22 พ.ค. 2020 เวลา 11:30 • ธุรกิจ
เปิดใจ 'บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา' ชี้โควิดวิกฤติสุดในชีวิต! ถอดบทเรียน 65 ปีบนสังเวียนธุรกิจ
เป็น "แม่ทัพใหญ่" ครองอาณาจักร "เครือสหพัฒน์" องค์กรเก่าแก่เกือบ 80 ปี "บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา" ผ่านวิกฤติมานับไม่ถ้วน แต่ "โรคโควิด-19" สาหัสทั้งไทย ทั่วโลก อยากแกร่งอย่างยั่งยืน ต้องปรับขนาดองค์กร ตุนเงินสด ไม่กู้ลงทุนเกินตัว
1
บทความโดย สาวิตรี รินวงษ์
'บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา' ชี้โควิดวิกฤติสุดในชีวิต! ถอดบทเรียน 65 ปีบนสังเวียนธุรกิจ
รากฐานเศรษฐกิจไทยภายใต้วิกฤติโควิด-19 กำลังอ่อนแอ โดย“ธุรกิจไทย” ถูกแช่แข็งมาพักใหญ่ จากมาตรการ “ล็อกดาวน์” เพื่อป้องกันการระบาดของโรค ทำให้ผลการดำเนินงานไตรมาสแรกออกมา หลายเซ็กเตอร์ รายได้ กำไรลด ไปจนถึงขาดทุน!!
1
หากมององค์กรธุรกิจยักษ์ใหญ่เมืองไทย “เครือสหพัฒน์” ต้องติดทำเนียบเสมอ เพราะเป็นผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำ มีบริษัทในเครือนับร้อย ครอบคลุมสินค้าและบริการทั้งอาหาร ของใช้จำเป็น เสื้อผ้าแฟชั่น อสังหาริมทรัพย์ โลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม ทำรายได้ต่อปีร่วม “3 แสนล้านบาท”
1
เครือสหพัฒน์ย่างเข้าสู่ 8 ทศวรรษ ภายใต้การนำทัพของ “บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา” ประธานเครือสหพัฒน์ ขับเคลื่อนธุรกิจตั้งแต่วัย 18 ปี ปัจจุบันอายุ 83 ปี นั่นหมายถึงประสบการณ์บริหารธุรกิจผ่านร้อนหนาว ยุครุ่งโรจน์ เผชิญวิกฤติ มาถึง 65 ปี แล้ววิกฤติไหนหนักสุด?
1
“ทำงานเจอมาหลายวิกฤติ หากเทียบวิกฤติต้มยำกุ้งกับโควิด ผลกระทบโควิดหนักกว่ามาก เพราะยุคต้มยำกุ้งประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบ แต่ครั้งนี้เศรษฐกิจ ธุรกิจ องค์กร ประชาชนทุกภาคส่วนถูกกระทบรุนแรงมาก หนักกว่าต้มยำกุ้ง 10 เท่า” บุณยสิทธิ์ ให้มุมมอง
1
นอกจากนี้ โควิดยังไม่ได้ส่งผลกระทบในไทย แต่ลามทั่วโลก นำไปสู่การตั้งต้นหรือ Set Zero ใหม่อีกครั้ง! โดยเขาประเมินว่าจะเกิดการสลับขั้วของ “มหาอำนาจเศรษฐกิจโลก" มาอยู่ที่เอเชีย จากที่ผ่านมา สหรัฐ และยุโรป มีบทบาทสำคัญ เพราะโรคโควิดทุบชาติตะวันตกรุนแรงมาก ส่วนอัตราแลกเปลี่ยน “ดอลลาร์” จะมีความสำคัญลดลง “ทองคำ” ยังมีค่าเหนือเงินตราที่สหรัฐมักพิมพ์ออกมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ
2
ประกอบกับประเทศจีนแกร่งขึ้นรอบด้าน ส่วนสหรัฐ ธุรกิจการผลิตเครื่องบินที่มีมูลค่ามหาศาล เช่น โบอิ้ง ต้องเผชิญวิบากกรรมครั้งใหญ่จากโรคระบาด โอกาสฟื้นตัวยิ่งใหญ่จะต้องใช้เวลานาน เหล่านี้ทำให้ชาติมหาอำนาจเศรษฐกิจที่เคยยิ่งใหญ่ แข็งแกร่งต้อง “อ่อนแอ” ลง
จากโลกมาสู่ไทย การประมือกับวิกฤติโรคระบาดส่งผลกระทบต่อเครือสหพัฒน์เช่นกัน โดยผลการดำเนินงานไตรมาสแรก หลายบริษัทในเครือยอดขายและ “กำไร” ลดลง บางบริษัท “ขาดทุน” เ
3
ช่น บมจ.สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง หรือเอสพีไอ มีรายได้ 1,176 ล้านบาท กำไรสุทธิ 470 ล้านบาท ลดลง 11.25% จากปีก่อน ,บมจ.ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล มีรายได้ 2,265 ล้านบาท "ขาดทุน" 117 ล้านบาท ,บมจ.บูติคนิวซิตี้ ยอดขาย 109.50 ล้านบาท ลดลง 42% "ขาดทุน" 39.49 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 799%
แต่ที่ “เติบโต” อย่างแข็งแกร่ง เช่น บมจ. ไทยวาโก้ ยอดขาย 1,194.11 ล้านบาท แม้จะลดลง 14.41% แต่กำไรสุทธิ 116.59 ล้านบาท โตถึง 75.84% ,บมจ.เอส แอนด์ เจ อินเตอร์เนชั่นแนล เอนเตอร์ไพรส์ ยอดขาย 1,237.31 ล้านบาท กำไร 106 ล้านบาท เติบโต 541% ,บมจ.ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ ยอดขาย 6,146.97 ล้านบาท โตกว่า 5% กำไร 1,005.85 ล้านบาท เติบโต 16.2% และบมจ.สหพัฒนพิบูล ยอดขาย 8,419.90 ล้านบาท โตราว 6% กำไรสุทธิ 372.75 ล้านบาท เติบโตราว 17%
จะเห็นว่ากลุ่มธุรกิจที่โตล้วนจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีพที่ผู้บริโภคแห่ซื้อตุนไว้ ส่วนที่หดตัวเป็นสินค้าแฟชั่น รองเท้า เพราะห้างร้านที่เป็นช่องทางจำหน่ายต้อง“ปิดให้บริการ”ตามมาตรการรัฐ
1
จากปัจจัยลบและผลการดำเนินงานข้างต้น ทำให้ “บุณยสิทธิ์” ประเมินภาพรวมของเครือสหพัฒน์ปี 2563 จะเห็นยอดขายอยู่ในแดนลบ 10-20% จากปกติตั้งเป้าเติบโต 5-7% ส่วน “กำไร” อาจหดลงถึง 20%
2
“ครั้งนี้เป็นการติดลบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพราะไม่มีครั้งไหนที่ต้องหยุดขายสินค้าเป็นเวลาหลายสิบวัน ไม่เคยเจอ ตอนนี้จึงต้องพยุงให้ธุรกิจยังไปได้”
เขายังบอกว่า จากแนวโน้มเศรษฐกิจไทย(จีดีพี)ปีนี้ จะติดลบกว่า 5.3% กำลังซื้อชะลอตัว ส่งผลให้เครือสหพัฒน์ ต้องเบรกการ “ลงทุน” หลายอย่าง เช่น การพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์รูปแบบมิกซ์ยูส มูลค่าหลายพันล้านบาท การผนึกกับทุนญี่ปุ่น “ดองกิโฮเต้ ประเทศญี่ปุ่น” เตรียมขยายห้างค้าปลีก “ดองกิ" ในไทย 20 สาขา ต้องรอหารือกับพันธมิตรอีกครั้งหลังโควิดทำให้เดินทางมาไทยไม่ได้
บทเรียนโควิด ยังทำให้บริษัทงัดนโยบาย “ลดไซส์” โดยเฉพาะกลุ่มสิ่งทอ เสื้อผ้า รองเท้า ซึ่งเครือปรับกระบวนท่ามาหลายปี ต้องทำต่อ มุ่งลดต้นทุน สร้างประสิทธิภาพ ตุนกระแสเงินสดเสริมสภาพคล่อง ไม่เน้น “กู้ยืม” เงินมาขยับขยายธุรกิจ การลงทุน ธุรกิจที่โต เช่น โลจิสติกส์ อาหาร สินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น ผงซักฟอกของบริษัท ไลอ้อน(ประเทศไทย) ขยายการลงทุนเพิ่ม พร้อมกำชับให้ขยายไปต่างประเทศ ไม่จำกัดการโตแค่ไทยอีกต่อไป
1
“การตัดสินใจลงทุนต้องวางแผนระยะยาว ดูโอกาส และตัวแปร ตอนนี้เราไม่เน้นลงทุน ต้องพยุงธุรกิจให้อยู่นานที่สุด เพราะเวลานี้เหมือนการวิ่งมาราธอน นึกว่าเราเหนื่อยแล้วยังมีคนอื่นเหนื่อยกว่าเรามาก แต่หากต้องลงทุนอย่าเน้นกู้แล้วค้าขาย พยายามใช้เงินตัวเอง มีมากทำมาก มีน้อยทำน้อย ซึ่งนโยบายนี้สหพัฒน์ทำมานับสิบปี”
1
ทุกปีเครือสหพัฒน์ จะมีมหกรรมลดราคาสินค้าครั้งใหญ่ผ่าน “สหกรุ๊ปแฟร์” แต่ปีนี้ต้องเลื่อนเลี่ยงโรคระบาด จึงพลิกโฉมจัดงานผ่าน “ออนไลน์” โดยยืนยันจะจัดให้ยิ่งใหญ่ ขณะนี้อยู่ระหว่างวางแผนงาน การพัฒนาแพลตฟอร์ม ควบคู่กับการจัดทัพองค์กร คนให้พร้อมกับการทำงานยุคดิจิทัล การค้าขายต้องเพิ่มสัดส่วนออนไลน์ให้มากด้วย
ด้านเศรษฐกิจในประเทศ บุณยสิทธิ์ ยาหอมรัฐแก้ปัญหาดี แต่ที่ต้องดูแลคือ “ค่าเงินบาท” ให้อยู่ระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์ขึ้นไป เพราะเป็นตัวแปรฟื้นเศรษฐกิจเร็วใน 2 ปี หากต่ำกว่านั้นการฟื้นตัวจะทอดยาว ด้านการเมืองไม่ควรเปลี่ยนแปลง เพราะอาจทุบเศรษฐกิจซ้ำ ส่วนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน(พรก.ฉุกเฉิน) หากยกเลิกเร็วยิ่งส่งผลดีต่อฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
ที่ผ่านมารัฐมีมาตรการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนจากโควิด ทำให้ได้ “บิ๊กดาต้า” มหาศาล จึงแนะรัฐนำไปใช้สร้างประโยชน์ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้ประเทศ ควบคู่การสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน เพื่อผลักดันให้ไทยเป็น “ศูนย์กลาง” การค้าการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนแทนสิงคโปร์
1
วิกฤติโควิด เป็นบททดสอบ “ผู้นำ” องค์กรในการขบคิดยุทธวิธีนำพาธุรกิจฝ่าโรคร้าย แต่นี่ไม่ใช่วิกฤติสุดท้าย เพราะเชื่อว่าอนาคตยังมีสิ่งที่ต้องจับตาและระวังอีกมาก หนึ่งในนั้นคือ “สงคราม” ที่ยากจะคาดเดารูปแบบ ส่วนแนวโน้มธุรกิจยังคงเป็นยุค “ปลาเร็วกินปลาช้า” และมีโอกาสที่ “ปลาเล็กจะกินปลาใหญ่” ด้วย
2
อ่านข่าวธุรกิจเพิ่มเติมที่
โฆษณา