26 พ.ค. 2020 เวลา 00:19
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไปของที่เคยหาง่ายกลายเป็นของหายาก ของที่เคยหายากกลายเป็นของหาง่าย
ลองมาดูตัวอย่าง ว่ามีอะไรที่เคยหายากแล้วตอนนี้หาง่ายบ้าง
พื้นที่สื่อ – สมัยก่อนคนที่มีสื่ออยู่ในมือนั้นมีอำนาจมหาศาล หนังสือพิมพ์ ทีวี วิทยุ ค่ายเพลง นิตยสาร แต่เดี๋ยวนี้แค่มีแล็ปท็อปและโซเชียลเน็ตเวิร์คคนธรรมดาก็กลายเป็นสื่อที่มีอิทธิพลได้เสียยิ่งกว่าสื่อสมัยเก่าเสียอีก
วิธีสร้างรายได้ของเด็ก – สมัยก่อนเด็กหกขวบจะทำอะไรได้นอกจากช่วยแม่ขายของ เดี๋ยวนี้เด็กหกขวบเป็น Youtuber ที่มีคนติดตามเป็นสิบล้านคนได้
การ์ตูนโป๊ – สำหรับผู้ชายวัยรุ่นเมื่อซัก 20-30 ปีที่แล้ว การ์ตูนอย่างมังกรซ่อนเล็บหรือวีดีโอเกิร์ล (ซึ่งถูกเซ็นเซอร์ตลอด) ถือเป็นการ์ตูนที่โป๊สุดๆ แล้ว มาสมัยนี้โป๊แค่ไหนก็มีให้ดูจนเบื่อ
คราวนี้ลองเปลี่ยนคำถาม ว่าอะไรที่เคยหาง่ายแล้วกลายเป็นของหายากบ้าง
ความผูกพันกับศิลปิน – อันนี้ผมอาจจะผิดก็ได้ แต่ผมมีสมมติฐานว่า ด้วยตัวเลือกที่หลากหลาย ด้วยความมาเร็วไปเร็วของทุกสิ่ง เด็กรุ่นใหม่อาจสูญเสียโอกาสที่จะสร้างความผูกพันกับศิลปินไปโดยปริยาย
สมัยก่อนค่ายเพลงใหญ่มีอยู่สองค่ายคือแกรมมี่กับอาร์เอส และจะเข็นศิลปินออกมาเป็นระลอก ให้เวลาศิลปินแต่ละคนได้มีแอร์ไทม์ประมาณหนึ่ง ถ้าพี่เบิร์ดออกอัลบั้มบูมเมอแรง เพลงของอัลบั้มนี้ก็จะถูกเปิดในทีวีและวิทยุเป็นเวลาติดต่อกันหลายเดือน คนรู้จักเพลงพี่เบิร์ดกันทั่วบ้านทั่วเมืองไม่ว่าจะเป็นบูมเมอแรง คู่กัด หมอกหรือควัน เราจึงมีความผูกพันกับเบิร์ด ธงไชยที่ต่อให้เวลาผ่านไปกี่สิบปีก็ยังผูกพันอยู่อย่างนั้น
และไอ้ความผูกพันนี่มันกินได้นานด้วย นูโว เจ-เจตริน ไมโคร อัสนี-วสันต์ บอย โกสิยพงษ์ ไม่ได้ออกอัลบั้มใหม่มานานเท่าไหร่แล้ว แต่ถ้าจัดคอนเสิร์ตผมว่าก็ยังมีคนตามไปดูเต็มความจุอยู่ดี (ก่อนเกิดโควิดน่ะนะ)
อีกข้อดีอย่างหนึ่งของการโตมากับสื่อที่เป็น mass อย่างทีวีและวิทยุ คือเรามั่นใจได้ว่าคนรุ่นเดียวกันก็จะรู้จักสิ่งเดียวกันกับเรา ถ้าผมดีดกีตาร์ร้องเพลงนูโว ผมมั่นใจว่าคนรุ่นราวคราวเดียวกับผมไม่ว่าจะมีพื้นเพมาจากไหนก็สามารถฮัมเพลงตามได้
แต่พอการฟังเพลงสมัยนี้มันเป็น long-tail มากขึ้น เป็น niche market มากขึ้น คนรุ่นราวคราวเดียวกันอาจจะตามศิลปินไม่เหมือนกันเลยก็ได้ ผมอาจเป็นเด็กอายุ 16 ที่คลั่งไคล้วง BNK48 มาก แต่ผมไม่อาจมั่นใจได้เลยว่านอกจากเพลงคุ้กกี้เสี่ยงทายแล้วเพื่อนๆ ในห้องจะร้องเพลงอื่นๆ ของ BNK48 ได้รึเปล่า
แถมศิลปินสมัยก่อนยังออกเทป ถ้าซื้อมาก็มักจะได้ฟังเพลงทั้งอัลบั้ม อาจจะกด fast forward ข้ามเพลงที่เราไม่ชอบบ่อยหน่อย หรือกด rewind เพื่อร้องเพลงที่เราชอบเยอะหน่อย แต่ประเด็นก็คือคนฟังกับศิลปินได้มีเวลาร่วมกันมากเพียงพอที่จะสร้างความผูกพันได้
ผิดกับสมัยนี้ที่ศิลปินออกเพลงมาเป็นซิงเกิลส์ และซิงเกิลส์เหล่านี้ก็จะไปถูกยำรวมกับศิลปินอีกนับสิบนับร้อยในเพลย์ลิสต์ของคนที่ฟังผ่าน Joox หรือ Spotify ความสัมพันธ์ของคนฟังกับศิลปินจึงไม่ต่างอะไรกับ one-night stand
ศิลปินยุคเก่าไม่ต้องมีผลงานใหม่เป็นสิบปีก็ยังมีแฟนคลับเหนียวแน่น ในขณะที่ศิลปินที่ดังเป็นพลุแตกในวันนี้ หากไม่มีผลงานออกมาเรื่อยๆ อีกไม่เกินสองปีก็น่าจะถูกลืมแล้ว ศิลปินสมัยใหม่จึงขาด longevity คือมาเร็วไปเร็วนั่นเอง
ขอพูดอีกหนึ่งตัวอย่างของของหาง่ายที่กลายเป็นของหายาก
เพลงแรกๆ ที่ผมได้ฝึกร้องสมัยเด็กคือเพลง “เต่า งู และกา” ที่ร้องว่า ก่อนแต่ครั้ง เก่าพอดู เต่ากับงูหากินในนา (จำได้แม้กระทั่งโน๊ตเพลง คือ โดเรมี โดเรมี โดเรมี ซอลฟามีเร)
ผมเคยร้องเพลงนี้ให้ลูกสาวฟัง แล้ววันหนึ่งลูกสาวก็อยากฟังเพลงนี้ในทีวี (ที่บ้านผมดู Youtube ทางทีวี) ผมก็เลยเปิดหาเพลงนี้ ได้วีดีโอแรกขึ้นมา ปรากฎว่าร้องผิดคีย์ พอเปิดวีดีโอตัวที่สองก็ร้องผิดคีย์อีก! ต้องเปิดตัวที่สามถึงจะพอฟังได้
Youtube เป็นนวัตกรรมที่เปิดพื้นที่ให้คนตัวเล็กๆ มีพื้นที่สื่อกับเขา สร้างรายได้ให้กับคนจำนวนไม่น้อย แต่ในขณะเดียวกัน สื่อที่มาจากมือสมัครเล่นมันก็มักจะไม่ค่อยได้เรื่องเท่าไหร่ ผมดูการแสดงบางอย่างในวีดีโอที่ลูกสาวผมดู (และมีคนติดตามนับแสนคน) ก็รู้สึกว่าแสดงได้แข็งมาก แข็งแบบที่เราจะไม่มีทางเห็นในละครหลังข่าวช่อง 3 หรือช่อง 7 เด็ดขาด (ต่อให้นักแสดงจะมือใหม่แค่ไหนก็ตาม) พอเป็นพื้นที่ที่ใครเข้ามาสร้างคอนเทนท์ก็ได้ คนดูก็เลยลดความคาดหวังและยอมรับมันไปโดยปริยาย
ใครที่เรียนสายวิทย์ น่าจะเข้าใจคอนเซ็ปต์ของ Signal กับ Noise
Signal คือสิ่งที่เรามองหา ส่วน Noise คือคลื่นรบกวน
ถ้า Signal คือทอง Noise ก็คือขยะ
ในโลกแห่งความจริง เราไม่สามารถหลบหลีก Noise ได้ สิ่งที่เราทำได้คือพยายามให้ Signal-to-Noise ratio มันสูงเข้าไว้
เมื่ออินเตอร์เน็ต สมาร์ทโฟน และโซเชียลมีเดีย ได้ทำให้ “สื่อ” ไปอยู่ในมือคนเล็กคนน้อย content creators จึงเกิดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะมีคนช่วยส่ง Signal มากขึ้น
แต่ปัญหาก็คือในมหาสมุทรของ content ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นนั้น Noise โตเร็วกว่า Signal มาก Signal-to-Noise Ratio เลยมีค่าต่ำลงอย่างน่าใจหาย
ในโลกที่เต็มไปด้วย Noise เรามีทักษะพอที่จะสร้างและสรรหา Signal หรือของที่มีคุณค่าและมีคุณภาพรึเปล่า นี่คือความท้าทายของคนทำสื่อและผู้บริโภคยุคนี้
ตามหลักเศรษฐศาสตร์ อะไรที่หาง่ายจะไม่ค่อยมีราคา อะไรที่หายากจะราคาดี
หลายๆ อย่างที่เคยหายากกลายเป็นของหาง่ายไปแล้ว มันจึงไม่ค่อยมีราคาอีกต่อไป แต่ของที่ขาดหายไปและคนต้องการนั้นยังมีอยู่เสมอ ถ้าเราสามารถจับจองของหายากนั้นได้ เหมือนที่ศิลปินรุ่นเดอะจับจองความผูกพัน หรือสื่อคุณภาพที่มี signal-to-noise ratio สูงกว่าสื่ออื่นๆ ก็น่าจะมีโอกาสที่จะอยู่ในโลกที่ผันผวนนี้ได้อย่างยั่งยืนครับ
ตามหาหนังสือ “ช้างกูอยู่ไหน” และ “Thank God It’s Monday” ได้ที่ whatisitpress และร้านหนังสือชั้นนำทั่วไปครับ
โฆษณา