7 มิ.ย. 2020 เวลา 08:07 • การศึกษา
เบื้องหลังการทำคอร์สออนไลน์ของจุฬาฯ ที่มีผู้เรียน 10,000 คน
คอร์สออนไลน์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ หรือ MOOC ( Massive Open Online Course ) กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะเรียนเมื่อไรก็ได้ เรียนที่ไหนก็ได้ทางสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต โน๊ตบุ๊ค และมีคอร์สให้เรียนฟรีมากมาย
จุฬาฯ ก็ทำ MOOC ของตนเอง เรียกว่า CHULA MOOC ซึ่งมีอาจารย์คณะต่างๆ มาเปิดวิชาที่น่าสนใจมากมาย
ผมจึงขอเล่าประสบการณ์ในการทำ CHULA MOOC วิชาของผม คือ ปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้ผู้เรียนคอร์สนี้ทราบเบื้องหลังว่า คอร์สออนไลน์ที่เรียนสั้นๆ แค่หนึ่งชั่วโมงครึ่ง มีความเป็นมาอย่างไร
ส่วนอาจารย์ที่อยากทำ MOOC ของตนเอง จะได้เตรียมตัว เตรียมใจ วางแผนการทำงานครับ
ขั้นตอนการทำงาน
1. ถูกทาบทามให้มาสอน
ศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ จุฬาฯ ติดต่อผมในเดือนกรกฎาคม 2560 ว่า สนใจทำ MOOC เกี่ยวกับวิชาการคิดเชิงนวัตกรรมหรือ Innovative Thinking ซึ่งเป็นวิชาเลือกของจุฬาฯ ที่ผมสอนมาสิบกว่าปีหรือไม่
ผมคิดหนักในตอนแรกว่า ทำคอร์สออนไลน์ดีไหมหนอ เพราะไม่เคยทำมาก่อน กลัวไม่มีเวลาและยุ่งยาก
แต่เมื่อนึกถึงข้อดีว่า คอร์สออนไลน์นี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนทั่วไปด้วย ไม่จำกัดเฉพาะนิสิตจุฬาฯ และผมอาจนำวิดีโอมาใช้ในการสอนของตัวเองในอนาคตได้ด้วย จึงตกลง
จากนั้น ผมส่งแบบฟอร์มเปิดหลักสูตร โดยตั้งชื่อวิชานี้ในตอนแรกว่า Idea Generation Tools ประกอบด้วย 8 บทเรียน ความยาวไม่เกินหนึ่งชั่วโมงครึ่ง
2. ทำตัวอย่างเนื้อหา
ศูนย์ฯ ติดต่อบริษัทแห่งหนึ่งในการผลิตสื่อให้วิชาผม และเชิญทุกคนที่เกี่ยวข้อง คือ เจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ , เจ้าหน้าที่บริษัท และผมมาประชุมกันเพื่อมารู้จักกัน และอธิบายขั้นตอนการทำงาน
จากนั้น ผมก็เริ่มสร้างสื่อบทเรียนง่ายๆ ทีละบท โดยอัดเสียงอธิบายสไลด์ของผมด้วยโปรแกรม Camtasia และแปลงเป็นวิดีโอ MP4 ส่งให้บริษัทเพื่อทำสตอรีบอร์ดและภาพเคลื่อนไหว
มีบางครั้งที่ผมมีธุระ ติดงานอื่นจนไม่ได้ทำคลิปเพิ่ม บริษัทก็จะส่งข้อความมาสะกิดผมว่า “อาจารย์ค้า ช่วยส่งคลิปใหม่มาให้ด้วยค่ะ” ผมก็จะกระวีกระวาด รีบทำคลิปส่งให้
โชคดีที่ผมมีสไลด์เกือบทุกบทแล้ว จึงแค่อัดเสียงในพาวเวอร์พอยต์แล้วแปลงเป็นวิดีโอเท่านั้น
แต่มีบางบทที่ไม่เคยทำสไลด์ ก็ต้องทำสไลด์ใหม่ และมีเนื้อหาเรื่อง การทำต้นแบบ ที่เชิญบริษัทเข้ามาถ่ายวิดีโอในห้องเรียนของผม เพื่อถอดเทปและทำสตอรีบอร์ด
ขั้นตอนนี้ใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะทำตัวอย่างเนื้อหาทุกบทเสร็จ เพราะผมต้องทำคนเดียว
หลังจากที่ทำเนื้อหาทุกบทเสร็จแล้ว ผมแจ้งศูนย์ฯ ขอเปลี่ยนชื่อวิชาเป็น จุดประกายความคิดสร้างสรรค์ และเปลี่ยนอีกครั้งเป็น ปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นชื่อทางการของวิชานี้
เหตุผลที่ผมเลือกคำว่า “ปลุกพลัง” แทนคำว่า “จุดประกาย” เพราะคำว่า ปลุกพลัง ให้ความรู้สึกฮึกเหิมมากกว่าการจุดประกายซึ่งเหมือนการจุดไม้ขีดไฟ
อีกทั้งทุกคนมีความคิดสร้างสรรค์ในตัวอยู่แล้ว เราไม่ต้องสร้างขึ้นมาใหม่ เราแค่ปลุกให้มันทำหน้าที่เท่านั้นเอง
สรุปคือ ผมเปลี่ยนชื่อวิชานี้ 3 ครั้งกว่าจะได้ชื่อโดนใจที่สุดครับ
3. ถ่ายวิดีโอ
หลังจากที่สตอรีบอร์ดและภาพเคลื่อนไหวของแต่ละบทพร้อมแล้ว ก็มาถึงคิวสำคัญคือ ถ่ายวิดีโอผม เพื่อนำภาพและเสียงของผมไปทำคอร์สออนไลน์
เมื่อบริษัทถามผมว่า ควรไปถ่ายวิดีโอที่ไหน ผมตอบได้ทันทีว่า สถานที่ถ่ายวิดีโอที่เหมาะกับวิชานี้ที่สุดคือ ห้องสมุดคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และ ห้อง Sky Cafe ของภาควิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาฯ ที่ชั้น 19 อาคารเจริญวิศวกรรม เพราะมีวิวสวยงาม และเป็นสถานที่ที่ผมคุ้นเคยอยู่แล้ว
เมื่อจองสถานที่และนัดคิวถ่ายทำได้แล้ว บริษัทเตรียมอุปกรณ์ถ่ายวิดีโอแบบจัดเต็มมาให้ในวันถ่าย แต่ขั้นตอนนี้กลับใช้เวลาสั้นที่สุดคือ 2 วันเท่านั้น โดยผมเตรียมเสื้อไปหลายชุด แล้วเปลี่ยนเสื้อเพื่อถ่ายวิดีโอแนะนำวิชานี้ และบทต่างๆ
วันแรกถ่ายที่ห้องสมุดคณะวิศว จุฬาฯ และวันที่สองก็ย้ายไปถ่ายที่ห้อง Sky Cafe
ตอนถ่ายวิดีโอช่วงแรก ก็เกร็งเหมือนกัน เพราะยังไม่ชินเท่าไร เจ้าหน้าที่ดูคลิปที่ถ่ายแล้ว บอกว่า “อาจารย์คะ ช่วยยิ้มมากกว่านี้หน่อยค่ะ”
ดังนั้น ผู้เรียนคอร์สนี้จะสังเกตได้ว่า ผมจะหน้านิ่งๆ ในบทแรกๆ แต่ในบทหลังจะยิ้มมากขึ้น ดูรีแลกซ์มากขึ้น
แต่ถ้าทำ MOOC อีกครั้ง รับรองว่า จะยิ้มกว้างแน่นอนครับ
หลังจากที่ถ่ายวิดีโอเสร็จแล้ว บริษัทขอนัดผมเพื่อถ่ายเพิ่มเติม เช่น ผมกำลังเดินหน้าตึก 100 ปีคณะวิศวฯ , เดินดูหนังสือในห้องสมุดคณะวิศวฯ แต่สุดท้ายแล้ว ก็ไม่ได้ใช้ฉากเหล่านี้
4. ตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหา
เมื่อถ่ายวิดีโอเสร็จแล้ว ผมก็ชิล เพราะหมดหน้าที่ของผมแล้ว
ตอนนี้เป็นหน้าที่ของบริษัทในการทำสื่อการสอนฉบับสมบูรณ์
เมื่อบริษัททำบทใดเสร็จ ก็ส่งมาให้ผมตรวจ โดยใช้วิชา “ตาผี หูปีศาจ” ที่เคยเรียนในวิชาบรรณาธิการศึกษา คือ ตรวจความถูกต้องทั้งภาพและเสียงอย่างละเอียดที่สุด โดยที่ผมดูทุกคลิปอย่างน้อยสามครั้ง
- ครั้งแรก ดูภาพอย่างเดียว เพื่อหาคำสะกดผิดต่างๆ หรือภาพที่อาจไม่เหมาะสม
- ครั้งที่สอง ฟังอย่างเดียว เพื่อฟังคำพูดผิดหรือเนื้อหาที่พูดผิด
- ครั้งที่สาม ดูภาพและฟังเสียงพร้อมกัน
คลิป 10 นาที จึงใช้เวลาตรวจเป็นชั่วโมง เพราะต้องดูหลายเที่ยว จากนั้นผมส่งกลับไปให้บริษัทแก้ไข เนื่องจากมีคำสะกดผิดบ้าง , ผมพูดผิดบ้าง หรืออยากให้ตัดเนื้อหาบางส่วนทิ้ง
ผมยังส่งสื่อการสอนให้ลูกศิษย์ 2 คนที่เคยเรียนกับผมคือ คุณเก๋และคุณน้ำตาล ให้ช่วยตรวจอีกด้วย เพื่อให้แน่ใจว่า เนื้อหาถูกต้องจริงๆ
ขั้นตอนนี้ใช้เวลานานพอสมควร เพราะต้องส่งไป ส่งมาตลอดเวลา จนกว่าจะตรวจทุกคลิปเสร็จสมบูรณ์
5. วันส่งมอบงาน
หลังจากแก้ไขคลิปทั้งหมดจนเสร็จสมบูรณ์แล้ว ก็ถึงวันสำคัญคือ บริษัทส่งมอบงานทั้งหมดให้ศูนย์ฯ โดยที่ทุกคนมาห้องประชุม เพื่อชมวิดีโอทั้งหมด และศูนย์ฯ เชิญอาจารย์จากคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อให้ความเห็นเพิ่มเติม
แต่ถึงแม้ว่าสื่อการสอนเสร็จสมบูรณ์แล้ว ผมยังเหลือหน้าที่อีกอย่างหนึ่ง ทำข้อสอบย่อยปรนัยเพื่อให้ผู้เรียนทำข้อสอบก่อนเรียน (pre-test) และข้อสอบหลังเรียน (post-test) แล้วส่งให้ศูนย์ฯ
ในที่สุด ภารกิจของผมก็เสร็จครบถ้วน รอศูนย์ฯ ประกาศเปิดวิชานี้อย่างเป็นทางการ !
Credit : mooc.chula.ac.th
คอร์สปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์เปิดเรียนรุ่นแรกในเดือนสิงหาคม 2562 มีผู้เรียนทั้งหมด 4 พันคน และกำลังเปิดรุ่นที่สอง เรียนวันที่ 5 มิถุนายน — 31 กรกฎาคม 2563 รับผู้เรียน 5 พันคน
ผู้อ่านที่สนใจวิชานี้ เชิญลงทะเบียนเรียนได้ที่
ถ้ามีโอกาส ผมอยากทำ MOOC วิชาอื่นอีก เพราะมีประสบการณ์แล้ว เรียนรู้ข้อผิดพลาดต่างๆ จากการทำครั้งแรก และทราบวิธีทำ MOOC ให้เสร็จเร็วขึ้น โดยไม่ต้องใช้เวลานานเหมือนครั้งแรก
การทำ MOOC ให้สำเร็จต้องอาศัยการทำงานเป็นทีมอย่างมาก ผมขอบคุณภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาฯ , ศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ จุฬาฯ , คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ , ทีมงานจากบริษัท , คุณเก๋และคุณน้ำตาล , ทีมงาน CHULA MOOC และผู้เรียนทุกท่านที่ช่วยสนับสนุนจนกระทั่งคอร์สนี้เปิดได้ 2 รุ่น
ขอเชิญผู้เรียนปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์ทุกท่าน มาเข้ากลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันที่ กลุ่มใน Facebook ชื่อ CHULA MOOC : ปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์
ขอเชียร์อาจารย์ทุกท่านให้มาทำ MOOC เพื่อเผยแพร่ความรู้ให้คนทั่วไปครับ
เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น
สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่
โฆษณา