31 พ.ค. 2020 เวลา 13:34 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
ซีรี่ย์ : ชั้นหนังแผ่น {ม้วนฟิล์มที่ 5}
มาลักขโมยข้อมูลแบบฉบับสแปร์โรว์สไตล์กัน
...
“การลอกเลียนแบบเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ตั้งแต่เด็ก และเริ่มเรียนรู้สิ่งต่างๆ ผ่านการลอกเลียนแบบ ซึ่งนี่คือข้อได้เปรียบของมนุษย์ที่เหนือกว่าสัตว์อื่นๆ” จอห์น ซัตเทอร์แลนด์ (John Sutherland) ศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านวรรณกรรมอังกฤษสมัยใหม่ แห่งมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 15 นับว่าเป็นการปฏิวัติแบบก้าวกระโดดในวงการงานเขียน ด้วยนวัตกรรมที่มีชื่อว่าการพิมพ์ (อดีตก่อนหน้านั้น เจ้าของงานเขียนจะเผยแพร่ผลงานของตัวเอง ด้วยการอ่านให้คนอื่นฟังในห้องบรรยายขนาดใหญ่ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ)
...
เมื่อการพิมพ์กำเนิดขึ้นมา ทำให้การเผยแพร่ผลงานของผู้เขียนนั้นง่ายยิ่งขึ้นมากมาย (การพิมพ์สามารถผลิตรูปเล่มได้ 1,000 เล่ม ภายในเวลาเดียวกับที่อาลักษณ์ประจำโรงเขียนคัดลอกเสร็จเพียงหนึ่งเล่ม)
...
ความสะดวกที่ใหญ่ยิ่ง มันมาพร้อมกับปัญหาระดับชาติ นั้นก็คือมันได้กลายเป็นสวนสวรรค์ของนักลอกผลงานไปเสียอย่างนั้นเช่นกัน
...
ในต้นศตวรรษที่ 17 รัฐสภาอังกฤษจึงได้ให้กำเนิดกฎหมายที่คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นลายลักษณ์อักษรฉบับแรกของโลกในชื่อ ‘พระราชบัญญัติแห่งแอนน์ (Statute of Anne)’ เพื่อป้องกันและคุ้มครองงานเขียนต่างๆ ขึ้น อันจะเป็นการสนับสนุนให้นักเขียนกล้าที่จะผลิตผลงานสร้างสรรค์ต่างๆ ออกมาสู่สาธารณชนมากยิ่งขึ้นไปในตัวอีกด้วย
...
และในปัจจุบันการคัดลอกผลงาน (หรือในภาษาวรรณกรรมจะเรียกว่า ‘การลักลอก (plagiarism)’) นั้นจะทำได้ง่ายดายมากขึ้นกว่าเดิมอีกหลายเท่า
...
ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดี เพราะคงไม่มีใครชอบใจเป็นแน่แท้ หากได้ไปเห็นบทความหรือผลงานของตัวเองถูกนำไปเผยแพร่ที่อื่นทั้งดุ้นหรือแทบจะทั้งดุ้น ในนามของบุคคลปริศนาที่เราไม่รู้มักจี่ด้วย โดยไม่ได้รับอนุญาต (หรือแม้ว่าเขาจะประกาศว่าเป็นแฟนคลับตัวยงของเราก็ตาม)
...
และคงไม่เป็นที่ภาคภูมิใจของเราแน่ หากผลงานที่เรานำมาเผยแพร่คืองานที่คัดลอกมาจากบทความของคนอื่นมาแทบทั้งหมด (หากเรามีจิตวิญญาณนักสร้างสรรค์อยู่ภายในใจจริงๆ)
...
ทำให้ผมเกิดอยากลองแชร์วิชาโจรของผม เกี่ยวกับการเที่ยวไปลักเล็กขโมยน้อยข้อมูลตามหนังสือและเว็บไซต์ต่างๆ
...
ในแบบฉบับของโจรที่น่ารักน่าชัง (ขอไม่อนุญาตให้เติม ‘ชิง’ นำหน้า ‘ชัง’ ด้วยประการทั้งปวงนะครับ เพื่อให้ภาพลักษณ์ที่ผมสร้างเอาไว้ ให้ยังคงงดงามอยู่ ฮ่าๆ)
...
และด้วยความที่ ‘กัปตันแจ๊ค สแปร์โรว์’ ถือเป็นตัวละครที่เปี่ยมไปด้วยความร้อยเล่มเกวียน ยียวนกวนอวัยวะที่ใช้ก้าวเดิน ขี้ขโมย ท่าเดินที่ล่อสหบาทาจากฝูงชนเหมือนแม่เหล็ก รักการเอาชนะ ชอบขายผ้าเอาหน้ารอด (เหลืออะไรดีให้เยาวชนเอาเป็นเยี่ยงอย่างบ้างไหมเนี่ย?)
...
แต่แจ๊คก็เป็นอีกหนึ่งตัวละครในโลกภาพยนตร์ ที่ใครๆ ต่างก็หลงรักและเกลียดเขาไม่ลง
...
ด้วยเหตุผลนี้เอง ผมจึงถือวิสาสะตั้งชื่อวิชาโจรของผมว่า ‘การลักขโมยข้อมูลแบบฉบับสแปร์โรว์สไตล์’ ขโมยข้อมูลยังไงให้คนเกลียดเราไม่ลง
...
มันเป็นยังไงนะ?
...
ว่าแล้วเราก็มาสวมเสื้อลายพรางลิงหลอกเจ้า พร้อมคาดหน้ากากเสริมความด้าน ไปท่องราตรีและลักเล็กขโมยน้อยกันดีกว่าครับ
...
เครดิตภาพ : คุณ Nihaoman แห่งเว็บไซต์พันทิป
เริ่มแรกก่อนกางใบเรือออกจากท่า : เราต้องมีความกระหายในข้อมูลกันเสียก่อน
...
แม้เป้าหมายของโจรสลัดกับนักเขียนอย่างเราๆ จะแตกต่างกัน แต่ทว่ามีสิ่งหนึ่งที่เราทั้งคู่จำเป็นต้องมี นั้นก็คือความกระหายในข้อมูล
...
โจรสลัดเนี่ยนะกระหายข้อมูล?
...
อ้าว! หากพวกเขาไม่กระหายข้อมูล แล้วพวกเขาจะเจอสมบัติที่กำลังตามล่าอยู่ได้อย่างไรเล่า?
...
ไม่เชื่อลองยื่นไมค์โครโฟนไปถามกับ ‘กัปตันบาบอสซ่า’ สหายและอริของกัปตันแจ๊คดูก็ได้ครับผม ว่าจริงไหม?
...
และนี่คือภาพความรู้สึก เมื่อผมได้รับลายแทงไปสู่คู่แท้ของผมในชาตินี้
นักเขียนอย่างเราก็เช่นกัน ข้อมูลเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการต่อยอดความคิดและกระตุ้นต่อมจินตนาการของเรา
...
คุณคงได้ยินคำว่า ‘การเป็นนักเขียนที่ดี คุณต้องเป็นคนรักการอ่าน’ ใช่ไหมล่ะครับ?
...
หากโจรสลัดต้องอาศัยข้อมูลในการหาสมบัติฉันใด นักเขียนอย่างเราก็ย่อมอาศัยข้อมูลในการสร้างกล่องสมบัติ (ผลงาน) ของเราเองด้วยฉันนั้น
...
หากเราปราศจากข้อมูล คงไม่ต่างอะไรกับโจรสลัดที่ได้แต่ล่องเรือลอยเคว้งอยู่กลางมหาสมุทร ที่ทั้งไร้จุดมุ่งหมายและแรงบันดาลใจ
...
“การเข้าโรงเรียนกับการศึกษานั้นไม่เหมือนกัน การเข้าโรงเรียนนั้นมีวันจบ แต่การศึกษานั้นจะอยู่คู่กับเราไปตลอดชีวิต” ออสติน เคลน (Austin Kleon) นักเขียนและศิลปินชาวอเมริกัน
...
เพื่อเป็นการหลบเลี่ยงพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์อย่าง ‘การลักลอก (plagiarism)’ นั้น สิ่งที่เราจะแอบย่องเบาไปขโมยกันจะมีเพียงแค่ 2 อย่าง นั้นก็คือ ‘ไอเดีย’ กับ ‘ข้อมูลที่มีคุณค่ากับเรา’ ครับ
...
1. ไอเดีย
...
ก่อนอื่นผมต้องขอสารภาพก่อนเลยว่า ก่อนจะเป็นเพจหนังสือหนังหามาเล่านั้น ผมเคยเป็นขโมยมาก่อนครับ (ทุกวันนี้ผมก็ยังคงสันดานโจรไว้อย่างเหนียวแน่น ฮ่าๆ)
...
โดยบ้านที่ผมได้ทำการปีนป่ายกำแพง (แม้จะมีพุงคอยเกี่ยวรั้งตรงขอบกำแพงไว้ก็ตาม) และทำการสะเดาะกุญแจเข้าไปนั่น มีด้วยกันอยู่ 2 หลัง
...
หลังแรกมีชื่อว่า ‘เพจหนังหลายมิติ’ และบ้านหลังที่สองมีชื่อว่า ‘ผมอยู่ข้างหลังคุณ (นามปากกา) เป็นนักเขียน’
...
สิ่งที่ผมจ้องจะขโมยจากเจ้าบ้านทั้ง 2 หลังนี้ก็คือ ‘ไอเดีย’ ครับ
...
ไอเดีย ก็คือ ‘ความคิด หรือแนวคิด’
...
ไอเดียหลักๆ ของพวกพี่ทั้ง 2 คนก็คือ ‘คอนเซ็ป : การเขียนเล่าหนังให้เป็นมากกว่าหนัง’
...
เมื่อผมขโมยไอเดียมาได้แล้ว ผมจึงขอลักเล็กขโมยน้อยต่ออีกนิด เพราะเราจำต้องถือคติเกเรล้วงให้ลึกกว่านั้นอีกหน่อย ‘ได้คืบต้องเอาศอก’ (แต่ถ้าโดนศอกแล้วแตก อันนี้แอนตาซิลจะจ่ายให้ครับ...ไม่ต้องมาเบิกกับผมนะ)
...
ด้วยการศึกษาการเขียนบทความของพี่ทั้ง 2 คน ในส่วนของ ‘แนวทางและเทคนิคการเขียนบทความ’ ครับ ว่าพวกพี่เขาสามารถเขียนเชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆ นั้นได้อย่างไรนั้นเอง
...
และอาจด้วยความเก่งกาจ, อัจฉริยะ และฝีเท้าที่เงียบกริบเหมือนภูติผีเกินมนุษย์ปุถุชนของกระผม เจ้าบ้านทั้งสองจึงไม่รู้เนื้อรู้ตัวเลยครับว่า ผมได้แอบเข้ามาขโมยของบางอย่างไปเสียแล้ว (อิอิ!!!)
...
เรื่องการขโมยไอเดียนับเป็นเรื่องเบสิกในวงการสร้างสรรค์ที่มีมาช้านาน เช่น นักเขียนอย่าง ‘อัลดัส ฮักซ์ลีย์ (Aldous Huxley)’ เจ้าของนวนิยายสะเทือนโลกอย่าง ‘Brave New World (1932)’ หรือในชื่อฉบับภาษาไทยคือ ‘โลกที่เราเชื่อ’ (แปลไทยและจัดจำหน่ายโดยสำนักพิมพ์ freeform)
...
เรื่องราวว่าด้วยโลกดิสโทเปียในยุคอนาคต ที่โลกจะปกครองโดยผู้มีอำนาจเพียงแค่ 10 คน กับการสร้างเด็กจากหลอดแก้ว แล้วกำหนดว่าเด็กคนไหนเมื่อเกิดมาจะเป็นคนชนชั้นไหนของสังคม และจะมีอาชีพการงานอะไรในอนาคต เพื่อสังคมที่สงบสุข, ไร้สงคราม, ไม่มีการเมือง, ไร้ความขัดแย้ง และแน่นอนไม่มีเสรีภาพในการกำหนดชีวิตของตัวเอง
...
โดยฮักซ์ลีย์ได้ลักขโมยแนวคิดบรรยากาศโลกดิสโทเปียมาจากนวนิยายเรื่อง ‘Erewhon or Over the Range (1872)’ หรือในชื่อภาษาไทย ‘เอเรวอน ดินแดนไร้แห่งหน’ (แปลไทยและจัดจำหน่ายโดยสำนักพิมพ์สมมติ) ของ ‘ซามูเอล บัตเลอร์ (Samuel Butler)’ นักเขียนชาวอังกฤษ
...
และไฮไลท์เด็ดก็คือ ฮักซ์ลีย์ได้เกิดไอเดียเรื่อง ‘การพัฒนาตัวอ่อนนอกร่างกายมนุษย์ (ectogenesis)’ หรือที่เราคุ้นหูกันในชื่อเด็กหลอดแก้ว (In Vitro Fertilization : IVF) ในปัจจุบัน ไอเดียนี้ฮักซ์ลีย์ได้มาจากการที่เขาไปเห็นระบบสายพานการผลิต 'รถฟอร์ดรุ่นโมเดลที' มาครับ
...
จากกรณีของฮักซ์ลีย์ ทำให้เราเห็นว่าไอเดียต่างๆ กระจายอยู่ทุกหย่อมหญ้าบนโลกของเราและเชื้อเชิญให้เราไปลักขโมย ทั้งจากบนสื่อโซเชียล, หนังสือ, หรือแม้แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง
...
และใน Blockdit นี้ จะมีนักเขียนรุ่นเก่า (แก่) ทุกคน พร้อมที่จะยื่นมือเข้าช่วยเหลือหรือเเลกเปลี่ยนเคล็ดลับต่างๆ ให้เราเหล่านักเขียนรุ่นใหม่ เพื่อจะได้นำไปพัฒนาฝีมือของตัวเองได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
...
ซึ่งนี่คือจุดแข็งของสังคม Blockdit แห่งนี้เลยแหละครับ
...
นี่ๆ เดี๋ยวพวกพี่แนะนำอะไรเด็ดๆ ให้เอาป่ะ?
‘ไบรอัน อีโน (Brian Eno)’ นักดนตรีชื่อดังชาวอังกฤษเรียกสังคมตรงนี้ว่า ‘แหล่งบ่มเพาะความเก่งกาจ (scenius)’ ที่ความคิดสร้างสรรค์มักเกิดจากสังคมกลุ่มนักสร้างสรรค์ด้วยกัน ที่จะสนับสนุนและเชื่อมโยงและแชร์ความคิดให้แก่กันและกัน
...
โลกของกัปตันแจ๊คเองก็ไม่ต่างไปจากโลก Blockdit แห่งนี้มากนัก เพราะกัปตันแจ๊คและพ้องเพื่อนเองก็มักมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอยู่บ่อยครั้งเช่นกัน ซึ่งเราก็จะเห็นพวกเขาทำแบบนี้กันทุกภาคครับ...ซึ่งเห็นแล้วก็อดปลื้มใจแทนกัปตันแจ๊คไม่ได้เลยจริงๆ
...
เดี๋ยวๆ นั้นเขาจะแลก (เปลี่ยน) ลูกปืนกันต่างหากโว้ยอ้ายหมูแว่น!!!
“อย่าขโมยแค่เปลือกนอกของผลงาน แต่ควรขโมยวิธีคิดเบื้องหลังผลงานเหล่านั้น อย่าทำตัวให้เหมือนฮีโร่ของคุณ แต่จงพยายามคิดให้เหมือนฮีโร่ของคุณ...จงเพิ่มเติมสิ่งใหม่ๆ ให้กับโลกใบนี้ในแบบฉบับที่เป็นตัวเราให้ได้” ออสติน เคลน (Austin Kleon) นักเขียนและศิลปินชาวอเมริกันเจ้าเก่าคนเดิม
...
2. ขโมยเฉพาะข้อมูลที่มีคุณค่ากับเรา
...
แจ๊คมักขโมยเฉพาะสมบัติที่ต่อยอดพาเขาไปสู่สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าได้เสมอ
ทุกวันนี้โลกของข้อมูลข่าวสารนั้น ทั้งกว้างขวางและอัดแน่นเต็มไปหมด ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่เราจะตะกละตะกลามคว้ามันทุกอย่างเข้ามาเก็บไว้ในสมอง
...
โจรสลัดไม่สามารถครอบครองมหาสมบัติทั้งหมดได้ฉันใด เราก็ไม่สามารถครอบครองข้อมูลทุกอย่างได้ฉันนั้น
...
เราจึงจำเป็นต้องตัดตอนเอาเฉพาะข้อมูลที่มีคุณค่ากับเราเหล่านั้นออกมาใช้ครับ
...
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า ‘ข้อมูลส่วนไหนมีค่าสำหรับเรา?’
...
คำใบ้ของผมคือ ‘มันเป็นไปตามกลไกการทำงานแบบเดียวกับเข็มทิศของแจ็ค สแปร์โรว์’ ครับ
...
เข็มทิศมหัศจรรย์ที่ใครๆ ก็อยากมีไว้ในครอบครองในจักรวาล Pirates of the Caribbean
เข็มทิศของแจ็คจะชี้ไปยังทิศที่แจ๊คความปรารถนา ณ ตอนนั้นเสมอ
...
วินาทีที่คุณสร้างเพจขึ้นมาบน Blockdit คุณปรารถนาจะให้เพจของคุณเดินไปในทิศทางไหน?
...
แม้ในโลกของเราจะไม่มีเข็มทิศมหัศจรรย์นี้ แต่ผมเชื่อว่าเราเข็มทิศมีนี้กันอยู่ในตัวทุกคน นั้นก็คือ ‘ความชอบ’ ครับ
...
การเริ่มงานสร้างสรรค์ของเราด้วยรากฐานจากสิ่งที่เราชอบ ซึ่งจะนำทางเราไปสู่ประโยชน์ 2 ประการ
...
ประการแรก : เราสามารถสร้างลายเซ็น (Signature) แบบเฉพาะให้กับตัวเองได้ง่ายและมั่นคง
...
ประการที่สอง : มันสามารถนำทางไปสู่ข้อมูลที่สร้างประโยชน์กับเราได้ง่ายดายยิ่งขึ้น ซึ่งทำให้เรารู้ว่าข้อมูลไหนที่เราสามารถนำมาต่อยอดให้กับการสร้างบทความของตัวเองได้นั้นเอง
...
ยกตัวอย่างเช่นเพจของตัวผมเอง ผมมีความชื่นชอบในภาพยนตร์, นวนิยาย, จิตวิทยา และปรัชญา โดยผมจะใช้สิ่งที่ผมโปรดปรานมากที่สุดอย่าง ‘ภาพยนตร์และนวนิยาย’ เป็นเข็มทิศนำทางไปสู่ข้อมูลที่ผมสนใจและสามารถหยิบมันมาต่อยอดได้อย่าง ‘จิตวิทยาและปรัชญา’
...
หรือตัวอย่างบางส่วนเพจชื่อดังประจำ Blockdit ที่ใช้ความชอบของตัวเองเป็นเข็มทิศเชื่อมโยงไปยังเรื่องราวอื่นๆ (เนื่องจากเป็นข้อมูลที่ผมได้จากการไปสโต๊กเกอร์มา ข้อมูลจึงอาจคลาดเคลื่อนไปได้บ้างนะครับ)
...
เพจให้เพลงพาไป
เพจจะเล่าอะไรให้ฟัง
เพจตามพลอยมา (หรือจริงๆ แล้วต้องสลับเอาของกินมาเป็นหัวใจ และเอาการท่องเที่ยวไปเป็นดอกผลนะ?)
เราจะสังเกตได้ว่าทั้ง 4 เพจ อาจมีบทความออกมาในรูปแบบใกล้เคียงกัน เช่น How to, ของกิน, ไลฟ์สไตล์ เป็นต้น
...
แต่บทความที่ออกมานั้นกลับยังคงลายเซ็นของตัวเองเอาไว้อย่างเหนียวแน่น นั้นก็เพราะรากฐานของทั้ง 4 เพจเริ่มจากความชอบส่วนตัวของพวกเขานั้นเองครับ
...
ลองอาศัยสิ่งที่เรารักและโปรดปรานเป็นเข็มทิศเชื่อมโยงไปยังเรื่องราวอื่นๆ แล้วเราจะได้ผลงานที่มีเพียงแค่เราเท่านั้นที่จะสร้างสรรค์ขึ้นมาได้
...
เพียงเท่านี้เราก็จะกลายเป็นขโมยที่น่ารักในสายตาของคนอื่นๆ เฉกเช่นเดียวกับแจ๊ค สแปร์โรว์แล้วล่ะครับผม
...
ดีไม่ดีอาจมีแฟนคลับหรือผู้คนที่ชื่นชอบในผลงานของเรา กดติดตามเพจเราแบบไม่ลืมหูลืมตาจนเราตั้งตัวไม่ติดเลยก็เป็นได้นะครับ ฮ่าๆ
...
อ๋อ! และท้ายสุดอย่าได้หลงลืม ‘การให้เครดิต’ กับแหล่งข้อมูลและแหล่งภาพประกอบเป็นอันขาดนะครับ (ถือเป็นการให้เกียรติกับเจ้าของข้อมูลหรือรูปภาพนั้นๆ ที่มีส่วนให้เราสร้างสรรค์บทความในวันนี้ได้)
...
ผมลักเล็กขโมยน้อยข้อมูลบางส่วนมาจาก…
ออสติน เคลน. (2555). ขโมยให้ได้อย่างศิลปิน. แปลจาก Steal Like an Artist. แปลโดย อาสยา ฐกัดกุล. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วีเลิร์น.
ออสติน เคลน. (2557). มีของดีต้องให้คนอื่นขโมย. แปลจาก Show Your Work!. แปลโดย อรณี อรุณีกุล และทสมา วรรธนะภูมิ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วีเลิร์น.
จอห์น ซัตเทอร์แลนด์. (2561). วรรณกรรม : ประวัติศาสตร์เรื่องเล่าแห่งจินตนาการ. แปลจาก A Little History of Literature. แปลโดย สุรเดช โชติอุดมพันธ์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์บุ๊คสเคป.
นักเขียนอังกฤษ ซามูเอล บัตเลอร์ (Samuel Butler) English Author. (2563). [เว็บไซต์]. สืบค้นจาก https://www.sm-thaipublishing.com/content/4958/samuel-butler

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา