3 มิ.ย. 2020 เวลา 22:55 • ท่องเที่ยว
บ้านร้อยปี เทียนสือ .. ตามรอยประวัติศาสตร์ไทย-จีน เมืองระนอง
“เสน่ห์ของบ้านเก่า” คือเรื่องราวที่สืบทอดกันมาในอดีต
ระนอง เป็นเมืองที่มีเรื่องราวที่สำคัญของคนไทย-จีน มาตั้งแต่โบราณ ด้วยเป็นเมืองที่เดิมมีการทำเหมืองแร่ อันเป็นเศรษฐกิจที่สำคัญในยุครัตนโกสินทร์ ตอนต้น ตอนกลาง รวมถึงมีบุคคลสำคัญที่เป็นผู้ปกครองหัวเมืองปักษ์ใต้สืบทอดกันมา เช่น ท่านคอซูเจียง ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งของเอเชียในยุค กว่าร้อยปีที่ผ่านมา
“บ้านเทียนสือ” … บ้านเก่าแก่ที่มีเรื่องราวอันเป็นตำนานของคนไทย-จีน ย้อนหลังไปกว่า 120 ปี โดย ท่านเทียนสือ เป็นมือขวาของพระยารัษฎานุประดิษฐ์ เป็นเจ้าของบ้านคนแรก
“เทียนสือ” เป็นคำในภาษาจีน แปลว่า ของขวัญจากฟ้า .. บ้านหลังนี้ จึงมีความหมายว่า เป็นของขวัญจากฟ้าที่เทพเทวดาประทานให้ สร้างขึ้นในช่วงเวลาในสมัยรัชกาลที่ 5 … บ้านนี้ มีผู้อยู่อาศัยมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากคนจีนรุ่นแรกๆในจังหวัดระนอง แล้วส่งต่อๆกันมาถึง 6 ชั่วอายุคนแล้วจนถึงปัจจุบัน
จังหวัดระนองในยุครัตนโกสินทร์ เป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองมากด้วยการทำกิจการเหมืองแร่ดีบุก เป็นเมืองที่มีการส่งส่งภาษีให้ทางการมากที่สุดในประเทศไทย ในยุคที่แร่ดีบุกเป็นที่ต้องการของชาติตะวันตก … “บ้านเทียนสือ” ทำธุรกิจรับซื้อแร่และกิจการหลายอย่าง การค้าของท่าน เจริญรุ่งเรืองส่งผลให้มีฐานะดี ร่ำรวยมาก
เรื่องเล่าจากยุคสมัยก่อน มีว่า “เจ้าของบ้านเทียนสือ จะชวนลูกหลานมานั่งนับเหรียญในสวนกลางบ้าน และช่วยกันบรรจุในถุงผ้าใบที่ใช้ใส่แร่ดีบุกเก็บไว้ในบ้านมากมาย” … ดังนั้น บ้านเทียนสือในสมัยนั้นจึงเปรียบเสมือน “ห้องคลังกลางใจเมืองระนอง”
ปัจจุบัน บ้านเทียนสือ เป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าเรื่องราวในอดีตของคนจีนในจังหวัดระนองรุ่นแรกๆ ที่มาตั้งถิ่นฐาน พร้อมด้วยประวัติศาสตร์เมืองระนอง และวิถีชีวิตภูมิปัญญาของท้องถิ่น ผ่านเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ รวมไปจนถึงภาพถ่ายเก่าแก่ที่หายากซึ่งหลายคนอาจไม่เคยเห็นมาก่อน … แถมยังมีข้าวของเครื่องใช้แบบโบราณอันเปี่ยมเสน่ห์ ทั้งโคมไฟโบราณ ภาพวาดในกรอบรูปติดฝาผนัง โต๊ะและเก้าอี้ฉลุลวดลาย และเครื่องไม้โบราณ ที่เหมือนพาเราย้อนเวลาไปดูศิลปะที่ผสมผสานทั้งไทย จีน และยุโรป
“บ้านเทียนสือ” สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 .. เจ้าของบ้านคือ "ท่านเทียนสือ" ซึ่งเป็นหลานเขยของ คอซู้เจียง เจ้าเมืองระนอง โดยนายเทียนสือได้แต่งงานกับ "ฉ่ายหล่วน" ซึ่งเป็นหลานสาวของพระยารัษฎานุประดิษฐ์ (คอซินบี้ ณ ระนอง) เจ้าเมืองตรัง
ท่านเทียนสือ จึงได้รับความเมตา และไว้วางใจจากทั้ง 2 ท่านเป็นอย่างมาก หลังจากแต่งงานจึงได้สร้างบ้านหลังนี้ ประมาณปี พ.ศ.2433 มีบุตรชายหญิงทั้งสิ้น 5 คน
“คุณศุภพรพงศ์ชัย พรพงษ์” หรือที่เรียกกันง่ายๆว่า “โกศุภ” เป็นเจ้าของบ้าน และเป็นทายาทรุ่นที่ 6 คนปัจจุบันของบ้านหลังนี้ .. ท่านมาต้อนรับคณะของเราด้วยตัวเอง และนำชมบ้าน พร้อมการบรรยายประวัติของบ้านในแง่มุมต่างๆอย่างละเอียด ขอขอบพระคุณ "โกศุภ" อย่างสูงที่เมตตานำชม ไว้ ณ ที่นี้ด้วยค่ะ
บ้านเทียนสือ มีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างจีนและไทย สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 .. เป็นเรือน 2 ชั้น ที่ก่อสร้างอย่างมั่นคง ชั้นบนเป็นไม้ ชั้นล่างเป็นตึก วางผังให้มีตัวบ้านด้านหน้า และด้านหลังมีลักษณะเหมือนบ้านแฝด มีสวนกลางบ้าน หน้าต่างทุกช่องเป็นไม้แผ่นหนา รูปทรงแบบหมวกทหารจีนโบราณ ... ซึ่งมีความหมายเหมือนว่ามีทหารเฝ้าล้อมรอบทั้งบ้าน
ด้วยเหตุที่ เดิมบ้านหลังนี้ ได้ทำหน้าที่เหมือนตลาดกลางซื้อขายแร่ดีบุกและเป็นที่รวบรวมเงินเก็บภาษี ส่งคลังหลวงที่กรุงเทพฯ การสร้างบ้านจึงเน้นเรื่องความปลอดภัย เดิมมีการทำประตูเข้าบ้านถึง 5 ชั้นกว่าจะถึงตัวบ้านด้านใน และมีกำแพงหนาถึงฟุตครึ่ง การออกแบบบ้านถูกต้องตามหลักฮวงจุ้ยทุกประการ ปัจจุบันเป็นสถานที่เก็บรวบรวมประวัติและข้าวของเครื่องใช้ของตระกูล ณ ระนอง
จุดเช๊คอินจุดแรก .. มุมเก้าอี้และลวดลายเพ้นท์กำแพง และป้ายชื่อบ้านเทียนสือ เป็นอีกมุมไฮไลท์ ทุกคนที่มาเยี่ยมเยือนต้องเดินมาถ่ายภาพเช็คอิน พื้นที่ด้านหน้านี้ ตรงกลางเป็นลานโล่ง ที่จะเปลี่ยนสภาพเป็นตลาดนัดสำหรับการซื้อขายของในช่วงวันหยุด
ป้ายชื่อบ้านเทียนสือ บนกรอบประตูทางเข้าห้องด้านใน .. ด้านข้างของกรอบป้ายชื่อบ้านมีสัญลักษณ์ของฝ่ายบู๊ และฝ่ายบุ๋น ซึ่งน่าจะหมายความว่า บ้านนี้ทำมาค้าขายและรับราชการ ตัวอักษรภาษาจีนด้านข้างกรอบประตู ท่านเจ้าของบ้านบอกว่า มีความหมายให้อยู่เย็น เป็นสุข
ด้านซ้ายมือของประตูหลักของทางเข้าตัวบ้าน เป็นที่นั่งพัก … ด้านขวามือเป็นมุมถ่ายรูปได้สวยงาม เฟอร์นิเจอร์ไม้ โต๊ะ เก้าอี้ สไตล์แบบจีนโบราณที่งดงามมาก
โกศุภเล่าว่า บ้านหลังนี้สร้างโดยมีความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และความเป็นมงคลในรูปแบบต่างๆ การจัดวางสิ่งของ จึงอิงในเรื่องของความเชื่อแบบคนจีน … แม้แต่การวางกระเบื้องภายในบริเวณบ้านที่จะต้องวางเรียงเป็นรูปข้าวหลามตัด ก็เพราะเชื่อว่าจะนำโชคลาภ ความร่ำรวยเข้ามาในบ้าน
สิ่งสำคัญที่ทายาทของ “บ้านเทียนสือ” ได้รับคำสั่งมาจากบรรพบุรุษเป็นทอดๆคือ ห้ามมิให้เปลี่ยนแปลงสภาพหลักๆของบ้าน …เราจึงโชคดีที่มีโอกาสได้เข้ามาซึมซับเรื่องราวในของบ้านในวันวาน ได้ฟังบทบาทของคนสำคัญๆที่เคยโลดแล่นในบ้านหลังนี้และในเมืองระนองในช่วงกว่าร้อยปีที่ผ่านมา โดยมีข้าวของเครื่องใช้ที่เคยถูกใช้จริงๆเป็นฉากที่เปี่ยมชีวิตชีวา เหมือนการชมภาพยนตร์ย้อนอดีต
พื้นที่แรกที่เราเข้าไปชมและฟังการบรรยายเกี่ยวกับประวัติของบ้านและต้นตระกูล ณ ระนอง มีความน่าสนใจ หากมีเวลาก็ควรจะอ่านข้อความรายละเอียดค่ะ … มีภาพ Family Tree ของตระกูล ณ ระนอง และภาพเก่าของสมาชิกตระกูล ณ ระนอง บางคนให้ชมเรื่องราวความเกี่ยวโยง
บ้านเทียนสือ ที่ปีนัง … เปรียบเสมือนสถานที่ลี้ภัยทางการเมืองมาหลายยุคหลายสมัยในอดีต เมื่อการเมืองมีความยุ่งยาก ซับซ้อน และโอกาสที่จะมีภัย .. นักการเมืองจากไทยในหลายช่วงเวลาในอดีต ได้เลือกที่จะไปพึ่งร่มเงาของบ้านเทียนสือ ที่อยู่ที่ปีนัง และมาเลเซีย และเมื่อความร้อนแรงเริ่มจางหาย คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น จึงร่ำลา และกลับมาเมืองไทย
บ้านเทียนสือ จึงเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ ที่แม้จะไม่ได้มีการบันทึก .. แต่ร่องรอย ภาพถ่าย และความทรงจำ ยังคงอยู่มิได้เลือนหายไป
มุมถ่ายรูปสวยๆ โดยโกศุภ ที่ใจดี และอาสาเป็นช่างกล้องให้กับทุกคน และคอยแนะนำมุมต่างๆของบ้าน รวมทั้งรู้ว่าต้องแอ๊คชั่นอย่างไรจึงจะได้ภาพสวยๆไปเป็นที่ระลึก
เราเข้าไปชมด้านในส่วนนอก … เริ่มจากซุ้มแท่นบูชาและไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ประกอบด้วยโต๊ะที่มีอุปกรณ์เครื่องใช้ในการทำพิธี มีภาพและป้ายเขียนด้วยอักษรภาษาจีนตรงด้านข้าง .. ซึ่งฉันไม่มีความรู้พอที่จะอธิบายได้อย่างถูกต้องครบถ้วน
ตัวกิเลน … ตั้งอยู่ข้างๆแท่นบูชา ใช้เป็นสัญลักษณ์แทนตระกูลขุนนางที่ซื่อสัตย์
“ตะเกียงอธิษฐาน” หน้าแท่นบูชา .. ทุกคนที่มาเยือนบ้านเทียนสือ ได้รับคำแนะนำให้มาลองอธิษฐานขอพรที่ประสงค์ จะกี่ข้อก็ได้ โดยเอามือแตะไว้ที่ตะเกียง แล้วตั้งจิตอธิษฐานของพร แต่ทุกพรที่ขอจะต้องลงท้ายด้วยคำว่า “อย่างยั่งยืน” จากนั้นก็ไปสั่นกระดิ่งที่วางอยู่บนแท่นบูชา 1 ครั้ง เชื่อว่าพรที่ขอจะประสบผล
.. ฉันแค่เพียงขอพรให้มีสุขภาพทีดีอย่างยั่งยืนค่ะ
ทราบว่า นักการเมืองที่มาเยือนบ้านนี้ ก็อธิษฐานขอพรเช่นกัน แต่พรที่ขอ เราคงไม่อาจคาดเดาค่ะ
ด้านขวามือของห้องด้านในเรือนหลัก … ภาพต่างๆบนผนังด้านนี้ มีภาพบุคคลสำคัญต่างๆ ที่มาเยี่ยมเยียนตระกูล ตั้งแต่บุคคลชั้นผู้ใหญ่ในประเทศ ตลอดจนพระราชวงศ์ชั้นสูงของไทย รวมถึงภาพที่ได้รับพระราชทาน ได้รับมาจากพระราชวงศ์ในสมัยต่างๆ
ความสุจริต ที่ทำงานให้แก่แผ่นดิน ทำให้ต้นตระกูลที่มาจากคนจีนทั่วไป ได้รับแต่งตั้งเป็น พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซูเจียง) พร้อมแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองคนแรกของจังหวัดระนอง นั้นเอง....
ภาพของ กรมหลวงสงขลานครินทร์ (สมเด็จพระราชบิดาในหลวงรัชกาลที่ 9) ที่คล้องแขนกับท่านพระยาประดิพัทธภูบาล (คออยู่เหล ณ ระนอง) แสดงถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดสนิทสนม เป็นภาพที่น่าสนใจมากสำหรับคนที่พบเห็น
เตียงนอนไม้ เข้าใจว่าเป็นไม้ Rose Wood .. งดงาม ปราณีตด้วยงานฝีมือชั้นยอด เราได้รับความกรุณาเป็นพิเศษให้ไปนั่งถ่ายรูปได้ โดยมีโกศุภเจ้าของบ้าน เป็นผู้คอยเก็บภาพให้ทุกคน
ด้านซ้ายมือ .. จัดวางเฟอร์นิเจอร์สไตล์ไม้สไตล์จีนโบราณ รวมถึงเก้าอี้ฉลุลวดลายและฉากที่ประดับด้วยการฝังมุกแบบโบราณ มีตู้เก็บข้าวของเครื่องใช้ในบ้านในอดีต ที่ปัจจุบันอาจจะเลือนหายไปกับความเจริญของสังคมปัจจุบัน
บนผนังมีภาพถ่ายเก่าแก่ที่สำคัญของเจ้าของบ้านหลายชั่วอายุคน ที่ยืนยันความเป็นมาของบรรพบุรุษต้นตระกูลในหลายๆโอกาส .. บอกเล่าเรื่องราวของคนในตระกูล ณ ระนอง
รวมถึงภาพตราสัญลักษณ์ที่ใช้ในช่วงเวลาต่างๆในอดีตของตระกูล ณ ระนอง … ต้องชื่นชมการเก็บรักษาภาพถ่ายและเอกสารสำคัญที่เกี่ยวข้องกับคนในตระกูลนี้ ที่ทำได้อย่างดีมาก
มองผ่านซุ้มประตูที่มีผ้าม่านสีแดงเป็นกรอบ … มองเห็นภาพถ่ายของท่านผู้เป็นต้นตระกูล ณ ระนอง .. เราจะเดินเข้าไปชมส่วนหลังของบ้านกันค่ะ
พื้นที่ด้านหลังของบ้านชั้นนอกนี้ แบ่งออกเป็น 2 ฝาก โดยมีห้องโถงอยู่ตรงกลาง มีบันไดนำขึ้นไปสู่ชั้นสองของบ้าน ซึ่งปัจจุบันไม่ได้เปิดให้เข้าเยี่ยมชม
ตรงห้องโถง .. สิ่งแรกที่โดดเด่นมากถือ ภาพถ่ายบนผนังของ พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซูเจียง) เจ้าเมืองคนแรกของจังหวัดระนอง สิ่งที่สะดุดตามากทุกครั้งที่เห็นภาพของท่านคือ ท่านเป็นคนที่มีลักษณะสูงใหญ่กว่าคนทั่วๆไป .. บุคคลิกของผู้นำ ที่ดูจะเป็นคนจริงจัง (ดุ?) น่าเกรงขามมาก
ด้านซ้าย … เป็นส่วนของห้องทำงานของท่านเจ้าของบ้านในอดีต ประกอบไปด้วยโต๊ะและเก้าอี้ทำงานแบบเรียบง่าย มีสิ่งของไม่มาก มีภาพถ่ายบางภาพที่บอกเล่าเรื่องราวกิจกรรมทางราชการและทางสังคมที่เกิดขึ้นในอดีต มีลูกคิดโบราณรูปทรงโค้งที่โชว์อยู่บนผนังด้านหนึางของห้อง .. เพิ่งจะเคยเห็นจากที่นี่เป็นครั้งแรก
ด้านขวามือ … เป็นห้องนอน มีโต๊ะเครื่องแป้งและกระจกโบราณ และเตียงนอนที่สวยงามมากๆ เหมือนเตียงเจ้าสาวที่เคยเห็นในภาพยนตร์จีนวินเทจ ม่านสีขาวตรงเสาเตียง และผ้าปูที่นอนสีแดงสดลวดลายแบบจีนโบราณ ทำให้เหมือนภาพฝัน
“เข้าไปยกมือไหว้ แล้วขึ้นไปนั่งที่ขอบเตียง .. ผมจะถ่ายรูปให้” โกศุภเมตตามากที่อนุญาต
ตู้เก็บของใช้ในอดีต ตรงใต้บันได … เครื่องกระเบื้อง และเครื่องใช้โลหะที่เคยถูกจับมาใช้ เช็ดถูอย่างดี .ทำให้จินตนาการถึงภาพชีวิตของคนโบราณได้อย่างชัดเจน
บ้านเทียนสือ สร้างด้วยโครงสร้างของบ้านหลายหลังที่ซ้อนๆกันอยู่ … ด้านหลังจะเป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัวเจ้าของบ้านปัจจุบัน และไม่เปิดให้เข้าชม
ลานบ้าน หลังอาคารบ้านหลังแรก .. เป็นพื้นที่เปิดโล่ง บริเวณนี้เหมือนเป็นลานอเนกประสงค์ มีบ่อน้ำที่ไม่ได้ใช้แล้วอยู่ค่อนไปทางด้านซ้ายมือ
ผนังของกำแพงด้านขวามือ … มีภาพวาดสไตล์จีนที่มีภูเขา สะพาน สายน้ำ เป็นส่วนประกอบของภาพที่งดงามมากเป็นฉากหลัง โต๊ะและกี๋แบบจีน ได้รับการจัดวางให้เป็นส่วนนั่งเล่น และเป็นมุมถ่ายรูปที่สวยงาม
ประตูทางเข้าบ้านชั้นใน สไตล์จีนโบราณ ตัวอักษรภาษาจีนคลาสสิกขนาดใหญ่ เขียนอยู่ที่กรอบประตูทั้งสองข้าง .. เป็นตัวอักษรจีนที่โกศุภบอกว่า เป็นคำมงคลสำหรับบ้านหลังนี้ หรือบ้านคนจีนโบราณ
… ขอให้บารมีของแผ่นดินแม่ที่ลูกจากมา ขอให้เงินทองไหลมาเทมา ราวดังห่าฝน ที่ตกลงมาในสวนท้อ...
เราหยุดรับพลังจากคำมงคล แห่งบ้านเทียนสือ บ้านแห่งคลังของความมั่งคั่ง กว่าหนึ่ง ศตวรรษ ของระนอง ... ก่อนที่จะไปโพสท่าถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก
พื้นส่วนนี้เป็นส่วนหนึ่งของลานอเนกประสงค์ที่ไม่ธรรมดา … หากสังเกตบริเวณนี้จะเหมือนปรัมพิธี ลักษณะเหมือนเวทียกสูง ด้านข้างของประตูมีม้านั่ง 2 แบบ นั่งคนเดียว และนั่ง 2 คน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับฤกษ์ยามว่า ในวันนั้นท่านเทียนสือ จะนั่งคนเดียว หรือนั่งคู่กับภรรยา
ด้านล่างติดกับระดับพื้นดินยังมีรูปปั้นเป็นรูปก้อนเงิน ก้อนทอง เพื่อความเป็นสิริมงคล ...อันเป็นเรื่องความเชื่อ ของชาวจีนสมัยโบราณ
บ้านแห่งนี้จึงประหนึ่งเหมือนยกแผ่นดินจีนพร้อมอารยะธรรมมาอยู่ที่แห่งนี้ทั้งหมด และบริเวณลานแห่งนี้เอง ที่ท่านเทียนสือ มักจะให้ลูกหลานมาช่วยนับเงิน และช่วยบรรจุในกระสอบเพื่อนำมาซื้อขายแร่ดีบุก และเก็บไว้เพื่อใช้จ่ายต่างๆ อีกด้วย
นักท่องเที่ยว สามารถเดินทางเข้าเยี่ยมชมบ้านเทียนสือได้โดยไม่เสียค่าเข้าชม จะมีเพียงกล่องรับบริจาคเพื่อใช้เป็นค่าบำรุงรักษาให้บ้านเก่าหลังนี้คงอยู่ต่อไป
ที่ตั้ง : บ้านเลขที่ 7 ถนนดับคดี ตำบลเขานิเวศน์ อ.เมือง จ.ระนอง
เวลาเปิด-ปิด : เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 9.00 – 16.00 น.
**.. หากต้องการอ่านบทความย้อนหลัง ตาม Link ไปเลยนะคะ
รวม Link : Traveling the world A-Z
รวม Link บทความ Road trip Norway
รวม Link บทความเที่ยวเมืองไทย
รยม Link บทความ Lifestyle-อาหาร&ร้านอาหาร-อื่นๆ
โฆษณา