5 มิ.ย. 2020 เวลา 01:42
Experienced inexperience
โรงภาพยนตร์กำลังเริ่มเปิดอีกครั้ง หนังฟอร์มยักษ์ที่ทุกคนรอคอยที่จะกลับมาชุบชีวิตวิถีการดูหนังก็จะหนีไม่พ้นหนังจากค่ายมาร์เวลที่เป็นพระเอกชูโรงในรอบ ทศวรรษที่ผ่านมา มาร์เวลสตูดิโอทำเงินจากหนัง 22 เรื่องไปกว่าหมื่นเจ็ดพันล้านเหรียญสหรัฐ ชนะภาพยนตร์จากค่าย DC คู่แข่งตลอดกาลแบบไม่เห็นฝุ่นมาโดยตลอด นับเป็นตัวเลขและความสำเร็จที่น่ามหัศจรรย์เอามากๆ
แต่ถ้าพอจำกันได้ ก่อนหน้าที่จะมี ironman นั้น ค่ายมาร์เวลตกเป็นรองค่าย DC แบบคนละชั้น ในขณะที่ DC มี batman superman ค่ายมาร์เวลที่ผมจำได้รางๆกันมีแต่หนังซุปเปอร์ฮีโร่ห่วยๆอย่าง dare devil ที่เล่นโดยเบน เอฟเฟล็ค ซึ่งเอาจริงๆแล้วแม้แต่หนังสือการ์ตูนก่อนหน้าโลกของภาพยนตร์ มาร์เวลก็ดูจะตกเป็นรอง DC มาโดยตลอด
แล้วมาร์เวลพลิกเกมกลับมาจนกลายเป็นผู้ชนะตลอดทศวรรษที่ผ่านมาได้อย่างไร ก็คงมีเหตุปัจจัยหลายอย่างของการบริหารไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตลาด เรื่องบทภาพยนตร์ ฯลฯ แต่ข้อที่สำคัญที่สุดที่ HBR วิเคราะห์ไว้คือการ select for experienced inexperience
ในท่าปกติของการทำหนัง ผู้กำกับที่เก่งคือหัวใจสำคัญที่สุดของความสำเร็จ และท่ามาตรฐานทั่วไปก็คือควรจ้างผู้กำกับที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์แล้วเพราะเห็นฝีมือกันชัดเจนและพอจะเดาความสำเร็จเรื่องต่อไปจากเรื่องก่อนได้ แต่ปัญหาของมาร์เวลในตอนนั้นที่เป็นมวยรอง DC มากๆก็คือผู้กำกับหนังซุปเปอร์ฮีโร่ที่เก่งๆนั้นอยู่ที่ DC หมด จะหาก็คงหาได้แต่เกรดรองๆซึ่งก็คงสู้ไม่ได้ ท่าเดียวกันแต่ห่วยกว่า ทำไปก็มีแต่แพ้กับแพ้
มาร์เวลก็เลยเสี่ยงครั้งใหญ่ เบรกกฎมาตรฐานไปสุดขั้ว ก็คือไปจ้างผู้กำกับที่เก่งในด้านอื่นแต่ไม่เคยทำหนังซุปเปอร์ฮีโร่มาก่อน เป็นความเสี่ยงที่ไม่เคยมีใครทำหรือคิดในวงการเลย ในผู้กำกับ 15 คนที่มาร์เวลใช้งานช่วงหลังนั้นมีแค่คนเดียวที่พอมีประสบการณ์ทำหนังซุปเปอร์ฮีโร่ ที่เหลือเป็นผู้กำกับที่เก่งด้านทำหนังรัก หนังเขย่าขวัญ หนังเชคสเปียร์ หรือหนังตลก และส่วนใหญ่มีประสบการณ์ทำหนังอินดี้ทุนต่ำมาด้วยซ้ำ เป็นการแหวกและแหกกฏแบบสุดๆ
แต่ที่มาร์เวลได้ก็คือรสชาติที่แปลกใหม่ของหนังที่ไม่ซ้ำรอย DC ทำให้แต่ละเรื่องมีจุดเด่นต่างกันออกไปตามผู้กำกับ เช่น ธอร์ มีกลิ่นของหนังเชคสเปียร์อยู่ แอนท์แมนก็เป็นหนังจารกรรมปล้นธนาคาร กัปตันอเมริกาก็เป็นหนังสายลับ การ์เดี้ยนออฟกาแลคซี่ก็เป็นหนังโอเปร่า และที่สำคัญคือผู้กำกับเหล่านี้เคยทำหนังทุนต่ำมาแล้ว ดังนั้นยิ่งสามารถบริหารจัดการงบประมาณจำกัดได้ดีอีกด้วย
ตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ก็คือ Ironman ที่เป็นหนังบุกเบิกเรื่องแรกในวิธีคิดใหม่ มาร์เวลใช้จอห์น ฟาโรว์ เป็นผู้กำกับซึ่งเคยกำกับหนังเล็กๆแต่ประสบความสำเร็จอย่าง elf, zathura ซึ่งมีพล็อตและบทที่คมคาย แต่ไม่เคยทำหนังอะไรที่ใช้งบเยอะๆมี special effect เยอะมาก่อน ส่วนดารานำก็คือโรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ ซึ่งตอนนั้นก็เพิ่งออกจากการบำบัดการติดยาแต่เป็นนักแสดงที่เก่ง พอมารวมๆกันก็กลายเป็นหนังซุปเปอร์ฮีโร่ที่มีรสชาติแปลกและแตกต่างเป็นอย่างมาก ผู้เชี่ยวชาญที่ฮอลลีวู้ดถึงกะบอกว่าเป็นเหมือนหนังศึกษาทำที่ใช้เงิน 200 ล้านเหรียญเพราะมันดูเป็นหนังทดลองเอามากๆ
Ironman ประสบความสำเร็จอย่างมากเพราะแตกต่างจากหนังซุปเปอร์ฮีโร่ก่อนหน้านี้ทั้งหมด เพราะหนังก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่ดูไปซักพักก็ไม่ค่อยมีเนื้อหาอะไรนอกจากสเปเชียลเอฟเฟกค์และฉากต่อสู้ แต่พอฟาโรว์กำกับเขาใช้ประสบการณ์จากการทำหนังอินดี้ ทำให้ ironman มีความลึก มีคาแรกเตอร์ มีบทพูดที่คมคาย ซึ่งทำให้หนังเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับหนังซุปเปอร์ฮีโร่ไปอย่างสิ้นเชิง
การ์เดี้ยนออฟกาแลคซี่ก็มีสูตรคล้ายกันที่เอาผู้ไม่มีประสบการณ์และมีความขัดแย้งแบบสุดขั้วกับหนังซุปเปอร์ฮีโร่แบบเดิมมายำรวมกัน เจมส์กัน เป็นผู้กำกับหนังสยองขวัญต้นทุนต่ำมาก่อน แล้วเอาคริส แพรท ที่เป็นดาราตลกอ้วนๆมาลดน้ำหนัก แล้วเจมส์กันก็ใส่ความแปลกและแตกต่าง ตลก คมคาย เข้าไปจนการ์เดี้ยนมีจุดเด่นและต่างจากหนังมาร์เวลเรื่องอื่นออกไปอีกขั้นหนึ่งด้วยซ้ำ
HBR วิเคราะห์ว่า วิธีการแบบนี้ไม่ใช่เฉพาะอุตสาหกรรมภาพยนตร์เท่านั้นที่ลองหาความสดใหม่ แตกต่าง สร้างสรรค์ จากผู้ไม่มีประสบการณ์ตรงแต่มีความเชี่ยวชาญด้านอื่นเพื่อได้มุมมองที่ต่างออกไป กองทุนหลายกองทุนจ้างนักหมากรุกระดับโลกเพื่อมาช่วยสังเกต pattern ใหม่ๆ บริษัทที่ปรึกษาระดับโลกหลายแห่งก็เริ่มจ้างนักออกแบบเสื้อผ้า นักมานุษย์วิทยาเพื่อมาช่วยเสริมมุมมองที่ไม่ใช่ตรรกะเหมือนที่ปรึกษาที่มีอยู่เต็มบริษัท คณะละครสัตว์ระดับโลกอย่าง cirque du Soleil ก็จ้างนักกีฬาสกีโอลิมปิคระดับโลกมาช่วยคิด movement ใหม่ๆที่คนเดิมๆเริ่มตันทางความคิด เป็นวิธีการที่ช่วยเปิดโลกให้คนที่ทำธุรกิจเดิมซ้ำซากจำเจและถูกบล็อกด้วยข้อจำกัดและมุมมองเดิมๆได้อย่างดี
ในกรณีที่ตกเป็นรอง แพ้มาตลอด แล้วอยากหาท่าใหม่ๆไปลุยกับเจ้าตลาด หรือคนในบริษัทเริ่มตัน เริ่มคิดวนๆ เริ่มทำอะไรท่าเดิมๆซ้ำๆ วิธีคิดแบบหา Experienced inexperience แล้วรับฟังเขา ปล่อยให้ความไม่รู้นำทางบ้าง ก็อาจจะเป็นช่องให้ทะลุทะลวงเจอท่าไม้ตายใหม่ๆที่คนเก่งในอุตสาหกรรมเดิมคิดไม่ออกก็ได้นะครับ
….
แถมอีกเรื่องหนึ่งก่อนจบ..(ข้อมูลจากเพจ mainstand.co.th)
การ์ตูนซึบาสะที่เขียนโดยอาจารย์ทาคาฮาชิ เป็นการ์ตูนในดวงใจตลอดกาลของใครหลายคนโดยเฉพาะนักฟุตบอลระดับโลกที่ได้แรงบันดาลใจจากการอ่านซึบาสะตั้งแต่เด็ก กัปตันซึบาสะเป็นการ์ตูนที่ได้รับความนิยมหนึ่งในห้าการ์ตูนกีฬาที่ขายดีที่สุดตลอดกาลของญี่ปุ่น ความสนุกและเหนือจินตนาการ เรื่องราวที่ตื่นเต้น มุ่งมั่น นั้นทำให้คนติดกันงอมแงม แต่ภาพจำของเด็กๆทุกคนที่อ่านก็คือความพิสดารของลูกเตะต่างๆในเรื่อง ลูกไดร์ฟชูตครึ่งสนาม ไทเกอร์ช็อตทะลุตาข่าย พี่น้องทาจิบาน่าที่กระโดดเตะลูกบอลพร้อมกัน การหยุดลูกบอลหมุนด้วยมือเดียวของโกล์ ทุกอย่างเป็นจินตนาการเหนือจริงมากๆที่คนที่ไม่เล่นบอลหรือไม่รู้กฎก็สนุกไปด้วยได้ เมนสแตนด์เล่าไว้
“และเหตุผลสำคัญที่ทำให้การ์ตูนเรื่องนี้มีท่าไม้ตายเกินมนุษย์ออกมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ภาคแรกจนถึงปัจจุบันราวกับจุดขาย “ เมนแสตนด์เขียนไว้
“ก็เป็นเพราะอาจารย์ทาคาฮาชิเล่นฟุตบอลไม่เป็น ทำให้เขาไม่รู้ว่าขีดจำกัดของกีฬาชนิดนี้อยู่ตรงไหน จึงสามารถสร้างสรรค์ท่า ที่เกินจะจินตนาการออกมาได้เพียงนี้ “
เป็นอีกตัวอย่างของ The power of experienced inexperience ครับ
โฆษณา