25 พ.ค. 2020 เวลา 14:48 • ความคิดเห็น
Huaweiไม่ใช่แบรนด์จีน แบรนด์แรก ที่โดนอเมริกาขึ้นบัญชีดำ
ย้อนรอยเรื่องราว "เมื่อบริษัทไอทีจีน กลายเป็นหมากในเกมสงครามการค้าจีนอเมริกา อยู่ร่ำไป"
ภาพจาก www.pixabay.com
ตอนที่อ้ายจงทำวิจัยที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในเมืองซีอาน อ้ายจงอยู่ในแลปทางด้านโทรคมนาคม ซึ่งถือเป็นแลปแห่งชาติของด้านนี้ในจีน ทำให้มหาวิทยาลัย cooperateกับบริษัทไอทีและอุปกรณ์สื่อสารชั้นนำของจีน ไม่ว่าจะ Huawei และ ZTE ทำให้อ้ายจงสนใจเรื่องราวการต่อสู้ของแบรนด์เหล่านี้ในอเมริกามาตลอด จึงขอเล่าเรื่องนี้จากความเข้าใจของตนเองและตามข่าวในจีนมาตลอดนะครับ
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2018 ZTE บริษัทผู้ผลิตมือถือและอุปกรณ์สื่อสารในจีนรายใหญ่ของจีน โดนอเมริกากล่าวหาในกรณีคล้ายๆ กับ Huawei
1
คือZTE ถูกทางอเมริกา กล่าวหาว่าผลิตภัณฑ์ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของอเมริกา มีการติดตั้งระบบสอดแนม
รวมถึงในปี 2017 บริษัท ZTE ละเมิดมาตรการคว่ำบาตรประเทศเกาหลีเหนือและอิหร่านด้วยการส่งสินค้า ZTE ไปขายในสองประเทศนี้ ซึ่งอเมริกาชี้แจงว่า ให้โอกาส ZTE ในการแก้ไขปัญหาแล้ว โดย ZTE ก็เหมือนจะแก้ โดยยอมจ่ายค่าปรับให้แก่อเมริกา พร้อมกับลงโทษผู้บริหารที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดในครั้งนั้น
แต่ต่อมาอเมริกาพบข้อเท็จจริงบางอย่างว่า ทาง ZTE ยังคงมีการสนับสนุนผู้บริหารและพนักงานกลุ่มนั้นด้วยการให้โบนัส สื่อให้เห็นว่าข้อมูลที่ทางบริษัทจีนชี้แจงเป็นข้อมูลเท็จ
ในเดือนมีนาคม 2018 สหรัฐอเมริกาจึงตัดสินใจประกาศขึ้นบัญชีดำ พร้อมสั่งให้บริษัทอเมริกาเลิกทำการค้ากับ ZTE เป็นเวลา 7 ปี ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อทั้งตัวบริษัท ZTE เอง และบริษัทอเมริกา อย่างบริษัท Qualcomm ผู้จำหน่ายชิป Snapdragon แก่ ZTE มาเป็นเวลานาน
ปัญหา ZTE ในครั้งนั้นทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ไอทีของจีนรายนี้เป๋ไปเลยเหมือนกัน เพราะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจในอเมริกาเพียงอย่างเดียว การขายในประเทศจีน—ประเทศบ้านเกิดของตนเอง ก็ต้องหยุดขายชั่วคราว เนื่องจากประสบปัญหาอุปกรณ์ในการผลิตที่บางส่วนต้องใช้ของบริษัทอเมริกา แต่โดนแบนทำให้ใช้ไม่ได้ ซึ่งตอนนั้นมีข่าวหลุดออกมาจากวงใน ZTE ว่า มูลค่าความเสียหายจากการโดนอเมริกาแบนสูงถึง 2 หมื่นล้านหยวน หรือประมาณ 1 แสนล้านบาท
"โดยการแก้ปัญหาของ ZTE ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาของบริษัทเท่านั้น แต่ถือเป็นปัญหาระดับชาติ"
หากพูดถึงชื่อ ZTE คนไทยจำนวนไม่น้อยอาจจะไม่รู้จัก เพราะคนรู้จักแบรนด์นี้ในไทย ค่อนข้างมีน้อยกว่่า Huawei แต่ขอบอกเลยว่า " ZTE เป็นหนึ่งในหัวหอกสำคัญของการนำพาเทคโนโลยีจีนออกไปสู่ภายนอกตามนโยบาย Made in China 2025 เช่นเดียวกันกับ Huawei"
ทางรัฐบาลจีนจึงได้มีการเจรจากับรัฐบาลอเมริกาถึงการยกเลิกแบน ZTE ซึ่งในที่สุดจีนและอเมริกาบรรลุข้อตกลงยกเลิกแบน ZTE ในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน โดยมีรายละเอียดคือ
“ZTE ยอมเสียค่าปรับ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (พร้อมเงินประกัน 400 ล้านดอลลาร์เพื่อยืนยันว่าจะไม่ทำผิดซ้ำอีก) และเปลี่ยนบอร์ดบริหารเป็นชุดใหม่ภายใน 30 วัน รวมถึงความยินยอมให้รัฐบาลอเมริกาส่งทีมไปเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวทางธุรกิจของบริษัท”
เมื่อดูเงื่อนไขที่อเมริกายื่นให้ต่อจีน จะเห็นได้ว่า "เข้มและเขี้ยวสุดๆ" แต่ทางรัฐบาลจีนและ ZTEเอง ก็ยอมรับข้อตกลงเพื่อให้เทคโนโลยีจีนได้เดินหน้าต่อไปในตลาดโลก
แต่เมื่อมาถึงคิวของ "Huawei" ในปี2019 มีความแตกต่างจากคราวของ ZTE อยู่พอสมควร
เริ่มจากท่าทีของรัฐบาลจีนและ Huawei ที่ยืนยันมาตั้งแต่แรกว่า แม้อเมริกาจะแบน ก็ไม่ได้กระทบอะไรมาก เพราะทางจีนและHuaweiสามารถผลิตเทคโนโลยีและทำทุกอย่างได้เองหมด อนึ่งพันธมิตรก็มีไม่น้อย ทั้งบราซิล, รัสเซีย ต่างสนับสนุนที่จะใช้งานเทคโนโลยีHuawei
เป็นไปได้ว่าทั้งจีนและ Huawei ต่างได้เรียนรู้บทเรียนมาจากครั้ง ZTEแล้ว ว่าจะต้องรับมือและเตรียมพร้อมอย่างไรต่อเหตุการณ์เช่นนี้ อย่างน้อยก็เรื่องของอุปกรณ์ที่ Huawei ผลิตได้เองและเตรียมพร้อมไว้ ไม่เหมือนตอนZTEที่ประสบปัญหาอุปกรณ์ในการผลิตที่บางส่วนต้องใช้ของบริษัทอเมริกา แต่โดนแบนทำให้ใช้ไม่ได้ จนในจีนเองก็ต้องหยุดขายไปชั่วคราว
ในการแบน Huawei เมื่อ2019 ต่างจากZTEอีกจุดหนึ่งตรงที่ "กระแสค่อนข้างแรงกว่ามาก" หลายบริษัทในอเมริกาเองก็ไม่พอใจที่แบน เนื่องจากในโลกธุรกิจได้รับความเสียหาย อเมริกาภายใต้การนำของทรัมป์จึงโดนกดดันจากภายในบ้านตนเองด้วย
ก็ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า การกลับมาปะทุของสงครามการค้าจีนอเมริกาโดยมี Huaweiเป็นหมากตัวใหญ่ในเกมนี้ จะเป็นอย่างไรต่อไป แต่มีแนวโน้มมากว่า นี่ก็อาจไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่ อเมริกาภายใต้การนำของทรัมป์จะจุดสงครามการค้าขึ้นาาอีก แม้สุดท้ายรอบนี้จะเคลียร์กันได้ (แบบทุกครั้งที่ผ่านมา) ก็ตาม
#อ้ายจง #เล่าเรื่องเมืองจีน #ชีวิตในจีน
โฆษณา