
เทคนิคที่วิชาเลือกดังๆ ใช้ในการคัดเลือกนิสิตคือ
เปิดให้ลงทะเบียนเรียนเพียง 1 คนเท่านั้น จากนั้น อาจารย์คัดเลือกผู้เรียนด้วยตัวเอง
ผมใช้วิธีนี้ หลังจากที่มีนิสิตมาเรียนมากจนรับไม่ไหวแล้ว ตอนแรกก็เสียวเหมือนกันว่า จะมีนิสิตมาเรียนวันแรกไหมหนอ เพราะวิธีนี้ค่อนข้างเสี่ยงมากครับ อาจไม่มีนิสิตมาเข้าเรียนเลยก็ได้
แต่โชคดีที่มีนิสิตมาเข้าเรียนเยอะ ทำให้ผมใจชื้นขึ้นมา และหลังจากนั้น ก็เปิดให้ลงทะเบียน 1 คนมาโดยตลอด
ต่อไปนี้ คือวิธีต่างๆ ที่ผมคัดเลือกนิสิตครับ
1. การสุ่มบัตรนิสิต
นี่เป็นวิธีง่ายๆ ในการเลือกผู้เรียน โดยการให้นิสิตทุกคนนำบัตรนิสิตมาวาง จากนั้น อาจารย์ก็หยิบบัตรขึ้นมา หยิบได้บัตรของใคร คนนั้นก็ได้เรียน
ข้อดีของวิธีนี้คือ ง่าย เห็นผลเร็ว และให้ความรู้สึกลุ้น ตื่นเต้นเหมือนลุ้นหวยหน้าจอทีวี
แต่นี่เป็นวิธีที่ผมทำแล้วไม่อยากทำอีกเลย เพราะนิสิตที่จะไม่ได้ใช้ความสามารถอะไร เป็นการพึ่งโชคล้วนๆ
ผมสังเกตว่า นิสิตที่เข้าเรียนได้ด้วยวิธีนี้ กลับไม่ค่อยตั้งใจเรียนเท่าไร อาจเป็นเพราะว่าได้ง่ายๆ จึงไม่ค่อยเห็นความสำคัญ
มีเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้ผมเลิกใช้การสุ่มบัตรนิสิต คือมีนิสิตคนหนึ่งที่จับฉลากไม่ได้เรียนวิชานี้ แต่ก็ยังส่งอีเมลมาหาผมและแนะนำผมเรื่องข้อมูลต่างๆ จนในที่สุดผมยอมให้นิสิตคนนั้นเข้ามาเรียน
ทำให้ผมคิดได้ว่าการสุ่มบัตรนิสิตไม่น่าจะเป็นวิธีที่เหมาะสมในการคัดเลือกนิสิตอีกต่อไป
ผมใช้การสุ่มบัตรนิสิตแค่สองครั้ง ก็เลิกใช้ครับ
บทความสมัครเรียนวิชา Innovative จากลายมือของนิสิต แถมภาพวาดประกอบด้วย
2. เขียนบทความสมัครเรียนด้วยลายมือตัวเอง
ผมรู้จักวิธีนี้จากการสมัครเรียนหลักสูตรบรรณาธิการศึกษา ซึ่งอาจารย์มกุฏ อรฤดีสอน โดยให้ผู้สมัครต้องเขียนบทความสมัครเรียนด้วยลายมือตัวเอง
ผมจึงนำวิธีนี้มาใช้ในวิชา Innovative ด้วย โดยให้นิสิตเขียนบทความบอกเหตุผลที่อยากเรียนวิชา Innovative และโน้มน้าวใจอาจารย์ (ตัวผม ) ให้รับเข้าเรียน ด้วยลายมือตัวเองบนกระดาษ A4 แล้วส่งมาให้ผมภายในเวลาที่กำหนด เช่น ภายในหนึ่งหรือสองวันหลังวันประกาศ
วิธีนี้ทำให้เห็นความคิดสร้างสรรค์ ไอเดียต่างๆ ของนิสิต บางคนก็วาดรูปประกอบ บางคนก็ตกแต่งอย่างสวยงาม แต่บางคนก็เขียนอ่านยากมาก
3. เขียนบทความส่งทางอีเมล
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ผมก็ให้นิสิตเขียนบทความ 1 หน้า ส่งเป็นไฟล์ WORD หรือ PDF มาให้ผมทางอีเมลแทนที่จะเขียนด้วยลายมือตัวเอง ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวกทั้งผมและนิสิต
คนที่ลายมือสวยก็ไม่ได้เปรียบคนที่ลายมือไม่สวย เพราะเน้นที่เนื้อหาล้วนๆ
4. คัดเลือกด้วยการส่งวิดีโอ
หลายปีก่อน ผมได้ตั้งกติกาการสมัครเข้าเรียนวิชา Inovative คือ
นิสิตที่ต้องการสมัครเรียนวิชานี้ จะต้องทำวิดีโอแนะนำตนเอง บอกเหตุผลที่อยากเรียนวิชานี้ โน้มน้าวใจอาจารย์ และแนะนำหนังสือ 1 เล่ม ความยาวไม่น้อยกว่าหนึ่งนาทีครึ่ง แต่ไม่เกินสองนาที ส่งมาให้ผมทางอีเมล
นี่เป็นวิธีที่กินแรงนิสิตมากที่สุด อย่างกับ audition สมัครวงดนตรี เพราะนิสิตต้องถ่ายวิดีโอ , พูดให้จบภายในเวลาที่กำหนด และส่งมาให้ผมทางอีเมลภายในเวลาที่กำหนดด้วย
ข้อดีของวิธีนี้คือ ผมได้เห็นหน้านิสิตทุกคน และนิสิตได้ฝึกทักษะการนำเสนอตนเองผ่านทางวิดีโอ ซึ่งบางคนทำได้ดีมาก มีการใช้เทคนิคพิเศษ ใส่เพลงประกอบ แต่บางคนก็พูดค่อยมาก ฟังไม่ค่อยได้ยิน หรืออัดคลิปในสถานที่มีเสียงรบกวนมากเกินไป
นิสิตบางคนทราบว่า ต้องทำวิดีโอสมัครเรียนวิชานี้ ก็ถอดใจ ไม่อยากเรียนแล้ว เหลือเฉพาะนิสิตที่อยากเรียนจริงๆ ที่จะทำวิดีโอมาส่ง ซึ่งเป็นเรื่องดีครับ เพราะแสดงว่า เป็นนิสิตที่อยากเรียนวิชานี้จริง จึงยอมเสียเวลา ทำคลิปสมัครเรียน
เคยมีนิสิตคนหนึ่งทำคลิปใส่หน้ากาก Kylo Ren จากหนัง Star Wars และบอกว่า ผมต้องรับเขาเข้าเรียนก่อน จึงจะเห็นหน้าของเขา !
ข้อเสียสำคัญที่สุดของวิธีนี้คือ เสียเวลาดูวิดีโอมาก ไม่เหมือนการอ่านบทความ ซึ่งใช้เวลาไม่นาน บางทีก็ตัดสินใจยากมากว่า จะเลือกใครดี เพราะแต่ละคนก็ทำวิดีโอดีพอๆ กัน
ผมเคยใช้เวลา 1 วันเต็มๆ ในการดูวิดีโอของนิสิตที่ส่งมา 80 กว่าคน และตัดสินใจเลือกนิสิตให้แต่ละคณะมีจำนวนคนเท่าๆ กัน
5. ลงทะเบียนครึ่งหนึ่ง คัดเลือกครึ่งหนึ่ง
ในเทอมล่าสุด คือ เทอมปลาย 2562 หรือ เทอม COVID-19 ผมใช้วิธีผสมผสานคือ เปิดให้นิสิตลงทะเบียน 30 คนก่อน แล้วนิสิตที่อยากลงทะเบียนเพิ่ม ก็เขียนบทความสมัครเรียน ส่งมาทางอีเมล
วิธีนี้ใช้เวลาคัดเลือกไม่นาน เพราะมีนิสิตที่อยากเรียนเพิ่มไม่มากนัก เทอมนี้จึงมีนิสิตตอนเรียนเช้า 31 คน และตอนเรียนบ่าย 39 คนครับ
วิธีคัดเลือกนิสิตที่ดีที่สุด
อ่านถึงตรงนี้แล้ว ผู้อ่านคิดว่า วิธีคัดเลือกนิสิตที่ดีที่สุดคือวิธีอะไรครับ
คำตอบคือ ไม่มีวิธีดีที่สุด มีแต่วิธีเหมาะสมที่สุดในเวลานั้น
แต่ละวิธีมีข้อดี ข้อเสียต่างกัน บางวิธีที่เคยใช้แล้วได้ผลดีในหลายปีก่อน อาจไม่เหมาะในปีนี้แล้วก็ได้ บางวิธีที่เคยใช้แล้วไม่ได้ผล แต่อาจได้ผลดีมากในขณะนี้ก็ได้ เพราะเมื่อเวลาเปลี่ยนไป ปัจจัยต่างๆ ก็เปลี่ยนไป
นอกจากนี้ ไม่ว่าจะใช้วิธีคัดเลือกแบบไหนก็ตาม ก็ไม่ได้รับประกันว่า จะได้นิสิตที่ตั้งใจเรียนทุกคนครับ
บางคนมีพฤติกรรมที่ทำให้ผมปวดหัวมาก เช่น มาเรียนสายเป็นประจำ ทั้งๆ ที่ตอนสมัครเรียน ก็สัญญาว่า จะตั้งใจเรียน แต่โชคดีที่มีน้อยมาก ส่วนใหญ่มีแค่ 1–2 คน
แต่อย่างน้อย ข้อดีของการคัดเลือกผู้เรียน คือ ได้ผู้เรียนที่ตั้งใจเรียนวิชานี้จริงๆ ไม่ได้อยากเรียนเพราะหวัง A อย่างเดียว โดยไม่ได้มีส่วนร่วมหรือตั้งใจเรียนอย่างแท้จริง
การที่ให้นิสิตต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อสมัครเรียน ทำให้นิสิตภูมิใจด้วยว่า ได้ใช้ความสามารถของตนเอง จึงจะเข้าเรียนได้
ดังนั้น นิสิตที่ผ่านการคัดเลือกในวิชา Innovative เขียนแบบประเมินวิชานี้บ่อยๆว่า ชอบเพื่อนที่เรียนวิชานี้ด้วยกัน เพื่อนไม่อู้งาน สนใจเรื่องคล้ายๆ กัน และร่วมมือในการทำการบ้านหรือโครงงานกลุ่มดีมาก แสดงว่า การคัดเลือกผู้เรียน ทำให้ได้คนเรียนที่ตั้งใจเรียนจริงๆ
ผู้อ่านที่เป็นอาจารย์ เคยคัดเลือกผู้เรียนด้วยวิธีใดในบทความนี้ หรือใช้วิธีอื่นที่ไม่ได้กล่าวในบทความนี้ ขอเชิญมาแชร์ประสบการณ์กันครับ
เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น
สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่
โฆษณา