7 มิ.ย. 2020 เวลา 02:42
โควิดกำลังต้อนธุรกิจหนังสือเข้าสู่มุมอับ
ผมได้มีโอกาสสนทนากับนักเขียนระดับ best seller ของประเทศสามท่านถึงสถานการณ์ของหนังสือไทยและธุรกิจหนังสือที่ดูเหมือนจะไม่ได้มีคนพูดถึงนัก อาจเป็นเพราะธุรกิจหนังสือเป็นธุรกิจเล็กๆที่ไม่ได้มีผลทางเศรษฐกิจอะไรมากมายเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่นๆ
3
แต่ในแง่เครื่องมือทางความรู้และทางสติปัญญาที่อยู่กับเรามาตั้งแต่เกิด ธุรกิจหนังสือในตอนนี้กำลังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนน่าเป็นห่วงว่าต่อไปหนังสือไทยปกใหม่ๆจะลดน้อยถอยลงจนแทบจะสูญพันธ์เอาได้ง่ายๆ แล้วถ้าเป็นเช่นนั้น จะเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย ก็ยังนึกกันไม่ออกเหมือนกัน
ก่อนมีโควิด ใครจะพิมพ์จะเขียนหนังสือก็ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของโลกค่อนข้างมากอยู่แล้ว คนที่โตมากับหนังสือก็ถูกสิ่งเร้าใหม่ๆที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีแย่งเวลาไป คนรุ่นใหม่ก็โตมาพร้อมกับ smartphone ที่มี content หลากหลายน่าตื่นตาตื่นใจ การอ่านหนังสือซักเล่มหนึ่งให้จบเริ่มเป็นเรื่องยากขึ้นเรื่อยๆ ร้านหนังสือก็หดตัวลง ปิดไปก็มาก ไม่พูดถึงนิตยสารที่ล้มหายตายจากไปแทบจะหมดแผง และก็คล้ายๆกับเรื่องอื่นๆ ที่เจอไวรัสโควิดเข้ามาก็เป็นเสมือนตัวเร่งที่เดิมปัญหาใหญ่ที่ควรมาในอีกสามสี่ปีข้างหน้าให้พอมีเวลาปรับตัว หนังสือก็ต้องเผชิญพายุใหญ่กันในระยะเวลาแค่สองเดือน
1
ร้านหนังสือที่หายไป
ผลกระทบลูกโซ่ที่ทำให้หนังสือพิมพ์กับนิตยสารหายไปจากประเทศที่นอกจากเกิดจากพฤติกรรมผู้บริโภคแล้ว หัวใจหลักที่ทำให้นิตยสารตายไปอย่างรวดเร็วก็คือแผงหนังสือที่ทยอยปิดไปทั่วประเทศ เพราะถึงจุดที่ไม่คุ้มทุนในการทำแผง เอาพื้นที่ไปทำอย่างอื่นดีกว่า พอไม่มีจุดจำหน่าย นิตยสารก็หายไป
หลังโควิด หนังสือก็น่าจะตกอยู่ในสภาพอันตรายเหมือนนิตยสาร เพราะร้านหนังสือสามเสาหลักของไทยคือ ซีเอ็ด นายอินทร์ และ บีทูเอส ที่มีส่วนแบ่งการตลาดเกิน 80% ของหนังสือที่ขายกันในประเทศ ก็เริ่มมีข่าวทยอยลดสาขาจำนวนมาก ร้านหนังสือในห้างอยู่ได้ยากขึ้นเรื่อยๆจากค่าเช่าและผู้ซื้อที่น้อยลง หลายร้านพยายามสู้ด้วยการขายของอื่นๆไปด้วยแต่ในที่สุดก็น่าจะทนพิษบาดแผลไม่ไหว ถ้าไม่มีจุดจำหน่ายแล้ว สำนักพิมพ์ก็น่าจะได้รับผลกระทบต่อเนื่องกันในสถานการณ์ที่สาหัสมากๆ
หนังสือเป็นของที่ไม่เหมาะกับ e-commerce
ของที่เหมาะกับ e-commerce ส่วนใหญ่คือราคาสูงและมีน้ำหนักเบา แต่หนังสือมีสภาพที่ตรงข้ามกัน ก็คือราคาไม่แพง ผู้ผลิตมีกำไรไม่มาก แต่ค่าส่งค่อนข้างสูงเพราะหนังสือนั้นมีน้ำหนักที่มาก การซื้อหนังสือออนไลน์จึงแทบจะไม่ได้ราคาที่ถูกลง ในหลายกรณีแพงขึ้นด้วยซ้ำเมื่อรวมค่าส่ง นอกจากนั้น เนื่องจากธุรกิจหนังสือประกอบด้วยสำนักพิมพ์ขนาดเล็กจำนวนมาก ไม่มีรายใหญ่จริงๆที่รวบรวมหนังสือได้ทั้งหมด การหาการค้น หรือการทำโฆษณาหนังสือบนไซเบอร์สเปซจึงทำได้ยากและไม่มีมาร์จิ้นพอที่จะทำการโฆษณาแย่ง eyeball กับสินค้าบริการอื่นๆได้
งานสัปดาห์หนังสือได้รับผลกระทบจากโควิด
2
งานที่เป็นความหวังและสร้างยอดขายเป็นกอบเป็นกำให้สำนักพิมพ์ก็คืองานสัปดาห์หนังสือที่จัดกันปีละสองครั้ง หลายสำนักพิมพ์พออยู่รอดได้จากงานสองงานนี้ต่อปี แต่ก่อนหน้ามีโควิด การย้ายสถานที่จัดงานจากศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ไปที่อิมแพคเมืองทอง ก็มีผลกระทบค่อนข้างมากอยู่แล้ว พอมีโควิดก็ทำให้งานสัปดาห์หนังสืออาจจะต้องเลื่อนหรืออยู่ในสถานการณ์ที่จัดก็จะจัดได้ยากในรูปแบบเดิม ซึ่งก็ซ้ำเติมสำนักพิมพ์มากเข้าไปอีก
1
Netflix และผองเพื่อนแย่งเวลาหนังสือไป
1
netflix ceo เคยประกาศว่าคู่แข่งของ netflix คือเวลานอน ซึ่งไม่ได้เกินจริงเลย นอกจาก netflix แล้ว ผองเพื่อน pay tv content บน social media tiktok เกมส์ออนไลน์ ฯลฯ ต่างก็แย่งเวลาที่เคยมีให้หนังสือไปหมดและหนักขึ้นมากในช่วงโควิด ผมเพิ่งได้คุยกับเจ้าของบริษัทท่านหนึ่งที่รักการอ่านมากๆ พอผ่านโควิดที่ต้องอยู่บ้านทั้งวันเจอกันล่าสุด บทสนทนากลายเป็นซีรีย์บน netflix ไปเรียบร้อยแบบไม่มีเรื่องหนังสือปนในการพูดคุยนั้นอีกเลย
1
และเนื่องจากสตางค์จำนวนมหาศาลเกิดจากการที่บริษัทเหล่านี้สามารถหลอกล่อ ออกแบบให้เราติดนานขึ้นอีกนิด เอา attention เราไปขายต่อบ้างหรือทำให้เรายอมจ่ายสตางค์เพิ่มได้บ้าง คนเก่งๆในโลกก็ถูกจ้างและไหลเข้าบริษัทเหล่านี้ทั้งสิ้น มีตั้งแต่สุดยอดนักคณิตศาสตร์ นักจิตวิทยา นักสังคมศาสตร์ นักออกแบบ ฯลฯ เพื่อทำให้เราติดมากขึ้น อยู่ใน app นานขึ้นไปอีก ในขณะที่หนังสือไม่มีคนเก่ง ไม่มีพัฒนาการอะไรเพิ่มอีกต่อไป เคยมีคนพยายามทำ e book ก็ไม่ได้รับความนิยม พลังของสมองอันชาญฉลาดที่ไปอยู่อีกด้านที่เป็นศัตรูของหนังสือ จะยิ่งทำให้ความห่างและส่วนแบ่งของ attention จะยิ่งน้อยลงเรื่อยๆ
แล้วถามว่าทำไมไม่มีคนเก่งๆมาช่วยหนังสือหรือสำนักพิมพ์บ้าง ตอบง่ายๆด้วยระบบโลกทุนนิยมว่ามันไม่มีกำไรหรือสตางค์มากๆอยู่ตรงนั้นแล้ว สำนักพิมพ์ไทยที่ไม่ได้มีสเกลอะไรแค่เอาตัวรอดให้ได้ก็ยังยากเลย จะไปคิดอะไรสู้กับ platform ระดับโลกก็ดูมืดมนไปหมด
2
เด็กรุ่นใหม่ยังอ่านแต่ไม่อ่านหนังสือ
เด็กใน gen z ที่เติบโตขึ้นมาหลายล้านคนถ้าจะอ่านก็จะแทบไม่อ่านหนังสืออีกแล้ว นอกจากอ่านตาม social media ทั่วไป การอ่านแบบใหม่ไม่ว่าจะเป็น app จอยลดา ที่อ่านนิยายแบบแชท หรืออ่านเป็นตอนๆบนธัญวลัย หรืออ่านการ์ตูนบน webtoon เหล่านี้เป็น business model ใหม่ในยุคของคนที่โตมาพร้อมกับสมาร์ทโฟน คนเขียนก็เขียนด้วยทักษะที่ต่างออกจากคนเขียนหนังสือ เขียนเป็นตอนๆสั้น มีระบบการซื้อ token ถ้าอยากติดตามต่อ หรือไม่ก็มี content ให้อ่านฟรีจำนวนมาก รุ่นใหม่นี้โตมาโดยที่มีพฤติกรรมการอ่านที่ต่างออกไปจากรุ่นหนังสืออย่างสิ้นเชิง
1
ในอนาคตอันใกล้เพราะโควิดเร่งให้เกิดขึ้น หนังสือไทยปกใหม่ๆน่าจะลดน้อยถอยลงไปมาก สำนักพิมพ์จะพิมพ์อะไรทีก็คงต้องคิดแล้วคิดอีก หนังสือที่ได้พิมพ์ก็คงต้องเป็นหนังสือที่มั่นใจจริงๆว่ามีแฟนคลับพอ หนังสือดีๆที่ใช้เวลาค้นคว้านานๆ แต่มีคนสนใจไม่มากก็ไม่น่าจะพิมพ์ได้เพราะไม่คุ้ม องค์ความรู้ที่เคยสั่งสมและถ่ายทอดแบบเดิมก็คงต้องเปลี่ยนรูปไป หนังสือจะกลายเป็น collectible items มากขึ้นจากการอ่านใน app จนมีคนอ่านมากพอแล้วอยากสั่งเก็บในรูปหนังสือไว้เป็นที่ระลึกแล้วรวบรวมพิมพ์ในแบบ on demand นักเขียนรุ่นใหม่ที่มีอาชีพเขียนหนังสือเป็นเล่มก็น่าจะแทบสูญพันธ์ แต่จะไปเกิดในรูปแบบใหม่แทน (นักเขียนอันดับหนึ่งบน app ธัญวลัยมีรายได้เดือนละหนึ่งล้านบาท ..ถ้าใครยังมองไม่เห็นภาพนะครับ) หรือเขียนให้อ่านกันฟรีๆเหมือนเพจนี้ ..แต่ตัวหนังสือเป็นเล่มที่เราคุ้นชินกำลังจะตาย ความหลากหลายกำลังจะหายไปแน่ๆ
…..
ในบทสนทนากับนักธุรกิจที่เป็นนักเขียนชื่อดังและทำอะไรต่อมิอะไรอีกหลายอย่าง เขาเพิ่งเล่าถึงประสบการณ์จากการหนีความวุ่นวายไปมีเวลาอ่านหนังสือดีๆหนึ่งเล่มประมาณสามชั่วโมง เขาบอกว่าเป็นประสบการณ์แห่งปัญญา การมีสมาธิที่ลึกซึ้งที่ได้อ่านไปคิดไปในเรื่องลึกๆ และรู้สึกดีกับความรู้สึกนั้นมากๆ
ผมฟังแล้วก็สะท้อนใจและก็สะท้อนตัวเองด้วยในฐานะญาติน้ำหมึกที่โตมาพร้อมหนังสือว่า การอ่านหนังสือดีๆซักเล่มตอนนี้ กลายเป็นเวลาพิเศษที่ทำได้ยากมาก จากการที่เราถูกเทรนให้กลายเป็นคนสมาธิสั้นจากคนเก่งๆทั้งโลกที่ชวนเราดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกมส์ เสพโซเชียล ฯลฯ อยู่ทั้งวันทั้งคืน ประสบการณ์การอ่านหนังสือที่เคยเป็นเรื่องปกติในการแสวงหาความรู้และปัญญา กลายเป็นเรื่องที่ต้องพยายามบังคับตัวเอง และในที่สุดก็อ่านน้อยลงเรื่อยๆเหมือนกับทุกคนที่โตมาพร้อมกับหนังสือ
1
…..แล้วธุรกิจหนังสือจะมีทางออกอย่างไร ผมไม่ได้มีคำตอบใดๆในเรื่องนี้ เพราะตัวเองก็ยังเอาตัวแทบไม่รอด เพราะถึงแม้จะยังซื้อหนังสืออยู่แต่ก็อ่านหนังสือน้อยลงไปเยอะพอสมควรเลยครับ
1
โฆษณา