2 มิ.ย. 2020 เวลา 05:09 • สุขภาพ
พรก.สู้โควิด19 ทั้ง 3 ฉบับ : อย่างย่อแต่ครบถ้วน
พรก.ย่อมาจากคำว่า “พระราชกำหนด” เป็นกฎหมายที่มีชั้นใกล้เคียงกับพรบ. (พระราชบัญญัติ) ความแตกต่างก็คือ พรบ.นั้นจะต้องผ่านการพิจารณาจากฝ่ายนิติบัญญัติหรือรัฐสภาเสียก่อนจึงจะประกาศใช้ได้ (ในหนังสือราชกิจจานุเบกษา) แต่ถ้าเป็นพรก.ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลสามารถออกกฎหมายเป็นพรก.ออกมาประกาศใช้ผ่านการลงในราชกิจจานุเบกษาได้เลย ถ้ามีเหตุผลความจำเป็นเร่งด่วน ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ (มาตรา 172) อย่างไรก็ตามพรก.นั้นต้องรีบนำมาเสนอต่อรัฐสภาพิจารณาโดยเร็ว (ในโอกาสแรกที่มีการเปิดประชุมรัฐสภา)
เหตุผลที่ฝ่ายบริหารจะออกพรก.ได้มี 4 ประการ (อย่างใดอย่างหนึ่ง) คือ เป็นประโยชน์ในอันที่จะรักษา
1) ความปลอดภัยของประเทศ
2) ความปลอดภัยของสาธารณะ
3) ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ
4) ป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ
ในกรณีที่รัฐสภาพิจารณาแล้วเห็นชอบกับฝ่ายบริหาร พรก.ก็จะมีสถานะเทียบเท่าพรบ.ทันที แต่ถ้ารัฐสภาไม่เห็นชอบด้วย พรก.ฉบับดังกล่าวก็จะตกไป แต่ผลทางกฎหมายที่ปฏิบัติไปก่อนแล้วจะถือว่ายังใช้ได้ ไม่เสียไป แต่จะไม่มีผลบังคับใช้ต่อไปในอนาคต
เนื่องจากสถานการณ์โควิด19ที่ระบาดรุนแรงกว้างขวางทั่วโลก รัฐบาลจึงออกพรก.มา 3 ฉบับ ตามเหตุผลที่กล่าวมาแล้วของมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญ
พรก. 3 ฉบับดังกล่าว พอจะสรุปง่ายๆดังนี้
1) พรก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
โดยมียอดเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท (งปม.แผ่นดินปี 2563 เท่ากับ 3.2 ล้านล้านบาท) คิดเป็น 1 ใน 3 ของงบประมาณประจำปี โดยแยกเป็น 3 ส่วนย่อย ได้แก่
1.1) วัตถุประสงค์ทางการแพทย์โดยตรง 45,000 ล้านบาท
1.2) ช่วยเหลือ เยียวยา ชดเชย ประชาชน เกษตรกร ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ 555,000 ล้านบาท
(รวมทั้งเงินช่วยเหลือเดือนละ 5,000 บาทด้วย)
1.3) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 400,000 ล้านบาท
รัฐบาลสามารถจะกู้เงิน หรือออกตราสารหนี้ เพื่อระดมเงินมาต่อสู้กับสถานการณ์โรคโควิด19 ทำได้ทั้งภายในประเทศ หรือหาแหล่งเงินจากต่างประเทศก็ได้
2) พรก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด19
เน้นการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ปลอดดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก) เพื่อช่วย SME ที่มีวงเงินดำเนินการไม่เกิน 500 ล้านบาท อันนี้สุดท้ายก็จะได้เงินกลับคืนมา วงเงิน 5 แสนล้านบาท
3) พรก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ วงเงิน 4 แสนล้านบาท
เพื่อให้ตราสารหนี้ต่างๆที่จำเป็นจะต้องมีการรับซื้อคืน เกิดความคล่องตัวไม่ชงักงัน ไม่เช่นนั้นคนชั้นกลางที่มีเงินออมในกองทุนต่างๆที่ไปลงทุนในตลาดตราสารหนี้ก็จะเดือดร้อนอย่างหนัก และกระทบเป็นลูกโซ่ไปสู่ประชาชนกลุ่มต่อไป และเช่นกันเงินอันนี้ก็จะต้องกลับคืนมาที่กองทุนที่แบงค์ชาติจัดตั้งขึ้น
โดยสรุปแล้ว พรก. 3 ฉบับนี้มีการกู้เงินจริงๆ 1 ล้านล้านบาท โดยพรก.ฉบับที่ 1 ส่วนอีก 9 แสนล้านบาทโดยพรก.ฉบับที่ 2,3 ไม่นับว่าเป็นการกู้เงินแต่อย่างใด
จะเห็นได้ว่าพรก.ทั้ง 3 ฉบับได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว คงเหลือแต่การพิจารณาของวุฒิสภา ซึ่งทุกฝ่ายเห็นถึงความจำเป็นตรงกันของการออกพรก.ทั้ง 3 ฉบับว่ามีความจำเป็น เหลือเพียงประเด็นของการหาแหล่งเงินที่ต้นทุนดอกเบี้ยต่ำที่สุด จัดสรรให้กับทุกฝ่ายที่จำเป็นจริงๆอย่างคุ้มค่า และจัดให้มีระบบตรวจสอบการใช้เงินด้วยความโปร่งใสครบถ้วนและเกิดประโยชน์คุ้มค่า
โฆษณา