8 มิ.ย. 2020 เวลา 18:09 • ประวัติศาสตร์
เที่ยววิเคราะห์ "พญานาคราชปราสาทหิน ถิ่นอีสานใต้"
ในช่วงศตวรรษที่ 6 เขมรได้เข้ามาลงหลักปักฐานในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย (ภาคอีสาน) และอาศัยอยู่ในอาณาบริเวณซึ่งเป็นของประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน
ต่อมา อาณาจักรเขมร ได้เข้ามาปกครองประเทศไทย ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 7 จนกระทั่งถึงช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 13
วัฒนธรรมเขมรได้มีอิทธิพลเด่นชัดในช่วงระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 11 ถึง 13 โดยเฉพาะในบริเวณภาคอีสาน อย่างที่เห็น อาทิเช่น ปราสาทหิน พิมาย และ ปราสาท พนมรุ้ง
สังคมเขมรถือว่าพญานาคเป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งต่างๆ อาทิ
1) พญานาคเป็นสัญลักษณ์แทนบรรพบุรุษเขมรและการสืบต่อเผ่าพันธุ์
2) พญานาคเป็นสัญลักษณ์แทน
ความเป็นผู้มีบุญ อำนาจเทวาสิทธิ์
3) พญานาคเป็นสัญลักษณ์แทนผู้ปกป้องคุ้มครอง
พระพุทธศาสนา
4) พญานาคเป็นสัญลักษณ์ของฟ้าฝนที่บันดาลความอุดมสมบูรณ์ให้กับพืชพันธุ์ธัญญาหาร และเป็นสะพานที่เชื่อมระหว่างสรวงสวรรค์กับโลกมนุษย์
ด้วยเหตุนี้ พญานาคจึงปรากฏอยู่ในงานจิตรกรรม, ประติมากรรม, สถาปัตยกรรม ในที่ต่างๆ เช่น สะพานนาคราช ในพื้นที่อุทยานฯปราสาทหินพิมาย จ.นครราชสีมา
สะพานนาคราช อุทยานฯปราสาทหินพิมาย
สะพานนาคเปรียบเสมือนสะพานรุ้งที่เชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์กับโลกสวรรค์ ตั้งอยู่หน้าประตูซุ้มทางทิศใต้ ก่อนเข้าสู่ปราสาทหินพิมาย สะพานนาคยกพื้นขึ้นสูงจากพื้นดินประมาณ 2.50 เมตร มีบันไดทางขึ้น 3 ทาง ที่เชิงบันไดแต่ละทิศทำเป็นรูปนาค 7 เศียร ประดับอยู่ทั้งสองข้างทางขึ้น ราวสะพานหรือบันไดทำเป็นลำตัวพญานาค รูปนาค 7 เศียร มีรัศมีเชื่อมเป็นแผ่นเดียวกัน เป็นศิลปะแบบนครวัด
สะพานนาค อุทยานฯปราสาทหินพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์
สะพานนาคราช ในพื้นที่อุทยานฯปราสาทหินพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ ก่อด้วยศิลาทราย มีผังเป็นรูปกากบาท ยกพื้นสูงประมาณ 1.50 เมตร มีบันไดทางขึ้น 3 ทาง คือ ด้านทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันออก ชาลานี้ล้อมรอบด้วยนาคราวลูกกรง (ราวสะพานทำเป็นลำตัวพญานาค) ปลายสุดแต่ละด้านของราวลูกกรงมีเศียรนาค เป็นนาค 5 เศียร มีรัศมีเชื่อมติดต่อเป็นแผ่นเดียวกัน ประดับลวดลายตกแต่งในแนวนอน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์สำคัญของศิลปะร่วมแบบนครวัด
สะพานนาคราช สร้างตามความเชื่อเกี่ยวกับจักรวาลของศาสนาฮินดูว่า สายรุ้งเป็นสะพานที่เชื่อมระหว่างโลกมนุษย์และสวรรค์ และนาคเป็นสัญลักษณ์แทนสายรุ้ง สะพานนาคจึงเปรียบเสมือนสะพานรุ้งที่เชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับสวรรค์
นาคหัวโล้น ขอบสระ อุทยานฯปราสาทหินเมืองต่ำ
โดยรอบตัวปราสาทในพื้นที่อุทยานฯปราสาทหินเมืองต่ำ จ.บุรีรัมย์ มีสระน้ำ 4 สระ ล้อมรอบระเบียงคด มีลักษณะเป็นรูปตัวแอล
ก่อสร้างด้วยศิลาแลงเป็นขั้นบันไดลงไปถึงก้นสระ ขอบสระด้านบนแกะสลักด้วยหินทรายเป็นลำตัวนาค
ที่มุมสระสลักเป็นนาค 5 เศียร ความโดดเด่นที่สำคัญอีกอย่างคือ นาคที่ขอบสระทั้ง4 เป็นนาคแบบเศียรโล้น ไม่มีแผงรัศมี ซึ่งเป็นศิลปะแบบ บาปวนอย่างแท้จริง นาคนั้นไม่มีหาง ซึ่งปลายสุดของนาคจะมีเศียรจรดหัวท้าย
อุทยานฯปราสาทหินเมืองต่ำ
วิเคราะห์โดยสรุปคือ การศึกษาศิลปะขอม อาศัยความแตกต่างของศิลปกรรมเป็นเครื่องกำหนดอายุ โดยเฉพาะนาค ไม่ว่าจะประดับอยู่ส่วนใดส่วนหนึ่งของโบราณสถาน เช่น นาคปลายซุ้มหน้าบัน ของศิลปะสมัยบันทายศรี-ศิลปะคลัง ครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 16 มีลักษณะเป็นหน้ากาล มีแขน 2 ข้าง คล้ายนาคที่มีรัศมีเล็กๆ บนเศียรคล้ายๆ มงกุฎเล็กๆ ที่ไม่ติดกันในแต่ละเศียร นาคปลายซุ้มหน้าบันและนาคประดับทางเดิน ของศิลปะสมัยบาปวนครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 16 เช่น ที่ปราสาทเขาพระวิหารและปราสาทเมืองต่ำ มีลักษณะเศียรเกลี้ยงๆ คล้ายๆ หัวงูธรรมชาติ หรืออาจจะเรียกให้จำง่ายๆ ว่านาคหัวโล้นก็ได้
ส่วนนาคสมัยนครวัด พุทธศตวรรษที่ 17 เช่น ที่ปราสาทหินพิมาย และพนมรุ้ง มีลักษณะเป็นนาคแผ่พังพาน แต่ละเศียรมีเครื่องประดับเป็นรัศมีที่ติดกันตามแนวนอน ต่างกันแต่เพียง นาคพิมายมี 7 เศียร นาคพนมรุ้งมี 5 เศียร ตามตระกูลนาค
ข้อมูลอ้างอิง : คู่มืออบรมมัคคุเทศก์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เล่มที่4
: หนังสือเรียนวิชาศิลปะชั้นม.5 ร.ร.ชุมแพศึกษา
: ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมี.ค. 2546
1
โฆษณา