4 มิ.ย. 2020 เวลา 06:39 • ธุรกิจ
ไม่ใช่แค่จีน! อีก 52 ประเทศทั่วโลกกำลังเร่งศึกษาการสร้างเงินดิจิทัลแห่งชาติ
## เกิดอะไรขึ้น ##
Bank For International Settlements (BIS) องค์กรการเงินระหว่างประเทศที่มีเจ้าของเป็นธนาคารกลาง 62 ประเทศทั่วโลกได้เปิดเผยข้อมูลการสำรวจในปี 2019 ว่า 80% ของธนาคารกลาง 66 ประเทศทั่วโลกนั้นกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างเงินดิจิทัลแห่งชาติ (Central Bank Digital Currency หรือ CBDC) และมีถึง 10% ที่เริ่มโครงการนำร่องไปแล้ว
1
## หมายความว่าอย่างไร? ##
ถึงแม้ว่าจีนอาจจะเป็นชาติแรกในโลกที่จะออกเงินดิจิทัลแห่งชาติให้ประชาชนใช้ แต่ว่าหลายๆประเทศทั่วโลกก็ตระหนักถึงศักยภาพของ Distributed Ledger Technology (DLT) และ Blockchain Technology ต่อระบบการเงินในปัจจุบันมาตั้งแต่ปี 2013 และได้เริ่มศึกษาความเป็นไปได้ในการออก CBDC
CBDC คือสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางซึ่งมีความแตกต่างจากเงินดิจิทัลทั่วไปในเรื่องของเทคโนโลยีที่ใช้ (CBDC ส่วนใหญ่ใช้ DLT เทคโนโลยี) เมื่อเปรียบเทียบกับคริปโตเคอเรนซี่ทั่วไป CBDC นั้นแตกต่างเพราะ CBDC เป็น Legal Tender ที่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย แต่คริปโตเคอเรนซีทั่วไปเช่น Bitcoin ไม่มีสถานะแบบนั้น สรุปสั้นๆ CBDC ก็คือเงินกระดาษที่อยู่ในรูปของดิจิทัลนั้นเอง แต่นี่ไม่ได้หมายความว่า CBDC จะต้องมีเงินดาษหรือเงินสดมาค้ำมูลค่าตามที่คนบางส่วนเข้าใจผิด CBDC มีคุณสมบัติเหมือนเงินกระดาษทุกประการดังนั้นการจะออก CBDC ไม่จำเป็นต้องมีเงินกระดาษมาค้ำ
ธนาคารกลางในแต่ละประเทศต่างก็มีเหตุผลส่วนตัวในการศึกษา CBDC แต่เหตุผลหลักๆก็มีอยู่ดังนี้
1
1. ความมั่นคงทางการเงิน: ข้อมูลของหลายประเทศต่างชี้ไปในทางเดียวกันว่า Cashless Society คือเทรนด์แห่งอนาคตที่จะมาแน่ๆ ถ้าธนาคารกลางไม่รีบปรับตัวออกเงินดิจิทัลของตัวเองออกมา ก็มีความเป็นไปได้ว่าประชาชนจะหันไปใช้เงินดิจิทัลของคนอื่นซึ่งอาจจะมีผลต่อความมั่นคงทางการเงินของประเทศก็เป็นได้
2. การดำเนินนโยบายทางการเงิน: การออก CBDC คือการยกระดับระบบการเงินของประเทศ ธนาคารกลางจึงต้องการจะศึกษาถึงประสิทธิภาพของนโยบายทางการเงินบนระบบใหม่
1
3. บริการทางการเงินที่ทั่วถึง: ในบางประเทศประชาชนอีกจำนวนมากยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินและธนาคารได้ การออก CBDC จะทำให้ประชาชนที่มี Smart Phone ซึ่งมีราคาถูกลงทุกวัน สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้
4. ประสิทธิภาพในการโอนเงินในประเทศ: ธนาคารกลางประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่มีบัญชีธนาคารจะสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ เพราะถ้าประเทศเหล่านั้นออก CBDC สำเร็จจะเป็นการก้าวผ่านระบบการเงินแบบเก่าไปเลยเปรียบเสมือนการสร้าง Hyperloop แทนการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง ค่าใช้จ่ายตอนต้นอาจจะแพงกว่าแต่ในระยะยาวแล้วค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะถูกกว่าและยังได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ใหม่กว่าด้วย
5. ประสิทธิภาพในการโอนเงินระหว่างประเทศ: ในปัจจุบันการโอนเงินระหว่างประเทศเราจำเป็นต้องพึ่งสถาบันการเงินที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมประเทศต้นทางและปลายทางซึ่งบางทีเราต้องใช้ตัวกลางหลายๆทอด เทคโนโลยี DLT และ Blockchain นั้นเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางอยู่แล้วในเรื่องของการนำมาประยุกต์ใช้กับการโอนเงินระหว่างประเทศว่าทำได้รวดเร็วและราคาถูก
6. ความปลอดภัยในการใช้เงิน: หนึ่งในจุดเด่นของการออก CBDC ก็คือความโปร่งใสและปลอดภัยในตัวระบบ นั้นหมายความว่าการทำ CBDC ปลอมจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ นี่จะช่วยแก้ปัญหาการใช้ธนบัตรปลอมอย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ CBDC ที่สร้างขึ้นบนเทคโนโลยี DLT จะทำให้ธนาคารกลางสามารถตรวจสอบเส้นทางการเงินได้ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการฟอกเงินได้นั้นเอง
การออก CBDC ถือเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่มากเพราะมันคือการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศซึ่งจะส่งผลกระทบไปทุกระดับในเศรษฐกิจ ดังนั้นธนาคารกลางของแต่ละประเทศจึงต้องใช้เวลาศึกษานานมากเพราะว่าถ้าเดินเกมส์พลาดมันจะส่งผลถึงชื่อเสียงของธนาคารกลางซึ่งหมายถึงความเชื่อมั่นของประชาชนต่อสถาบันการเงินหลักของประเทศ และแน่นอนการออกแบบที่ผิดพลาดก็จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
## มีผลกระทบอย่างไร? ##
CBDC is inevitable! การที่ 52 ประเทศทั่วโลกเร่งศึกษาเรื่องของการออก CBDC นั้นเป็นสิ่งยืนยันที่ชัดเจนแล้วว่าทั่วโลกเห็นว่า CBDC นั้นจะมีบทบาทที่สำคัญในโลกการเงินยุคต่อไป ประกอบกับในปีนี้เราเริ่มได้ยินข่าวที่เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นในเรื่องของ CBDC จากประเทศต่างๆทั่วโลก เพียงแค่ในครึ่งปีแรกเราก็ได้เห็นข่าวเกี่ยวกับ CBDC จากประเทศต่างๆดังนี้
1.ธนาคารแห่งประเทศไทยแถลงผลการพัฒนาโครงการอินทนนท์เฟส 3 ร่วมกับ Hong Kong Monetary Authority (HKMA)
2. ธนาคารกลางญี่ปุ่นและธนาคารกลางยุโรปได้ออกรายงานร่วมของโปรเจค Stella เฟส 4 ซึ่งเป็นโปรเจคเกี่ยวกับการใช้งาน DLT เทคโนโลยีในเชิงลึก
3.ธนาคารกลางสวีเดนเริ่มทำการทดสอบ “e-krona” (สกุลเงินสวีเดน)
4. ธนาคารกลางอังกฤษได้ตีพิมพ์หนังสืออภิปรายเกี่ยวกับ CBDC โดยครอบคลุมไปถึงโอกาส ความท้าทาย และการออกแบบ “ปอน์ดดิจิทัล”
5. รัฐบาลจีนยืนยันว่าได้เริ่มทดสอบ “หยวนดิจิทัล” ใน 4 เมืองใหญ่ได้แก่ เซินเจิ้น สงอัน เฉิงตูและซูโจว
6. ธนาคารกลางเกาหลีใต้เร่งโครงการนำร่องเกี่ยวกับ CBDC เพื่อพัฒนาให้ตามประเทศอื่นให้ทัน
7. ธนาคารกลางฝรั่งเศสประสบความสำเร็จในการทดสอบ “ยูโรดิจิทัล” เพื่อใช้ในการโอนเงินระหว่างแบงค์
แม้ในตอนแรกธนาคารกลางบางประเทศอาจจะคิดว่าเงินดิจิทัลแห่งชาติยังเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น แต่เมื่อมีประเทศหนึ่งเริ่มสร้างและมีประเทศอีกกลุ่มหนึ่งพัฒนาตาม Domino Effect จะเริ่มทำงาน (อาการกลัวตามเทคโนโลยีไม่ทัน) ซึ่งดูเหมือนว่ามันจะเกิดขึ้นไปแล้วซะด้วย ถึงแม้ว่าเราจะไม่รู้แน่ชัดถึงเทคโนโลยีที่ธนาคารกลางแต่ละประเทศจะเลือกใช้ในการสร้างสกุลเงินดิจิทัลแห่งชาติ มันอาจจะไม่ได้เป็น DLT หรือ Blockchain อย่างที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คิดก็เป็นได้ แต่เราสามารถมั่นใจได้ว่ายุคที่ประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกออกเงินดิจิทัลของตัวเองจะต้องมาถึงอย่างแน่นอน
ในตอนต่อไป Think Future จะมาอธิบายเจาะลึกถึงประเภทของ CBDC และผลกระทบของ CBDC แต่ละชนิด รอติดตามกันได้เลยครับ :)
โฆษณา