20 มิ.ย. 2020 เวลา 07:04 • ประวัติศาสตร์
ทาลิโดไมด์ (Thalidomide) ฝันร้ายของเด็กที่เกิดในยุค 1960
ทาลิโดไมด์ (Thalidomide) ฝันร้ายของเด็กที่เกิดในยุค 1960 : Getty Images
ในสมัยที่ผมเรียนวิชาเภสัชวิทยา วิชาที่ว่าด้วยกลไกการออกฤทธิ์ของยา กระบวนการทางเคมีที่ช่วยรักษาความผิดปกติของร่างกายซึ่งเกิดจากโรค รวมถึงผลข้างเคียงและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้จากการใช้ยา
1
สิ่งหนึ่งที่ครูบาอาจารย์มักจะเตือนเสมอก็คือการใช้ยาในกลุ่มพิเศษไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้สูงอายุ คนที่มีโรคประจำตัวหรือแม้กระทั่งในหญิงตั้งครรภ์
เพราะ " เด็ก " ไม่ใช่ผู้ใหญ่ที่ตัวเล็ก
เพราะ " ผู้สูงอายุหรือมีโรคประจำตัว " ระบบร่างกายจะต่างจากคนทั่วไป
และ " หญิงตั้งครรภ์ " ไม่ใช่เพียงแม่ที่จะได้รับยา
ในอดีตที่ผ่านมา...การใช้ยาโดยมีข้อมูลไม่เพียงพอเคยสร้าง " ฝันร้าย " ที่เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งหลายคราด้วยกัน
หนึ่งในกรณีที่โด่งดังที่สุดนั่นคือผลกระทบจากการใช้ยาทาลิโดไมด์
ย้อนกลับไปในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ว่าจะเป็นประเทศผู้ชนะหรือผู้พ่ายแพ้ สงครามได้ทิ้งบาดแผลสำคัญฝังลึกไว้ในจิตใจทุกคน
พ่อ แม่ที่เสียลูกไป ภรรยาที่สูญเสียหัวหน้าครอบครัว บรรยากาศความทุกข์ทางจิตใจปกคลุมไปทุกหย่อมหญ้า ปัญหาการนอนไม่หลับหรือฝันร้ายจึงดูจะเป็นสิ่งปกติที่พบได้ทั่วไป
ทาลิโดไมด์ในชื่อการค้าคอนทาร์กัน (Contergan) : Thalidomidestory
ทาลิโดไมด์ (Thalidomide) เป็นยาที่ออกมาสู่ตลาดเพื่อแก้ปัญหานี้ได้อย่างตรงจุด ด้วยการที่ยามีฤทธิ์กล่อมประสาท ช่วยให้หลับลึกและที่สำคัญคือไม่ทิ้งอาการง่วงซึม มึนงงหลังจากตื่นนอนจึงตอบโจทย์ความต้องการของโลกได้เป็นอย่างดี
ยาถูกผลิตและวางขายครั้งแรกโดยบริษัทกรือเนนทาล (Grünenthal) ในเยอรมนีเมื่อปี 1957 ใช้ชื่อการค้าว่าคอนทาร์กัน (Contergan) ชูจุดเด่นด้านความปลอดภัยด้วยการอ้างข้อมูลที่ไม่ว่าจะใช้ยาขนาดสูงเท่าไหร่ก็ตามยังไม่สามารถฆ่าหนูให้ตายได้ ยาดังกล่าวจึงเป็น" completely safe for everyone "
อีกทั้งผู้คนก็เข้าถึงยาได้ง่ายเพราะยานี้สามารถซื้อหาได้ง่ายโดยไม่จำเป็นต้องมีใบสั่งแพทย์ด้วยซ้ำ
ตัวอย่างคำโฆษณาของยาทาลิโดไมด์ที่วางขายในอังกฤษ : Hormonesmatter
3 ปีหลังออกสู่ตลาด...ความนิยมของทาลิโดไมด์แพร่หลายไปสู่ 46 ประเทศทั่วโลกทั้งฝั่งยุโรป ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และญี่ปุ่น ด้วยยอดขายระดับที่สูงใกล้เคียงกับแอสไพรินยาแก้ปวด บรรเทาอาการอักเสบยอดนิยมในสมัยนั้น
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบริษัทยาได้ใช้วิธีแจกยาบางส่วนเพื่อสนับสนุนแพทย์ให้จ่ายยานี้กับหญิงตั้งครรภ์ในการรักษาอาการคลื่นไส้อาเจียนหรือที่เรียกว่าแพ้ท้อง ทั้งๆที่ไม่ได้มีงานวิจัยรับรองประสิทธิภาพและความปลอดภัยเลยด้วย
ซ้ำ ทางการแพทย์เรียกการใช้ยาในลักษณะนี้ว่าเป็น " Off label use "
แน่นอนว่ากลุ่มเป้าหมายของบริษัทยาก็คือสูตินรีแพทย์นั่นเอง
วิลเลียม แมคไบรด์ (William McBride) สูตินรีแพทย์ชาวออสเตรเลียประจำโรงพยาบาล Crown Street Women ในซิดนีย์เป็นคนแรกๆที่เอายามาใช้รักษาอาการแพ้ท้องในหญิงตั้งครรภ์ที่เขาดูแลอยู่
จากนั้นไม่นานในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 1961 หมอแมคไบรด์ได้ทำคลอดทารกแรกเกิดที่มีแขนผิดรูปและความไม่สมบูรณ์ของร่างกายอีกหลายส่วนเรียกว่า "โฟโคมีเลีย" (Phocomelia) ซึ่งภายในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ก็พบกรณีแบบเดียวกันนี้เพิ่มขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ
1
เด็กที่เกิดมามีลักษณะโฟโคมีเลีย : twitter/Betsy Clark
หลังรวบรวมข้อมูลอยู่นาน หมอแมคไบรด์ตัดสินใจส่งจดหมายถึงบรรณาธิการวารสารการแพทย์ระดับโลก The lancet ซึ่งต่อมาก็ได้รับการตีพิมพ์ในช่วงปลายปีเดียวกันนั้นเองมีใจความว่า
เรียนทุกท่าน...
ความผิดปกติแต่กำเนิดโดยทั่วไปสามารถ
พบได้อยู่ที่ร้อยละ 1.5 แต่ในช่วงไม่กี่เดือน
ที่ผ่านมาผมสังเกตว่ามีอุบัติการณ์ของภาวะ
ผิดปกติแต่กำเนิดอย่างรุนแรงถึงร้อยละ 20
ในทารกที่คลอดจากแม่ซึ่งมีประวัติได้รับ
ยาทาลิโดไมด์ระหว่างตั้งครรภ์เพื่อรักษา
อาการแพ้ท้องหรือนอนไม่หลับ
ความผิดปกตินี้แสดงออกในโครงสร้าง
ที่พัฒนาตอนเป็นตัวอ่อนเช่น กระดูกและ
กล้ามเนื้อของทางเดินอาหาร ที่โดดเด่นที่สุด
ดูเหมือนจะเป็นความผิดปกติของกระดูก
เช่น มีนิ้วเกิน นิ้วติดกันและการพัฒนาของ
กระดูกท่อนยาวไม่สามารถเกิดขึ้นได้
ผู้อ่านท่านใดเคยเจอกรณีแบบเดียวกันนี้
ในทารกที่คลอดจากแม่ซึ่งเคยได้รับยาดังกล่าว
ระหว่างตั้งครรภ์บ้าง ?
W. G. MCBRIDE.
หมอแมคไบร์ดขณะทำงานในโรงพยาบาล Blakehurst ที่ซิดนีย์ และจดหมายที่เขียนถึงวารสาร The lancet ปี 1961 : ABCnews/editor
ภายหลังจดหมายของหมอแมคไบร์ดได้รับการตีพิมพ์ มีการสืบย้อนกลับไปพบว่ามีเด็กที่เกิดมาพร้อมกับความผิดปกติดังกล่าวกว่า 10,000 รายซึ่งล้วนมีความสัมพันธ์กับการใช้ยาทาลิโดไมด์ของแม่ระหว่างตั้งครรภ์
1
โชคร้ายที่กว่าครึ่งหนึ่งเสียชีวิตภายหลังจากคลอดออกมาได้ไม่กี่เดือนและอาจมีมากกว่านี้ที่เด็กเสียชีวิตในครรภ์โดยไม่ทราบสาเหตุ ขณะที่ผู้รอดชีวิตและครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบก็ต้องอยู่กับความพิการแต่กำเนิดนี้ต่อไป
มีความพยายามในการเรียกร้องค่าชดเชยจากบริษัทยาโดยผู้ได้รับผลกระทบผ่านการรวมกลุ่มที่เรียกว่า " The Thalidomide Society "
เป็นผลให้ในปี 1970 บริษัทกรือเนนทาลเจ้าของสิทธิบัตรยาในเยอรมนี ต้องทำการจ่ายค่าชดเชยราว 27 ล้านดอลลาร์ให้กับเด็กที่เกิดมาพร้อมความผิดปกติ
หน้าหนังสือพิมพ์ลงข่าวการจ่ายเงินชดเชยของบริษัทยาเยอรมัน : The new york times
เช่นเดียวกับที่อังกฤษบริษัทดิสทิลเลอร์ส (Distillers) ผู้ได้รับอนุญาตให้ขายยาก็ทำการจ่ายเงินเข้ากองทุนช่วยเหลือเหยื่อที่ยังมีชีวิตอยู่ 458 คนซึ่งรัฐบาลก็ได้เข้ามาช่วยในการเยียวยาด้วยการเพิ่มงบประมาณอยู่บ่อยครั้ง
เรื่องราวของการฟ้องร้องและการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบยังคงมีมาจนถึงทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอายุขัยของเหยื่อที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆการอุดหนุนด้านค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ค่ารักษาจึงยังไม่เพียงพอเท่าใดนัก
แต่สิ่งที่สร้างความไม่พอใจเป็นอย่างมากนั่นคือบริษัทกรือเนนทาลปฎิเสธการยอมรับผิดมาโดยตลอดด้วยการอ้างว่าพวกเขาได้ทำการทดสอบทุกขั้นตอนเท่าที่ทำได้ ณ ตอนนั้นไปแล้ว
นอกจากนี้ภายในงานเปิดตัวรูปปั้นอนุสรณ์ผลกระทบของยาที่เมืองชโตลเทนแบร์ก ประเทศเยอรมนีเมื่อปี 2012 บริษัทพึ่งจะออกแถลงการณ์ขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจากเหตุการณ์ผ่านมาแล้ว 50 กว่าปี
อนุสรณ์ของเด็กที่เกิดมามีความผิดปกติและเสียชีวิตจากทาลิโดไมด์ : AP
อ้างว่าเหตุที่นิ่งเงียบไปอย่างยาวนานเป็นเพราะบริษัทรู้สึก "ช็อค" กับชะตากรรมของเหยื่อที่เกิดขึ้น แน่นอนว่าผู้ได้รับผลกระทบไม่ยอมรับคำขอโทษนั้นและตอกกลับว่าคนที่ช็อคควรจะเป็นพวกเขามากกว่า ที่ต้องเกิดมาพร้อมความผิดปกติซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้
กรณีของทาลิโดไมด์นับว่าเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของกระบวนการขึ้นทะเบียนยาเพื่อออกสู่ตลาดที่ทั้งโลกได้กำหนดมาตรฐานใหม่ร่วมกัน
สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนคือยาใดๆก็ตามที่หวังผลใช้กับมนุษย์จะไม่สามารถใช้เพียงแค่ข้อมูลในสัตว์ทดลองเพื่อขอขึ้นทะเบียนได้อีกต่อไป
และหากเป็นยาที่วางกลุ่มเป้าหมายเป็นหญิงตั้งครรภ์ต้องมีหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่ายามีความปลอดภัยมากเพียงพอที่จะใช้
นอกจากนี้ยังเป็นการพลิกโฉมการจัดประเภทและจำกัดช่องทางการเข้าถึงยาในหลายประเทศทั่วโลก เช่น ยาที่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์, ยาที่มีเฉพาะในร้านขายยาสามารถจ่ายได้โดยเภสัชกร และยาที่ขายได้ในร้านทั่วไป
ล้วนเป็นก้าวกระโดดครั้งสำคัญของวงการแพทย์สมัยใหม่ที่พัฒนาต่อยอดมาจากบทเรียนในครั้งนั้น
แม้ว่าทาลิโดไมด์จะถูกเรียกคืนจากตลาดทุกประเทศแล้วในปี 1962
แต่ปัจจุบันก็มีการนำกลับมาใช้อีกครั้งด้วยข้อบ่งใช้ของยาที่เปลี่ยนไป เนื่องจากมีการไปพบว่ายาสามารถใช้ควบคุมอาการของโรคเรื้อน (leprosy) ได้เป็นอย่างดีและยังอาจยับยั้งเซลล์มะเร็งบางชนิดได้
ทาลิโดไมด์ถูกนำกลับมาใช้ภายใต้คำเตือนและการควบคุมอย่างเคร่งครัด : sciencemuseum
สอดคล้องกับผลการศึกษาทางคลินิกของ WHO ยาจึงถูกนำกลับมาใช้ในหลายประเทศทั่วโลกภายใต้การควบคุมความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด
อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาเกิดจากการศึกษาวิจัย ดังนั้นการใช้ยาต้องอ้างอิงปัจจัยของบุคคลทั้งด้านอายุ สุขภาวะตามกลุ่มคนที่อยู่ในการทดลองเพื่อให้ได้ประโยชน์และหลีกเลี่ยงโทษที่เรายังไม่ทราบแน่ชัด
เพราะขึ้นชื่อว่ายาล้วนมีผลข้างเคียงที่เราคาดการณ์ได้และผลที่คาดไม่ถึงเสมอครับ
ขอบคุณทุกท่านที่ติดตาม กดไลค์กดแชร์ คอมเมนต์เป็นกำลังใจให้กันได้นะครับ หวังว่าทุกคนจะชอบ
ติดตามตอนใหม่ของซีรีย์ " ยานี้....ท่านได้แต่ใดมา "
ได้เร็วๆนี้ครับ 😄😄😄
" เพราะยาทุกชนิด....มีที่มาและเรื่องเล่า "
เดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟังครับ
...ขอบคุณครับ...
References :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา