25 ต.ค. 2020 เวลา 23:00
#ชีวประวัติและปฏิปทาหลวงปู่สังวาลย์ เขมโก
“ นามเดิมท่านคือสังวาลย์ นามสกุล จันทร์เรือง เกิดเมื่อ จันทร์ เดือน ๔ ปีมะโรง ปี พ.ศ.๒๔๕๙ ที่บ้านหนองผักนาก สามชุก สุพรรณบุรี บรรพบุรุษท่านมีอาชีพทำนา แต่โยมบิดาท่านเป็นผู้ที่ได้นำภาพยนตร์มาฉายในอำเภอสามชุกเป็นคนแรก
•อุปสมบทครั้งแรก
เมื่ออายุครบบวช แต่ด้วยความที่ท่านเป็นคนไม่รู้หนังสือ บทสวดมนต์บางบท ท่านต้องจำจากที่แม่ชีสวดกัน ท่านจึงสวดมนต์ได้แค่อิติปิโส ฯ พาหุง ฯ แม้แต่นะโมก็ต้องต่อเอา ด้วยเหตุนี้ท่านจึงต้องลาสิกขาบท ทั้ง ๆ ที่ไม่อยากจะลาเลย
•ชีวิตสมรส
ท่านสมรสกับแม่บาง เมื่ออายุ ๒๖ ปี ในปี ๒๔๘๑ แต่ไม่มีบุตรด้วยกัน ท่านยึดอาชีพทำนาแต่ด้วยเหตุที่ท่านมีสุขภาพไม่ค่อยจะแข็งแรงเท่าไรนัก บางครั้งขณะที่ทำงานเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา ท่านก็ต้องผลัดกันไถนาโดยอาศัยห้างนาเป็นที่พัก รอจนไข้ลดจึงได้ออกมาทำนาเป็นปรกติ บางทีก็ทำนาไม่ได้ ต้องให้ภรรยาท่านเป็นคนทำ ท่านจึงรับหน้าที่ เป็นผู้ช่วยหุงหาอาหารให้ภรรยาเท่านั้นเอง ท่านได้ทนทุกข์ทรมานกับโรคภัยถึง ๒ ปี โดยในระหว่างนั้นท่านได้รับคำแนะนำจากแม่ชีจินตนา ซึ่งเป็นศิษย์ของหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ให้ทำกรรมฐานเผื่อว่าโรคจะหาย
1
ความที่ท่านมีโรคภัยนี้เอง จึงได้เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ท่านได้เห็นภัยในวัฏฏะสงสาร เห็นภัยที่เกิดจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ขึ้นมา ท่านเล่าให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งแม่บางไม่สบาย ท่านก็ได้ช่วยดูแลตามประสาสามี ธรรมดาของคนป่วยย่อมจะต้องมีความอิดโรยเป็นธรรมดาและช่วยตัวเองไม่ได้ ท่านจึงช่วยตักน้ำราดศีรษะให้แม่บาง พอน้ำราดลงบนเส้นผม ไอระเหยที่โดนเส้นผมนั้น ส่งกลิ่นชวนให้น่ารังเกียจ เนื่องจากไม่ได้ทำความสะอาดมาเป็นเวลานาน ทำให้ท่านเกิดสลดสังเวชใจเป็นอย่างยิ่งว่า ร่างกายของคนเรานี้เป็นสิ่งที่ไม่น่ายินดี เป็นรังแห่งโรค เป็นที่เกิดแห่งทุกข์
ครั้งหนึ่งท่านได้เดินผ่านกระจกเงาบานใหญ่ ซึ่งสามารถมองเห็นได้ทั้งตัว แทนที่ท่านจะมองเห็นเป็นรูปร่างของตัวท่าน ท่านกลับเห็นเป็นอสุภนิมิต มีโครงกระดูกขึ้นแทน ด้วยตัวท่านเป็นผู้ฝึกทำกรรมฐานอยู่เสมอ จึงทำให้จิตใจที่ได้รับการฝึกฝนอยู่ย่อมเกิดปัญญาเกิดความรู้เห็นขึ้น มีญาณทัศนะปรากฏขึ้น ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ท่านเห็นภัยในสังขารยิ่งขึ้นและเกิดความเบื่อหน่ายที่จะครองเรือนอีกต่อไป การสละจาการครองเรือนจึงได้เกิดขึ้น
1
ท่านได้บอกกับแม่บาง ให้รู้ถึงความตั้งใจอันแน่วแน่ที่ท่านจะไปสู่ธรรมวินัยของพระบรมศาสดา เพื่อที่จะทำที่สุดแห่งทุกข์ให้จงได้ ในการจะออกบวชในครั้งนี้ท่านก็ได้ให้พ่อห่วง ผู้เป็นบิดา ให้บอกกับลูกหนี้ทั้งหมดที่เป็นหนี้เป็นสินกับบิดาของท่าน ให้มาประชุมพร้อมกัน และท่านได้ขอร้องพ่อห่วงให้ยกเลิกสัญญาที่ลูกหนี้ทั้งหลายได้กระทำกับบิดาของท่าน ด้วยการฉีกเอกสารทิ้งทั้งหมด นับได้ว่าเป็นการเริ่มต้นในการให้ทาน อันเป็นที่น่าปีติยินดีอย่างยิ่ง
หลังจากนั้นท่านได้ทำมหาทานอีกครั้ง ด้วยการบอกภรรยาว่า จะขอออกบวชอีกครั้ง ให้แม่บางหาสามีใหม่ได้
•การบวชครั้งที่๒
เมื่อท่านอายุได้ ๓๕ ปี ณ วัดนางบวชอำเภอเดิมบางนางบวช สุพรรณบุรี เมื่อเวลา ๑๔.๔๕ น. ของวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๔๙๔ โดยมี พระครูแขก เป็นพระอุปัชฌาย์ พระสมุห์ทองย้อย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการไสว เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาทางพุทธศาสนาว่า “เขมโก” อันมีความหมายว่า “ผู้มีธรรมอันเกษม”
1
เมื่อท่านอุปสมบทแล้ว ก็ได้เข้าไปปฏิบัติธรรม ณ ป่าช้าวัดบ้านทึง สามชุก ท่านได้อาศัยอยู่ในป่าช้าโดยมีหลวงพ่อมหาทอง โสภโณ ซึ่งเป็นเสมือนครูบาอาจารย์ เป็นผู้ปฏิบัติ ผู้อาวุโส อยู่ด้วย ท่านเป็นผู้มีความรู้ทางด้านปริยัติได้ดีท่านหนึ่ง และท่านได้เป็นผู้แปลข้อศีลที่ว่า การไม่ยินดีรับเงินและทองเพื่อเป็นของตน หรือให้ผู้อื่นเก็บไว้เพื่อตน นับแต่นั้นมาหลวงพ่อสังวาลย์ก็ไม่มีปัจจัยแม้แต่สตางค์แดงเดียว และที่พระอาจารย์มหาทองท่านได้สอนหลวงพ่ออีกคือ
“สมาธิ ภิกฺขเว ภาเวย สมาธิโต ยถาภูตํ ปชานาติ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอทั้งหลายพึงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิดเพราะจิตที่เป็นสมาธินั้น ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง “
เพียงประโยคนี้เท่านั้น ที่ท่านถือเป็นแนวทางปฏิบัติ มุ่งมั่นกระทำความเพียร อยู่ในป่าช้าตลอดเวลา ๕ ปี ปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัตินี้เองทำให้ท่านรู้เห็นตามความเป็นจริง โดยท่านได้ยึดหลักธุดงควัตรตลอดเวลา เมื่อท่านยังปฏิบัติธรรม บำเพ็ญเพียรอยู่ในป่าช้าวัดบ้านทึง แทบทุกวันตอนที่ท่านบิณฑบาตสุดสาย จะมีโยมผู้หญิงรุ่นโยมแม่ (เป็นคนจับปลาย่านนั้น) พายเรือให้ข้ามฟาก
วันหนึ่ง...
หลวงพ่อสังวาลย์ “โยมเลิกดีกว่าหากุ้ง หาปลา ลูก ๆ ก็โตหมดแล้ว "
โยม “เลิกก็ดีเหมือนกัน อิฉันก็เบื่อเต็มที " แกรับและสารภาพ
หลวงพ่อสังวาลย์ “อาตมาขอบิณฑบาต พวกแห พวกยอทั้งหมด”
โยม “ได้จ้ะ อิฉันจะขนไปให้ท่านเช็ดเท้า "
1
ท่านเล่าว่าโยมผู้นี้หาปลามาตั้งแต่เด็ก ไม่มีอาชีพอื่น แกบุกไปทั่ว ไม่ว่า ท่าโบสถ์ โพธิ์พยา ปากไห่ ฯ โยมมารับศีล ๕ แล้วท่านก็บอกว่า
หลวงพ่อสังวาลย์ “บ้านโยมมีไม้ไผ่เยอะ สานพัด สานกระบุงขายจะรวย "
โยม " ค่ะ อิฉันจะลองทำดู "
คุณโยมตั้งตัวได้ในที่สุด เพราะพัด กระบุง ตะกร้า ที่ช่วยกันสาน ลูกๆ แม่ๆ ไม่พอส่งขาย ท่านว่า ก่อนจะพูดให้โยมเลิกนั้น มันมีสิ่งที่ปรากฏขึ้นในกรรมฐานท่านมาก่อน เมื่อนักล่าประจำลุ่มน้ำมาถือศีลได้ จึงเลื่องลือไปไกล
มีพระอาวุโส ท่านหนึ่งมาหาแล้วกล่าวว่า...
พระอาวุโส “ ท่านสังวาลย์เก่งจริง เอาคนหาปลารักษาศีลได้ "
หลวงพ่อ “โยมเขาขาดคนชี้นำเท่านั้น เขาขาดครู "
พระอาวุโส " ท่านนี่มีความรู้เหลือหลาย "
หลวงพ่อ “ รู้เขานั้นไม่ใช่ดีเสมอไป รู้เรานั่นแหละเป็นอุดมมงคล “
หลังจากที่ท่านพระอาจารย์มหาทองได้ละสังขารแล้วท่านจึงได้ออกจากป่าช้า แต่ท่านก็มิได้ละเลยหรือทอดธุระในภาคปฏิบัติเลยแม้แต่น้อย โดยท่านจะนึกถึงคำของอาจารย์ที่ว่า นักปฏิบัติจะทิ้งการปฏิบัติไม่ได้ จนกว่าจะหมดลมท่านเองก็เป็นเช่นนั้น จากนั้นท่านจึงธุดงค์ไปภาคใต้ ถือธุดงควัตร อย่างเคร่งครัด และธุดงค์ขึ้นไป อ.หันคา จ.ชัยนาท จนเจอรอยพระพุทธบาท บนยอดเขาที่บ้านเชี่ยน หรือ ที่วัดเขาสารพัดดีศรเจริญธรรม จ.ชัยนาท ในปัจจุบัน เมื่อท่านมาอยู่วัดทุ่งสามัคคีธรรม และไปสร้างวัดป่าน้ำตกเขมโก ที่ ด่านช้าง สุพรรณบุรี ท่านก็จะสั่งสอนและเจริญสมาธิภาวนาอยู่เสมอมิได้ขาดเลย
1
ในระยะเริ่มแรกท่านมีอุปสรรคมากเพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ บางคนถึงกับเข้ามาทำร้ายและขัดขวางการเผยแพร่ธรรมทุกรูปแบบ แต่ในที่สุดท่านก็สามารถฟันฝ่าอุปสรรคไปได้ และเผยแพร่ธรรมให้ทุกคนรู้จักประพฤติปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้าได้อย่างกว้างขวาง มีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้ความสนใจในการปฏิบัติธรรม เข้าห้องกรรมฐานปฏิบัติตามหลักมหาสติปัฏฐาน ๔ ที่หลวงพ่อแนะนำสั่งสอนได้เป็นอย่างดี หลวงพ่อจึงมีศิษยานุศิษย์ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ทั้งในประเทศและต่างประเทศมากมาย
หลวงปู่สังวาลย์ เขมโก มรณภาพลงเมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๔๗ สิริรวมอายุได้ ๘๘ ปี พรรษา๕๕
หลวงพ่อสังวาลย์ เขมโก
Cr: ท้องถิ่นธรรมพระกรรมฐานร
โฆษณา