25 พ.ค. 2020 เวลา 13:42 • ข่าว
เมื่อ 'หัวเว่ย' หันจับมือคู่แข่ง ต้านแรงกดดันสหรัฐ
cpu
บริษัทคู่แข่งที่หัวเว่ยได้หารือเพื่อเป็นพันธมิตรคือ
“มีเดียเทค” บริษัทพัฒนาชิปสำหรับมือถือและอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่รายใหญ่สุดอันดับ 2 ของโลกรอง
จากควอลคอมม์ของสหรัฐ และ
“ยูนิซอก” บริษัทออกแบบชิปสำหรับมือถือใหญ่สุดอันดับ 2 ของจีน
รองจากไฮซิลิคอน เทคโนโลยีส์ หน่วยงานในเครือด้านการผลิตชิปของหัวเว่ย เพื่อซื้อชิปได้มากขึ้นในฐานะเป็นทางเลือกเพื่อช่วยให้ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภคขยายตัวได้ต่อไป
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ ประกาศกฎเกณฑ์ใหม่เมื่อวันศุกร์ที่ 15 พ.ค. โดยมีเป้าหมายที่จะสกัดกั้นการส่งมอบเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกให้กับบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี ยักษ์ใหญ่ด้านอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมของจีน ถือเป็นการเพิ่มแรงกดดันให้แก่หัวเว่ย ซึ่งถูกขึ้นบัญชีดำอยู่แล้วเนื่องจากเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐ
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ ระบุว่า กฎเกณฑ์ใหม่ดังกล่าวจะจำกัดขีดความสามารถของหัวเว่ยในการใช้เทคโนโลยี และซอฟต์แวร์ของสหรัฐ เพื่อการออกแบบ และผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของหัวเว่ยในต่างประเทศ
ทั้งนี้ บริษัทต่างชาติที่ใช้อุปกรณ์ผลิตชิปของสหรัฐจะต้องขอใบอนุญาตจากสหรัฐ ก่อนที่จะทำการส่งมอบอุปกรณ์ดังกล่าวให้กับหัวเว่ย
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐระบุด้วยว่า การประกาศดังกล่าวจะเป็นการสกัดกั้นความพยายามของหัวเว่ยในการบ่อนทำลายมาตรการควบคุมการส่งออกของสหรัฐ โดยทุกวันนี้ รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ถือว่า หัวเว่ย ซึ่งเป็นผู้นำเครือข่ายสื่อสารไร้สาย 5จีของโลก เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐ โดยเชื่อว่าอุปกรณ์ของหัวเว่ย อาจถูกใช้เพื่อทำการจารกรรมข้อมูลทางไซเบอร์ ซึ่งหัวเว่ยปฏิเสธข้อกล่าวหานี้มาตลอด
เมื่อเดือน พ.ค. ปีที่แล้ว สหรัฐได้ขึ้นบัญชีดำบริษัทหัวเว่ยและบริษัทในเครือ และสั่งให้บริษัทของสหรัฐที่ต้องการส่งออกสินค้าให้กับบริษัทที่ถูกขึ้นบัญชีดำเหล่านั้น จะต้องขอใบอนุญาตจากทางการสหรัฐ
ด้านหนังสือพิมพ์โกลบอล ไทม์ส ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนรายงานว่า จีนกำลังวางแผนที่จะดำเนินมาตรการตอบโต้สหรัฐเช่นเดียวกัน ซึ่งรวมถึงการประกาศรายชื่อบริษัทของสหรัฐในรายชื่อ “องค์กรที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ”
นอกจากนี้ มาตรการตอบโต้อื่น ๆ อาจรวมถึง การสอบสวน การกำหนดข้อจำกัดต่าง ๆ กับบริษัทของสหรัฐ อาทิ แอ๊ปเปิ้ล อิงค์ (Apple Inc.) และการระงับสั่งซื้อเครื่องบินจากบริษัทโบอิง (Boeing Co.)
ริชาร์ด หยู ประธานเจ้าหน้าที่บริหารประจำกลุ่มธุรกิจ หัวเว่ย คอนซูเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป เปิดเผยผ่านทางบัญชีวีแชท ซึ่งเป็นแอพส่งข้อความของจีนว่า การที่รัฐบาลสหรัฐกดดันให้บริษัททั่วโลกร่วมแบนการส่งออกชิปหรือเซมิคอนดัคเตอร์ให้กับหัวเว่ย ด้วยความหวังว่าจะสกัดหัวเว่ยออกจากห่วงโซ่อุปทานนั้น มีจุดประสงค์เดียวก็คือ เพื่อให้สหรัฐครองอำนาจด้านเทคโนโลยีของโลกต่อไปแต่เพียงผู้เดียว ไม่ได้มีเหตุผลด้านความมั่นคงอย่างที่อ้างไว้
ความพยายามล่าสุดของรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งกระทำผ่านทางกระทรวงพาณิชย์มีเป้าหมายเพื่อจำกัดการจำหน่ายชิปของบรรดาบริษัทผู้ผลิตนานาชาติให้กับหัวเว่ย ซึ่งการไม่สามารถเข้าถึงแหล่งผลิตชิปซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลายอย่างรวมทั้งอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมที่หัวเว่ยเป็นผู้ผลิตนั้น จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธุรกิจของหัวเว่ย
และหากคิดเป็นความสูญเสียด้านรายได้ก็คิดเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ เนื่องจากบริษัทต้องพึ่งพาซัพพลายเออร์จากต่างประเทศอยู่มาก และไม่อาจหาทางเลือกใหม่ได้ในระยะเวลาสั้นๆ
โฆษณา