25 พ.ค. 2020 เวลา 19:53 • ท่องเที่ยว
“ศาลหลักเมืองที่ไม่เหมือนใคร ต้นไม้ประจำจังหวัด สระน้ำศักดิ์สิทธิ์วัดกลาง”
นี่ไม่ใช่คำขวัญประจำจังหวัดใดนะคะ แต่เป็นจุดเริ่มต้น “ทัวร์บุรีรัมย์” ที่ใครก็ตาม เมื่อเลือกทัวร์กับไกด์ธันยาแล้ว ต้องไปเที่ยวชมเป็นรายการแรกค่ะ
เครดิตภาพ : เวปไซต์happyburiram
หลายคนที่มาเที่ยวจ.บุรีรัมย์ มักนึกถึงปราสาทหินพนมรุ้ง ปราสาทหินเมืองต่ำ สวนดอกไม้เพลาเพลิน หรือสนามกีฬาต่างๆในจังหวัดเป็นที่แรก และมุ่งตรงไปยังสถานที่ท่องเที่ยวในดวงใจทันที แต่หากท่านใดที่ซื้อทัวร์บุรีรัมย์ จากเวปไซต์เทคมีทัวร์ หรือจากเพจของธนพรทัวร์แอนด์วีซ่าเซอร์วิส ที่นำเที่ยวโดยไกด์ธันยา จะมีรายการท่องเที่ยวที่ระบุว่า สถานที่แรก เมื่อมาถึงบุรีรัมย์จะมีการนำนักท่องเที่ยวไม่ว่าจะไทยหรือต่างชาติ ไปกราบนมัสการ “ศาล(พระ)หลักเมือง” เพื่อความเป็นสิริมงคล ราบรื่นตลอดการเดินทาง และแนะนำให้รู้จักกับ “ต้นแปะ” ต้นไม้ประจำจ.บุรีรัมย์ และหากเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติจะนำเดินเลยไปอีกหน่อย เพื่อชมสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ บริเวณวัดกลางพระอารามหลวง
สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดกลางพระอารามหลวง
ปกติการนำชมสถานที่ต่างๆ ไกด์จะทำการพากย์ทัวร์โดยยึดเนื้อหาจากป้ายของกรมศิลปากรเป็นหลัก บ้างก็ป้ายของหน่วยงานท้องถิ่นที่ติดอยู่ ณ สถานที่แห่งนั้น ร่วมกับเนื้อหาที่อบรมมา จะไม่มีการนำเรื่องเล่าลือต่อๆกันมา มาพากษ์ทัวร์เด็ดขาด ดังนั้น ครั้งนี้จึงจะขออนุญาตทุกท่านนำเนื้อหาจากสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดบุรีรัมย์ มาเขียนแบ่งปันรายละเอียดสถานที่ให้ได้ทราบค่ะ
ศาลหลักเมืองบุรีรัมย์ ตั้งอยู่ใจกลางเมืองบุรีรัมย์ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองที่เคารพสักการะบูชาและเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ของชาวบุรีรัมย์ และจังหวัดใกล้เคียง แต่เดิมเป็นเพียงศาลที่มีขนาดเล็กๆ แต่พอเริ่มชำรุดทรุดโทรม ประชาชนชาวบุรีรัมย์จึงเห็นควรให้สร้างศาลหลักเมืองขึ้นมาใหม่ ในปี พ.ศ. 2548 โดยให้ทางกรมศิลปากร ช่วยทำการออกแบบ ในรูปแบบศิลปะขอมโบราณ ที่เลียนแบบมาจากปราสาทหินพนมรุ้ง เพื่อเป็นการบ่งบอกเอกลักษณ์และตัวตนของชาวบุรีรัมย์ ได้อย่างชัดเจน และที่สำคัญเป็นการรักษาวัฒนธรรมอันดีงามไว้ในคนรุ่นหลังได้สืบทอดกันต่อไป
ศาลหลักเมือง ในรูปแบบศิลปะขอม
สถาปัตยกรรมที่เห็นนี้เกิดจากฝีมือของช่างกรมศิลป์ เป็นรูปแบบศิลปะขอมประยุกต์ ที่รับอิทธิพลมาจากยุครุ่งเรืองในสมัยพระเจ้าสุริยะวรมันที่ 2 มองจากด้านนอกมียอดองค์ปรางค์ 5 ชั้น แต่ละชั้นประดับกลีบขนุน และเทพประจำทิศเพื่อคุ้มภัยรักษาทิศต่างๆเอาไว้ ตามคติความเชื่อ ส่วนองค์เรือนธาตุ เป็นที่ประดิษฐานพระหลักเมือง มีลักษณะชักมุขออกทั้ง 4 ด้าน มีความหมายถึง การกระจายความเป็นหลักฐานมั่นคงออกไปทั้ง 4 ทิศ ยอดศาลพระหลักเมืองติดตั้งรูปดอกบัว Stain Glass ประดับทองเพื่อนำแสงเข้าสู่หลักเมือง
หลักเมืองบุรีรัมย์
สำหรับ หลักเมือง นั้นประดิษฐานอยู่ที่ตำแหน่งตรงกลางองค์ปรางค์ แทนที่ตั้งเดิมของศิวลึงค์
ความแปลกประการหนึ่งคือ เสาหลักเมืองบุรีรัมย์ที่ปรากฏ มีอยู่ 2 ต้น มีข้อสันนิษฐานว่า เสาต้นที่ 1 (ต้นเอียง) เป็นเสาหลักเมืองที่ตั้งขึ้นเมื่อสร้างเมืองแปะ ส่วนเสาหลักเมืองต้นที่ 2 น่าจะเป็นเสาหลักเมืองที่ตั้งขึ้นเมื่อมีฐานะเป็น จังหวัดบุรีรัมย์และสร้างใกล้ชิดติดกัน
ระหว่างการก่อสร้างศาลหลักเมือง ทางจังหวัดยังดำเนินการสร้าง ‘ศาลเจ้าจีน’ พร้อมปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์รอบๆ ‘สระน้ำศักดิ์สิทธิ์’ ด้านหน้า ‘วัดกลางพระอารามหลวง’ ที่อยู่บริเวณเดียวกัน จนสวยสดงดงาม ทำให้ทั้ง ศาลหลักเมือง ต้นแปะ ศาลเจ้าจีน และสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ กลายเป็นสัญลักษณ์ ดั่งศาสนมณฑล เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ประจำจังหวัด ที่ถูกใช้ประกอบพิธีทางศาสนาอยู่สม่ำเสมอ แถมยังเป็น แลนมาร์คของเมืองบุรีรัมย์ ที่ใครมาก็จะต้องแวะเวียนมากราบสักการะทุกครั้งไป แถมส่วนใหญ่ยังกล่าวอีกว่า เป็นศาลหลักเมืองที่งดงามขึ้นกล้องมาก
ต้นแปะ ที่ปลูกโดยผู้ว่าราชการจังหวัด
สำหรับต้นแปะ ที่อยู่บริเวณหน้าศาลหลักเมืองนั้น เดิมทีเหลืออยู่เพียงแค่ 2 ต้น ในจังหวัด แต่ทางจังหวัดได้มีการส่งเสริมให้อนุรักษ์ฟื้นฟู ร่วมกันปลูกเพิ่มขึ้นมา เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของเมืองบุรีรัมย์ ที่เดิมมีชื่อว่า “เมืองแปะ” เนื่องจาก บริเวณศาลหลักเมืองแห่งนี้ เคยเป็นจุดที่พระยาจักรี ซึ่งต่อมาคือ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ใช้เป็นจุดพักรบ และ เห็นว่าบริเวณนี้เป็นทำเลที่เหมาะสม มีสระน้ำ มีต้นแปะขนาดใหญ่ เลยโปรดเกล้าให้ตั้งชื่อเมืองนี้ว่าเมืองแปะ ก่อนที่จะมาเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองบุรีรัมย์
ภาพและเนื้อหาอ้างอิง : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดบุรีรัมย์ กรมประชาสัมพันธ์
โฆษณา