3 มิ.ย. 2020 เวลา 08:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
การปวดหัวในอวกาศ และวิธีแก้ที่อาจช่วยรักษาอาการไมเกรนบนโลกได้
นักบินอวกาศขณะปฎิบัติภารกิจในสถานีอวกาศนานาชาติ ที่มา - NASA
อาการปวดหัวนั้นเรียกได้ว่าเป็นอาการที่เกิดขึ้นกับทุกเพศทุกวัย ซึ่งในแต่ละคนและแต่ละครั้งก็มีปัจจัยที่มาที่แตกต่างกันออกไป จนเรียกได้ว่าอาการปวดหัวสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัยมาก
จากผลสำรวจเกี่ยวกับอาการปวดหัวในอวกาศของนักบินอวกาศของ AA Vein, H Koppen, J Haan, GM Terwindt และ MD Ferrari จากนักบินอวกาศชาย 16 คนและหญิง 1 คนที่เข้าร่วมสำรวจ มีมากถึง 12 คน ที่สรุปว่าการบินในอวกาศอาจทำให้เกิดอาการปวดหัว โดยไม่ได้เกิดจากภาวะ Space Motion Sickness หรือที่เราเรียกกันทั่วไปว่าอาการเมารถ
ดังนั้นการปวดหัวที่เกิดขึ้นขณะอยู่ในอวกาศจึงถูกจัดอยู่ในประเภท A separate entity among the secondary headaches attributed to disorders of homeostasis ซึ่งตัวแปรที่ทำให้เกิดอาการปวดหัวนั้นมีอยู่มาก แต่อาการปวดหัวในอวกาศถูกตั้งสมมุติฐานว่าเหตุเกิดมาจากการที่นักบินอวกาศต้องอยู่ในสภาวะ Microgravity จึงส่งผลให้ของเหลวในร่างกายไหลกระจายอย่างทั่วกันไปในร่างกาย
ซึ่งนั่นต่างจากบนโลก ที่ของเหลวมักจะไหลรวมกันที่ส่วนล่างของร่างกาย นั่นหมายความว่านักบินอวกาศที่อยู่บน ISS ตอนนี้ กับเราที่นั่งอยู่ที่บ้าน นักบินอวกาศจะมีของเหลวอยู่บริเวณหัวมากกว่าเรา ๆ ทำให้เกิดแรงดันเกิดขึ้นบริเวณหัวของนักบินอวกาศ ซึ่งมันสามารถเปลี่ยนรูร่างของตานักบินอวกาศได้เลยทีเดียว
ปัจจัยที่สองก็คืออาการขาดน้ำ เนื่องจากเหล่านักบินอวกาศมักจะทำงานหนักจนลืมที่จะดื่มน้ำตามเวลา เพราะความกระหายน้ำดังเช่นบนโลกไม่เหมือนในอวกาศ
ปัจจัยต่อมาคือ บรรยากาศในยานอวกาศมีความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) สูงกว่าอากาศที่เราหายใจบนโลก เมื่อสมองได้รับคาร์บอนไดออกไซด์มากเกินไป ก็ทำให้มีโอกาสปวดหัวมากขึ้นเป็นสองเท่า
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญก็คือ เสียงรบกวน เนื่องจากยานอวกาศมีเสียงดัง และปัจจัยสุดท้ายก็คือความเครียดขณะปฎิบัติภารกิจ
แน่นอนว่าทาง NASA เองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับอาการปวดหัวของนักบินอวกาศ จึงได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ซึ่ง NASA ได้เขียนไว้ในเว็บไซต์ว่ากำลังศึกษาและหาวิธีแก้ไขอยู่ แต่ความน่าสนใจมันอยู่ที่หากการศึกษาอาการปวดหัวของนักบินอวกาศสำเร็จลุล่วงด้วยดี อาจช่วยผู้ป่วยบนโลกที่มีอาการปวดหัวรุนแรงอย่างโรคไมเกรนได้
Astronaut Paolo Nespoli หนึ่งในนักบินที่ในขณะปฎิบัติภารกิจต้องร่วมจดบันทึกอาการปวดหัวของตน ขณะกำลังตรวจสอบช่องแช่แข็งวิทยาศาสตร์ภายในโมดูลห้องปฏิบัติการ Kibo ของญี่ปุ่น ที่มา – NASA
ซึ่งทาง NASA ก็ได้ให้นักบินอวกาศแต่ละคนจดบันทึกอาการของตนเองไว้เพื่อนำมาวินิจฉัยต่อไป แต่หากถามถึงวิธีแก้ปัญหาในตอนนี้ก็คือ การรับประทานยาแก้ปวด และควบคุมปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในสถานีอวกาศเพื่อลดปัจจัยที่จะทำให้ปวดหัว
นี่เป็นอีกหนึ่งโปรเจคที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าอวกาศมีความสำคัญและอยู่ใกล้กับตัวเรามากแค่ไหน และสุดท้ายนี้ทีมงาน Spaceth.co ขอร่วมเป็นกำลังใจให้กับทีมนักวิจัยในโปรเจคนี้ เพื่อที่ท้ายที่สุดเราจะสามารถช่วยรักษาอาการปวดหัวของนักบินอวกาศและผู้ป่วยที่ต้องทุกข์ทรมานกับอาการปวดหัวบนโลกได้ในที่สุด
อ้างอิง
โฆษณา