6 มิ.ย. 2020 เวลา 01:30 • ธุรกิจ
เลือกหุ้นอย่างไร? สไตล์ VI หรือ VALUE INVESTER
หลายคนอาจจะสงสัยว่า อยากถือหุ้นยาวๆสัก 10 ปี 20 ปี หรือ ตลอดชีวิต เราจะเลือกหุ้นตัวไหนอย่างไรดี? วันนี้ผมจะนำขั้นตอนการเลือกหุ้นสไตล์ VI จากหนังสือ เพาะหุ้นเป็น เห็นผลยั่งยืน ของคุณกวี ชูกิจเกษม มาแบ่งปันให้กับทุกๆคนที่อยากอยากถือหุ้นไว้ยาวๆ ขอเน้นย้ำนะครับ ถือยาวนะครับ ไม่ใช่ซื้อมาขายไปหรือที่เรียกกันว่า เก็งกำไร
สิ่งแรกที่ต้องทำคือ
เราต้องถามตัวเองก่อนว่าเราเป็นนักลงทุนประเภทไหน เก็งกำไร หรือ ระยะยาว บางคนบอกตัวเองเป็นนักลงทุนระยะยาว พอราคาหุ้นไม่ขึ้นในวันสองวัน ก็ไปบอกว่านักวิเคราะห์ไม่เก่ง ไม่แม่น บางคนบอกว่าเป็นนักเก็งกำไร แต่พอได้หุ้นเด็ดมา กลับกลายเป็นหุ้นเก็งกำไร ขึ้นแปปๆก็ลงยาวเลย เพราะฉะนั้น เราต้องถามตัวเองก่อนว่าเราเป็นนักลงทุนประเภทไหน เก็งกำไร , ระยะยาว หรือ ทั้งเก็งกำไรและระยะยาวไปพร้อมๆกัน (คนประเภทที่ 3 ส่วนใหญ่ที่ประสบความสำเร็จ เป็นเพราะเขาแบ่งเงินอย่างชัดเจน ว่าจะเก็งกำไรเท่าไหร่ ลงทุนเท่าไหร่)
หากคุณรู้ตัวเองแล้ว ว่าเป็นนักลงทุนประเภทไหน เราไปขั้นตอนการเลือกหุ้นกันเลยครับ เอ้อ…เเล้วจำไว้อีกอย่างนะครับว่า ถ้าเเนวทางไหนไม่ใช่แนวทางของเรา เราต้องรีบเปลี่ยนเลยนะครับและสุดท้ายนี้จงอย่า เป็นกลายเป็นนักลงทุนระยะยาวด้วยการเก็งกำไรที่ผิดพลาดโดยเด็ดขาด!
ขั้นตอนการเลือกหุ้นมี อยู่ 6 ขั้นตอน เราไปขั้นตอนที่ 1 กันเลยครับ
ขั้นตอนที่ 1 หาหุ้นบริษัทดีเข้าพอร์ต
ขั้นตอนแรกเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากๆเหมือนกับการหาเมล็ดพันธุ์ของต้นไม้ ถ้าเมล็ดพันธุ์ดีต้นไม้ที่เราปลูกก็จะเติบโตไปได้ดีเช่นกัน หลายคนอาจจะถามว่าแล้วเราเลือกบริษัทยังไงดีหล่ะ จากประสบการณ์ของคุณกวีในหนังสือเล่มนี้บอกว่า บริษัทที่ดีที่ราคาหุ้นขึ้นมา 1000% ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา มีคุณสมบัติด้วยกัน 8 ข้อดังนี้
1.เป็นบริษัทที่มีกำไรเติบโตสม่ำเสมอในระยะยาว
กำไรเติบโตอย่างสม่ำเสมอในระยะยาว เราต้องดูกำไรในอดีตของบริษัทย้อนหลัง 10 ปี เพราะว่า 10 ปีนี้ บริษัทผ่านมาหมดแล้วทั้งเศรษฐกิจขาขึ้นและขาลงหรือผ่านมาครบอย่างน้อย 1 วัฏจักรเศรษฐกิจ หาบริษัทใดมีกำไรอย่างสม่ำเสมอใน 10 ปีที่ผ่านมา ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขึ้นตลอด แต่ต้องไม่ผันผวนมากนัก ก็พอจะบอกได้ว่า บริษัทนี้สามารถทนแรงกดดันต่อความผันผวนของเศรษฐกิจได้ดี โดยยังสามารถทำกำไรได้ในขณะที่เศรษฐกิจหดตัว
2.เป็นบริษัทที่มีอำนาจในการต่อรองกับลูกค้าได้สูง
คุณสมบัติข้อนี้เป็นคุณสมบัติที่สำคัญมากๆอีกประการหนึ่ง การที่บริษัทจะสามารถรักษาอำนาจต่อรองกับลูกค้าได้สูง หรือในทางตรงกันข้ามลูกค้ามีอำนาจต่อรองขอลดราคาสินค้าหรือบริการน้อยหรือไม่ได้เลย บริษัทนั้นก็น่าจะมีความสามารถในการที่จะรักษาการขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น การที่เราไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน เราสามารถขอลดราคาค่ารักษาพยาบาลได้ไหม เป็นต้น
3.เป็นบริษัทที่เป็นผู้นำในธุรกิจหรือเป็นบริษัทที่ส่วนแบ่งการตลาดสูงกว่าคู่แข่ง
ข้อนี้แสดงถึงความได้เปรียบในหลายๆเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดราคาสินค้าหรือบริการ การประหยัดต่อขนาด (Economy of scale) ลูกค้ามีความซื่อสัตย์ต่อสินค้าหรือบริการ สิ่งเหล่านี้ทำให้ ค่าใช้จ่ายถูกกว่าคู่แข่งและยังสามารถประหยัดค่าโฆษณาได้มหาศาล และนอกจากนั้น บุคคลกรเก่งๆยังอยากมาทำงานกับบริษัทอีกด้วย
4.เป็นบริษัทที่ลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องและถนัด
ข้อนี้เป็นการเลือกบริษัทที่มีจุดโฟกัสที่ชัดเจน ทำธุรกิจที่เฉพาะเเละเชี่ยวชาญ ไม่ใช่บริษัททำธุรกิจหลายๆอย่างที่ไม่เกี่ยวข้องกัน แต่ไม่เชี่ยวชาญแม้แต่อย่างเดียว เหมือนไม่มั่นใจธุรกิจเดิมว่าจะไปได้ดีแค่ไหน จึงต้องไปเริ่มธุรกิจใหม่ที่มีเจ้าตลาดเดิมอยู่แล้ว ดังนั้น จะเป็นการดีกว่าถ้าเลือกบริษัทที่มีจุดโฟกัสที่ชัดเจน เพราะบางครั้งเราซื้อหุ้นเพราะว่าเราชอบธุรกิจที่บริษัทนั้นๆทำ หากเราต้องการลงทุนซื้อหุ้นธุรกิจอื่นๆ เราสามารถไปซื้อหุ้นบริษัทอื่นที่มีความถนัดในธุรกิจนั้นๆแทนได้
5.เป็นบริษัทที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง
หมายถึง บริษัทที่ไม่มีหนี้เลยหรือมีหนี้น้อย รวมถึงบริษัทที่มีเงินสดมหาศาลและมากกว่าหนี้สิน จะทำให้บริษัทสามารถฟันฝ่าอุปสรรคได้ดี ยามที่ต้องเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจ
6.เป็นบริษัทที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากในอนาคต
บริษัทที่ราคาหุ้นไม่ค่อยขึ้นในอดีตหรือบางครั้งราคาหุ้นปรับลดลงด้วยซ้ำมักเป็นบริษัทที่ต้องการเงินทุนมหาศาลเพื่อขยายธุรกิจหรือหากบริษัทที่ต้องการเงินทุนเพิ่ม แต่ไม่สามารถหาแหล่งเงินทุนได้ ไม่ว่าจะเป็นการกู้ธนาคาร(ธนาคารไม่ให้กู้เพิ่มแล้ว)สุดท้ายบริษัทก็จำเป็นต้องเรียกเงินทุนเพิ่มจากเรา นั้นก็คือ ผู้ถือหุ้นนั่นเอง การที่บริษัทสามารถขยายธุรกิจได้โดยไม่จำเป็นต้องมาขอเงินเราเพิ่มขึ้น เราจะมีความสุขมาก ที่บริษัทสร้างรายได้เพิ่มขึ้นตลอด โดยไม่จำเป็นต้องการเงินเพิ่มทุนจากเราและการที่บริษัทเพิ่มทุนจากเรายังทำให้ ROE ลดลงไปด้วย
7.เป็นบริษัทที่ไม่พึ่งลูกค้ารายใหญ่รายเดียวในการสร้างรายได้
ความเสี่ยงของการทำธุรกิจที่น่ากลัวและหลายคนมองข้าม คือ การที่บริษัทต้องพึ่งพาลูกค้าเพียงรายใหญ่อยู่ไม่กี่รายหรือพึ่งพาลูกค้าเพียงรายหรือสองรายเท่านั้น แล้วถ้าวันหนึ่ง ลูกค้าเราไปเจอบริษัทที่ดีกว่าเรา ถูกกว่าเราหล่ะ แล้วบริษัทของเราจะเป็นอย่างไร ข้อนี้จึงเป็นข้อที่สำคัญอีกข้อหนึ่ง เพราะเราจะลงทุนในบริษัทเป็นระยะเวลานาน ดังนั้นก่อนที่เราจะลงทุนซือหุ้นเราจึงต้องวิเคราห์โครงสร้างรายได้ของบริษัทนั้นๆให้ดีว่ามาจากหลายแหล่งหรือไม่
1
8.เป็นบริษัทที่มีผู้บริหารมีฝีมือและมีธรรมมาภิบาล
ข้อนี้ให้ดูผลประกอบการย้อนหลังของบริษัท ณ วันที่ผู้บริหารคนนั้นบริหารอยู่ ว่าผู้บริหารคนนั้นสามารถนำพาบริษัทเติบโตได้ดีในช่วงที่ผ่านมาหรือไม่ แต่หากมีการเปลี่ยนผู้บริหารคนใหม่เนื่องจากผู้บริหารคนเก่าถึงเวลาเกษียณ เราก็ควรจะตรวจสอบว่าผู้บริหารคนใหม่ทำงานกับบริษัทใดมาก่อน และกลับไปตรวจสอบบริษัทนั้นๆว่ามีผลการดำเนินงานที่ผ่านมาเป็นอย่างไร
ขั้นตอนที่ 2 ซื้อหุ้นเมื่อราคาถูก
วีธีดูว่าหุ้นถูกหรือแพง เราจะดู 3 อัตราส่วนนี้ควบคู่กันไปนะครับ
1.ดูอัตราส่วน P/E Ratio อัตราส่วนนี้เป็นการนำราคาหุ้นที่ซื้อขายกันในตลาด (P) หารด้วยกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS)
2.ดูอัตราส่วน P/BV เป็นอัตราส่วนราคา (P) ต่อมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น (Book Value per Share) ถูกนำมาใชัคู่กันกับอัตราส่วน P/E Ratio
3.ดูอัตราส่วนผลตอบแทนผู้ถือหุ้น(ROE) คือ ส่วนของผู้ถือหุ้นสามารถสร้างกำไรได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเราจะใช้ 3 อัตราส่วนนี้ควบคู่กันในการใช้ดูว่าราคาหุ้นถูกหรือแพง
และแน่นอนเมื่ออัตราส่วน ROE ยิ่งสูง ราคาหุ้นก็ควรจะซื้อขายกันที่ P/E และ P/BV ในระดับสูงด้วย แต่การจะนำเอา P/E และ P/BV มาสัมพันธ์กับ ROE มาใช้จะต้องเป็นบริษัทที่ผ่านการคัดเลือกมาจากขั้นตอนที่ 1 เท่านั้น เพราะหุ้นเหล่านี้จะเป็นหุ้นที่มีแนวโน้ม ROE เพิ่มขึ้นในระยะยาว จากประสบการณ์ของคุณกวีบอกว่า "หุ้นที่มี ROE เท่าไหร่ ก็ไม่ควรซื้อขายกันที่ P/E สูงกว่า ROE" เช่น หากมี ROE 20% ราคาหุ้นก็ไม่ควรซื้อขายเกิน 20 เท่า หากราคาหุ้นต่ำกว่า 20 เท่ามากเท่าไหร่ ก็ยิ่งถูกเท่านั้น แต่!! ต้องเป็นหุ้นที่ผ่านการคัดกรองขั้นตอนที่ 1 มาแล้วเท่านั้น
ต่อไปเป็นความสัมพันธ์ระหว่าง P/BV กับ ROE จากประสบการณ์ของคุณกวีบอกว่า หากราคาหุ้นซื้อขายที่ P/BV ต่ำกว่า ROE หาร 5 มากๆ ก็แสดงให้เห็นว่า หุ้นมีราคาถูก เช่น บริษัทมี ROE = 20% ก็ไม่ควรซื้อขายเกินกว่า P/BV 4 เท่า (20%/5) และวิธีนี้จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อเราผ่านคัดกรองหุ้นตามขั้นตอนที่ 1 มาแล้วอีกเช่นกัน คุณกวีเน้นย้ำในหนังสือบ่อยมาก ดังนั้น วัตถุประสงค์ของขั้นตอนที่ 2 คือ ต้องการให้ทุกคนรู้เพียงว่าราคาหุ้นถูกหรือแพง และจะทราบได้ง่ายมากหากเราคัดหุ้นบริษัทที่ดีในขั้นตอนที่ 1 มา เพราะบริษัทที่ดีเหล่านี้ ROE จะไม่มีความผันผวนอย่างรุนแรงเหมือนบริษัทอื่นๆ ซึ่งจะทำให้เราพอประเมินได้ว่า P/BV หรือ P/E ในระดับใดเรียกว่าถูกหรือแพง
สรุปขั้นตอนที่ 2
1.ซื้อหุ้นของบริษัทที่ดี และราคาถูก โอกาสได้กำไรสูง
2.ซื้อหุ้นของบริษัทที่ดี และราคาเหมาะสม โอกาสได้กำไรปานกลาง
3.ซื้อหุ้นของบริษัทที่ดี และราคาแพงโอกาสได้กำไรอาจจะน้อย แต่โอกาสจะขาดทุนระยะยาวก็น้อยไปด้วย
ผ่านไป 2 ขั้นตอน ทุกๆคนที่อ่านมาถึงตรงนี้อาจจะพอมีแนวทางในการเลือกบริษัทที่ตนเองจะซื้อแล้วใช่ไหมครับ แต่ยังเหลืออีก 4 ขั้นตอน เพื่อไม่ให้บทความมันยาวไป เดี่ยวครั้งต่อไปผมจะมาโพส อีก 4 ขั้นตอนที่เหลือนะครับ ซึ่ง 4 ขั้นตอนที่เหลือจะมีดังนี้ครับ
ขั้นตอนที่ 3 กระจายความเสี่ยงด้วยการลงทุนหุ้นในจำนวน
ที่เหมาะสม
ขั้นตอนที่ 4 ติดตามผลการดำเนินงานของหุ้นที่เราซื้ออย่าง
ต่อเนื่อง
ขั้นตอนที่ 5 ลงทุนระยะยาว ก็ลดความเสี่ยงได้แล้ว
1
ขั้นตอนที่ 6 ศึกษาหุ้นดีและหาหุ้นดีอย่างต่อเนื่อง
อย่าลืมกดติดตามไว้นะครับ และขอบคุณทุกๆคนที่อ่านมาถึงตรงนี้มากนะครับ 🙏 หากใครอยากได้ความรู้ดีๆแบบนี้ อย่าลืมกดติดตามนะครับ ขอบคุณครับ
ที่มา: หนังสือ เพาะหุ้นเป็น เห็นผลยั่งยืน
โฆษณา