29 พ.ค. 2020 เวลา 12:18 • ประวัติศาสตร์
กำเนิดประชาธิปไตย ตอนที่ 1 โซลอน
หมายเหตุ : เวอร์ชั่นที่เขียนจะเป็นเวอร์ชั่นย่อลงนิดหน่อยนะครับ
ตอนแรกตั้งใจจะนำเรื่องนี้มาเล่าในรูปแบบ podcast และ คลิปวีดีโอ
แต่ด้วยความที่เรื่องมันค่อนข้างซับซ้อน มีชื่อคนที่เกี่ยวข้องค่อนข้างเยอะ
ชื่อก็แปลกจำยาก
ท่านที่ไม่คุ้นเคยฟังหรือชมครั้งแรกอาจจะรู้สึกว่าเยอะจนงง ตามไม่ทัน
เลยจะเขียนแบบย่อลงมาหน่อยก่อน เพื่อช่วยวาดภาพใหญ่ให้ก่อนว่าอะไรเป็นอะไร
อีกเหตุผลก็คือ อายุก็มากขึ้นแล้ว นั่งเขียนนานๆคงไม่ค่อยดีกับสุขภาพ
เลยพยายามจะเปลี่ยนจากการเขียนออกมาเป็นการเล่าบ้าง
ใครอ่านแล้วยังไม่จุใจ ก็รอไปรับชมรับฟังต่อได้ในรูปแบบ podcast หรือ คลิปวีดีโอ ได้ในอนาคตครับ
1
0. เกริ่นนำ
ช่วงเวลาที่เรากำลังจะคุยกันนี้นะครับ
เป็นยุคสมัยก่อน นักปรัชญาดังๆ ที่เราคุ้นๆชื่อกันจะเกิดมา
เป็นยุคที่ยังไม่มี อริสโตเติล เพลโต
กรีกตอนนั้นยังไม่เป็นประเทศกรีซ
แต่เป็นนครรัฐขนาดเล็กใหญ่นับร้อยๆแห่ง
ที่ใช้วัฒนธรรมร่วมกัน พูดภาษาเดียวกัน (แต่อาจจะต่างสำเนียง)
นับถือเทพเจ้าองค์เดียวกัน
ช่วงเวลาที่เราจะคุยกันนี้
เกิดขึ้นก่อนที่สงครามระหว่างกรีกและเปอร์เซีย (Greco-Persian war ที่ผมทำเป็นคลิปวีดีโอเล่าไว้) จะอุบัติขึ้น
1. ยุคสมัยของ aristocrat
ย้อนเวลากลับไปในยุคสมัยที่มนุษย์ส่วนใหญ่ใช้วิถีชีวิตแบบล่าสัตว์หาของป่า
สังคมจะมีลักษณของการเป็นเผ่า
สมาชิกในเผ่าส่วนใหญ่จะเป็นญาติๆกันเกือบหมด
สังคมมักมีลักษณะที่คนในเผ่ามีความเท่าเทียมกันสูง
ผู้นำของเผ่ามักจะเป็นผู้อาวุโสที่คนในเผ่าให้ความเคารพนับถือ
4
ต่อมาเมื่อมนุษย์เริ่มทำการเกษตร ลงหลักปักฐานที่ใดที่หนึ่ง
สังคมก็เริ่มใหญ่ขึ้นกว่าสังคมล่าสัตว์หาของป่า
สังคมใหญ่เกินกว่าความเป็นเครือญาติ
ใหญ่เกินกว่าจะจำหน้ากันได้หมด
การปกครองจึงเริ่มจะมีแบบแผนจริงจังมากขึ้น
ยุคแรกๆ สังคมส่วนใหญ่จะมีการปกครองในระบอบกษัตริย์
ต่อมาในหลายๆวัฒนธรรม การปกครองเริ่มเปลี่ยนมือ
จากที่เดิมอำนาจอยู่ในคนๆเดียว อำนาจก็เริ่มย้ายไปสู่กลุ่มของอภิสิทธิ์ชน
ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ
เพราะการที่คนๆนึงจะครองอำนาจไว้ที่ตัวเองคนเดียวได้ตลอดไม่ใช่เรื่องง่าย
ถ้าไม่แข็งแกร่งจริง ไม่มีบารมีจริงๆ ไม่มีความเป็นผู้นำ
สุดท้ายก็จะโดนกลุ่มคนมาขอแบ่งอำนาจไป
1
การปกครองในนครรัฐกรีกต่างๆ รวมถึงเอเธนส์ ก็มีลักษณะที่คล้ายๆกัน
คือเริ่มด้วยกษัตริย์ ต่อมา ก็ค่อยๆเปลี่ยนเป็นพวกอภิสิทธ์ชน หรือ aristocrat
คำถามคือ แล้วอภิสิทธ์ชนหรือ อริสโตแครท เหล่านี้คือใคร?
ส่วนใหญ่จะเป็นพวกตระกูลเก่าแก่ ตระกูลแรกๆที่มีส่วนร่วมในการก่อตั้งนครรัฐต่างๆ
1
ลองนึกถึงนามสกุลเก่าแก่ในเมืองไทยก็ได้ครับ นามสกุลที่ย้อนเวลากลับไปได้หลายชั่วอายุคน นามสกุลที่ย้อนกลับไปหาเจ้าพระยา เจ้าเมืองต่างๆ ได้ อารมณ์จะค้ลายๆกันในหลายวัฒนธรรมทั่วโลก
ลูกหลานของคนในตระกูลเหล่านี้จะเป็นไฮโซ ของสังคม
เอเธนส์ในช่วงเวลานั้นก็มีตระกูลใหญ่ๆอยู่ประมาณ 60 ตระกูล
ที่ผลัดกัน แย่งกัน เพื่อที่จะขึ้นมามีอำนาจในการปกครอง
ส่วนประชาชนคนอื่นๆที่เหลือ จะไม่มีสิทธิ์ ไม่มีส่วนร่วมในการปกครองเลย
พูดง่ายๆคือ ทำตามกฎที่พวก aristocrat ตั้งไว้อย่างเดียว
เขาให้ทำอะไร ก็ทำตามนั้น
และแน่นอนครับ คนกลุ่มที่เป็น aristocrat ทั้งหลาย
ไม่ว่าจะเป็นตระกูลไหนขึ้นมาปกครอง ก็จะออกกฎ ที่เอื้อผลประโยชน์ให้ครอบครัวตัวเอง เอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องตัวเอง
และนโยบายหรือกฎเกือบทั้งหมดก็จะให้ประโยชน์กับชนชั้นปกครองเป็นหลัก
1
สุดท้ายการปกครองแบบนี้จึงนำไปสู่ความแตกต่างระหว่าง ชนชั้น aristocrat กับประชาชนทั่วไปมากขึ้นเรื่อยๆ
คนรวยก็รวยขึ้นเรื่อยๆ คนจนก็ยิ่งจนลงเรื่อยๆ
ยิ่งต่อมาเมื่อนครรัฐกรีกเริ่มมีการนำเงินเหรียญมาใช้งาน แทนการแลกเปลี่ยนสินค้ากัน
การค้าขายก็ยิ่งซื้อง่ายขายคล่องมากขึ้น
คนรวยยิ่งรวยเร็ว คนจนก็ยิ่งจนเร็ว ขึ้นไปอีก (นึกถึงบัตรเครดิตที่ช่วยให้ซื้อของง่าย)
ปรากฎการณ์นี้พบได้ทั่วไปในนครรัฐกรีกต่างๆ ไม่เพียงแค่ในเอเธนส์เท่านั้น
จนสุดท้ายความเลื่อมล้ำมันมากจนถึงจุดที่ไปต่อไม่ไหว
ปริ่มๆจะเกิดสงครามกลางเมือง....
2. ยุคสมัยของทรราชย์
พอถึงช่วงต้นๆของศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล (ประมาณ 3000 กว่าปีที่แล้ว)
ผู้คนที่ยากจนทั้งหลาย ทนความจนกันต่อไปไม่ไหว
แต่พวกเขาไม่รู้ว่า มีทางเลือกอะไรบ้างหรือทำอะไรได้บ้าง
คนส่วนใหญ่ไม่มีใครจินตนาการออกว่า
โลกนี้จะมีการปกครองในรูปแบบอื่นให้เลือกได้อย่างไร
แต่ก็มีคนที่เห็นโอกาส และฉวยโอกาสนี้ไว้
คนเหล่านี้มักจะเป็นพวก aristocrat ที่มองออกว่า
ถ้าเขาออกมาปลุกเร้าและนำมวลชน
เขาจะสามารถขึ้นมามีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเป็นผู้นำที่เรียกว่า tyrant ได้
คำว่า tyrant คำนี้ปัจจุบันแปลว่า ทรราชย์
พูดถึงทรราชย์ เราจะนึกถึง ภาพของผู้นำเผด็จการ มีอำนาจเบ็ดเสร็จ
และกดขี่ประชาชนอย่างโหดร้าย
1
แต่ tyrant ในยุคสมัยกรีกโบราณ มีความหมายที่ต่างไปคือ
เป็นรูปแบบหนึ่งของการปกครองเท่านั้น ไม่ได้มีความหมายทางลบ
tyrant หรือ turanos จะหมายถึง คนเข็มแข็ง คนแข็งแรง
ที่ใช้ความแข็งแกร่งนั้น โค่นคู่แข่งทางการเมืองแล้วขึ้นมามีอำนาจโดยไม่ผ่านวิธีการที่ปกติโดยไม่ได้มีความหมายในเชิงกดขี่ประชาชน
1
การปกครองแบบ tyrant นั้นชาวกรีกไม่ได้เริ่มต้นขึ้นเอง
แต่เห็นการปกครองแบบนี้เกิดขึ้นบริเวณเอเชียไมเนอร์ก่อนเลย นำมาใช้บ้าง
อย่างที่เล่าไปก่อนหน้าครับ ว่า
ตอนนั้นปัญหาความเลื่อมล้ำเกิดขึ้นทั่วไปหมดในหลายนครรัฐ
พอมีนครรัฐนึง เกิดมี tyrant ขึ้น ที่อื่นก็เอาบ้าง
จึงเกิด tyrant ขึ้นตามที่ต่างๆเต็มไปหมด
แล้ว tyrant ก็มีเน็ตเวิรก์ของ tyrant ด้วยกัน คือ ถ้าเป็นยุคนี้ก็คงจะเป็นลักษณะของการเปิดกรุ๊ปไลน์ลับ เพื่อแบ่งปันประสบการณ์และเทคนิคของการเป็น tyrant ที่ประสบความสำเร็จระหว่างกัน
tyrant เหล่านี้รู้ดีว่า พลังของมวลชนมีประโยชน์ยังไง
จึงพยายามเอาใจมวลชนด้วยการพัฒนาสิ่งต่างๆที่มีประโยชน์ต่อประชาชน
เช่น พัฒนาสาธารณสุขมูลฐานให้ดี สร้างบ่อน้ำ สร้างถนน
ทำให้บ้านเมืองมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้น
แต่การพัฒนาก็ไม่จำเป็นต้องทำมากมายนักก็สามารถได้ใจมวลชน
เพราะเมื่อเทียบกับยุคก่อนหน้าที่ aristocrat ทำเพื่อตัวเอง
ทำอะไรให้นิดหน่อยก็เห็นความแตกต่างและได้ใจมวลชนช่วยสนับสนุนให้เป็น tyrant ได้นานๆแล้ว
3. การมาของโซลอน
เอเธนส์เองก็มีปัญหาสังคม เศรษฐกิจและการเมืองเหมือนนครรัฐอื่นๆ
แล้วชนชั้นปกครองหรืออภิสิทธ์ชนก็ยังไม่เรียนรู้จากนครรัฐอื่นๆที่ถูก tyrant ฉวยโอกาสยึดอำนาจปกครอง ปล่อยให้ปัญหาสะสมต่อไปเรื่อยๆ
จนเมื่อประมาณช่วง ต้นๆของ ศตวรรษที่ 6 ปัญหาระหว่างชนชั้นในเอเธนส์มาถึงจุดที่ไปต่อไม่ได้ ปริ่มๆจะเกิดสงครามกลางเมือง
รากของปัญหาในเอเธนส์ทั้งหมดเริ่มต้นมาจากประชากรที่เพิ่มขึ้นจนที่ดินทำกินมีไม่พอ
บวกกับคุณภาพของดินที่แย่
เพราะดินแดนแอตติกา (Attica ชื่อของบริเวณที่ตั้งเมืองเอเธนส์)
เป็นพื้นที่ซึ่งไม่ค่อยเหมาะกับการทำการเกษตร
พื้นที่ดีๆที่อุดมสมบูรณ์พอจะเพาะปลูกได้เป็นเรื่องเป็นราว พวก aristocrat ก็จับจองเป็นของตัวเองหมด
ชาวนาจนๆต้องเพาะปลูกบนที่ดินซึ่งไม่อุดสมบูรณ์
พูดง่ายๆก็เหมือนการกู้เงินมาลงทุนในสินทรัพย์ที่ high risk low return
ยิ่งทำก็เลยยิ่งจนลงเรื่อยๆ
ชาวนาที่กู้เงินมาเพื่อเช่าที่ทำกิน เมื่อลงทุนกับการเพาะปลูกแล้วไม่ได้ผลตอบแทนคืนมาก็ไม่มีเงินไปจ่ายหนี้ก็เลยต้องขายลูก ขายภรรยา หรือขายตัวเองเป็นทาสเพื่อใช้หนี้
เลวร้ายกว่านั้นคือ ขณะที่ชาวเอเธนส์จำนวนมากกำลังขาดอาหาร
ชาว aristocrat ที่เพาะปลูกธัญพืชได้มากมาย กลับส่งออกธัญพืชไปขายที่นครรัฐอื่นที่ให้ราคาดีกว่า
ในแง่ของการเมืองก็มีปัญหา
เพราะตระกูลไฮโซ ตระกูลเก่าแก่ทั้งหลายต่างก็แย่งชิงตำแหน่งสำคัญในการปกครองกัน
มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก คานอำนาจ ขัดขากัน จนเกิดภาวะ gridlock ทางการเมือง
จนถึงจุดที่ทุกคนยอมรับว่า ไปต่อไม่ไหวแล้ว ปัญหามันเยอะเกินไป
พวก aristocrat ทั้งหลายจึง แต่งตั้งผู้ชายคนหนึ่งที่พวกเขาเชื่อว่าน่าจะแก้ปัญหาได้ขึ้นมาปกครอง
ชายคนนี้มีชื่อว่าโซลอน (Solon)
4.
ประวัติหรือที่มาของชายชื่อโซลอนนี้ไม่ชัดเจนนัก
เรารู้ว่าเขาเกิดในครอบครัวไฮโซ ประมาณในปี 638BC
แต่เพราะพ่อของเขาผลาญเงินไปจนหมด
เขาจึงต้องทำการค้าขายเพื่อเลี้ยงชีพตัวเอง
ด้วยเหตุนี้เขาจึงมีโอกาสเดินทางไปค้าขายในดินแดนต่างๆมากมาย
รวมไปถึงการเดินทางไปค้าขายในดินแดน ไอโอเนีย ซึ่งเป็นแหล่งของนักคิดนักเขียนของยุค
เรารู้ว่าโซลอนเป็นคนชอบเรียนรู้ เพราะในบันทึกต่างๆเขาเขียนไว้บ่อยๆว่า
Each day grow older, and learn something new
แต่ละวันที่อายุมากขึ้น เรียนรู้สิ่งใหม่ในทุกวัน
ช่วงเวลาที่ไปค้าขายที่ไอโอเนีย เขาจึงได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆมากมาย
เมื่อเขากลับมาที่เอเธนส์อีกครั้ง เขาจึงกลับมาในฐานะของผู้มีความรู้คนหนึ่ง
จะว่าไปแล้วอำนาจที่ โซลอนได้รับ ก็ไม่ต่างไปจาก tyrant คนนึง
โซลอนเองเขาก็เขียนเล่าไว้ว่า ถ้าจะเป็น tyrant จริงๆเขาก็เป็นได้
แต่เขาเลือกที่จะไม่เป็น
โซลอนมองว่าจะแก้ปัญหาต่างๆได้ เขาต้องปฏิรูปสามด้านด้วยกันคือ
คือ เศรษฐกิจ ศีลธรรม และการปกครอง
สิ่งแรกที่เขาทำถือ หาทางปลดปล่อยชาวเอเธนส์ออกจากการเป็นทาสก่อน
เขาออกกฎให้มีการยกเลิกหนี้ทั้งหมด
ซึ่งการกระทำนี้เป็นการกระทำที่กล้าหาญ (หรือจะเรียกว่าบ้าบิ่น) มากก็ได้ คือ
คนจน คนที่เป็นหนี้จะชื่นชอบเขา
ส่วนเจ้าหนี้ซึ่งมักจะเป็นคนในตระกูลใหญ่ทั้งหลาย จะเกลียดเขามาก
เลวร้ายกว่านั้น เจ้าหนี้ที่เคยร่ำรวยบางคน
โดนผลกระทบจากการยกเลิกนี้รุนแรงถึงขนาดกลายเป็นคนจนที่อดอยากไปเลยก็มี
และเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาของทาสกลับมาอีก เขาจึงออกกฎว่า
ห้ามประชาชนชาวเอเธนส์ขายตัวเอง ขายลูกหรือภรรยาเป็นทาสอีกต่อไป
โซลอนรู้ว่า ประชาชนจำนวนมากต้องการให้ปฏิรูปที่ดินทำกินใหม่
คือมีการจัดสรรที่ดินให้คนยากจนมากขึ้น
แต่โซลอนก็รู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้
อย่างแรกคือ ถ้าทำเช่นนั้นมันสุดโต่งเกินไป
aristocrat จำนวนมากจะต้องไม่พอใจเป็นอย่างมาก
ซึ่งจะทำให้ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นไม่จบลงง่ายๆ
อย่างที่สองคือ ทำเช่นนั้นก็ไม่ได้เพิ่มผลผลิตโดยรวมอยู่ดี
เขาจึงปฏิเสธที่จะทำเช่นนั้น
โซอลนมองออกว่า เศรษฐกิจที่พึ่งการปลูกธัญพืชแบบที่ทำอยู่ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีเพราะ
ชาวเอเธนส์อาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งไม่เหมาะกับการทำการเกษตร คือ ดินค่อนข้างเหนียว
ต่อให้จัดสรรที่ดินยังไง สุดท้ายที่ดินที่ดีพอจะเพาะปลูกธัญพืชก็มีไม่พออยู่ดี
แต่ดินเหนียวของ Attica เหมาะสำหรับการทำเครื่องปั้นดินเผา
ดังนั้น วิธีที่ดีกว่าคือ การปลูกต้นมะกอดซึ่งทนภาวะแล้งได้ดี เหมาะกับพื้นดินของเอเธนส์
แล้วคั้นน้ำมันมะกอกส่งขาย
เขาจึงออกกฎห้ามการส่งออกธัญพืชและผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆทั้งหมด
ยกเว้นแต่น้ำมันมะกอกเพียงอย่างเดียว
โซลอนมองต่อไปว่าเมื่อผลิตน้ำมันมะกอกแล้ว มันก็ต้องมีภาชนะใส่สำหรับการส่งออก
ในช่วงเวลานั้น ภาชนะเครื่องปั้นดินเผาที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ
เครื่องปั้นดินเผาจากนครรัฐที่ชื่อโครินท์ (Corinth)
เขาก็ตั้งใจว่า จะทำให้เครื่องปั้นดินเผาของเอเธนส์มีชื่อเสียง
วิธีการคือ จ้างผู้เชี่ยวชาญจากเมือง Corinth มาสอนเทคโนโลยีการทำหม้อ
มีการสร้างชุมชนสำหรับทำเครื่องปั้นดินเผาโดยเฉพาะ จนบริเวณนั้นมีชื่อว่า Kerameikos (ที่มาของคำว่า ceramics หรือเซรามิคส์)
คือเรียกได้ว่าเป็น ซิลิคอนวาเลย์ ของยุคนั้นเลยก็ว่าได้
3
นอกจากนี้ยังดึงคนที่เก่งๆจากนครรัฐต่างๆให้อยากมาเป็นชาวเอเธนส์
ด้วยการออกกฎต่างๆที่เอื้อให้คนเก่งอยากมาตั้งรกรากในเอเธนส์
นอกจากนี้ยังมีการมอบ citizen ให้กับคนเก่งเหล่านั้นด้วย ซึ่งถือว่าเป็นนโยบายที่แปลกใหม่มากของยุคนั้น
โซลอนมองต่อว่า เอเธนส์จะต้องพาตัวเองไปเป็นศูนย์กลางของการค้าขาย
เขาจึงสั่งให้มีการปรับเปลี่ยนมาตรฐานการชั่งตวงวัดที่ใช้อยู่เดิมเกือบทั้งหมด
แล้วไปใชัระบบที่ได้รับความนิยมกว่าคือ ระบบของเกาะที่ชื่อ ยูเบียน (Eubean)
มีการคุมมาตรฐานการผลิตเหรียญให้ดีขึ้น คือ ในเหรียญแต่ละอันจะต้องมีปริมาณโลหะที่ถูกต้อง
ทำให้เหรียญเงินของเอเธนส์เป็นที่ต้องการ คนนครรัฐต่างๆนิยมใช้เป็นตัวกลางในการซื้อขาย
เหรียญเงินของเอเธนส์ มีรูปนกฮูกซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเทพี Athena
ทั้งหมดนี้ ดูเผินๆเหมือนไม่มีอะไร แต่มันเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้การค้าขายลื่นไหลขึ้น
พ่อค้าจากนครรัฐต่างๆจึงอยากมาทำการค้าขายที่เอเธนส์ จนเกิดเป็นตลาดซื้อขายขนาดใหญ่ขึ้น
ช่างฝีมือเก่งๆเห็นว่าตลาดใหญ่อยู่ที่เอเธนส์ ก็เลยย้ายมาทำงานที่เอเธนส์กัน
แถมเอเธนส์ก็ยินดีต้อนรับ มีชุมชนช่างฝีมือให้ แถมยังให้ citizen อีก
เมื่อคนเก่งมาอยู่ใกล้กัน ก็ร่วมมือกันบ้าง แข่งขันกันบ้าง
นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆมากมาย
รูปแบบการดึงคนเก่งๆเช่นนี้ ต่อมาก็ถูกนำไปใช้ในอาณาจักรโรมัน
และรวมไปถึงอเมริกา โดยเฉพาะช่วงแรกหลังก่อตั้งประเทศใหม่ๆที่ บิดาผู้ก่อตั้งประเทศหรือ founding fathers หลายคน คุ้นเคยกับประวัติศาสตร์ของเอเธนส์กันเป็นอย่างดี
การปฏิรูปเหล่านี้ในอนาคตจะทำให้เอเธนส์ร่ำรวยขึ้น (เพียงแต่ยังไม่ใช่ตอนนี้ เดี๋ยวจะอธิบายให้ฟังครับ)
เมื่อมีเงินมากขึ้นโอกาสจะพัฒนาด้านศิลปะวัฒนธรรมก็ง่ายขึ้น
หม้อปั้นดินเผาของเอเธนส์เริ่มมีชื่อเสียงขึ้นเรื่อยๆ
ถึงขนาดว่าเศรษฐีในนครรัฐที่อยู่ห่างไกลยังต้องการซื้อหม้อดินเผาของเอเธนส์ไปวางไว้เป็นของประดับภายในบ้าง
ภาชนะแบบนี้เรียกว่า Amphora มีภาพเขียน black figure แสดงภาพคนกำลังเก็บเกี่ยวมะกอก
ความรวยก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เอเธนส์สามารถสร้างกองทัพที่แข็งแกร่งมากขึ้น
แต่ทั้งหมดจะยังไม่เกิดในยุคของโซลอนครับ
5.
การปฏิรูปของโซลอนที่น่าจะสำคัญที่สุดคือ
การวางรากฐานการปกครองใหม่ ที่สุดท้ายจะนำไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย
หัวใจหลักที่เขาทำคือ เขาแบ่งประชาชนของเอเธนส์ใหม่ตามรายได้ที่หาได้ต่อปี
เขาแบ่งคนตามรายได้เป็น 4 ระดับด้วยกัน คือ
1 ชนชั้นที่รวยสุด มีชื่อว่า เพนเทโคซิโอเมดิมนอย (pentekosiomedimnoi) คือครอบครองที่ดินมากพอที่จะผลิตธัญพืชได้เกิน 500 เมดิมนอยด์ (medimnoi หน่วยโบราณา) ต่อปี คนกลุ่มนี้มีสิทธิ์ที่จะนั่งตำแหน่งปกครองระดับสูงสุด
2. ชนชั้นที่รวยรองลงมามีชื่อว่า ฮิปเปส์ (Hippeis) ซึ่งแปลว่าม้า (รากศัพท์เดียวกับคำว่า ฮิปโปโปเตมัส) คือครอบครองที่ดินมากพอจะผลิตธัญพืชได้ 300-500 เมดิมนอยด์ และรวยพอจะมีเลี้ยงม้าได้
3 ชนชั้นซอยกิเต (Zeigitai) รวยพอจะมีวัวคู่นึง และผลิตธัญพืชได้ 200-300 เมดิมนอยด์ ต่อปี
ชนชั้นที่ 2 และ 3 นี้จะมีสิทธิ์นั่งตำแหน่งบริหารของเมืองได้
4 ชนชั้น Thetes ธีเตส ชาวนา ไม่มีที่ดินของตัวเอง คนกลุ่มนี้ไม่มีสิทธิ์ได้ตำแหน่งปกครอง แต่ก็ยังมีสิทธิ์ทางการเมือง คือ สามารถเข้าร่วมการประชุมที่เรียกว่า assembly มีสิทธิ์ออกเสียงว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับกฎหมายต่างๆ
ฟังดูเผินๆเหมือนเป็นการกดขี่คนจน
แต่ความเป็นจริงสิ่งที่เขาทำ คือ ทำให้ประชาชนทั้งหมดเข้าถึงการเมืองได้
เพราะเมื่อเทียบกับก่อนปฏิรูป ถ้าคุณไม่ได้เกิดมาในตระกูลเก่าแก่ 60 กว่าตระกูลนั้น
คุณจะไม่มีทางเข้าถึงการเมืองเลย ไม่มีสิทธิ์รับตำแหน่ง ไม่มีสิทธิ์ออกเสียง
ทำให้คนส่วนใหญ่มองว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว จึงแทบจะไม่สนใจการเมืองกันเลย
แต่หลังการปฏิรูป มันเปิดโอกาสให้ประชาชนทั้งหมดมีโอกาสไต่เต้าทางการเมือง มีโอกาสไต่เต้าทางสังคม ก่อนหน้านั้นใครเกิดมาชนชั้นไหนก็จะเป็นแบบนั้นไปจนตาย แต่ระบบใหม่ จะสร้างแรงจูงใจให้คนอยากขยันทำมาหากิน อยากรวย เพราะเมื่อรวยขึ้นอำนาจก็จะตามมาด้วย
และการปฏิรูปเช่นนี้มันทำให้การเปลี่ยนแปลงมันไม่เร็วและรุนแรงเกินไป
คือไม่โดนแรงต้านจากอำนาจเดิม เพราะในช่วงแรกๆคนที่มีสิทธิ์บริหารก็ยังเป็นกลุ่มเดิมๆ หน้าเดิมๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไปคนหน้าใหม่ๆ ตระกูลใหม่ๆก็จะค่อยๆแทรกซึมเข้ามาเพิ่มขึ้น ส่วนคนจนที่ยังไม่มีโอกาสได้รับตำแหน่งทางการเมือง ก็มีสิทธิ์ที่จะลงความเห็นทางการเมืองได้ ซึ่งตรงนี้ทำให้คนหันมาสนใจการเมืองมากขึ้น เรียนรู้เกี่ยวกับการเมืองมากขึ้นผ่านการเข้าไปนั่งฟังและออกความเห็น
การปฏิรูปที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่งคือการออกกฎให้คนทั่วไปสามารถฟ้องชนชั้นปกครองได้
และไม่ใช่แค่ทำได้ แต่โซลอนยังสนุบสนุนให้ประชาชนฟ้องร้องกันเยอะๆ ทั้งฟ้องร้องกันเองและ ฟ้องร้องคนที่มีอำนาจในการปกครอง เพราะเขามองว่าเป็นการทำให้ประชาชนรู้จักอำนาจของตัวเองที่จะตรวจสอบความถูกต้องของสังคม
3
6.
หลังจากที่โซลอนปฏิรูปเสร็จ เขาก็ลงจากตำแหน่ง
โซลอนเขียนไว้ในบันทึกว่า ถ้าเอาจริงๆเขาอยู่จะเป็น tyrant ต่อก็ได้ แต่เขาเลือกจะไม่ทำเช่นนั้น
เขารู้ดีว่าการปฏิรูปของเขาไม่ได้ทำให้มีใครพอใจเลยสักคน เพราะไม่มีฝ่ายไหนได้ทุกอย่างที่ตัวเองต้องการ
แต่เขาก็เชื่อว่าทุกฝ่ายได้บางอย่างที่ตัวเองต้องการ ไม่มีใครถูกละเลย
 
หลังลงจากตำแหน่งเขาก็ออกเดินทางไกล แล้วให้ชาวเอเธนส์สัญญาว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงการปฏิรูปของเขาไปอย่างน้อย 10 ปี
เขาทำเช่นนั้นเพราะเขารู้ว่าถ้ายังคงอยู่ในเอเธนส์ คนที่รู้สึกว่ายังไม่พอใจจะต้องมาขอต่อรองหรือพยายามขอเปลี่ยนแปลงการปฏิรูปบางอย่าง
แล้วการพยายามขอเปลี่ยนแปลงนี้ อาจจะนำไปสู่ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง การที่เขาไม่อยู่ให้ใครมาขอเปลี่ยนแปลงได้น่าจะทำให้ระบบเสถียรกว่า
1
เมื่อปัญหาต่างๆได้รับการฟื้นฟูไปแล้ว ค่อยมาปรับเปลี่ยนอีกครั้งหลังผ่านพ้นช่วง 10 ปีไปแล้ว
คำถามคือ สุดท้ายหลังการปฏิรูปแล้ว เอเธนส์ สงบไหม แก้ปัญคนยากจนได้ไหม ?
ไม่ครับ แค่ประมาณ 4 ปีหลังจากโซลอนก้าวลงจากตำแหน่งเท่านั้น
การปฏิรูปทุกอย่างก็พังลง เอเธนส์แย่ลงกว่าเดิมด้วยซ้ำ
ทุกอย่างแย่จนน่าจะสรุปว่า การปฏิรูปของโซลอนล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง
โซลอนมีอายุยืนนานพอที่จะเห็นว่าสิ่งที่เขาทำนั้นล้มเหลวไปเกือบหมด
เศรฐกิจแย่ลง การเมืองวุ่นวาย มี tyrant แก่งแย่งกันขึ้นมาปกครองต่อกันอีกหลายคน
แต่ปัจจุบัน เมื่อนักประวัติศาสตร์มองย้อนกลับไป
ส่วนใหญ่จะมีความเห็นตรงกันว่า สิ่งที่เขาทำแม้ว่าจะดูล้มเหลวในระยะสั้น แต่ในระยะยาวมันนำไปสู่ความสำเร็จ
เศรษฐกิจของเอเธนส์จะดีขึ้น
น้ำมันมะกอกจากเอเธนส์จะมีชื่อเสียงมาจนถึงทุกวันนี้
เขาปลูกฝังให้ชาวเอเธนส์เห็นว่า การใช้สิทธ์ทางการเมืองเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคน ไม่ใช่สิทธิ์ที่จะมีไว้เฉยๆจะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้
สิ่งที่เขาปฏิรูปไว้จะเป็นรากฐานสำคัญของการนำไปสู่ประชาธิปไตย
แต่ทุกอย่างจะดีขึ้นได้อย่างไร ติดตามได้ต่อในตอนต่อๆไปครับ
ถ้าอยากให้เตือนเมื่อผมลงบทความ คลิป หรือพอดคาสต์ที่ไหน ก็แอดไลน์ไว้ได้ครับ คลิกที่นี่ https://lin.ee/3ZtoH06
ปิดท้ายด้วยโฆษณา
วันนี้ถึง 30 พค. ทาง shopee มีจัด Online Book Fair นะครับ
Shopee มีโค้ดส่วนลด และโปรโมชั่นส่งฟรีตามรายละเอียดให้ด้วย
ใครเล็งๆจะหาซื้อหนังสืออ่าน ก็ลองเข้าไปเลือกดูได้นะครับ
อ่านบทความวิทยาศาสตร์และการแพทย์ได้ที่
หรือ
คลิปวีดีโอเกี่ยวกับประวัติศาสตร์

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา