23 พ.ค. 2020 เวลา 09:30 • การศึกษา
วัคซีนโควิดจะเสร็จเมื่อไร
หัวใจสำคัญที่จะทำให้มหันตภัยโควิดคลายตัว โลกกลับสู่ภาวะปกติได้ ก็คือ การมีวัคซีนป้องกันโควิด คนที่ได้ฉีดวัคซีนแล้วก็สบายใจที่จะออกจากบ้านไปทำงาน ร่วมกิจกรรมสังคม ท่องเที่ยว เศรษฐกิจการค้า การท่องเที่ยว กีฬา สันทนาการทุกอย่างก็จะค่อยคืนกลับสภาพปกติ
สิ่งที่ทุกคนอยากรู้ที่สุด คือ แล้ววัคซีนโควิดจะเสร็จพร้อมใช้เมื่อไร ประเทศไทยเราจะมีวัคซีนใช้เมื่อไร
การแข่งขันระดับโลก
ขณะนี้มีโครงการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิดทั่วโลกเกือบ 100 โครงการ รวมทั้งประเทศไทยของเราด้วย แต่ที่มีโอกาสสำเร็จภายในปีนี้ มีอยู่ 4 ประเทศ คือ
1.อังกฤษ
2.อเมริกา
3.จีน
4.เยอรมัน
ปกติการพัฒนาวัคซีนแต่ละตัว ต้องใช้เวลาหลายปี เพื่อความมั่นใจในประสิทธิภาพในการกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันป้องกันโรคและความปลอดภัยจากผลข้างเคียง โดยต้องทดลองในสัตว์ จากนั้นจึงมาทดลองใช้ในคนอีก 3 เฟส โดยค่อยๆ ขยายจำนวนคนที่ทดลองให้มากขึ้นเรื่อยๆ
จีนเร่งกระบวนการพัฒนาวัคซีนโดยการเหลื่อมเฟส คือ ในระหว่างที่ทดลองเฟส 1 ในคน ผ่านไปได้ระยะหนึ่ง ก็เริ่มทดลองเฟส 2 โดยไม่รอให้การทดลองเฟส 1 จบก่อน เพราะผลส่วนใหญ่จะรู้ในช่วงเดือนแรกของการให้วัคซีนแล้ว ทำให้ร่นเวลาในการพัฒนาวัคซีนได้มาก และคาดว่าจะผลิตวัคซีนออกใช้ได้ในฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ (กันยายน-พฤศจิกายน)
อเมริกา เร่งกระบวนการพัฒนาวัคซีน โดยตัดการทดลองเฟส 2 ออก เมื่อผ่านการทดลองใช้ในคนเฟส 1 แล้วก็เข้าเฟส 3 เลย จึงคาดว่าจะผลิตวัคซีนออกใช้ได้ในฤดูใบไม้ร่วงปีนี้เช่นกัน
1
อังกฤษ มีกำหนดเวลาในการพัฒนาวัคซีนสำเร็จชัดเจนที่สุด โดยจะผลิตวัคซีนออกใช้ในเดือนกันยายนปีนี้ โดยมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ดเป็นผู้พัฒนาวัคซีน และร่วมมือกับบริษัทยา AstraZeneca ตั้งเป้าหมายผลิตวัคซีนป้องกันโควิดให้ได้ปีละ 1,000 ล้านโดส
เยอรมัน มีเป้าหมายผลิตวัคซีนให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ โดยบริษัท BioNTech เป็นผู้พัฒนาวัคซีนและร่วมมือกับบริษัทยา Pfizer ของอเมริกาในการผลิตจำนวนมาก
ความสามารถในการผลิตแบบ mass production คือกุญแจ
โดยทั่วไป คนจะสนใจว่าใครจะพัฒนาวัคซีนได้สำเร็จก่อน แต่ความจริงมีปัจจัยที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือความสามารถในการผลิตวัคซีนออกใช้ในปริมาณมากๆ
วัคซีนโดยทั่วไป เช่น วัคซีนป้องกันโรคหัด โรคโปลิโอ ผลิตกันปีละไม่กี่ล้านโดส แต่วัคซีนป้องกันโควิด ทั่วโลกต้องการจำนวนหลายพันล้านโดส ดังนั้นแม้พัฒนาวัคซีนได้สำเร็จแล้ว แต่จะผลิตให้พอใช้กันทั่วโลกก็อาจใช้เวลาหลายปี ลองนึกเปรียบเทียบ ถ้าเรามีบริษัทผลิตแอร์ ผลิตได้ปีละ 5 ล้านเครื่อง อยู่ๆ มีออเดอร์มาให้ผลิตพันล้านเครื่อง ก็คงต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าจะผลิตได้ตามนั้น แม้เราจะมีโนว์ฮาวในการผลิตอยู่ครบถ้วนแล้วก็ตาม นี้จึงเป็นสาเหตุที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนทำนายว่า โลกจะตกอยู่ใต้ผลกระทบโควิดไปอีกหลายปี
1
บริษัทยายักษ์ใหญ่ทางตะวันตก เช่น Pfizer ของอเมริกา Merck ของเยอรมัน GlaxoSmithKline ของอังกฤษ Sanofi ของฝรั่งเศส คุมการผลิตวัคซีนกว่า 90 % ของโลก
บริษัท start-up ไบโอเทค ที่เป็นผู้นำในการพัฒนาวัคซีนโควิด ไม่มีศักยภาพในการผลิตวัคซีนแบบ mass production จึงต้องร่วมมือกับบริษัทยายักษ์ใหญ่เหล่านี้ อาทิ
Moderna , Lonza
บริษัท Moderna ของอเมริกา ร่วมมือกับบริษัทยา Lonza ของสวิสเซอร์แลนด์ ตั้งเป้าหมายผลิตวัคซีนให้ได้ปีละ 1 พันล้านโดส
มหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด ร่วมมือกับบริษัทยา AstraZeneca ของอังกฤษและสวีเดน ตั้งเป้าหมายผลิตวัคซีนปีละ 1 พันล้านโดสเช่นกัน และมีผู้ทำสัญญาสั่งจองแล้ว 400 ล้านโดส เป็นจากอเมริกา 300 ล้านโดส
บริษัท BioNTect ของเยอรมัน ร่วมมือกับบริษัทยา Pfizer ของอเมริกา
(บริษัทยา Johnson & Johnson ของอเมริกา พัฒนาและผลิตวัคซีนเอง แต่มีกำหนดเสร็จต้นปีหน้า ส่วนบริษัท Safino ของฝรั่งเศส จับมือกับบริษัท GlaxoSmithKline ของอังกฤษ พัฒนาและผลิตวัคซีนมีกำหนดเสร็จปลายปีหน้า)
ส่วนจีน แม้ว่าจะมีความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนไปมาก แต่ยังไม่ชัดเจนว่าใครจะเป็นผู้ผลิตแบบ mass production จีนอาจกำลังซุ่มเงียบเตรียมการผลิตวัคซีนจำนวนมากอยู่ก็ได้ และรอเปิดตัวให้โลกเซอร์ไพรส์
ที่ผ่านมาการค้นคว้าวิจัยทางการแพทย์และไบโอเทคโนโลยี อเมริกาและยุโรปนำหน้าจีนอยู่ 2 ก้าว หากจีนสามารถพัฒนาและผลิตวัคซีนป้องกันโควิดสำเร็จก่อนก็จะเป็นจุดพลิกผันต่อสถานะและเกียรติภูมิของจีนในวงการนี้ และจะมีส่วนช่วยโลกได้มาก
ยุทธศาสตร์อเมริกา
อเมริกามียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนมาก คือ ทำทุกวิถีทางให้ได้วัคซีนมาใช้ในปริมาณมากโดยเร็วที่สุด รัฐบาลอเมริกาจึงอัดฉีดเงินงบประมาณจำนวนมากให้กับบริษัทไบโอเทค บริษัทยา ทั้งในอเมริกาและต่างประเทศที่มีศักยภาพในการพัฒนาและผลิตวัคซีนป้องกันโควิดได้เร็ว อาทิ
1
ช่วยออกค่าใช้จ่ายให้บริษัทยา Johnson & Johnson ของอเมริกา ในการพัฒนาและผลิตวัคซีนจำนวนราว 16,000 ล้านบาท(500 ล้านดอลล่าร์) ซึ่งมีกำหนดเสร็จต้นปี 2564
สนับสนุนค่าใช้จ่ายให้มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ดและบริษัทAstraZeneca จำนวนราว 32,000 ล้านบาท (1,000 ล้านดอลลาร์) ทำให้สามารถเพิ่มศักยภาพการผลิตวัคซีนขึ้นไปถึงปีละ 1 พันล้านโดส โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องส่งวัคซีนให้อเมริกาจำนวน 300 ล้านโดส โดยให้เงินผ่านหน่วยงานของรัฐบาลอเมริกา คือ Biomedical Advanced Research and Development Authority (BARDA)
น่าสังเกตว่าเงินช่วยเหลือที่รัฐบาลอเมริกาให้กับ ม.อ็อกฟอร์ด กับบริษัทยาที่อังกฤษ มากกว่าเงินช่วยเหลือที่รัฐบาลอังกฤษให้ (ราว 800 ล้านบาท) ถึง 40 เท่าตัว
ทำไมอเมริกาทุ่มเงินขนาดนี้ แล้วไม่ไปซ้ำซ้อนกับเงินช่วยเหลือที่ให้กับบริษัท Johnson & Johnson หรือ บริษัท Moderna หรือ
คำตอบคือ อเมริกาเอาทุกทาง เพราะก็ยังไม่รู้ว่าวัคซีนของบริษัทไหนจะเสร็จก่อน และผลิตมาให้พอใช้ได้เร็วสุด ดังนั้นจึงช่วยทุกบริษัทที่มีศักยภาพ และทำสัญญาสั่งซื้อล่วงหน้าแบบไม่กลัวการซ้ำซ้อน เพราะความเสียหายทางเศรษฐกิจของอเมริกาจากไวรัสโควิด ตกวันละกว่า 400,000 ล้านบาท เงินช่วยเหลือ 32,000 ล้านบาทนั้น หากสามารถได้วัคซีนมาใช้เร็วขึ้น 2 ชั่วโมงก็คุ้มแล้ว ถ้าได้วัคซีนเร็วขึ้น 1 วันก็สุดคุ้ม ถ้าได้เร็วขึ้น 1 เดือน ก็ super คุ้มๆๆ อเมริกาจึงให้งบอุดหนุนการพัฒนาและผลิตวัคซีนโควิดแบบไม่อั้น ทั้งภายในและต่างประเทศ
ประเทศไทยจะได้วัคซีนใช้เมื่อไหร่
แม้แนวโน้มวัคซีนป้องกันโควิดจะสำเร็จและเริ่มออกใช้ในเดือนกันยายนปีนี้ แต่กว่าจะผลิตได้มากพอใช้ทั้งโลกคงใช้เวลาเป็นปี ดังนั้นไทยจะมีวัคซีนใช้เร็วแค่ไหน จึงขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในเรื่องนี้
ความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศไทยจากไวรัสโควิด ตกวันละร่วมหมื่นล้านบาท หากรัฐบาลได้ทำสัญญาสั่งซื้อวัคซีนป้องกันโควิดแต่เนิ่นๆ แม้ต้องใช้เงินหลายพันล้านบาทก็คุ้ม ก็จะทำให้ไทยมีวัคซีนใช้ราวปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า
ขอให้คุณพระศรีรัตนตรัยปกปักรักษาประเทศไทยและชาวโลก
2
พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ
โฆษณา