27 พ.ค. 2020 เวลา 07:35 • ประวัติศาสตร์
ย้อนรอยประวัติศาสตร์พม่า เมื่อ “หงสา” ไร้บุเรงนอง, บ้านเมืองวิกฤตถึงขั้น “คนกินกันเอง-ฝรั่งตั้งตนเป็นเจ้า”
วันนี้เรามาคุยเรื่องประวัติศาสตร์ต่างบ้านต่างเมืองอย่างพม่ากันบ้าง หลายท่านอาจเคยรู้จักผู้ชนะสิบทิศอย่างบุเรงนองมาเเล้ว เรื่องราวจะเป็นอย่างไรติดตามอ่านกันได้เลยครับ
"พระราชประวัติโดยย่อ"
พระเจ้าบุเรงนอง ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2058 ก่อนพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้เพียง 1 เดือน ตามความเชื่อของคนทั่วไป เชื่อว่าพระนามดั้งเดิมของพระองค์คือ "จะเด็ด" (ตามนิยายผู้ชนะสิบทิศ) แต่ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พระนามดั้งเดิมของพระองค์อาจออกเสียงว่า "จะเต็ด" โดยอาจแปลได้ว่า "เจ้าปลวกไต่" (จะ หมายถึง ปลวก, เต็ด หมายถึง ไต่ หรือ ป่ายปีน) และมีอีกหนึ่งหลักฐานที่ระบุว่า พระนามดั้งเดิมคือ "ฉิ่นแยทุต" โดยแปลได้ว่า "เจ้ายอดผู้กล้า" (ฉิ่น เป็นคำที่เรียกหน้าชื่อบุคคลสำคัญ แย หมายความว่า กล้าหาญ และ ทุต อาจแปลได้หลากหลาย แต่ในบริบทเช่นนี้ควรแปลว่า ยอด)
1
พระเจ้าบุเรงนอง ในนิยายผู้ชนะสิบทิศ กำเนิดเป็นบุตรของสามัญชนที่มีอาชีพปาดตาล แต่ข้อเท็จจริงแล้ว พระองค์เองมีเชื้อกษัตริย์ในตัว โดยเป็นบุตรชายของเมงเยสีหตู (สำเนียงพม่าออกว่า มินแยตี่หะตู่) ขุนนางระดับสูงผู้หนึ่งของพระเจ้าเมงจีโย พระราชบิดาของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ เมงเยสีหตูผู้นี้ เชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้ร่วมสถาปนาอาณาจักรตองอูร่วมกับพระเจ้าเมงจีโย และได้รับการอวยยศเป็นถึง เจ้าเมืองตองอู เมืองหลวงอีกด้วย
ในวัยเยาว์ พระเจ้าบุเรงนองเติบโตมาพร้อมกับพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ แม้มิได้เป็นพระญาติกันโดยสายเลือด แต่ทั้ง 2 ก็มีความผูกพันกันเหมือนพระญาติ เนื่องจากเมงเยสีหตูบิดาของพระเจ้าบุเรงนองก็เป็นบุคคลที่พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้เคารพ โดยมีฐานะเป็นถึงพระอาจารย์ที่ปรึกษาขุนนางคนสำคัญ และมีสถานะอีกด้านเป็นพระสัสสุระ (พ่อตา) ของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ด้วย โดยบุตรสาวของเมงเยสีหตูก็เป็นมเหสีองค์หนึ่งของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ และพระพี่นางของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้นามว่าพระนางอตุลสิริมหาราชเทวีก็เป็นมเหสีอีกองค์หนึ่งของพระเจ้าบุเรงนองด้วยเช่นกัน
1
พระเจ้าบุเรงนองผู้ชนะสิบทิศกษัตริย์แห่งราชวงศ์ตองอูยิ่งใหญ่มหาศาลเพียงใดคงไม่ต้องสาธยายมาก คนไทยก็รับรู้โดยทั่วกันอยู่แล้ว แม้ว่า บุเรงนองจะเป็นเจ้าต่างชาติต่างเผ่า แต่คนไทยก็ให้ความชื่นชมในตัวกษัตริย์แห่งหงสาวดีพระองค์นี้ไม่น้อย วรรณกรรมเกี่ยวกับพระองค์ในภาคภาษาไทยจึงยังฉายภาพของพระองค์ในเชิงบวกอยู่
1
แต่อาณาจักรอันยิ่งใหญ่ของพระองค์มีอายุที่สั้นยิ่งนัก เมื่อนันทบุเรงขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดา พระองค์มิได้มีอำนาจบารมีเทียบเท่า เจ้าบ้านเมืองอื่นที่เคยอ่อนน้อมก็พากันแข็งข้อ ซึ่งพระองค์ก็ทรงปราบปรามอย่างรุนแรง ดังที่พ่อค้าชาวเวนิช กัสเปโร บัลบี (Gaspero Balbi) ที่อยู่ในหงสาวดีขณะนั้น อ้างว่าพระองค์ได้สั่งประหารประชาชนกว่า 4 พันรายที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนกบฏขอเจ้าเมืองอังวะ ส่วนชะตากรรมของเจ้าแห่งอังวะนั้นบ้างก็ว่าตายหลังพ่ายแพ้ในศึกชนช้างกับนันทะบุเรง แต่บ้างก็อ้างว่าหลบหนีไปอยู่เมืองจีนจนเสียชีวิตที่นั่น
การทำสงครามกับสยามหลายครั้งยังสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างหนักเนื่องจากกองทัพหงสาต้องสูญเสียอย่างใหญ่หลวงจากการพ่ายแพ้ให้กับกองทัพพระนเรศวรในแทบทุกครั้ง รวมถึงการสูญเสียชีวิตของพระอุปราชแห่งหงสา โอรสของนันทะบุเรงเองด้วย
2
ความพ่ายแพ้ครั้งแล้วครั้งเล่าให้กับอยุธยา และการแปรพักตร์ของอดีตพันธมิตรของพระองค์ ยิ่งทำให้นันทะบุเรงทรงดำเนินมาตรการกระชับอำนาจมากยิ่งขึ้น มีบันทึกว่าพระองค์ทรงใช้อำนาจกดขี่ชาวมอญอย่างหนัก จนทำให้ชาวมอญหลบหนีมาพึ่งบารมีกษัตริย์แห่งอยุธยาเป็นจำนวนมาก
1
ในปี ค.ศ.1595 (พ.ศ. 2138) อังวะ แปร และตองอู ได้พากันแข็งเมือง ด้านเจ้าเมืองยะไข่ก็ได้ส่งกองเรือรบมาเล่นงานราชอาณาจักรหงสาวดีเพื่อล้างแค้นสมัยที่บุเรงนองเคยบุกมารุกราน ปีถัดมา กองทัพยะไข่ก็สามารถยึดสิเรียม เมืองท่าหลักของหงสาวดีได้สำเร็จ ก่อนเคลื่อนทัพไปยังกรุงหงสาวดีที่กองทัพตองอูกำลังล้อมโจมตีอยู่ ด้านพระนเรศวรก็ทรงกรีฑาทัพตามมาเช่นกัน แต่มาไม่ทัน หงสาวดีถูกตีแตกไปก่อน ตองอูและยะไข่จึงจัดสรรส่วนแบ่งที่ได้จากการปล้นสะดมหงสาวดีกันเพียง 2 ฝ่าย ก่อนเผาเมืองทิ้ง ส่วนทัพอยุธยาที่ตามมาทีหลังก็ได้เพียงยึดเมืองทวายและเมาะตะมะก่อนตั้งให้ผู้นำชาวมอญเป็นผู้ปกครองแทน
การตกอยู่ในภาวะสงครามตลอดเวลา ทำให้หงสาวดีตกอยู่ในสภาพที่ยากแค้น ท้องทุ่งที่ทำการเกษตรถูกทำลายจนเกิดภาวะอดอยากถึงขนาดที่คนต้องกินคนกันเอง ซึ่งในบทความเรื่อง “หงสาวดี: เมืองของผู้ชนะ 20 ทิศ” โดย พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2543 ได้ยกบันทึกของนักบวชคณะเยซูอิตถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า
1
“…ถึงกับว่าพวกเขาต้องกินกันเอง และภายในตัวเมืองพะโคมีหญิงชายลูกเล็กเด็กแดงอยู่อาศัยเหลือไม่เกินสามหมื่นคน นับเป็นภาพที่น่าเศร้าใจที่ได้เห็นซากปรักหักพังของวัดวาอาราม และปราสาทราชวัง ตามถนนหนทางและท้องไร่ท้องนาเต็มไปด้วยหัวกระโหลกและกระดูกของชาวพะโคผู้เคราะห์ร้ายที่ถูกฆ่าหรือต้องตายด้วยความอดอยาก…”
นอกจากนี้ ในช่วงที่มีการชุลมุนวุ่นวายกันอยู่นั้น ยังมีอีกกลุ่มอำนาจที่มีบทบาทสำคัญคือชาวโปรตุเกสที่เข้ามามีอิทธิพลในอุษาคเนย์ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 16 ซึ่งมีทั้งพ่อค้า โจรสลัดและทหาร บ้างก็เข้ารับใช้เจ้าในดินแดนต่างๆ ในแถบนี้ และหนึ่งในนั้นก็คือ ฟิลิป เดอบริโต (Philip de Brito) ชาวโปรตุเกสที่ได้รับมอบหมายจากกษัตริย์แห่งยะไข่ให้ดูแลเมืองสิเรียมพร้อมกำลัง 1600 นาย แต่กลับฉวยโอกาสตั้งตนเป็นเจ้าเสียเอง แล้วขับไล่พวกยะไข่ออกไปด้วยการสนับสนุนจากอุปราชโปรตุเกสแห่งเมืองกัวในอินเดีย
ชาวโปรตุเกสที่มาแสวงโชคในตะวันออกส่วนใหญ่มีเป้าหมายสำคัญคือแสวงหาความมั่งคั่ง และเปลี่ยนคนท้องถิ่นให้หันมาเข้ารีต เดอบริโต ก็เช่นกัน เขาไม่ให้ความเคารพต่อความเชื่อของคนท้องถิ่น จึงสั่งให้ทำลายเจดีย์และศาสนาสถานต่างๆ เพื่อรวบรวมแก้วแหวนเงินทอง รูปปั้นทองคำมีค่าทั้งหลาย และบังคับให้ชาวมอญหันมานับถือศาสนาคริสต์ ทำให้ชาวบ้านไม่พอใจในความเผด็จการของเขาเท่าใดนัก
1
เดอบริโต ครองอำนาจได้ราว 10 ปี ก็ถูกเจ้าสุทโธธรรมราชา (อโนเพตลุน) หลานปู่ของบุเรงนองผู้ครองอังวะยกทัพลงมาปราบ โดยชาวมอญในเมืองสิเรียมได้หันไปเข้ากับกองกำลังพม่าเล่นงานเจ้าโปรตุเกสจนเสียท่า ถูกจับทรมานจนเสียชีวิต
1
ปัจจุบันหงสาวดีเป็นเหมือนกับเมืองในชนบทเล็กๆ พระราชวังอันยิ่งใหญ่เหลือเพียงฐานก่ออิฐเตี้ยๆ ไม่เหลือเค้าโครงความยิ่งใหญ่ในอดีต ทางการพม่าจึงได้จัดสร้างพระราชวังแห่งกษัตริย์บุเรงนองขึ้นมาใหม่โดยอาศัยหลักฐานจากจิตรกรรมฝาผนังหรือภาพวาดรวมถึงคำบรรยายในสมุดพับโบราณของพม่า รวมทั้งขนบธรรมเนียมของราชสำนักประกอบเข้าด้วยกัน แต่ก็ยากที่จะจำลองความยิ่งใหญ่ของราชอาณาจักรของพระมหากษัตริย์พระองค์นี้.
อ้างอิง:
1. “A Short History of Burma”. S.W. Cocks. Macmillan and Co., Limited. 1919
2. “หงสาวดี: เมืองของผู้ชนะ 20 ทิศ” โดย พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2543
เรียบเรียงเนื้อหา/นำเสนอบทความโดย :
"สาระหลากด้าน"
โฆษณา