27 พ.ค. 2020 เวลา 00:48
องค์กรที่ดีต้องมีทั้ง Superstars และ Rockstars
Kim Scott ซึ่งเคยเป็นผู้บริหารที่ Google และ Apple ได้กล่าวไว้ในหนังสือ Radical Candor ว่า องค์กรต้องมีทั้ง Superstars และ Rockstars
Superstars คือคนที่เป็นดาวรุ่ง ทำงานเก่ง มีความทะเยอะทะยาน คนเหล่านี้ต้องการความท้าทายใหม่ๆ อยู่เสมอ
ส่วน Rockstars นั้นเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่สำคัญต่อองค์กรมากๆ แต่เราไม่ค่อยนึกถึง โดย “rock” ในที่นี้คิมสก๊อตบอกว่าไม่ใช่ “เพลงร็อค” แต่หมาย “ภูผา”
ภูผาแสดงถึงความมั่นคงแข็งแรงฉันใด Rockstars ในองค์กรก็มีความมั่นคงและแข็งแรงฉันนั้น คนที่เป็นร็อคสตาร์นั้นทำงานของตัวเองได้ดี เข้าใจเนื้องานที่ตัวเองทำ สนุกกับงาน แต่ไม่ได้ต้องการจะไต่เต้าขึ้นไปในองค์กรเหมือนซูเปอร์สตาร์ เพราะร็อคสตาร์อาจจะมีบางอย่างที่เขาให้ความสำคัญมากกว่า เช่นครอบครัวสุขภาพ งานอดิเรก
วิธีการจัดการ Superstars กับ Rockstars จึงต่างกัน
พวก Superstars ต้องการแสดงผลงาน ต้องการความก้าวหน้า ต้องการความรับผิดชอบที่มากขึ้น (และค่าตอบแทนที่สูงขึ้น) ดังนั้นองค์กรจึงต้องพยายามหางานใหม่ๆ ป้อนให้เขา ไม่อย่างนั้นเขาอาจจะไปแสวงหาความก้าวหน้าแลความท้าทายที่อื่นแทน
ส่วน Rockstars นั้นตรงกันข้าม แม้จะทำงานได้ดี แต่พวกเขาให้ค่ากับ “เสถียรภาพ” หรือ stability มากกว่า ถ้าองค์กรรีบไปโปรโมตหรือจับเขาทำอะไรที่ไม่อยากทำ องค์กรก็อาจจะเสียคนทำงานฝีมือดีไป ไม่ใช่เพราะเขาลาออก แต่เพราะเขาอาจทำงานใหม่ได้ไม่ดีและกลายเป็นพนักงานที่มี engagement ต่ำ ดังนั้นการดูแล ร็อคสตาร์ที่เหมาะสมคือการ recognize และให้เกียรติคนเหล่านี้โดยไม่จำเป็นต้องไปประเคนความรับผิดชอบอะไรให้เขาเพิ่ม
องค์กรจำเป็นต้องมีคนทั้งสองประเภท ต้องมี Superstars ที่พร้อมจะลองทำสิ่งใหม่เพื่อให้ธุรกิจเติบโตกว่าเดิม แต่องค์กรก็จำเป็นต้องมี “กองกลางตัวรับ” ที่แข็งแกร่งอย่าง Rockstars เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้โดยไม่มีสะดุด ถ้าให้ความสำคัญแต่กับซูเปอร์สตาร์ ก็จะมีโปรเจ็คใหม่ๆ มากมายที่ถูกทิ้งไว้กลางทาง เพราะซูเปอร์สตาร์นั้นอยู่กับอะไรนานๆ ไม่ได้เหมือนร็อคสตาร์
จัดการคนเก่งให้ถูกวิธี ดาวดีๆ จะได้ไม่ออกไปนอกวงโคจรครับ
—–
ป.ล. คนไทยอ่านแล้วคงมีคำถามต่อว่า แล้วพวก dead stars หรืออุกกาบาตนี่ต้องทำยังไง อันนี้คุณคิม สก๊อตไม่ได้เขียนเอาไว้ แต่พวกเราก็รู้คำตอบอยู่แก่ใจ เหลือแค่ว่าจะกล้าทำในสิ่งที่ควรทำรึเปล่าเท่านั้นเอง
โฆษณา