30 พ.ค. 2020 เวลา 13:45 • สุขภาพ
โควิด19 กลายพันธุ์ น่ากลัวอย่างไร?
1
มีข่าวออกมาเป็นระยะว่า ไวรัสโควิด19 กลายพันธุ์ แยกออกเป็น 2 สาย สายยุโรปกับสายเอเชีย บางข่าวก็บอกว่ากลายพันธุ์ไปมากกว่า 30 สายพันธุ์แล้ว บางข่าวก็บอกว่าหลายร้อยสายพันธุ์ ตกลงจริงๆมันคืออะไรกันแน่ ไอ้เจ้าไวรัสกลายพันธุ์นี่นะ
การกลายพันธุ์ (Mutation) คือ การที่สิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์สืบพันธุ์มีลูกมีหลานแล้วแตกต่างไปจากพ่อแม่ เช่น มะม่วงต้นพ่อแม่หวานอร่อยดีพอมีลูกแล้วเราเอาเมล็ดไปปลูกต่อกลายเป็นไม่หวานก็มี หรือมนุษย์เองก็มักกลายพันธุ์ได้แต่ใช้เวลานานนับร้อยนับพันปี ก็เลยเห็นไม่ค่อยชัดเจนว่ามนุษย์กลายพันธุ์
แม้ไวรัสจะเป็นสิ่งที่มีนักวิชาการบอกว่าไม่ใช่สิ่งมีชีวิต ซึ่งขัดกับความรู้สึกของคนทั่วไป แต่วันนี้เราก็จะมาตามดูการกลายพันธุ์ของไวรัสตัวหนึ่งกันดูก็คือโควิด19
การกลายพันธุ์จะเกิดง่ายหรือยาก จะเกิดเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย หนึ่งปัจจัยที่สำคัญมากก็คือ การมีสารพันธุกรรมที่เป็นสายเดี่ยว (RNA) จะทำให้มีการกลายพันธุ์ง่ายกว่าสารพันธุกรรมที่เป็นสายคู่ (DNA) และก็ให้บังเอิญที่ไวรัสโควิด19 เป็น RNA จึงทำให้เค้ากลายพันธุ์ได้ง่ายได้บ่อย
2
การกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด19 มักจะเกิดขึ้นตอนที่ไวรัสกำลังเพิ่มจำนวนในสิ่งมีชีวิตอื่น (Host) ซึ่งในที่นี้ก็คือเซลล์ของมนุษย์เป็นการผิดพลาดคลาดเคลื่อนของไวรัสโดยบังเอิญ หรือโดยธรรมชาติ ที่ขั้นตอนการ copy สารพันธุกรรมทำให้ได้ไม่ครบถ้วน 100% จึงเกิดไวรัสตัวใหม่ที่คล้ายคลึงไวรัสเดิมแต่ไม่เหมือนกันเป๊ะ จึงยังคงเป็น SAR-CoV2อยู่ แต่มีส่วนประกอบย่อยบางส่วนแตกต่างไปจากเดิม
ประเด็นที่สำคัญก็คือ ความแตกต่างนั้นเกิดตรงไหน ถ้าเกิดตรงที่มีความสำคัญมากกับการทำให้ติดเชื้อ เช่น ทำให้ติดเชื้อง่ายขึ้น หรือทำให้วิธีการเกาะกับเซลล์ของมนุษย์เราเปลี่ยนแปลงไป ก็จะทำให้เกิดความยุ่งยากในการผลิตวัคซีนทันที อาจทำให้วัคซีนที่คิดค้นสำเร็จแล้วใช้ไม่ได้ผล เพราะไวรัสเปลี่ยนวิธีการจู่โจมมนุษย์ไปจากเดิม
ไวรัสโควิด19 มีส่วนประกอบที่สำคัญดังนี้
1) ส่วนหนาม (Spike) ซึ่งมีโปรตีนเป็นองค์ประกอบหลัก จึงเรียกว่า S-Protein ส่วนนี้สำคัญมาก เพราะไวรัสใช้ส่วนหนามนี้เกาะติดเซลล์และมุดเข้าไปในเซลล์ ทำให้เราป่วย ถ้า S-Protein เปลี่ยนแปลงไป การทำให้เราป่วยก็จะเปลี่ยนวิธีการไปด้วย ซึ่งภูมิคุ้มกันที่เราหวังจะให้เกิดขึ้นหลังจากเราฉีดวัคซีนแล้วเพื่อให้มาจับหรือ block ไม่ให้หนามนี้เกาะเซลล์ได้เราก็จะไม่ป่วย แต่พอหนามของไวรัสเปลี่ยนรูปร่างไป ภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีนที่เตรียมมา block หนามแบบเดิมก็จะไร้ประโยชน์ทันที กลายเป็นวัคซีนป้องกันโรคไม่ได้ ส่วนหนามหรือ S-Protein จึงสำคัญมากสำหรับการคิดผลิตวัคซีนป้องกันโรค
2) ส่วนเปลือก (Envelop) ซึ่งมีไขมันและโปรตีนเป็นองค์ประกอบ สบู่จึงทำให้ไวรัสตายหรือสลายตัว จากการทำลายไขมันในชั้นเปลือกหุ้มนี่เอง
เรียกส่วนนี้ว่า E-Protein
3) ส่วนแกนกลาง (Core) เป็นส่วนสารพันธุกรรม ซึ่งของโควิด19 เป็นสายเดี่ยวที่เรียกว่า RNA
1
ในขณะที่ไวรัสเข้าเซลล์แล้ว และกำลังเพิ่มจำนวนนี่เอง ก็มีโอกาสที่จะสร้างบางส่วนผิดพลาดไป(เรียกว่ากลายพันธุ์) ถ้าพลาดในส่วนที่เป็นเปลือกก็จะไม่ค่อยมีปัญหา หรือพลาดในส่วนประกอบย่อยอื่นๆก็ไม่เป็นไร
แต่ถ้าไวรัสพลาดในส่วนที่จะสร้าง S-Protein หรือหนาม อันนี้จะยุ่งยากมากเพราะหนามนี่แหละที่เอาไว้เกาะเกี่ยวกับเซลล์มนุษย์เพื่อก่อโรค และวัคซีนทั้งหลายบรรดาที่กำลังวิจัยพัฒนากันนี้ก็จะอยู่ตรงที่ไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา block ไม่ให้หนามเกาะได้ พอหนามเปลี่ยนรูปร่าง วัคซีนก็เลยไม่มีประโยชน์
การกลายพันธุ์ของไวรัสจึงขึ้นอยู่กับว่ากลายพันธุ์ตรงส่วนไหน ถ้ากลายพันธุ์ตรง S-Protein จะยุ่งยากสุดๆ แต่ถ้ากลายพันธุ์ตรงส่วนอื่นก็ไม่เป็นไรมาก
ณ ขณะนี้ไวรัสโควิด19 กลายพันธุ์อยู่เรื่อยๆ เฉลี่ย 2 ครั้งหลักๆต่อเดือน จึงเกิดตรวจพบไวรัสว่ากลายพันธุ์จำนวนนับสิบ แต่โชคยังเข้าข้างพวกเรา คือ ไม่ได้กลายพันธุ์ตรงส่วนหนาม (S-Protein) เราจึงยังคงเบาใจว่าวัคซีนที่กำลังคิดค้นกันอยู่นี้จะใช้ป้องกันโรคได้ แม้ไวรัสจะกลายพันธุ์ไปแล้ว
แต่ก็ต้องลุ้นไม่ให้ไวรัสเค้าทราบว่า เรากำลังผลิตวัคซีนขึ้นมา block ส่วนหนาม ถ้าไวรัสเค้าทราบและทำการกลายพันธุ์ตรงส่วนหนาม ก็จะทำให้มนุษยชาติยุ่งยากอย่างมาก เพราะกลายเป็นคิดวัคซีนสำเร็จแล้ว แต่ใช้ป้องกันโรคไม่ได้ ทำนองเดียวกับวัคซีนป้องกันโรคเอดส์ ที่ผ่านมา 40 ปีแล้วก็ยังพัฒนาไม่สำเร็จจากการกลายพันธุ์ของไวรัสเอดส์นี้
โฆษณา