25 มิ.ย. 2020 เวลา 09:37
เกร็ดน่าทึ่งของเผ่าพันธุ์ 'โฮโม เซเปียนส์'
เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าโลกทุกวันนี้ขับเคลื่อนไปด้วยสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ ‘โฮโม เซเปียนส์’ (Homo sapiens) ที่มีจุดเริ่มต้นในแอฟริกา จากนั้นจึงกระจายไปทั่วโลก แต่ยังเกิดคำถามมากมายว่าพวกเรานั้นประสบความสำเร็จและก้าวขึ้นมาเป็นสิ่งมีชีวิตที่เหนือกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ได้อย่างไร อะไรทำให้เราต่างไปจากวานรกลุ่มอื่นๆ และเราเริ่มรวมตัวกันเป็นสังคมขนาดใหญ่เมื่อใด
มาร่วมหาคำตอบอันน่าพิศวงของเผ่าพันธุมนุษย์ หรือโฮโม เซเปียนส์ไปด้วยกัน
1.มนุษย์ทุกคนมี ‘แม่’ คนเดียวกัน
เดิมทีเชื่อกันว่ามนุษย์โฮโม เซเปียนส์ทั่วโลกต่างวิวัฒนาการจาก ‘โฮโม อีเรกตัส’ ที่ปักหลักกระจายไปทั่วโลก และต่างกลุ่มต่างวิวัฒนาการในท้องถิ่นของตนเอง ก่อนผสมข้ามกันไปมาจนกลายเป็นมนุษย์ในปัจจุบัน
แต่การค้นพบในปี 1987 กลับต้องเปลี่ยนความเข้าใจนี้ไปอย่างสิ้นเชิง นักวิจัยกลุ่มหนึ่งได้ศึกษารหัสพันธุกรรมจากไมโทคอนเดรียของกลุ่มประชากรตัวอย่างทั่วโลก ซึ่งดีเอ็นเอในไมโทคอนเดรียของพวกเราทุกคนนั้นจะสืบทอดมาจากฝ่ายแม่ระหว่างการปฏิสนธิเท่านั้น นักวิจัยต่างแปลกใจเมื่อพบว่ามนุษย์ในปัจจุบันทุกคนต่างสืบเชื้อสายมาจากผู้หญิงคนหนึ่งในบริเวณแอฟริกาตะวันออกเมื่อ 2 แสนปีที่แล้ว พวกเขาจึงตั้งชื่อหญิงปริศนารายนี้ว่า ‘ไมโทคอนเดรียล อีฟ’ (Mitochondrial Eve) ตามชื่ออีฟผู้เป็นบรรพชนของมนุษย์ในไบเบิล
งานวิจัยชิ้นนี้ได้เขย่าวงการบรรพชีวินไปทั่วโลก เพราะทฤษฎีเก่าแก่ที่เคยยืดถือมานานต้องตกยุคไป และมนุษย์โฮโม อีเรกตัสที่เคยกระจายไปทั่วยูเรเซียนั้นไม่ใช่บรรพบุรุษของเราอีกต่อไป แต่เป็นมนุษย์อีกกลุ่มที่สูญพันธุ์ไปก่อนหน้าบรรพชนของเราจะออกมาจากแอฟริกาเสียอีก
2.'โฮโม เซเปียนส์' ผู้รุกรานหรือนักกลืนประชากรสายพันธุ์อื่น
โฮโม เซเปียนส์ไม่ใช่มนุษย์กลุ่มเดียวที่เดินทางท่องโลก ในช่วงเวลาที่พวกเขาเพิ่งออกจากแอฟริกา ก็ปรากฏมนุษย์กลุ่มอื่นที่ปักหลักมาก่อนอยู่แล้ว แต่เดิมมักเชื่อกันว่าประชากรดั้งเดิมถูกโฮโม เซเปียนส์ทำลายจนสิ้นเผ่าพันธุ์ และผู้คนสมัยก่อนยังเชื่อว่ามนุษย์กลุ่มอื่นๆ นั้นดุร้ายเหมือนสัตว์ป่าเสียด้วยซ้ำ ในขณะที่เซเปียนส์นั้นมีความอารยะและสติปัญญาเหนือกว่า แต่วิทยาศาสตร์สมัยใหม่กลับได้ลบล้างคำสบประมาทต่อมนุษย์โบราณกลุ่มอื่นหมดสิ้น และยังเผยความจริงที่แฝงในตัวพวกเราทุกคนด้วย
เมื่อโฮโม เซเปียนส์กลุ่มแรกเดินทางออกจากแอฟริการาว 8 หมื่นปีก่อน พวกเขาต้องพบกับมนุษย์อีกกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในยูเรเซียมานานแล้ว มนุษย์กลุ่มนี้คือ ‘นีแอนเดอร์ธัล’ (Neanderthals) ที่อพยพจากแอฟริกามายังยูเรเซียราว 1-2 แสนปีที่แล้ว ชาวนีแอนเดอร์ธัลเองไม่ได้ด้อยไปกว่าโฮโม เซเปียนส์ที่เพิ่งมาถึงแต่อย่างใด พวกเขามีร่างกายที่กำยำ หน้าผากที่ลาดชัน ปรับตัวกับอากาศหนาวได้ดีกว่า แต่ต้องเผชิญกับวิกฤตและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศที่ทำให้จำนวนลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง และค่อยๆ หายไปในที่สุดราว 4 หมื่นปีที่แล้ว เชื่อว่าสาเหตุที่นีแอนเดอร์ธัลสูญพันธุ์ไปเพราะแก่งแย่งพื้นที่กับโฮโม เซเปียนส์กลุ่มใหม่ แต่งานวิจัยเกี่ยวกับดีเอ็นเอนีแอนเดอร์ธัลชิ้นหนึ่งจากปี 2010 กลับเผยความจริงอันน่าตกใจ
งานวิจัยชิ้นนี้ระบุว่า ประชากรทุกกลุ่มนอกทวีปแอฟริกาต่างมีดีเอ็นเอของมนุษย์ดีแอนเดอร์ธัลทั้งสิ้น โดยเฉลี่ยแล้วผู้คนในยุโรป เอเชีย ตะวันออกกลาง และทวีปอเมริกาต่างมีดีเอ็นเอของนีแอนเดอร์ธัลปนอยู่ราว 1-7% นั่นช่วยไขความกระจ่างถึงชะตาของมนุษย์โบราณเหล่านี้ได้ชัดเจนว่านีแอนเดอร์ธัลเองมีการผสมประชากรเข้ากับโฮโม เซเปียนส์จากแอฟริกา และค่อยๆ ถูกกลืนหายไปในกลุ่มประชากรใหม่ในที่สุด นั่นแปลว่าในร่างกายของคุณเองก็มีสายเลือดของมนุษย์นีแอนเดอร์ธัลเช่นกัน
ดูเหมือนว่าโฮโม เซเปียนส์ไม่เพียงแต่กลืนประชากรนีแอนเดอร์ธัลมาเท่านั้น เพราะในช่วงที่พวกเขากำลังกระจายตัวไปทั่วโลกนั้น เหล่าเซเปียนส์ยังได้พบกับมนุษย์อีกสายพันธุ์หนึ่งที่อาศัยทางซีกตะวันออกของยูเรเซียเช่นกัน มนุษย์สายพันธุ์นี้คือกลุ่ม ‘เดนิโซวาน’ (Denisovans)
มนุษย์เดนิโซวานเป็นญาติกับนีแอนเดอร์ธัลและยังมีความเก่าแก่ไล่เลี่ยกัน ซากฟอสซิลของมนุษย์ปริศนานี้ถูกค้นพบครั้งแรกในเทือกเขาอัลไต ที่ราบสูงทิเบต และหมู่เกาะแปซิฟิคใต้ พวกเขามีรูปร่างหน้าตาคล้ายกับนีแอนเดอร์ธัล แต่มีผิวคล้ำ ผมและตาสีเข้ม มนุษย์กลุ่มนี้อาศัยในถ้ำเป็นหลัก พวกเขายังรู้จักการต่อเรือเพื่อข้ามทะเลอันกว้างใหญ่
เมื่อโฮโม เซเปียนส์อพยพลงมาแถบเอเชียตะวันออกเฉียงราว 4-5 หมื่นปีที่แล้ว ประชากรเดนิโซวานดั้งเดิมก็ค่อยๆ ลดลงจนหายไปราว 15,000 ปีที่แล้ว แต่งานวิจัยจากปี 2011 ได้ช่วยไขปริศนาถึงประชากรที่สาบสูญไป นักวิจัยพบว่าดีเอ็นเอจากฟอสซิลของเดนิโซวานนั้นยังคงปรากฏอยู่ในดีเอ็นเอของประชากรจากเมลานีเซีย ชาวปาปัวนิวกินี และชาวอะบอริจินในออสเตรเลีย โดยเฉลี่ยประชากรทั้งสามกลุ่มมีเลือดของมนุษย์เดนิโซวานปนอยู่ราว 3-5% แสดงให้เห็นว่าพวกเขาเองก็ผสมกลมกลืนเข้ากับมนุษย์กลุ่มใหม่อพยพมาภายหลัง
3.หลักฐานทางวัฒนธรรมของมนุษย์ยุคโบราณ
เราเคยถกเถียงกันมานานว่าวัฒนธรรมมนุษย์เริ่มต้นจริงๆ ตั้งแต่เมื่อไร แม้จะมีแนวคิดที่มองว่ามนุษย์เริ่มวิวัฒนาการวัฒนธรรมทางสังคมขึ้นมาราว 5 หมื่นปีที่แล้ว แต่การค้นพบทางโบราณคดีชิ้นหนึ่งในอิสราเอลกลับพลิกมุมมองของเราต่อมนุษย์โบราณไปอย่างสิ้นเชิง มีการค้นพบหลุมฝังศพมนุษย์และเครื่องประดับในถ้ำสคุลและคาฟเซฮ์ (Qafzeh-Skhul Caves) ใกล้กับเมืองนาซาเรธ ประเทศอิสราเอล
โครงกระดูกที่พบมีอายุราว 120,000-115,000 ปี เป็นมนุษย์โฮโม เซเปียนส์รุ่นแรกๆ ที่ออกมาจากแอฟริกา สิ่งที่น่าสนใจคือกระดูกมนุษย์ในหลุมนั้นมีร่องรอยการทาผงสีแดงชนิดเดียวกับที่พบในจิตรกรรมผนังถ้ำทั่วโลก สีที่ทาอาจเป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวกับศพ อาจเป็นการนำผงสีมาโปรยบนร่างผู้ตายด้วยความเชื่อบางอย่าง บนร่างหนึ่งยังพบขากรรไกรของหมูป่าด้วย บ่งบอกว่ามนุษย์รู้จักการทำพิธีศพมานับแสนปีแล้ว
ในถ้ำเดียวกันยังพบเครื่องประดับกับลูกปัดทำจากเปลือกหอยจำนวนมากและมีขนาดต่างกัน เปลือกหอยเหล่านี้เป็นหอยที่พบได้ในทะเล มีรอยเจาะเป็นรูสำหรับร้อยเชือกเป็นสร้อยคอและกำไลข้อมือ ในถ้ำอีกแห่งจากประเทศแอลจีเรียชื่อ ‘อูเอด เจบบานา’ (Oued Djebbana) ก็ค้นพบเครื่องประดับจากเปลือกหอยทะเลเช่นกัน แต่มีเรื่องน่าฉงนคือเปลือกที่พบในถ้ำเป็นหอยทะเล แล้วถ้ำนี้ยังอยู่ห่างจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนถึง 200 กิโลเมตร นั่นแปลว่ามนุษย์ต้องรู้จักขนวัตถุดิบเป็นระยะทางไกลมานาน เพียงแต่เรายังไม่ทราบวิธีที่พวกเขาทำกัน
4.ชุมชนเมืองแห่งแรกของมนุษย์
ดินแดนตะวันออกกลางคือจุดแรกที่มนุษย์มาลงหลักปักฐานหลังออกจากแอฟริกา นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงมีการค้นพบหลักฐานทางวัฒนธรรมที่เก่าแก่ที่สุดของโฮโม เซเปียนส์ในพื้นที่นี้บ่อยครั้ง
เมืองเจริโค (Jericho) ในเขตเวสต์แบงค์ ดินแดนปาเลสไตน์ปัจจุบันถือเป็นเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์มนุษยชาติ เมืองแห่งแรกนี้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ 11,000 ปีที่แล้ว โดยเริ่มต้นจากชุมชนนักล่าที่มาปักหลักรวมกัน จากนั้นจึงขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
ในเวลาเพียงหนึ่งพันปีหลังจากจุดเริ่มต้นหรือราวหนึ่งหมื่นปีที่แล้ว ชุมชนนักล่าแห่งนี้ก็ขยายไปเป็นเมืองเกษตรกรรมอย่างรวดเร็ว มีร่องรอยการเพาะปลูกพืชตระกูลถั่ว ข้าวสาลี และข้าวบาร์เลย์ ขนาดของเมืองแห่งนี้สามารถรองรับประชากรได้ถึง 2-3 พันชีวิต แล้วยังปรากฏกำแพงและหอคอยล้อมรอบตัวเมืองด้วย นั่นทำให้แนวกำแพงเมืองแห่งนี้ถือเป็นกำแพงเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์เช่นกัน ตัวอาคารต่างๆ ทำจากอิฐที่ผลิตโดยการนำเอาดินไปผสมกับฟาง จากนั้นจึงโบกผนังด้วยดินเหนียวอีกที ภายในเมืองยังพบจิตรกรรมและรูปปั้นคนเหมือนมากมาย อาจเป็นทั้งรูปปั้นของบรรพบุรุษหรือเทพเจ้า
ด้วยความที่เมืองแห่งนี้ยังคงมีผู้คนอาศัยอยู่ในปัจจุบัน นั่นทำให้เมืองเจริโคถูกจัดให้เป็นเมืองที่เก่าแก่ที่สุดและยังมีมนุษย์อาศัยมายาวนานที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์มนุษยชาติอีกด้วย.
เรื่อง : อันโตนิโอ โฉมชา
ภาพประกอบ : เพ็ญนภา บุปผาเจริญสุข
.
โฆษณา