27 พ.ค. 2020 เวลา 06:38
วิชาจิ๋ว (micromastery)
ช่วงโควิดเป็นช่วงที่มีทั้งโอกาสในการทดลองทำอะไรใหม่ๆและเป็นทั้งภาคบังคับที่ควรจะลองอะไรใหม่ๆอีกด้วยเพราะสถานการณ์ช่างไม่แน่นอนเหลือเกิน บางคนอาจจะลองทำอะไรเพราะโลกเปลี่ยนเร็ว ควรจะรู้อะไรเพิ่มเติมบ้าง หรือหลายคนก็อาจจะคิดฝันไปถึงกระทั่งหาอาชีพเสริมหรืออาชีพใหม่เลยด้วยซ้ำเพราะงานที่ทำอยู่อาจจะได้รับผลกระทบมากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป
แต่จุดเริ่มต้นในการทำสิ่งใหม่ๆให้ดีจนอาจจะกลายเป็นอาชีพหรือทำให้เรามีทักษะเพิ่มเติมได้นั้นเราควรจะเริ่มตรงไหนอย่างไรดี เพราะการเรียนรู้อะไรใหม่ๆมันก็ไม่ง่าย อายุมากแล้วก็ยิ่งไม่สนุกเท่าไหร่ จะหา passion แรงๆที่ใครๆเขาบอกกันว่าต้องมีซึ่งเราเองก็ยังงงๆกับตัวเองหรือจะต้องฝึกกฎหมื่นชั่วโมงที่ใครๆบอกกันว่าจะทำให้เก่งได้ก็ไม่ได้มีเวลาขนาดนั้น…
ผมได้แรงบันดาลใจเล็กๆจากการคิดจะทำอะไรใหม่ๆที่ไม่เคยทำมาก่อนในชีวิตในช่วงก่อนโควิด แล้วได้มาลองฝึกวิชานี้ช่วงโควิดจากการอ่านหนังสือชื่อวิชาจิ๋ว (micromastery) ที่เขียนโดยคุณ robert twigger และแปลโดยคุณกัญญ์ชลาของสำนักพิมพ์ openbooks อ่านแล้วก็ตามไปฟังที่คุณโรเบิร์ตบรรยายไว้เพื่ออยากเข้าใจให้มากขึ้น
คุณโรเบิร์ตเล่าถึงตัวเองที่เริ่มหมดสนุกกับการเรียนหรือการทำอะไรใหม่ๆ เพราะท้อกับหลายคนที่บอกว่าจะเริ่มทำอะไรใหม่นั้นต้องหา passion ให้เจอให้ได้ก่อน แถมก็มีกฎที่ทุกคนบอกว่าอยากทำอะไรให้ดีต้องทำซ้ำให้ได้หมื่นชั่วโมงถึงจะดีได้ ต้องทำสองชั่วโมง ห้าวันต่ออาทิตย์ก็ต้องใช้เวลายี่สิบปี แค่คิดก็ไม่อยากทำแล้ว
2
คุณโรเบิร์ตเลยเริ่มสังเกตระบบการศึกษาทั่วไปมักจะออกแบบจากความรู้ก้อนใหญ่ๆแล้วมาซอยแบ่งให้เรียนจากบทเริ่มต้น ไปจนถึงระดับแอดวานซ์แล้วค่อยๆสะสมจนรู้ทั้งหมดซึ่งใช้เวลานานมาก แต่ถ้าลองสังเกตเด็กๆตามธรรมชาติว่าเขาเรียนรู้เรื่องต่างๆได้อย่างไร เด็กๆไม่ได้เรียนรู้อะไรจากขั้นพื้นฐานแล้วค่อยๆไต่ไปเป็นสเตป แต่เด็กๆเริ่มจากคิดว่าจะเรียนท่าเท่ห์ๆอะไรที่ไปอวดเพื่อนได้ เช่นถ้าจะหัดเล่นสเกตบอร์ด ก็จะเริ่มจากพยายามทำท่ายากหมุน 360 องศาให้ได้ท่าเดียว และพอได้แล้วเพื่อนถามก็บอกว่าเล่นเป็นละ พร้อมทำท่า 360 ให้ดู เพื่อนก็จะโอ้โห เด็กๆก็ภูมิใจอยากหัดท่าอื่นต่อ
คุณโรเบิร์ตบอกว่า ในทุกเรื่องของการเรียนรู้ มันจะมีเหมือน dna ของวิชานั้นๆที่ถ้าเรียนได้จะเข้าใจทักษะที่จะขยายต่อได้ เช่นช่างทำตู้ที่เก่งมากๆเล่าว่าถ้าสามารถทำไม้เป็นลูกบาศก์สวยงามได้ ก็จะพร้อมที่จะเป็นช่างทำตู้ที่เก่งได้ หรือช่างทำหุ่นขี้ผึ้งที่มาดามทุโซด์ ไม่ได้ต้องพยายามเรียนรู้การทำบอดี้ทั้งตัว แต่เริ่มจากการปั้นหัวกะโหลกเล็กๆหลายๆรูปแบบ ทำไปเรื่อยๆนั่นคือหัวใจของการปั้นหุ่นขี้ผึ้ง หรือมีเชฟเก่งๆบอกคุณโรเบิร์ตว่าเชฟจะเก่งได้นั้นเขาดูกันที่ว่าต้องทำออมเล็ตให้เก่งก่อน ถ้าทำออมเล็ตได้ดีแล้วเดี๋ยวก็จะแตกแขนงไปทำอาหารอย่างอื่นได้เอง
นี่คือการเริ่มต้นอีกทางที่ไม่ต้องมี passion อย่างแรงกล้าหรือต้องทุ่มเทหมื่นชั่วโมง เราก็จะเริ่มต้นได้ไม่ยากจากวิชาจิ๋วที่สำคัญในแขนงนั้นๆก่อน เช่นการทำออมเล็ตให้ดี หรือคุณโรเบิร์ตยกตัวอย่างถ้าเราอยากเรียนการวาดพู่กันแบบญี่ปุ่นซึ่งเป็นศิลปะที่ยากมาก ต้องเริ่มต้นจากการวาดวงกลมให้สมบูรณ์ได้ก่อน ถ้าวาดวงกลมได้สมบูรณ์ได้ก็จะเป็นฐานที่สำคัญที่ต่อยอดได้
1
เคล็ดลับอยู่ที่ entry trick ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระดับเซียนในเรื่องนั้นๆจะแอบกระซิบบอกเราได้ เช่นการวาดวงกลมให้สมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญบอกให้จับปากกาสูงกว่าปกติอีกหน่อย และใช้แขนวาด ไม่ใช่ข้อมือวาด จะวาดได้กลมขึ้นกว่าปกติมาก หรือปากกาบางรุ่นจะดีกว่า พอเราทำได้ก็จะเริ่มเอาไปอวดได้ ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นในการเรียนรู้ที่ดี
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำท่า eskimo roll ได้ในการพายคายัก หรือเทคนิคการทำออมเลตที่อย่าใส่โอลีฟออยล์เยอะแล้วต้องแยกไข่ขาวมาตีก่อนไข่จะหนานุ่มเป็นสองเท่า เป็นต้นนั้นจะมีเทคนิคเล็กๆน้อยๆเสมอ คุณโรเบิร์ตเริ่มอินจากการทำออมเลต เริ่มไปดูทริกต่างๆใน youtube ซึ่งเขาบอกว่ามีทริกง่ายๆ (entry trick) อยู่เยอะมากให้เราสามารถ level up มาใกล้เคียงกับเชฟจริงๆได้โดยไม่ต้องไปเรียนกอร์ดอนเบลอสองปี (อันนี้ผมเติมเอง) แล้วพอเราทำออมเลตอร่อย เพื่อนๆชอบ เราก็อยากจะทำอีกแล้วก็อยากจะลองทำอาหารอย่างอื่นได้ต่อไป
1
หัวใจของวิชาจิ๋วนี้คือการหาอะไรที่ทำซ้ำได้และทดลองได้ วิชาจิ๋วจะทำให้การเรียนรู้สนุกขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับพยายามยัดทักษะหรือคอร์สทั้งหมดลงในหัว วิชาจิ๋วแค่เรียนรู้ทักษะพอที่จะสนุกได้กับสิ่งที่ทำเท่านั้น แล้วทดลอง พลิกแพลงได้เรื่อยๆ หัวใจของการเรียนรู้อยู่ตรงนี้ เป็นสิ่งที่วิชาจิ๋วทำให้เราได้พาตัวเองกลับมาสนุกแบบเด็กๆอีกครั้ง ถ้าอยากจะเริ่มต้นอะไรใหม่ๆในตอนนี้
2
ในหนังสือมีตัวอย่างสนุกมากมาย ตั้งแต่ออมเลตที่พูดไปแล้วถึง entry trick ในการเรียงหิน ศิลปะการต่อสู้ การถ่ายรูป การวาดภาพ การผ่าฟืน ยืนโต้คลื่นบนบอร์ด ก่อกำแพงอิฐ ปีนเชือก เขียนบทง่ายๆ ปั้นกะโหลกจากดินเหนียว อบขนมปัง ถักเชือก เตะบอล เรียงฟืน เล่นกล ปลูกบอนไซ จุดไฟ คัดลายมือ เรียนภาษาญี่ปุ่นในสามชั่วโมง นำคนเดินป่า ทำคราฟเบียร์ ตัดเสื้อใส่เอง ฯลฯ เป็นเรื่องที่น่าสนุกทั้งนั้น โดยทุกเรื่องมี entry trick หรือชวนเราไปหาจากผู้เชี่ยวชาญซึ่งเดี๋ยวนี้หาดูได้ง่ายมากตาม social media ซึ่งการลองวิชาจิ๋วใหม่ๆนอกจากอาจจะพาเราไปสู่ทักษะที่ใหญ่ขึ้นแล้ว ความสนุก ความเท่ห์ระหว่างทาง และประโยชน์อื่นๆที่เราได้ทำอะไรออกจากสิ่งที่คุ้นชินนั้นก็คงมีเป็นอย่างมาก แต่สิ่งที่ผมคิดว่าวิชาจิ๋วมีประโยชน์มากที่สุดคือสิ่งที่อยู่ในบทนำของหนังสือ
1
ในบทนำของหนังสือ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เขียนเกริ่นให้หนังสือเล่มนี้โดยมีความบางตอนว่า
1
“ หลวงพ่อปราโมทย์ วิปัสสนาจารย์ชาวไทย กล่าวว่า สมาธิหาใช่สิ่งอื่นใด หากคือการทำสิ่งที่สุขใจให้จดจ่อยาวนาน จนจิตอยู่ในอาการตั้งมั่น นี่คือเคล็ดลับสำคัญเบื้องต้นของการทำสมาธิธรรมดา โดยมิต้องหลับตา ภาวนา หรือท่องบ่นคาถาใดๆ
1
วิชาจิ๋ว นั้นมิได้สอนให้เราทำเรื่องยิ่งใหญ่เช่นการปฏิวัติยุคสมัยหรือพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ หากแต่ให้เราลองเริ่มต้นฝึกทักษะเล็กๆอันเรียบง่าย ฝึกแล้วฝึกเล่า เฝ้าฝึกวิชาเหล่านั้นจนกระทั่งเป็นเซียนในศาสตร์เล็กๆนั้น
1
เมื่อจิตใจจดจ่อจนก่อให้เกิดสมาธิ ก็จะก่อให้เกิด “สภาวะลื่นไหล (flow) ซึ่งศิลปิน นักสร้างสรรค์ กระทั่งนักวิทยาศาสตร์มี
นี่คือภวังค์ที่มนุษย์ใช้เรียนรู้วิชาและปัญญาขั้นสูง
วิชาจิ๋วจึงคือคำตอบ คือจุดเริ่มต้น ที่คนธรรมดาอย่างพวกเราจะใช้เป็นเครื่องมือฝึกฝนตนเองอย่างเรียบง่ายและเป็นวิธีที่จะทำให้เราใช้ชีวิตอย่างองอาจกล้าหาญกับการเริ่มต้นทักษะใหม่ๆอันจะนำไปสู่พรมแดนที่เราไม่เคยก้าวเดินไปถึงมาก่อน…”
……
1
ผมพยายามฝึกวิชาจิ๋ววิชาหนึ่งมาตั้งแต่ก่อนโควิด ลองผิดลองถูกแล้วพอลองทำไปได้ซักพักก็ได้ผลดี ทั้งมีคนชอบอยู่บ้างทำให้อยากทำให้ดีต่อและทักษะที่เพิ่มขึ้นจากการทำซ้ำ ทำให้เมื่อก่อนกว่าผมจะทำงานแบบนี้ได้ สองอาทิตย์กว่าจะผลิตได้หนึ่งชิ้นก็แทบจะถูกลากถูกทวงมาอย่างทรมาน จนตอนนี้กลายเป็นได้ลองทำทุกวันและก็ทำมาได้ติดต่อกันหลายเดือนแล้วอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งทักษะนี้ก็ช่วยทำให้ผมได้ทำประโยชน์ให้องค์กรที่ผมสังกัดในช่วงโควิดที่ต้องการร่างประกาศ เขียนชี้แจงอะไรต่างๆมากมายให้สาธารณชน ที่ต้องการทั้งความเข้าใจและความเร็วได้อีกด้วย
และที่สำคัญอย่างที่ภิญโญบอก ตอนที่ทำงานแต่ละชิ้น มันเหมือนกับอยู่ในภวังค์ ผมทำงานหนึ่งชิ้นทุกวันแบบสภาวะลื่นไหล ทำรวดเดียวจบโดยที่ไม่รู้สึกวอกแวกกับสิ่งรอบข้าง เป็นช่วงที่สงบและมีสมาธิมากๆ ซึ่งน่าจะเป็น flow ของสมาธิที่ภิญโญพูดถึงนั่นเอง
วิชาจิ๋วของผมที่ได้ฝึกฝนมาในช่วงห้าเดือนก็คือการเขียนบทความมาแล้วร้อยห้าสิบบทความ โดยพยายามหัดเขียนทุกวันวันละหนึ่งบทความ รวมถึงบทความนี้ในวันนี้ด้วยครับ ..
โฆษณา