7 มิ.ย. 2020 เวลา 04:23 • การเมือง
ว่าด้วยเรื่องจลาจลในสหรัฐฯ กับภาวะผู้นำของ โดนัลด์ ทรัมป์
ทรัมป์กับการโพสต์ท่าถือคัมภีร์ไบเบิ้ลหน้าโบสถ์เซนต์จอห์นใกล้ทำเนียบขาว จนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก
4 มิ.ย. 2563
โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช
เหตุการณ์จลาจลในสหรัฐฯ หลังการตายของจอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำที่เสียชีวิตระหว่างถูกตำรวจผิวขาวเข้าจับกุม จนบานปลายกลายเป็นการประท้วงทั่วประเทศ ดำเนินมาถึงวันที่เก้า
นอกเหนือจากกระแสการต่อต้านการเหยียดผิว ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้ง ผู้ที่ถูกโจมตีมากที่สุด คงหนีไม่พ้นประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ถูกมองว่าไม่พยายามบรรเทาความขัดแย้ง แต่กลับราดน้ำมันลงบนกองไฟ
เริ่มจากการทวีตข้อความว่า “when the looting starts, the shooting starts.” ตีความเป็นภาษาไทยได้ว่า เมื่อมีการขโมยข้าวของ จะสั่ง “ยิง” ทันที โดยอ้างถึงเหตุการณ์ที่มีผู้ฉวยโอกาสบุกเข้าไปฉกฉวยข้าวของในห้างร้านต่างๆ จนทวิตเตอร์ถึงกับออกคำเตือนให้ใช้วิจารณญาณในการอ่านข้อความดังกล่าว ซึ่งทำให้ทรัมป์ไม่พอใจอย่างยิ่ง
จากนั้น การประท้วงได้ขยายวงต่อเนื่องไปในกว่า 20 เมืองของสหรัฐฯ แม้หลายรัฐจะออกประกาศเคอร์ฟิว ผู้ชุมนุมก็ไม่สนและยังชุมนุมกันข้ามคืนโดยยอมให้เจ้าหน้าที่เข้าจับกุม
ซ้ำร้าย ในหลายๆ รัฐมีเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่เข้าใช้ความรุนแรงกับประชาชน ปรากฏเป็นภาพข่าวไปทั่วประเทศ
ที่วอชิงตันดีซี ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการชุมชน ได้มีผู้ประท้วงมาชุมนุมกันบริเวณไม่ห่างจากทำเนียบขาว และเกิดเหตุการณ์วุ่นวายขึ้น ก่อนจะมีรายงานว่าทรัมป์ถึงกับหลบเข้าไปอยู่ในบังเกอร์ใต้ดินในทำเนียบขาว ซึ่งสร้างไว้หลบภัยกรณีเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่นการก่อการร้ายหรือภัยพิบัติต่างๆ จน ปธน.ปากกล้าถูกโจมตีว่า “ขี้ขลาด"
ทรัมป์จึงตอบโต้ด้วยการกระทำที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ที่สุดเวลานี้ ซึ่งเรียกว่า "photo op" โดยเขาได้เดินเท้าไปที่โบสถ์เซนต์จอห์น ใกล้ทำเนียบขาว ที่ได้รับความเสียหายเล็กน้อยจากการจลาจล ก่อนจะจบลงด้วยการถือคัมภีร์ไบเบิ้ลให้นักข่าวถ่ายรูป จนถูกตีความว่าทำอย่างนี้ราวกับจะบอกว่าตนคือความดี อยู่ข้างศาสนจักร ผู้ประท้วงคือพวกนอกรีต
เมื่อบวกกับการขู่ใช้กำลัง ยิ่งดูเหมือนยุทธการขวาพิฆาตซ้ายไม่มีผิด
โฆษก White House เอาเหตุการณ์ photo op ของทรัมป์ไปเทียบกับสมัย WWII ที่วินสตัน เชอร์ชิล ไปเยือนจุดที่ถูกนาซีทิ้งระเบิด ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าตลกมาก เพราะครั้งนั้นอังกฤษถูกโจมตีตามคำสั่งของฮิตเลอร์
แต่ครั้นผู้ที่ออกมาประท้วงเป็นประชาชนคนธรรมดาแท้ๆ ทรัมป์ทำอย่างนี้ยิ่งเหมือนไปตีตราพวกเขาว่าเป็น "ศัตรูของแผ่นดิน" ซึ่งจะยิ่งเป็นการตอกลิ่มความขัดแย้ง หาใช่การแสดงภาวะผู้นำเหมือนเชอร์ชิลแต่อย่างใดไม่
ไม่มีใครรู้ว่าเหตุการณ์วุ่นวายซึ่งเข้าใกล้ภาวะมิคสัญญีครั้งนี้จะจบลงอย่างไร แต่จุดที่ผมอยากชี้ชวนให้มองก็คือ โดนัลด์ ทรัมป์ เองเป็นผู้นำประเทศ และตัวเองก็เคยถูกกล่าวหาหลายครั้งว่าเป็นพวกเหยียดผิวหรือ racist
เมื่อเกิดเหตุการณ์จอร์จ ฟลอยด์ แทนที่จะฉวยโอกาสนี้ล้างภาพไม่ดี ด้วยการประนาม ตร.ที่ใช้ความรุนแรง เรียกร้องให้ประชาชนสมัครสมานสามัคคีและยุติการเหยียดผิว เขากลับใช้วาจา-การกระทำที่ตอกย้ำภาพลบของตัวเองจนแย่ยิ่งกว่าเดิม
ถ้อยคำที่สรุปบทบาทของทรัมป์ในเหตุการณ์ครั้งนี้ได้อย่างชัดเจนที่สุด คงหนีไม่พ้นข้อเขียนของ เจมส์ แมททิส อดีต รมว.กลาโหมของสหรัฐฯ ที่บอกว่า
"โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีคนแรกในช่วงชีวิตของผม ที่ไม่พยายามหลอมรวมคนอเมริกันเป็นหนึ่ง ไม่แม้แต่จะแสร้งพยายาม แต่เขากลับพยายามแบ่งแยกพวกเรา เรากำลังได้เห็นเป็นประจักษ์ ถึงผลของความพยายามโดยเจตนาตลอดสามปีที่ผ่านมา เรากำลังได้เห็นเป็นประจักษ์ ถึงผลของการไร้ความเป็นผู้นำที่มีวุฒิภาวะตลอดสามปีที่ผ่านมา"
ขอไว้อาลัยต่อจอร์จ ฟลอยด์ และผู้ตกเป็นเหยื่อของความอยุติธรรมทั่วทุกมุมโลก
โฆษณา