26 พ.ค. 2020 เวลา 15:30
ปันน้ำใจ ปันความสุข ปันความรัก
Cr.ภาพ เพจอีจัน
วิกฤตจากโรคระบาด ผู้คนตกงาน ไร้งาน ไร้เงิน ไร้ปัจจัยในการดำรงชีวิตประจำวัน บางครอบครัวขาดแคลนอาหาร
เมื่อสถานการณ์โรคระบาดยังไม่มีทีท่าว่าจะเบาบาง จึงมีผู้ริเริ่มจัดทำโครงการ “ ตู้ปันสุข “ ด้วยการจัดข้าวสารอาหารแห้งใส่ไว้ในตู้ที่วางไว้ตามชุมชนเพื่อให้ผู้ที่ประสบภัยจากโรคระบาดได้นำไปรับประทานเพื่อบรรเทาในช่วงที่สภาวะของการระบาดของโรคยังไม่ส่างซา
ผู้คนที่ประสบกับความทุกข์ยากได้พากันมาเอาอาหาร น้ำดื่ม บางคนหยิบไปแต่พอประทังชีวิตและเหลือไว้ให้กับคนด้านหลังที่ต้องประสบเหตุเดียวกัน
ในขณะที่บางคน บางครอบครัวแสดงความเห็นแก่ตัวด้วยการนำถุงใบใหญ่มากอบโกยเอาอาหารแห้ง ขนม นม น้ำดื่มใส่ถุงขึ้นรถกลับบ้านไปหลาย ๆ ถุง
แต่ก็ยังมีผู้ที่ทำความดีอย่างไม่ย่อท้อในการนำอาหารและสิ่งของที่จำเป็นมาเติมเต็มในตู้แห่งความรัก ความสุข
เมื่อผู้เขียนยังเด็ก บ้านของผู้เขียนอยู่ที่จังหวัดทางภาคเหนือ หน้าบ้านติดถนนใหญ่ ตัวบ้านเป็นบ้านไม้สัก สมาชิกในบ้านมีหลายคนแต่ละคนมีหน้าที่ต่าง ๆกันตามคำสั่งของผู้ที่อาวุโสที่สุดในบ้าน
หน้าที่ของผู้เขียนคือนำน้ำมาเติมในหม้อดินเผาหน้าบ้านทุกวัน หม้อดินเผามีตะไคร่น้ำสีเขียวคล้ำจับ วางอยู่บนนั่งร้านหน้าบ้าน กระบวยตักน้ำทำจากกะลาใบน้อยขัดจนเป็นมันวางแขวนไว้ด้านข้าง
วันหนึ่งเล่น ๆอยู่หลังบ้าน พ่ออุ๊ยเรียกมาตีที่มือสามทีด้วยข้อหาที่ไม่ได้เติมน้ำ น้ำในหม้อดินเผาแห้งสนิท มีสามล้อปั่นมาแต่ไกลมาเปิดฝาหม้อดินแล้วไม่ได้ดื่มน้ำ
พ่ออุ๊ยมองมาพอดี จึงโดนทำโทษ พร้อมกับคำสอนที่บอกว่า “ คนเราทำมาหากินบนท้องถนนที่ร้อน ต้องอยากดื่มน้ำ เมื่อเปิดหม้อดินไม่เจอน้ำเขาจะรู้สึกอย่างไร อย่าไร้น้ำใจ ต้องแบ่งปันให้กับคนอื่นบ้าง “ คำสอนนั้นยังคงดังก้องอยู่ในใจมาตลอด แม้นว่าพ่ออุ๊ยจะลาลับไปนานแล้ว
ดังนั้น เมื่อมีโครงการ “ ตู้ปันสุข “ จึงเป็นโอกาสที่ดีในการแบ่งปันน้ำใจให้กัน ผู้ให้ย่อมมีความสุขในการให้ เป็นการแบ่งปันความสุขที่มีให้กันในยามที่วิกฤต ซึ่งมีทั้งผู้ให้ และ ผู้รับ ในขณะเดียวกัน ผู้ที่เคยรับ จะกลับมาเป็นผู้ให้ในโอกาสต่อไป เป็นการจุนเจือที่มีความสุข
ในคัมภีร์พระไตรปิฏก กล่าวถึงอานิสงส์ของการให้ทาน อานิสงส์ในที่นี้หมายถึงผลของการกระทำ เมื่อได้มีจิตที่จะทำบุญด้วยการให้สิ่งของที่หามาด้วยตนเอง
ครั้งหนึ่งที่พระโมคคลานะเถระ ได้แสดงอิทธิฤทธิ ไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ท่านได้เจอเทพบุตรที่มีวิมานแก้วที่สว่างไสว รายล้อมไปด้วยปราสาทที่มีเสาทำด้วยแก้วไพทูรย์ ปูลาดพื้นด้วยทองคำ
พระเถระจึงถามเทพบุตรว่าทำบุญด้วยอะไร เทพบุตรตอบพระมหาเถระด้วยความปลาบปลื้มใจว่า เมื่อตอนเป็นมนุษย์ ได้เห็นพระภิกษุลำบาก อดอยาก จึงได้ถวายอาหารพร้อมเครื่องไทยทาน เมื่อได้ละภพมนุษย์ จึงได้มาเสวยสุขที่วิมานแห่งนี้
ในพระสูตร ธนปาลเปตวัตถุ กล่าวถึงบุพกรรมที่มาเสวยทุกขเวทนาที่ต้องมาเกิดเป็นเปรต
ธนปาลเศรษฐี เป็นผู้ที่มั่งคั่ง ไม่รักในการทำทาน รังเกียจคนยากจน ไม่มีศรัทธาในการทำทานไม่เชื่อในอานิสงส์ของการทำทาน ทำลายศรัทธาของผู้ที่ต้องการทำทานไม่ให้เชื่อในผลของบุญนั้น ทำลายสระน้ำ สวนผลไม้ สะพาน สวนสาธารณะ
โดยที่เข้าใจว่าการเก็บทรัพย์ที่ดีคือต้องไม่ให้ทรัพย์กับใคร ๆ เมื่อตายไปจึงไปเกิดเป็นเปรตที่มีเปลวเพลิงล้อมอยู่ตลอดเวลาและหิวโหยเป็นเวลาถึง 55 ปี
กล่าวโดยสรุป
ในพระไตรปิฎกได้กล่าวถึงอานิสงส์ของการให้ทาน
อานิสงส์แห่งการให้ทาน 5 ประการนี้
1. ผู้ให้ทานย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของชนหมู่มาก
2.สัปบุรุษผู้สงบย่อมคบหาผู้ให้ทาน
3.กิตติศัพท์อันงามของผู้ให้ทานย่อมขจรทั่วไป
4. ผู้ให้ทานย่อมไม่ห่างเหินจากธรรมของคฤหัสถ์
5.ผู้ให้ทานเมื่อตายไปแล้วย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
เมื่อมีการเข้าใจผิดคิดว่าการไม่สละทรัพย์เป็นการเก็บทรัพย์ที่ดีที่สุด ในพระไตรปิฏกกล่าวถึงการเก็บทรัพย์ดังนี้
“ ....การสงวนทรัพย์ คือไม่ให้แก่ใครๆ เป็นความพินาศของสัตว์ทั้งหลาย ความฉิบหายก็คือความสงวนทรัพย์ ได้ยินว่า เปรตทั้งหลายรู้ว่า การสงวนทรัพย์ คือการไม่ให้แก่ใครๆ เป็นความพินาศ.
เมื่อก่อน ข้าพเจ้าสงวนทรัพย์ไว้ เมื่อทรัพย์มีอยู่เป็นอันมาก ไม่ให้ทาน เมื่อไทยธรรมมีอยู่ ไม่ทำที่พึ่งแก่ตน ข้าพเจ้าได้รับผลแห่งกรรมของตน จึงเดือดร้อนในภายหลัง...”
ดังนั้น ผู้ที่มีใจเป็นกุศลจึงอิ่มเอิบอาบความสุขด้วยบุญแห่งการให้ทาน เป็นการเติมความรัก แบ่งปันความสุขในยามวิกฤติ สังคมที่แบ่งปันย่อมเป็นเป็นสังคมที่เป็นสุข
ในที่สุด
Cr:ภาพ www.webkal.org
คำสำคัญ :ปันน้ำใจ ปันความสุข ปันความรัก
Cr.Arayadusit
Refer:
พระไตรปิฎก เล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14
อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เรื่อง ทานานิสังสสูตร
พระไตรปิฎก เล่มที่ 26 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 18 ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา เรื่อง ภิกขาทายกวิมาน
ว่าด้วยผลบุญที่ทำให้ไปเกิดในภิกขาทายกวิมาน
พระไตรปิฎก เล่มที่ 26 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 18 ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา เรื่อง ธนปาลเปตวัตถุ
ว่าด้วยบุพกรรมของธนปาลเปรต
โฆษณา