31 พ.ค. 2020 เวลา 08:17 • การศึกษา
วิธีการเขียนหนังสือ 11 ขั้นตอนสำหรับมือใหม่
Photo by Tuấn Kiệt Jr. from Pexels
คนจำนวนมากมีความฝันอยากมีหนังสือของตัวเอง แต่ไม่เคยเป็นจริง
หนังสือเรื่อง How to Write A Book ของคุณ David Kadavy เป็นหนังสือสั้นๆ ที่อธิบายวิธีการเขียนหนังสือแบบเป็นขั้นตอนสำหรับมือใหม่ จึงขอสรุปเนื้อหาสำคัญมาให้อ่านครับ
ความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับการเขียนหนังสือ
1. การเขียนหนังสือเป็นเรื่องยากเสมอ
การเขียนหนังสือไม่ได้เหมาะกับทุกคน เพราะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากจนเกินไปสำหรับคนที่ตั้งใจ สิ่งสำคัญคือการฝึกเขียนบ่อยๆ เพราะการเขียนเหมือนการออกกำลังกาย ที่ต้องทำสม่ำเสมอ
ยิ่งเขียนบ่อย ก็ยิ่งเชี่ยวชาญ
2. การเขียนหนังสือต้องทุ่มเทเวลามาก
หลายคนเข้าใจผิดว่า เราต้องเขียนหนังสืออย่างเดียวโดยไม่ทำอย่างอื่นเลยเป็นเวลา 6 เดือนเหมือนนักเขียนยุคก่อน แต่ในยุคนี้ แทบเป็นไปไม่ได้เลย
ที่จริงแล้ว การเขียนหนังสือเป็นกิจกรรมที่ทำอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ
3. อย่าเผยแพร่งานเขียนฟรีๆ
นักเขียนมือใหม่จะพบปัญหาคือ เวลาที่ออกหนังสือ จะไม่มีคนซื้อเพราะไม่มีใครรู้จัก แต่ไม่กล้าเผยแพร่งานเขียนของตัวเอง เพราะเกรงว่ามีแต่คนอ่านฟรี จะไม่มีใครซื้อ
แต่นักเขียนมือใหม่อาจลืมว่า หนังสือมีคู่แข่งมากมายที่ดึงความสนใจของนักอ่าน เช่น Tiktok , Facebook , Youtube เป็นต้น ซึ่งเป็นของฟรีอยู่แล้ว
การเผยแพร่งานเขียนบ่อยๆ จะทำให้ผู้อ่านได้รู้จักนักเขียน และได้รับความเห็น คำวิจารณ์จากผู้อ่านเป็นการตอบแทน ซึ่งจะช่วยปรับปรุงงานเขียนของเรา
Photo by Daria Shevtsova from Pexels
11 ขั้นตอนในการเขียนหนังสือ
1. สร้างนิสัยการเขียนแบบน้อยๆ
เริ่มด้วยการเขียนทุกวันหรือวันจันทร์ถึงวันศุกร์ โดยแบ่งเวลา 10 นาทีในการเขียนทุกวัน จนกระทั่งเป็นนิสัย
สิ่งสำคัญคือ เริ่มต้นน้อยๆ ก่อน อย่าฝืนตัวเอง เพราะการเขียนน้อยๆ จะทำให้เราไม่มีข้อแก้ตัวในการไม่เขียน
2. รู้จักว่าหนังสือคืออะไร
หนังสือคือผลิตภัณฑ์อย่างหนึ่ง ผลิตภัณฑ์คือสิ่งของที่ลูกค้าซื้อเพื่อทำงานบางอย่าง ดังนั้นนักเขียนควรเข้าใจหนังสืออย่างแท้จริง
วิธีการหนึ่งคือ ดาวน์โหลดตัวอย่างหนังสือแนวที่อยากเขียนใน Kindle แล้วศึกษารูปแบบการเขียนของตัวอย่างเล่มนั้น
3. สร้างนิสัยการเผยแพร่งานเขียน
หลังจากที่เขียนจนเป็นนิสัยแล้ว ก็เริ่มเผยแพร่งานเขียนของตนเองด้วยการ publish งานเขียนใน Medium.com
Medium.com ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อนักเขียนมากคือ จำนวนผู้อ่าน , ความเห็นของผู้อ่าน และไฮไลท์ของผู้อ่าน ทำให้นักเขียนทราบข้อมูลต่างๆ ในการปรับปรุงการเขียนของตัวเอง
4. สร้าง email list
การสร้าง email list จะทำให้เรามีกลุ่มผู้อ่านที่จะติดตามงานเขียนของเราทาง email โดยอาจมีของขวัญมอบให้ผู้สมัครใน mailing list เช่น บทความพิเศษ , หนังสือแจกฟรี
5. ตั้งชื่อหนังสือที่ขายได้
การตั้งชื่อหนังสือเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ซึ่งมีสิ่งที่ต้องพิจารณา เช่น เป็นคำที่เข้าใจง่ายหรือไม่ , ชื่อเรื่องมีความหมายแอบแฝงหรือไม่ , คนอ่านกล้าหยิบหนังสือเรื่องนี้มาอ่านหรือบอกคนอื่นว่า อ่านเรื่องนี้หรือไม่
ตัวอย่างชื่อหนังสือที่ประสบความสำเร็จเช่น Deep Work ซึ่งกลายเป็นคำที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย
6. เขียนโครงร่างหนังสือ
เขียนโครงร่างหรือบทต่างๆ ของหนังสือ ซึ่งอาจต้องลองเขียนหลายครั้ง จนกว่าจะได้โครงร่างหนังสือที่เหมาะสม
ในที่สุด เราจะได้โครงร่างหนังสือที่พร้อมจะเขียนเป็นฉบับร่าง
7. เขียนฉบับร่างครั้งแรก
วางแผนว่า แต่ละวันจะเขียนกี่คำ กำหนดตารางเวลาที่แน่นอน และทำตามกำหนดการให้ได้
ในฉบับร่างครั้งแรก อาจเขียนบทละ 250–500 คำ ซึ่งสำหรับคนที่เขียนสม่ำเสมอแล้ว จะไม่ใช่เรื่องยาก
8. อ่านฉบับร่างครั้งแรก
เมื่อเขียนฉบับร่างครั้งแรกเสร็จแล้ว ก็พิมพ์บนกระดาษ จะทำให้เราภูมิใจที่ได้เห็นงานเขียนของเราเป็นรูปธรรมหรือจับต้องได้
จากนั้น อ่านงานเขียนทั้งหมดเพื่อให้เห็นภาพรวมของการเขียนทั้งหมด แล้วหยุดไปทำอย่างอื่น โดยไม่แตะต้องต้นฉบับอีกหลายวันหรือหลายสัปดาห์
9. ปรับปรุงโครงร่างหนังสือ
เมื่อกลับมาดูฉบับร่างอีกครั้ง เราอาจเกิดไอเดียใหม่ในการปรับปรุงโครงร่างหนังสืออีกครั้ง อาจตัดบางอย่าง หรือเพิ่มเนื้อหาบางอย่าง
10. เขียนฉบับร่างครั้งที่สอง
ถึงเวลาปรับปรุงฉบับร่างครั้งแรกอีกครั้ง โดยดูที่โครงร่างของหนังสือ ประโยคของแต่ละบท และเรื่องเล่าประกอบของแต่ละบท เพื่อทำให้หนังสือน่าสนใจมากขึ้น
11. เขียนฉบับร่างครั้งสุดท้าย
หาบรรณาธิการเพื่อช่วยตรวจหนังสือ หาคำผิดต่างๆ และถึงเวลาของนักเขียนที่ต้องยอมรับว่า หนังสือที่เขียนอาจจะไม่สมบูรณ์ 100 %
แต่แทนที่จะเสียเวลาอีกหลายเดือนในการปรับปรุงหนังสือ การตีพิมพ์หรือเผยแพร่หนังสือตอนนี้อาจจะดีกว่า
เพราะเรายังเขียนหนังสือเล่มอื่นที่ดีกว่านี้ได้เสมอ
เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น
สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่
โฆษณา