14 มิ.ย. 2020 เวลา 13:57 • การศึกษา
วิชาเรื่องสั้น 101 แบบมือสมัครเล่น : เปิดเรื่อง
กลับมาอีกครั้งหลังหายกันไปนานกับชั้นเรียนที่นักเรียนไม่ค่อยมา เพราะครูไม่ค่อยสอน มัวร้องคาราโอเกะปากซอยทุกวัน 55555
ถ้าท่านมาถึงตรงนี้ ขอให้ดีใจที่ท่านสนองนโยบายรัฐฯ ในการเรียนออนไลน์แล้ว ขอให้ภูมิใจที่ท่านได้ช่วยชาติ อิอิ แม้ว่าจะเป็นโรงเรียนเถื่อนที่กระทรวงศึกษาไม่เคยรับรองสถานะเลยก็ตามที
วันนี้อยากจะมาคุยกันถึง เทคนิคการเขียนเรื่องสั้น ซึ่งจริง ๆ ก็เอาไปเขียนอย่างอื่นได้ แต่บางรูปแบบก็อาจไม่เหมาะเท่าไหร่
เอาเป็นว่าเรื่องสั้นน่าจะเหมาะและใช้เทคนิคการเขียนได้หลากหลาย พอ ๆ กับนวนิยายเรื่องยาว แต่เราต้องย่อให้สั้นลงให้จบในการอ่านไม่กี่นาทีให้จงได้
"เอาละไปลุยกันเลย"
วันนี้จะมาคุยกันเรื่องเทคนิคการเปิดเรื่อง
ทำไมการเปิดเรื่องจึงสำคัญ
มันก็เหมือนรักแรกพบ แบบพระเอกนางเอกสบตากัน แล้วปิ๊งกันในทันใด จะบุกน้ำ ลงเรือ ลุยไฟ เกาะล้อเครื่องบิน ก็ทำได้ทั้งสิ้นเพื่อเธอ
การเขียนเปิดเรื่องก็เป็นเช่นเดียวกัน
นักเขียนจะต้องทำให้เกิดรักแรกพบของงานเขียนเราให้ได้ อาจจะไม่ใช่ทุกคนที่จะตกหลุมรักในแบบที่เราทำ ในแบบที่เราเป็น แต่หากเราหน้าตาดี มีเสน่ห์ หรือมีหุ่นเอ๊กซ์อึ๋ม หรืออะไรสักอย่าง
รักแรกพบ คงอยู่ไม่ไกล
ดังนั้นการเปิดเรื่องที่ดี จะเอาคนอ่านได้อยู่หมัด และติดตามเราได้จบจบเรื่อง สมความตั้งใจของคนเขียน
ยิ่งถ้าเราเป็นนักเขียนแบบโนเนม ไม่ได้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก การเขียนเปิดเรื่องยิ่งต้องให้ความสำคัญ เพราะนั่นจะเป็นด่านแรก ที่จะตรึงคนอ่านให้หยุดและพิจารณาผลงานของเราให้ได้
ลองนึกภาพนักเขียนไร้ตัวตน ขึ้นต้นเรื่องว่า
[บ่ายแก่ของวันหนึ่ง ชายคนหนึ่งเดินไปตามทางเดินริมถนน แสงแดดร้อน เหงื่อของเขาไหลออกมา ท่าทางเขาดูอิดโรย สายตาดูหมดอาลัยในชีวิต เขาเดินไปหยุดที่ป้ายรถเมล์ แล้วนั่งลงใต้ร่มของชายคาพร้อมถอนหายใจเฮือกใหญ่]
ลองดูว่า ถ้านักเขียนโนเนม คนเดิมเปลี่ยนบทเริ่มใหม่เป็น
[แสงแดดร้อนแผดจ้าจนเสื้อสีขาวที่ชุ่มไปด้วยเหงื่อของเขาสะท้อนแสงจนแยงตา ชายหนุ่มสายตาเลื่อนลอยกำลังพยายามพาร่างที่ดูอ่อนระโหยเดินไปจนถึงป้ายรถเมล์ ที่นั่งว่างพอดี เขาจึงทิ้งตัวลงพร้อมขยับเนคไทที่รัดแน่นให้คลายออก พร้อมถอนหายใจเฮือกใหญ่ จนคนที่นั่งอยู่ก่อนแล้วข้าง ๆ ยังต้องหันมามอง]
จะเห็นได้ว่า สถานการณ์ใกล้เคียงกัน แต่การใช้คำและรูปประโยค ก็เปลี่ยนให้การบรรยายไหลลื่นและเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งเราคงตัดสินใจได้ในขั้นต้นนี้ว่า แบบไหนที่คนอ่านน่าจะสนใจที่จะอ่านต่อ ว่าเกิดอะไรกันแน่กับชายคนนี้ และเรื่องราวต่อไปจะเป็นเช่นไร
ถ้าเป็นเราสวมหัวใจคนอ่าน ตัวอย่างอันแรก อาจพาเรากดเลิกอ่านไปเสียกลางคัน เพราะมันยังดูติด ๆ ขัด ๆ ทื่อ ๆ จนคนอ่านเบื่อไปเสียก่อน
ส่วนตัวอย่างที่สอง เพิ่มลูกเล่นให้คนอ่านเริ่มสงสัยว่าชายคนนี้ มีอะไรเกิดขึ้นกับเขา จากการสร้างภาพในหัวคนอ่าน และบรรยากาศชวนให้สงสัย
การเปิดเรื่องจึงต้องมีชั้นเชิง มีลูกล่อลูกชน จนถึงขั้นมีแผนลับลวงพรางที่จะดึงคนอ่านให้อยู่หมัด การเปิดเรื่องจึงสำคัญ
ลองมาดูว่าเทคนิคที่ผมชอบใช้มีอะไรบ้างกันดีกว่า
1. ใช้ภาษาสวยงาม อลังการม่านน้ำตก (เอาให้ผิดจากงานเขียนทั่วไป)
"เจ้าดอกมิละซ้อนซ่อนกลีบบางขาวบริสุทธิ์เรียงร้อยซ้อนสลับกันไปมา โอบกอดความหอมจรุงขจรไว้แน่นหนาราวกับหวงแหนเป็นนักหนา ยามใกล้รุ่งน้ำค้างพร่างพราวเกาะแต้มตามกลีบและใบ ราวกับกระทาชายหนุ่มที่ยั่วล้อให้สาวแรกรุ่นแย้มยิ้มออกมา ยามคำหวานถูกพร่ำพรอดออกจากปาก ครั้นเจ้ามะลิน้อยต้องแสงสุริยาแรกของวัน กลีบขาวละมุนค่อยอวดโฉมกันทีละน้อย พร้อมส่งกลิ่นอันตรึงตราให้กรุ่นกระจายไปตามสายลมแห่งความคนึง..."
คนอ่านบางคนก็นิยมการใช้ภาษาที่ดูวิจิตร บางคนก็ไม่ การเปิดเรื่องแบบนี้อาจจะเหมาะกับงานเขียนบางประเภทเป็นพิเศษ
แต่ลองนึกภาพการเปิดเรื่องแบบนี้ แต่เนื้อหาด้านในกลับจบลงด้วยโศกนาฏกรรมสุดหลอน ก็นับว่าเป็นการหลอกล่อคนอ่านที่ไม่เลวทีเดียว
2. เปิดเรื่องด้วยประโยคทอง
"จินตนาการสำคัญกว่าความรู้" หากขึ้นต้นเรื่องราวของเราด้วยประโยคที่ว่า คนอ่านคงเห็นหน้านักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลกคนหนึ่งลอยมาแต่ไกล
จนอดคิดไม่ได้ว่าเรื่องราวต่อไป จะเกี่ยวข้องกับชายคนนี้ หรือวิทยาศาสตร์สุดล้ำอะไรหรือไม่
แต่การใช้ประโยคทอง จะไม่เข้าท่าเลยถ้ามันไม่ได้นำคนอ่าน ให้เชื่อมต่อเข้าไปกับเนื้อเรื่องที่กำลังจะติดตามมาได้
และอาจต้องอาศัยเนื้อเรื่องที่เข้มข้นแต่ต้น จึงจะดึงคนอ่านได้ แต่การเปิดแบบนี้ เหมือนมีอาหารเรียกน้ำย่อยมาให้ชิมนิดหน่อยก่อนเข้าเรื่อง
อาจจะยาก แต่ก็ท้าทายที่จะทดลองดู
3. เปิดด้วยฉาก (ใกล้) จบ
เป็นรูปแบบที่นิยมกันมาก เพราะช่วยให้คนอ่านเข้าใกล้เป้าหมายของเรื่องมาก แต่ยังไม่ถึงจุดคลี่คลายของเรื่อง
นี่เป็นการยั่วล้อความต้องการของมนุษย์ที่อยากรู้ที่มาที่ไปของเรื่องราวก่อนหน้า จนมาถึงจุดที่เราเปิดเรื่องมา ซึ่งนั่นอาจใกล้จุดจบของเรื่องแต่ยังไม่ถึง ซึ่งคนอ่านจะอยากรู้ว่าอะไรทำให้เรื่องราวเดินมาถึงจุดนี้
ดังนั้นการเขียนเปิดแบบนี้ต้องไม่เปิดเผยจุดตายของเรื่องไปเสียก่อน แต่เหตุการณ์ต้องน่าสนใจจนหลอกล่อคนอ่านให้อ่านต่อไปจนจบให้ได้
เช่น สมมุติว่าเรื่องราวเป็นการสืบสวนคดีฆาตกรรม ตัวเอกเราเป็นตำรวจที่ติดตามคดี จนใกล้คลี่คลายแล้ว
ถ้าเราเปิดเรื่องด้วยแบบทั่วไปก็อาจเป็นแบบ
[ทศพล ตำรวจหนุ่มหน้าตาดีจากกองปราบฯ เดินเข้ามาในห้องสอบสวน ในมือถือแฟ้มเกี่ยวกับคดีเข้ามาด้วย แต่ใบหน้าหล่อเหลานั้นกลับดูเคร่งเครียดเสียเหลือเกิน....]
แต่ถ้าเราลองเปลี่ยนไปใช้วิธีเปิดแบบสลับตอนท้ายมาไว้ต้นเรื่องแทน จะเป็นยังไงหนอ
[ทศพลพยายามพาตัวเองที่ถูกมีดยาวแทงเข้าที่หัวไหล่ซ้ายจนเลือดอาบมาเป็นทาง เพื่อเข้าไปใกล้ร่างที่นอนนิ่งในชุดสีดำทั้งตัวพร้อมหมวกไหมพรมปิดคลุมทั้งศีรษะ เขายิงคนในชุดนั้นจนล้มลงก่อนที่จะทันหนีออกไปจากอาคารได้ เขาค้อมตัวลง แผลที่หัวไหล่ขยับจนเขาร้องโอย ก่อนจะยื่นมือขวาออกไป จับหมวกไหมพรมแล้วดึงออก ใบหน้าของฆาตกรโหดเผยออกมา ทศพลถึงกับอ้าปากค้าง เพราะไม่เชื่อในสิ่งที่เขากำลังเห็นอยู่ เพราะใบหน้านั้นคือ...]
แบบหลัง เราหยิบเอาตอนที่เรื่องราวกำลังจะเฉลยทุกสิ่งมาเริ่มเรื่องให้คนอ่านอยากรู้ที่มาที่ไป จนต้องอ่านต่อจนจบ
ซึ่งแน่นอน การเปิดเรื่องแบบนี้ ต้องมีการใช้การสลับลำดับเรื่องราวย้อนไปในอดีต (flashback) ซึ่งอาจจะยุ่งยากขึ้น แต่ก็สร้างสีสันให้ผู้อ่านได้ไม่เลวทีเดียว
4. เปิดเรื่องด้วยฉากที่ตรึงคนอ่าน
[ร่างของชายร่วงลงมาจากยอดตึก ผู้คนกรีดร้องโหยหวนไปทั่วท้องถนนเบื้องล่าง เพียงชั่วเสี้ยวนาที ร่างเขากระทบพื้นคอนกรีตเบื้องล่าง เสียงคล้ายวัตถุบรรจุของเหลวไว้ภายในระเบิดออก หญิงสาวหลายคนร้องกรี๊ดแล้วสลบลงไปทันทีที่เห็นภาพตรงหน้า เศษไขมันข้นเปื้อนโลหิตแดงฉานค่อย ๆ ไหลทะลักออกมาจากปากแผล ดวงตาเขายังกระพริบปริบ ๆ อยู่บนใบหน้าที่ราวกับจมหายไปในพื้นถนนเสียงครึ่งค่อน]
การเปิดเรื่องแบบมีฉากสยองหรือสิ่งที่กระทบต่อความรู้สึก อย่างมีการตาย มีคนเจ็บ มีการสูญเสีย หรือฉากหวาดเสียว มักเป็นวิธีการที่ทำให้เรื่องดูมีสีสันตั้งแต่เปิดเรื่อง อาจเป็นฉากสวยงาม หรือประทับใจก็ได้ แต่ฉากสูญเสียมันยั่วใจมนุษย์ที่กระหายอยากรู้อยากเห็นสนใจได้ง่ายกว่า
ลองนึกภาพต้นเรื่องของนวนิยายขายดีอย่าง "The Da Vinci code" ที่เปิดต้นเรื่องมาก็มีการพบศพของภัณฑารักษ์ ผู้เป็นตัวเชื่อมโยงพระเอกกับนางเอกของเรื่องให้มาเจอกัน
ถ้าไม่ใช่ฉากการตายที่ผิดปกติอย่างนี้ อาจไม่ชวนให้คนอ่านต้องอ่านต่อว่าเรื่องราวจะเป็นเช่นไรก็ได้
5. เปิดเรื่องด้วยบทสนทนาที่น่าสนใจ
บทสนทนาของตัวละคร เป็นเหมือนการบอกย้ำว่าเรื่องราวที่เรากำลังบอกเรานั้นเหมือนจริงราวมีชีวิตจริงใกล้ตัวเรา จนได้ยินเสียงสนทนานั้น
แต่บทสนทนาที่ว่า อาจผนวกเทคนิคที่กล่าวไปขั้นต้นมาบวกเข้าไปอีก
เช่น
- บทสนทนาของตัวละครที่กำลังจะบอกเล่าถึงจุดจบของเรื่อง
- บทสนทนาที่เกิดจากเหตุสลด ที่นำพาไปสู่เรื่องราวที่เกิดขึ้น
- หรือบทสนทนาที่สัมผัสเข้าไปถึงความรู้สึกคนอ่าน อาจเรียบง่ายอย่างที่ ลูกคุยกับแม่ สามีคุยกับภรรยา หรือคนรักคุยกัน ถ้ามันสมจริง มันจะตรึงคนอ่านให้อยู่กับเราได้
บทสนทนาเป็นเหมือนวิธีนำเสนอให้เรื่องราวมีมิติสมจริง และตัวละครโลดแล่นมีชีวิตมากกว่า แล้วเราก็ผนวกเข้ากับเทคนิคอื่น เพื่อเสริมพลังการเปิดเรื่องของเราให้เข้มข้นยิ่งขึ้น
ซึ่งเทคนิคต่าง ๆ ที่ยกมา ก็เป็นเพียงบางส่วนของการใช้วิธีการนำเสนอเรื่องของเรา ให้คนอ่านอยากติดตามอ่านเรื่อย ๆ จนวางไม่ลง
ซึ่งเอาเข้าจริง ๆ คงเป็นความถนัด และความคิดสร้างสรรค์ของผู้เขียน ที่จะทำให้เรื่องราวของเราน่าสนใจ อาจด้วยภาษา การดำเนินเรื่อง ตัวละคร และอื่น ๆ อีกมากมาย ที่จะทำให้เรื่องของเราตราตรึงคนอ่านให้จงได้
หากเพื่อน ๆ พี่ ๆ มีเทคนิคอย่างไร มาแลกเปลี่ยนกันได้นะครับ ยินดีเป็นอย่างยิ่งเลย
งานเขียนมีความเปิดกว้างขึ้นมากมายในยุคสมัยนี้ คงเพราะคนอ่านมีโอกาสที่จะได้เสพงานเขียนง่ายขึ้นกว่าอดีตมาก สมัยก่อนคงต้องพึ่งพาห้องสมุดเสียเป็นส่วนใหญ่
งานเขียนจึงมีหลากหลายรูปแบบ สุดแท้แต่นักเขียนจะสร้างสรรค์ออกมา ไม่ตายตัวด้วยข้อจำกัดอะไรเสียด้วยซ้ำในยุคนี้
มาแลกเปลี่ยนกันเพื่อเป็นการต่อยอด และพัฒนาตนเองไปพร้อม ๆ กันะครับ
สำหรับตอนนี้ก็คงเอาไว้เท่านี้ก่อน พบกันใหม่เมื่อมีโอกาสครับ
สวัสดี
โฆษณา